ยูเอ็นเผย มุสลิมโรงฮิงญา 30,000 คนต้องย้ายถิ่นหนีภัยความรุนแรงในพม่า

ทหารพม่าดับไฟในหมู่บ้าน Wapeik ในเมืองมองดอ รัฐยะไข่ ประเทศพม่า ใกล้ชายแดนประเทศบังกลาเทศเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนหลังจากที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกจุดไฟเผาบ้านเรือนกว่า 80 หลัง (AFP Photo / Myanmar Armed Forces)

อาหรับนิวส์ – สหประชาชาติเผยเมื่อวันศุกร์ (18 พ.ย.) ว่า พลเรือนชาวโรงฮิงญาจำนวนถึง 30,000 คนต้องย้ายถิ่นถิ่นหนีภัยจากเหตุความรุนแรงในรัฐยะไข่ของพม่า โดยครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อหลายสิบคนต้องเสียชีวิตในการปะทะกับทหาร

ทหารพม่าได้ยกกำลังเข้าไปในที่ดินแถบแนวชายแดนบังคลาเทศในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ไร้สัญชาติซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย นับตั้งแต่เกิดการโจมตีป้อมตำรวจเมื่อเดือนที่แล้ว

ในสัปดาห์นี้ กองทัพกล่าวว่า ทหารได้สังหารประชาชนเกือบ 70 คน ในระหว่างการไล่ล่ามือโจมตี ขณะที่นักเคลื่อนไหวกล่าวว่าตัวเลขจริงอาจจะสูงกว่าขึ้นมาก

ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อของรัฐรายงานว่าทหารถูกฆ่าตายกว่า 30 คน ในสองวันของการปะทะกันหลังจากที่กองทัพได้ตอบสนองต่อการซุ่มโจมตีโดยการนำเฮลิคอปเตอร์โจมตีมาปฏิบัติการ

ทูตพิเศษของสหประชาชาติเกี่ยวกับพม่า นางยังฮี ลี (Yanghee Lee) วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่นำโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบล นางอองซาน ซูจี ต่อการจัดการภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้ “ดำเนินการโดยเร่งด่วน”

สำนักงานสหประชาชาติเพื่อการประสานงานกิจการด้านมนุษยธรรม (OCHA) กล่าวว่า ประชาชน 15,000 คน เชื่อว่าต้องหนีออกจากบ้านเรือนของพวกเขาในช่วงระยะเวลา 48 ชั่วโมง

“มีการประเมินว่าในขณะนี้ประชาชนถึง 30,000 คนที่ต้องย้ายถิ่นหลบหนี และมีหลายพันที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงนับแต่วันที่ 9 ตุลาคมที่มีการโจมตีโดยกองกำลังติดอาวุธและตามมาด้วยมาตรการรักษาความปลอดภัยทั่วพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่” โฆษก OCHA ของสหประชาชาติกล่าว

นักเคลื่อนไหวกล่าวหาว่าทหารได้ฆ่าสังหารพลเรือน ข่มขืนผู้หญิง และเผาบ้านเรือนของพวกเขา  ซึ่งรัฐบาลพม่าได้ปฏิเสธอย่างฉุนเฉียวต่อข้อกล่าวหานี้

เจ้าหน้าที่มีข้อจำกัดอย่างมากในการเข้าถึงพื้นที่ ทำให้ยากที่จะตรวจสอบอย่างอิสระต่อรายงานของรัฐบาลหรือข้อกล่าวหาการละเมิดของกองทัพ

การหวนกลับมาของความรุนแรงในรัฐยะไข่ซึ่งเดิมก็วิกฤตรุนแรงอยู่แล้วนั้น นับเป็นความท้าทายที่สำคัญในการบริหารงานของนางซูจีตลอดระยะ 7 เดือนที่นางเข้าสู่อำนาจ

พลเรือนกว่า 100 คนเสียชีวิตในปี 2012 ในการปะทะกันระหว่างประชากรส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนาพุทธกับชาวมุสลิมโรฮิงญา และทำให้พวกเขานับหมื่นคนถูกขับออกจากบ้านเกิดต้องไปอาศัยในค่ายผู้อพยพ

ผู้แทนสหประชาชาติ นางยังฮี ลี ได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อการจัดการของรัฐบาลพม่าในภาวะวิกฤต และเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างโปร่งใสต่อข้อกล่าวหาการข่มขืนและฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของพม่า

“ที่ปรึกษาของรัฐ นางอองซาน ซูจี ได้กล่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า รัฐบาลจะตอบสนองต่อสถานการณ์โดยวางอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม แต่ดิฉันยังไม่เห็นถึงความพยายามใดๆ ในส่วนของรัฐบาลที่จะพิจารณาต่อข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ” นางยังฮี ลี กล่าวในการแถลง