10 ปีประหาร “ซัดดัม ฮุสเซน” : อิรักในเงาไอซิสและหล่มขัดแย้งทางนิกาย

ภาพจากการถ่ายทอดของสถานี al-Iraqiya ขณะที่ ซัดดัม ฮุสเซน ถูกมือเพชรฆาตที่สวมหมวกไหมพรมนำเชือกคล้องคอ

หนึ่งทศวรรษหลัง ซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำเผด็จการแห่งอิรักถูกกำจัด อิรักในวันนี้กำลังดิ้นรนเพื่อเอาชนะไอซิส และความขัดแย้งอันเนื่องจากการแบ่งแยกทางนิกาย รวมทั้งผลกระทบอื่นๆ จากการรุกรานของพันธมิตรโดยการนำของสหรัฐ

ซัดดัม ฮุสเซน อับดุลมาจีด อัลติกรีรี เข้าปกครองอิรักเมื่อกรกฎาคม ค.ศ.1979 จนถึงเมษายน 2003 ในฐานะผู้นำแห่งพรรคสังคมนิยมอาหรับ (บาธ) เขาถูกจับและเข้าสู่การพิจารณาคดีโดยศาลพิเศษที่จัดตั้งขึ้นมา

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2006 ซัดดัม ถูกตัดสินประหารชีวิต ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในช่วงปี 1982 การฆ่าสังหารประชาชน 148 คนในเมืองดุเจล (Dujail)

เขาถูกจับแขวนคอในยามเช้าวันที่ 30 ธันวาคม 2006 ทั้งที่ในวันดังกล่าวตรงกับวันตรุษ “อีดิลอัฎฮา” วันแห่งการเฉลิมฉลองของชาวมุสลิม

“มันคือประจักษ์พยานสำหรับประชาชนอิรักที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าหลังจากหลายทศวรรษของการกดขี่นั้น ถึงแม้จะมีการก่ออาชญกรรมอันสยดสยองของเขาต่อประชาชนของเขาเอง แต่ซัดดัม ฮุสเซน ก็ได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม”  ประธานาธิบดีสหรัฐ จอร์จ ดับเบิล ยูบุช กล่าวในถ้อยแถลงตอนนั้น พร้อมทั้งกล่าวเพิ่มเติมว่า  “การตัดสินอย่างเป็นธรรมคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ภายใต้การปกครองเผด็จการซัดดัม ฮุสเซน”

ทว่าทำเนียบขาวไม่ได้ยืนกรานแบบนี้เกี่ยวกับซัดดัมมาตั้งแต่เดิม ในปี 1980 ประธานาธิบดีอิรักคนนี้เคยได้รับกุญแจเมืองดีทรอยต์ หลังจากบริจาคให้แก่โบสถ์คาลเดียน (Chaldean Sacred Heart Church) ในเมืองดังกล่าว

เช่นเดียวกับที่วอชิงตันได้เข้าหาซัดดัมและดึงเป็นพันธมิตรเพื่อต่อต้านประเทศเพื่อนบ้านอย่างอิหร่านหลังราชวงศ์แห่งเปอร์เซียซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ ถูกโค่นล้มอันเนื่องมาจากการปฏิวัติอิสลามโดยการนำของนักการศาสนาชราที่ชื่อ “โคมัยนี”

ด้วยการสนับสนุนของสหรัฐฯ อิรักได้บุกอิหร่านในปี 1980 แต่ก็ถูกต่อต้านจากอิหร่านและถูกรุกกลับจนกลายเป็นฝ่ายตั้งรับในสงคราม 8 ปีของสองประเทศ สงครามอิรัก-อิหร่านจบลงอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม 1980 ซึ่งถูกระบุว่าเป็นสงครามที่คร่าชีวิตผู้คนนับล้านคน มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 1.2 ล้านล้านเหรียญ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในเรื่องพรมแดน

ซัดดัม ฮุสเซน บุกยึดคูเวตในดือนสิงหาคม 1990  ซึ่งหลังจากนั้นสหรัฐฯ ร่วมกับพันธมิตรนานาชาติก็ได้เปิดปฏิบัติการพายุทะเลทรายเพื่อปลดปล่อยคูเวตในเดือนมกราคม 1991 สงครามจบลงใน 6 สัปดาห์ เมื่อกองกำลังร่วมสามารถขับไล่อิรักได้พ้นคูเวต และอิรักต้องตกอยู่ภายใต้การคว่ำบาตรจากสหประชาชาติและสหรัฐนับแต่นั้น

ขณะเดียวกันเหล่าบรรดานักการเมืองสายเหยี่ยวในวอชิงตันก็ไม่ค่อยมีความสุขนักที่ประธานาธิบดีบุชปฏิเสธที่จะทำสงครามต่อไปจนกว่าซัดดัมจะพ้นจากอำนาจ

จนกระทั่งในปี 2003 ประธานาธิบดีบุชก็ได้สั่งบุกอิรักโดยอ้างว่าซัดดัม ฮุสเซน ครอบครองอาวุธทำลายล้างสูง (weapons of mass destruction – WMD) และร่วมมือกับผู้ก่อการร้ายที่โจมตีสหรัฐฯ ในเดือนกันยายน ปี 2011 ซึ่งข้ออ้างเหล่านั้นของบุชปราฏภายหลังว่าล้วนเป็นเรื่องเหลวไหลทั้งสิ้นและยังไม่สามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์คำกล่าวอ้างได้จวบจนทุกวันนี้

สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักก็คือ การทำสงครามของพันธมิตรเพื่อปลดปลอยคูเวตจากการยึดครองของอิรักในปี 1991 นั้นถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นไปภายใต้มติที่ 660 ของสหประชาชาติ ทว่าการบุกอิรักในปี 2003 ของสหรัฐไม่มีอะไรเช่นนั้นมารองรับ

อดีตประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน ถูกจับในเดือนธันวาคม ปี 2003 ในเขตพื้นที่อัดวาร์ ห่างออกไป 16 กิโลเมตรจากเมืองติกริตซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา สื่อตะวันตกรายงานว่าเขาถูกจับในสภาพที่แอบอยู่ในหลุมหลบภัยลับแห่งหนึ่ง

ซัดดัมถูกพิจารณาคดีโดยศาลพิเศษอิรักที่จัดตั้งขึ้นโดยผู้มีอำนาจในรัฐบาลเฉพาะกาลในเดือนธันวาคม 2003 เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกสั่งประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ซัดดัมได้ขอให้เปลี่ยนการประหารเป็นการยิงเป้าแต่คำขอของเขาถูกปฏิเสธ

ซัดดัม ฮุสเซส จึงจบชีวิตลงด้วยการรับโทษแขวนคอเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2006

หลังขบวนสุดท้ายของกองกำลังสหรัฐในอิรักได้เดินทางออกไปเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2011 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา กล่าวในตอนนั้นว่าสิ่งที่พวกเขา “ทิ้งไว้เบื้องหลังในอิรักคือ อธิปไตย เสถียรภาพ และการพึ่งพิงตนเอง”

ทว่าในความเป็นหาได้เป็นเช่นนั้น ในปี 2013 อัลกออิดะห์ในอิรัก (ซึ่งก่อตั้งขึ้นหลังการรุกรานของสหรัฐและโจมตีเพื่อต่อต้านผู้ยึดครอง) ก็ได้เปลี่ยนเป็นรัฐอิสลามแห่งอิรักและลิแวนท์ ชื่อย่อที่ถูกรู้จักดีคือ ไอซิล ไอซิส หรือ ไอเอส (ISIL, ISIS, IS)

จากนั้นไอซิสใช้ประโยชน์จากความไม่พอใจของมุสลิมซุนนีอิรักที่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลชีอะห์นำโดยนูรี อัลมาลีกี เข้ายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศอิรัก

ในเดือนมิถุนายน 2014 ไอซิสสามารถเข้ายึดเมืองโมซูลหลังทหารอิรักในเมืองประมาณ 30,000 คนที่ฝึกและก่อตั้งโดยสหรัฐได้หลบหนีจากสมรภูมิพร้อมทั้งทิ้งอาวุธและยุทโธปกรณ์ไว้เบื้องหลัง สหรัฐต้องส่งทหารกลับไปอิรักอีก 5,000 นายเพื่อ “ให้การปรึกษาและช่วยเหลือ” ทหารอิรักสร้างกองทัพขึ้นมาสู้กับไอซิส โดยขณะนี้ทหารอิรักมีความรุดหน้าในปฏิบัติการยึดคืนเมืองโมซูลภายใต้การสนับสนุนทางอากาศจากสหรัฐ

ซัดดัม ฮุสเซนเสียชีวิตไปแล้วถึง 10 ปี ทว่าอิรักวันนี้ยังคงจมอยู่ภายใต้เงาไอซิส และหล่มความแตกแยกทางนิกาย รวมทั้งความยุ่งเหยิงต่างๆ อีกมากมาย แม้จะพอเห็นแสงสว่างรำไรหลังสามารถรุกขับไล่ไอซิส ทว่าคงไม่ใช่ในเร็ววันที่อิรักจะกลับคืนสู่ภาวะปรกติ