ความรู้อยู่ที่ไหน?

photo : laurabohling.com

การศึกษาไทยไม่ส่งเสริมประชาธิปไตยโดยพื้นฐาน เป็นแต่เพียงการนำประชาธิปไตยมาบอกให้ผู้เรียนได้ท่องให้จดจำ เพราะยังติดยึดโครงสร้างสังคมแบบเดิมๆ แม้ไทยจะไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจชาติใด แต่ความคิดที่ถูกฝังไว้นั้นกลับเหมือนทาสความคิดที่ต้องคอยแสวงหาความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่หรือรัฐอยู่ตลอดเวลา และอาจจะเข้ากับจริตของคนไทยที่นิยมใช้เส้นสาย/ฐานะมาสร้างความก้าวหน้าและเกียรติยศแก่ชีวิต  หรือแม้กระทั่งใช้เส้นสาย/ฐานะเพื่อจะหลีกเลี่ยงกฎหมายก็มีให้เห็นมากมายแม้ในปัจจุบัน

ทำให้สังเกตเห็นอย่างหนึ่งว่า ผู้นำของตนเองอาจกระทำกับประชาชนของตัวเองมากกว่าการถูกกระทำจากมหาอำนาจที่เคยเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคเอเชียนี้ เพราะประเทศไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจใด แต่แนวความคิดในเชิงอาณานิคมหรือความเป็นทาสกลับถูกฝังอยู่ในสังคมไทยไม่หมดไป  อย่างน้อยก็ด้านการศึกษา แม้ว่ารัชกาลที่ห้าจะทรงประกาศเลิกทาสไปแล้วก็ตาม

สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่ส่งต่อแนวคิดอาณานิคมได้มากกว่าประเทศที่ตกเป็นเมืองขึ้น เพราะประเทศที่ตกเป็นเมืองขึ้นประเทศมหาอำนาจในอดีตก็ได้รับการปลดปล่อยให้ได้รับเอกราชกันไปทีละประเทศในปัจจุบัน แต่สำหรับสังคมไทยแม้ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจใด แต่ก็ต้องถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบที่ไม่รู้จะถูกปลดปล่อยได้เมื่อไหร่ เพราะนอกจากจะได้รับการกดขี่จากประเทศมหาอำนาจแล้ว ประชาชนยังได้รับการกดขี่จากผู้นำของตัวเองในอดีตบางคนอีกชั้นหนึ่งด้วย

หากย้อนมองสถานศึกษาในประเทศไทยแล้วจะพบว่า  สถานศึกษากลายเป็นสถานที่กักกันผู้เรียนให้อยู่ในกรอบมากจนเกินไป การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจะเกิดขึ้นไม่ได้หากสถานศึกษาไม่สามารถสร้าง/ผลิตผู้เรียนให้คิดนอกกรอบเป็น  การรอคำสั่งแต่เพียงกระทรวงฯกำหนดนั้นเหมือนการคิดในกรอบ เพราะสถานศึกษารวมถึงผู้สอนและผู้เรียนคิดเหมือนกันหมด เพราะกระทรวงกำหนดนโยบายให้สถานศึกษาปฏิบัติเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษาของรัฐหรือของเอกชน(ที่รัฐมีส่วนในการอุดหนุนเงินงบประมาณ)

การศึกษาไทยไม่ใช่ปัญหาที่ต้องกลับมาคิดทบทวนใหม่อยู่ตลอดเวลาเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลหรือเปลี่ยนเจ้ากระทรวงฯ ความจริงการศึกษาไทยที่ว่าไม่ก้าวหน้านั้น ก็เพราะไม่มีความต่อเนื่อง ไม่ให้อิสระทางความคิด และเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการศึกษาอยู่ตอลดเวลา และการไม่รู้ว่าจะสร้างรูปแบบการศึกษาของตัวเองให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตัวเองได้อย่างกลมกลืนอย่างไร

ความรู้เกิดจากการตกผลึกทางความคิดภายในตัวมนุษย์  สิ่งมีชีวิตในโลกนี้แม้จะมีสมอง มีลมหายใจ มีประสาทสัมผัส ก็ไม่มีความสามารถเหมือนมนุษย์ที่สามารถผลิตความรู้ได้  ความรู้ไม่ได้มาจากมนุษย์โดยตรง  แต่มนุษย์คือทางผ่านของความรู้หรือเป็นเครื่องผลิตความรู้ของโลกใบนี้  จึงเห็นว่าเมื่อครั้งที่มนุษย์คนแรก(อาดำ)ถูกสร้างขึ้นมา พระเจ้าจึงสั่งให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆที่พระองค์ทรงเคยสร้างมาก่อนแล้ว ก้มลงให้เกียรติต่ออาดำซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์

มนุษย์ไม่สามารถผลิตความรู้ได้ด้วยตัวของตัวเองได้  ยกเว้นมนุษย์จะได้รับแรงกระตุ้นหรือพลังธรรมชาติบางอย่างที่ซ่อนซับซ้อนอยู่ในตัวมนุษย์เอง ไม่ว่าจะเป็นความสงสัย การสังเกต จนเกิดเป็นความคิด การทดลอง และพัฒนาไปสู่การจัดกระบวนการเรียนรู้  ซึ่งความลับนี้คือประโยชน์ที่แอบซ่อนอยู่ในชีวิตมนุษย์นั่นเอง

พัฒนาการทางการศึกษาได้ปรับเปลี่ยนและปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา  ปัญหาที่การศึกษาไม่สามารถก้าวไปได้ เพราะต้องคอยตอบโจทย์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาของการศึกษา ต้องคอยตอบโจทย์ที่การเมืองคอยกำหนด ต้องคอยตอบโจทย์ที่กระทรวงคอยเป็นตัวกำหนด ต้องคอยตอบโจทย์ที่ปัญหาความมั่นคงของชาติคอยเป็นตัวกำหนด แต่กลับไม่สามารถตอบโจทย์ทางการศึกษาได้อย่างแท้จริง

ท่านศาสดามุฮำหมัด(ซ.ล)ท่านเป็นศาสดาที่พระเจ้าทรงเลือกสรรให้ทำหน้าที่สำคัญ ๒ ด้าน คือ ๑. การเป็นผู้แจ้งความดี เป็นผู้สื่อสารให้มนุษยชาติเข้าใจและเข้าถึงความรู้ของพระเจ้า  และ ๒.การเป็นแบบอย่างที่ดีงามให้กับผู้คนได้ปฏิบัตตาม ซึ่งน่าจะหมายถึงคำว่าครู  ความรู้ที่แท้จริงนั้นมาจากอัลลอฮ(ซ.บ) ส่วนตัวท่านศาสดานั้นถูกยืนยันว่าเป็นคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้(อุมมีย์) ทั้งๆที่ความจริงแล้วมีผู้มีความรู้/อ่านออกเขียนได้มากมายในสังคมอาหรับเวลานั้นๆ  นั่นแสดงให้เห็นว่า เป้าหมายของความรู้นั้นไม่ใช่เพียงแค่ต้องการทำให้ผู้เรียนอ่านออกเขียนได้(อ่านเป็น)เท่านั้น แต่ยังต้องการให้เกิดกระบวนความคิด(คิดเป็น) และมีแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจนเมื่อเกิดปัญหาขึ้น นั่นคือ การหันกลับไปพิจารณาที่มาของความรู้หรือตรวจสอบองค์ความรู้ให้สอดคล้องกับอัลกุรอานและอัลหะดิษ (แก้ไขปัญหาเป็น)

และเมื่อพิจารณาคุณลักษณะสำคัญของท่านศาสดา(ซ.ล) แล้วจะพบว่า ท่านศาสดามีลักษณะ(ภาวะ)สำคัญ ๔ ประการในตัวท่าน  คือ ๑. ความมีสัจจะ ๒. ความเป็นอัจฉริยะ ๓. ความไว้เนื้อเชื่อใจ  ๔. การเผยแพร่สื่อสาร  จะเห็นว่าคุณลักษณะของท่านศาสดาไม่ได้กำหนดในเรื่องความรู้หรือความเป็นผู้รู้ไว้เลย  ตรงกันข้ามอัลกุรอานกลับยืนยันถึงคุณลักษณะของท่านศาสดาว่า เป็นคนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้

นี่อาจเป็นความท้าทายระหว่างความรู้ของพระเจ้า กับความรู้ของมนุษย์ ว่าความรู้ของใครจะสามารถตอบโจทย์ที่แท้จริงให้กับชีวิตและสังคมได้ดีกว่ากัน ท่านศาสดา(ซ,ล)สร้างสังคมใหม่ขึ้นด้วยความไม่รู้ของท่าน สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาในการสร้างสังคมใหม่ของท่านนั้นเกิดจากความรู้จากพระเจ้า(วะห์ยุ) ซึ่งเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ที่ท่านศาสดาใช้เป็นแนวทางและอ้างอิงตลอดการสร้างอาณาจักรอิสลามอันยิ่งใหญ่ของท่าน