กรมการพัฒนาชุมชนจับมือสถาบันพัฒนาSMEs ปักธงคอตตอนไทยแลนด์แบรนด์

วันนี้ (15 ส.ค. 61) นายสมหวัง พ่วงบางโพ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เผยว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้วางแนวทิศทางหรือ Road Map การพัฒนา OTOP ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายในกลุ่มผ้าฝ้าย โดยแบ่งเป็น ๓ ระยะ มีการพัฒนาทั้งระดับมหภาคของประเทศ และระดับจุลภาค

โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วางกลยุทธ์แนวทางการพัฒนาช่วงที่หนึ่ง : เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน ดีไซน์หลากหลายสไตล์ให้เป็นที่ยอมรับของตลาดในและต่างประเทศ ช่วงที่สอง : ขยายไปสู่การพัฒนาทั้ง Supply Chain ผู้ผลิตฝั่งต้นน้ำและกลางน้ำ ช่วงที่สาม : เชื่อมโยงทั้ง Value Chain ฝั่งต้นน้ำตั้งแต่ การปลูก การผลิตเส้นฝ้ายเชื่อมโยงมาถึงกลางน้ำผู้ผลิต ผู้แปรรูปรวมทั้งฝั่งตลาดผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์คอตตอนไทยแลนด์ (Cotton Thailand) ซึ่งจะเป็นการกำหนดตำแหน่งเชิงกลยุทธ์การตลาดของประเทศต่อไป

ในปีพ.ศ. ๒๕๖๑ เราพัฒนา OTOP และสร้างการรับรู้ผ่านผลิตภัณฑ์ในโครงการผ้าทออีสานสู่สากล The Wonder of Weaving, E-Sarn หรือ W.O.W E-Sarn โครงการนี้เป็นก้าวสำคัญของวงการผ้าทอ ผ้าฝ้ายอีสานที่มุ่งสร้างเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาผู้ประกอบการ OTOP ให้เข้มแข็งก้าวไปสู่สากล รวมไปถึงการอนุรักษ์ภูมิปัญญา คุณค่าของวัฒนธรรม วิถีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการปลูก-ปั่นฝ้าย การทอผ้าด้วยลวดลายเทคนิคต่างๆ ที่เป็นอัตลักษณ์ การย้อมสีธรรมชาติ พร้อมทั้งพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์

ดร. ธนันธน์ อภิวันทนาพร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจต่างประเทศและการตลาด สถาบันพัฒนาพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สถาบันฯ ได้วางกลยุทธ์รุกตลาดใหม่ๆ ที่มีอัตราการเติบโตสูงได้แก่ ตลาดเคหะสิ่งทอ ของตกแต่ง ของใช้ในบ้าน-คอนโด โรงแรม-สปา ร้านอาหาร เป็นต้น นอกไปจาก สินค้าดาวรุ่ง กลุ่มแฟชั่นเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย การพัฒนาแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม

กลุ่มที่ ๑) กลุ่มที่มีศักยภาพในการส่งออก จำนวน ๙ ราย

กลุ่มที่ ๒) กลุ่มที่มีศักยภาพเป็นสินค้าพรีเมี่ยมระดับประเทศ จำนวน ๑๐๐ ราย

กลุ่มที่ ๓) กลุ่มที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ จำนวน ๓๙๑ ราย

โครงการได้ระดมผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของประเทศ อาทิ คุณมีชัย แต้สุจริยา ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี ๒๕๕๙ เจ้าของแบรนด์ “บ้านคำปุน” มาบรรยายและให้ปรึกษา นักออกแบบมีชื่อเสียงจากทั่วประเทศกว่า ๕๐ ท่าน คณาจารย์จากสถาบันการศึกษา เจ้าของแบรนด์ชื่อดังมาช่วยสร้างสรรคุณค่าใหม่ให้ OTOP ๕๐๐ ราย ๒๐ จังหวัดทั่วอีสาน ได้แสดงคุณค่าใหม่ อันมีที่มาจากอัตลักษณ์ วิถี ศิลปวัฒนธรรม ผสานการดีไซน์ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ลูกค้า จะจัดแสดงต้นแบบในวันที่ ๒๒ – ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๑ ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิร์ล นอกจากนี้ เรายังรุกไปยังตลาดต่างประเทศที่มีกำลังซื้อ เช่น ประเทศจีน จึงได้เชิญนักออกแบบชั้นแนวหน้าของประเทศจีน Ji Cheng (หยี่ เฉิง) ซึ่งมีผลงานโดดเด่นได้รับการยอมรับจากวงการแฟชั่นระดับโลก มาช่วยโค้ชชิ่งการออกแบบให้กับผู้ประกอบการกลุ่มที่ ๑ เพื่อส่งออกตลาดเอเชีย และเจาะช่องทางการขายตลาดจีนโดยร่วมกับ “หอการค้าไทยในจีน” จัดงานแสดงสินค้าและเดินแฟชั่นโชว์ คอลเลคชั่นฝ้ายไทยในงาน Impress Thai ในวันที่ ๑-๕ ตุลาคม ๒๕๖๑ ณ มหานครเซี่ยงไฮ้ เพื่อเป็นการปักธงฝ้ายไทยและสร้างเสริมภาพลักษณ์คอตตอนไทยแลนด์แบรนด์ในเวทีสากล