รองนายกฯ ปักธงเดินหน้าผลักดันอุตสาหกรรมไทยสู่ผู้นำอุตสาหกรรมโลก เร่งยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ ชิงโอกาสทองหลังก้าวสู่ AEC เต็มรูปแบบในปี 59

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าจัดพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2558 รางวัลเกียรติยศสูงสุดของวงการอุตสาหกรรมไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 23 เสริมแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

 กระทรวงอุตสาหกรรมปักธงขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็นผู้นำตลาดอาเซียนและตลาดโลก เดินหน้าจัดงานมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2558 แบ่งออกเป็น 2 ระดับรางวัล คือ 1.รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม และ 2. รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 7 ประเภท เพื่อเชิดชูเกียรติและเป็นขวัญกำลังใจแก่สถานประกอบการ ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2536 โดยในปี 2558 นับเป็นปีที่ 23 ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการมอบรางวัล เพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางการกระตุ้นเตือนให้สถานประกอบการ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั่วประเทศ สามารถดำเนินการได้ตามเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว จะช่วยให้สามารถผลิตสินค้าเข้าไปตีตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งในภาพรวมไม่เพียงสามารถยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันได้ทัดเทียมกับนานาชาติเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันยังถือเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมถือเป็นภาคที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ภารกิจในการยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก จึงถือเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการบริหารจัดการและการแข่งขัน ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียนและอุตสาหกรรมโลก ทั้งนี้ การมอบรางวัลอุตสาหกรรม (The Prime Minister’s Industry Award) ซึ่งแบ่งออกเป็นรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 7 ประเภทรางวัล ได้แก่ 1.การเพิ่มผลผลิต 2.การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 3.การบริหารความปลอดภัย 4.การบริหารงานคุณภาพ 5.การจัดการพลังงาน 6.การบริหารอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม และ 7.การจัดการโลจิสติกส์ และรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ให้กับสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน การตรวจประเมินจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงอุตสาหกรรม ถือเป็นหนึ่งในแนวทางการกระตุ้นเตือนให้สถานประกอบการ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน ซึ่งหากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั่วทั้งประเทศสามารถดำเนินการได้ตามเกณฑ์ มาตรฐานดังกล่าว จะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคตได้อย่าง ยั่งยืน โดยเฉพาะในระยะเวลาอันใกล้นี้ที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ จะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อย่างเต็มรูปแบบ

ภาพประกอบข่าว (2)ด้าน ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดให้มีการมอบรางวัลอุตสาหกรรม เพื่อเชิดชูเกียรติและเป็นขวัญกำลังใจแก่สถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์การคัด เลือกต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และเพื่อเป็นเกียรติประวัติสูงสุดแก่สถานประกอบการที่มีความมุ่งมั่นในการ พัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการ ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานการตรวจประเมินของกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การยกระดับขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมไทย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมแรงร่วมใจกันส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง  ซึ่งการมอบรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นทั้ง 7 ประเภทและรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม นับเป็นความตั้งใจของกระทรวงอุตสาหกรรม ในการเป็นส่วนหนึ่งของแรงผลักดันที่ช่วยกันขับเคลื่อนศักยภาพภาคอุตสาหกรรม ไทย โดยแบ่งประเภทรางวัลออกเป็นดังนี้

1. ประเภทการเพิ่มผลผลิต โดยการเน้นปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงาน เพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ภายใต้การควบคุมต้นทุนการผลิตลดการสูญเสียในทุกรูปแบบ โดยผนวกเอาเทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ามาใช้ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพพนักงานอย่างต่อเนื่อง

2. ประเภทการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยการกำหนดนโยบายลด ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงทั้งกระบวนการบริหารจัดการและการผลิต ซึ่งการใส่ใจผลกระทบคุณภาพสิ่งแวดล้อมไม่เพียงช่วยสร้างความมั่นคงและการ ยอมรับจากนานาชาติเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันยังทำให้สถานประกอบการสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมรอบข้าง ได้อย่างยั่งยืน

3. ประเภทการบริหารความปลอดภัย โดยการสร้างระบบการจัดการความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพราะความปลอดภัยในการปฏิบัติงานนั้น ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของพนักงาน เมื่อการทำงานมีระบบจัดการอันตรายที่ดีและมีประสิทธิภาพก็ย่อมจะทำให้ผลิตภาพการทำงานดีขึ้นตามไปด้วย

4. ประเภทการบริหารงานคุณภาพ โดยการจัดการระบบบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญสู่ความสำเร็จ ซึ่งการที่สถานประกอบการจะสามารถบริหารงานได้อย่างมีคุณภาพนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ปฏิบัติงานทุกคน ในการรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ตนได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ

5. ประเภทการจัดการพลังงาน โดยการตั้งเป้าหมายในการใช้พลังงานทุกประเภทให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดปริมาณการใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งการวางนโยบายลดใช้พลังงานอย่างจริงจังนั้น ไม่เพียงส่งผลดีต่อการลดอัตราสิ้นเปลืองพลังงานของประเทศแต่ในขณะเดียวกันยังช่วยลดต้นทุนการผลิตให้น้อยลงอีกด้วย

6. ประเภทการบริหารอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม โดยการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการในทุกๆ ด้าน ทั้งการวิเคราะห์ตลาดความต้องการของผู้บริโภค การบริหารจัดการ การผลิต และช่องทางการตลาดและการจัดจำหน่าย

7. ประเภทการจัดการโลจิสติกส์ โดยการบริหารจัดการระบบการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนเวลา และต้นทุนค่าเสียโอกาส ซึ่งหากผู้ประกอบการมีระบบขนส่งสินค้าที่ดี นอกจากจะทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจยังช่วยสร้างโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เชื่อว่าหากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย จะสามารถพัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการและการผลิตสินค้าเข้าไปตีตลาดอาเซียน และตลาดโลกได้เป็นผลสำเร็จในภาพรวมก็จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ เติบโตได้อย่างยั่งยืน สำหรับพิธีมอบรางวัลในปี 2558 มีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกรางวัลอุตสาหกรรม กว่า  100 สถานประกอบการ โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้พิจารณาคัดเลือกอย่างเข้มข้นตามเกณฑ์ที่ กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด ผลปรากฏว่ามีสถานประกอบการที่ได้รับรางวัล ทั้งสิ้น 31 แห่ง รวม 33 รางวัล แบ่งเป็น รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม 1 รางวัล และรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 7 ประเภท 32 รางวัล ทั้งนี้ พิธีมอบรางวัลกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 23 กันยายน 2558 เวลา 14.00 น. ณ ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี พร้อมกันนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้จัดงาน “มหกรรมซื้อของไทยใช้ของดี” (Thailand Industry Expo 2015) ภายใต้แนวคิด “อุตสาหกรรมไทยก้าวหน้า พัฒนาด้วยนวัตกรรม” งานแฟร์ที่รวบรวมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั่วประเทศ มาออกบูธจัดโปรโมชั่นลดราคาสุดพิเศษ ระหว่างวันที่ 22-27 กันยายน 2558 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 เพื่อให้คนไทยได้เลือกซื้อของดีในราคาถูก และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยด้วย ดร.อรรชกา กล่าวสรุป