นักวิชาการชี้ แนวคิด “ไอซิส” ยากจะมีบทบาทในไทย ยอมรับมีบางส่วน “เห็นใจ”

Photo : www.ias.chula.ac.th

“ดร.ศราวุฒิ อารีย์” ชี้ แนวคิดแบบไอซิสในไทย คงยังไม่พัฒนาไปถึงขั้นการใช้ความรุนแรง แต่ยอมรับว่า ส่วนหนึ่งอาจเห็นอกเห็นใจ เพราะมีแนวคิดต่อต้านตะวันตกคล้ายกัน

สืบเนื่องจากมีการรวมตัวกันของกลุ่มแนวคิดสุดโต่งทางศาสนาในอาเซียนหลายประเทศ ที่รวมตัวกันประกาศยอมรับในแนวทางของ ISIS และจัดตั้งสาขาย่อยของ ISIS ในภูมิภาคนี้ โดยกระแสข่าวดังกล่าวได้รับการเปิดเผยโดยเข้าหน้าที่ของทางการมาเลเซีย ซึ่งเป็น หัวหน้าหน่วยพิเศษ เพื่อการต่อต้านการก่อการร้ายของตำรวจมาเลเซีย

คลิ๊กอ่าน : กลุ่มก่อการร้ายวางแผนตั้งสาขาไอซิส ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเป็นทางการ

ขณะที่ในประเทศไทย หลายฝ่ายเริ่มวิตกกังวลเกี่ยวกับ แนวความคิดทางศาสนาที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยเร้ากระตุ้นให้เกิดแนวคิดสุดโต่งทางศาสนา ที่จะเป็นชนวนนำไปสู่การชักนำแนวคิด ISIS เข้าสู่ประเทศไทยนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร. ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย กล่าวกับเดอะพับลิกโพสต์ว่า “แนวคิดแบบไอซิสในประเทศไทย คงยังไม่พัฒนาไปถึงขั้นการใช้ความรุนแรง แต่ยอมรับว่า ส่วนหนึ่งอาจมีแนวคิดที่เห็นอกเห็นใจกลุ่ม ISIS เพราะอาจมีแนวคิดคล้ายๆ กันคือต่อต้านตะวันตก”

ส่วนความกังวลเกี่ยวกับกลุ่มเคลื่อนไหวในภาคใต้ ที่อาจเป็นแนวร่วมหรืออาจพัฒนาเข้าสู่กระบวนการใกล้เคียงกับกลุ่มต่างๆ ในอาเซียนนั้น คิดว่าการแก้ปัญหาที่ผ่านมาโดยการเปิดพื้นที่ของภาครัฐ เป็นส่วนสำคัญที่จะหยุดยั้งเรื่องนี้ได้ คือมีพื้นที่สำหรับการเจรจา จะทำให้กลุ่มนี้ไม่พัฒนาไปในจุดๆ นั้น เพราะส่วนหนึ่งการเคลื่อนไหวในกลุ่มต่างๆ ของภาคใต้เป็นการเคลื่อนไหวที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองมากกว่า คงยังไม่ก้าวข้ามไปถึงจุดนั้น แต่หากเกิดความรุนแรง และแก้ไขปัญหาด้วยวิธีที่รุนแรงก็มีความเป็นไปได้ที่มีการแทรกแซงจากภายนอกซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะพัฒนาไปสู่ความรุนแรงในอนาคตได้” ดร.อารีย์กล่าว

ขณะที่ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มพุทธสุดโต่งทั้งในพม่า และในประเทศไทย ที่หลายฝ่ายวิตกกังวลกันว่า อาจเป็นชนวนให้เกิดการพัฒนาแนวความคิดแบบตอบโต้ของกลุ่มสุดโต่งในสองประเทศนี้ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ กล่าวว่า “กลุ่มต่อต้านอิสลาม ในประเทศไทย และในประเทศพม่าเอง ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะแนวความคิดแบบนี้ ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมทั่วไป เพราะคนไทยไม่มีแนวคิดจะเชื่ออะไรพวกนี้ง่ายๆ อย่างไรก็ตาม ไอซิสจะเข้ามามีบทบาทในพม่าและไทยเองเป็นไปได้ยาก”

“การอ้างเรื่องการปลุกระดม กับการเป็นชนวนการเข้ามาแทรกแซงของกลุ่มต่างๆ  คงไม่ใช่สาเหตุ แต่การปลุกระดมดังกล่าว จะเป็นการสร้างความแตกแยก ที่ต้องยอมรับว่าอาจมีบางส่วนที่เห็นดีเห็นงาม และอาจมีการตอบโต้กันในโซเชียลบ้าง แต่ไม่ขยายวงนำไปสู่การ ISIS เข้ามา คิดว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น” ดร.ศราวุฒิ กล่าว