การผ่าตัดแปลงเพศในอิหร่าน : กฎหมายเสรีนิยมในรัฐอนุรักษ์นิยม

อิหร่านเป็นผู้นำระดับโลกในแง่จำนวนของผู้แปลงเพศ แต่หลายคนที่ได้รับการผ่าตัดไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว

ไลลา และ ฮัยดาร์ ในสวนสาธารณะ (ภาพ MEE)

มันเป็นเพียงงานแต่งงานเล็กๆ ถ้านับตามมาตรฐานอิหร่าน มีผู้มาร่วมงานเพียงแค่ 25 คน แต่สำหรับ “ฮัยดาร์” และ “ไลลา” แล้ว วันนี้คือวันพิเศษสำหรับคนทั้งสอง มันไม่ใช่แค่การแต่งงาน – แต่มันหมายถึงคุณค่าในความสัมพันธ์ของพวกเขา

เมื่อมองไปที่ภาพถ่ายจากงานแต่งงาน, ไลลามีแต่รอยยิ้ม นี่เป็นครั้งแรกที่ครอบครัวของพวกเขาพบกันกับผู้อื่น และเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาทั้งหมดมาตามความต้องการของ ฮัยดาร์ และ ไลลา

สองปีก่อนหน้านี้ พวกเขาทั้งสองมีชื่อที่แตกต่างไปจากปัจจุบัน และก่อนหน้านั้นร่างกายของทั้งสองก็แตกต่างกันมาก ทั้งสองผ่านสิ่งที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า การผ่าตัดแปลงเพศ (SRS)

ในสังคมอนุรักษ์นิยมสุดขั้วที่คนรักร่วมเพศต้องเผชิญความเสี่ยงของการถูกประหารชีวิต แต่การยังมีตัวตนดำรงอยู่ของพวกเขาตามที่พวกเขาเป็น โดยได้รับการอนุมัติตามกฎหมาย ได้สร้างความแปลกใจแก่คนมากมายที่อยู่นอกอิหร่าน

แม้จะไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการ แต่ก็อิหร่านได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในแง่ของจำนวนของผู้ผ่าตัดแปลงเพศ และรัฐบาลรับผิดชอบราวครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดแปลงเพศนั้น แท้จริงอิหร่านนั้นอยู่ในระบอบการปกครองแบบมุสลิมชีอะห์ ซึ่งนับว่าใช้กฎหมายที่ก้าวหน้ามากเมื่อมองถึงการยอมรับสิทธิในการผ่าตัดแปลงเพศ

กฎหมายนี้มีรากฐานจากปี 1970 เมื่อ มัรยัม มุลคารา ผู้หญิงข้ามเพศ (transgender woman) ต้องการจะรับการผ่าตัด ที่ได้สอบถามเกี่ยวกับจุดยืนของศาสนาอิสลามในเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศ (transsexuality)

หลังจากการปฏิวัติในปี 1979 รัฐบาลใหม่เริ่มแคมเปญบังคับใช้กฎหมายทางศีลธรรมอย่างเข้มข้น และ มุลคารา รู้สึกว่าเธอจะต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิในการผ่าตัดแปลงเพศ เธอได้พบกับ ฮาชิมี ราฟซันจานี โฆษกรัฐสภา (ตำแหน่งในขณะนั้น) ที่สัญญาว่าจะนำกรณีนี้เสนอกับ อายะตุลเลาะห์ โคมัยนี

การตอบสนองที่เธอได้รับไม่เป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม เธอตัดสินใจที่จะเผชิญหน้ากับผู้นำสูงสุดด้วยตนเอง เธอไปที่บ้านของเขา และหลังจากการสนทนาสั้นๆ, อิหม่ามโคมัยนีได้ออกคำฟัตวา (วินิจฉัย) ที่ระบุว่า การดำเนินการแปลงเพศเป็นที่อนุญาต นับตั้งแต่โคมัยนีมีอำนาจสูงสุดในสาธารณรัฐใหม่ มุลคาราพร้อมกับบุคคลข้ามเพศอื่นๆ นับพัน ตอนนี้มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเปลี่ยนเพศได้

ทั้งนี้ ขั้นตอนการแปลงเพศเริ่มต้นด้วยการทำจิตบำบัด (psychotherapy) ราว 4-6 เดือน พร้อมทั้งการทดสอบฮอร์โมนและโครโมโซม โดยคณะกรรมการพิเศษจะทำการพิจารณาเรื่องและเชิญผู้ยื่นเรื่องมาทำการสัมภาษณ์ ออกใบรับรองบุคคลว่าเป็นผู้มีความทุกข์ทรมานจากความผิดปกติของอัตลักษณ์ทางเพศเป็นขั้นตอนแรกซึ่งจะนำสู่การผ่าตัด อันจะทำให้ผู้ต้องการผ่าตัดแปลงเพศที่จะต้องเริ่มต้นการรักษาฮอร์โมนพวกเขาจะได้รับสิทธิการประกันของรัฐ และได้รับการยกเว้นจากการรับราชการทหาร เช่นเดียวกับจะได้รับสิทธิในการใช้เอกสารแสดงตนใหม่

ผ่าตัดแปลงเพศ กับครอบครัว

ฮัยดาร์ และไลลา พบกันครั้งแรกที่การประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการผ่าตัดแปลงเพศ  ฮัยดาร์เป็นบล็อกเกอร์ที่มีชื่อเสียง ได้รับการผ่าตัดแล้วอย่างสมบูรณ์ ส่วนไลลากำลังอยู่ในระหว่างรอดำเนินการ ฮัยดาร์พบเธอในกลุ่ม พวกเขาแลกเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ และในวันรุ่งขึ้นเธอส่งข้อความหาเขาถามว่า “คุณมีแฟนหรือยัง?” ซึ่งเขายังไม่มี

ทั้งสองเกิดมาในครอบครัวแบบจารีตนิยม และรู้ว่าพวกเขาแปลกแยก ในสังคมที่แบ่งแยกเพศอย่างหนักหน่วง สังคมที่แบบแผนถูกกำหนดชัดเจน คือ โรงเรียน ผู้ปกครอง และสังคมการทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ อนาคต และเป้าหมายสูงสุดของชีวิตทางสังคม – การแต่งงาน และการเป็นบิดามารดา

ฮัยดาร์ มักจะรู้สึกว่าตนแตกต่างจากผู้หญิงคนอื่นๆ ในขณะที่อยู่กับครอบครัว เขาสวมเสื้อผ้าของผู้ชายและปฏิเสธที่จะสวมผ้าคลุมศีรษะ ตอนแรกเขาคิดว่าตนเป็นเลสเบี้ยน แต่หลังจากที่ได้หาอ่านข้อมูลอย่างละเอียด เขาตระหนักว่าเลสเบี้ยนมีความสุขในร่างกายของตนเอง แต่ส่วนเขานั้นเกลียดตนเอง ดังนั้นเขาจึงให้เหตุผลว่าเขาไม่สามารถจะเป็นเลสเบี้ยน เมื่อตอนอายุ 23 ปี เขาค้นพบว่าการแปลงเพศเป็นเรืองที่ได้รับอนุญาตในอิหร่าน เขาผ่านกระบวนการตรวจสอบและประตูก็เปิดสำหรับเขาในการที่จะเริ่มต้นกระบวนการฮอร์โมนบำบัด

เมื่อเขาประกาศการตัดสินใจของเขาให้กับครอบครัว ก็ต้องพบกับปฏิกิริยาไม่ยอมรับ แม่ของเขาเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในการจะโน้มน้าวให้เธอยอมรับ เขาต้องใช้เวลานานหลายเดือนในการสนทนากว่าที่เธอจะเห็นด้วย และฮัยดาร์ ก็ได้เริ่มกระบวนการรักษา หนวดเคราเริ่มปรากฏบนใบหน้า และเขาเริ่มถูกคุกคามตามท้องถนน ด้วยคนทั่วไปเข้าใจผิดว่าเขาแต่งตัวผิดเพศ

กระบวนการต่างๆ เป็นเรื่องยากลำบากและเจ็บปวด แต่ครอบครัวก็สนับสนุนเขา ต่อมาเขาได้สมัครงานในเมืองอื่นเพื่อที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่

ส่วนไลลาเติบโตขึ้นมาในครอบครัวแบบจารีตนิยมสุดขั้วและสังคมปิตาธิปไตยที่ผู้ชายเป็นใหญ่ เธอมาจากชนเผ่า AZeri (ชาติพันธ์ุหนึ่งของชาวเตอร์ก เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอาเซอร์ไบจาน ส่วนหนึ่งยังอยู่ในอาร์เมเนีย และภาคเหนือของอิหร่าน)

ตอนที่เป็นเด็กผู้ชายเธอค่อนไปทางผู้หญิงมาก และถูกรังแกอย่างหนักที่โรงเรียน

เธอมาแน่ใจว่าความจริงแล้วเธอเป็นคนข้ามเพศ เมื่อเธออายุ 13 ปี และตอนอายุ 17 ปี ครอบครัวพาเธอไปพบจิตแพทย์ซึ่งได้วินิจฉัยอย่างตรงไปตรงมาว่าเธอเป็นคนข้ามเพศ ครอบครัวเธอระส่ำ หนึ่งปีต่อมาพี่ชายของเธอทำร้ายเธอด้วยมีด เธอจึงตัดสินใจที่จะเริ่มต้นกระบวนการคัดกรองเพื่อแปลงเพศและหนีออกจากบ้าน

เธอเร่ร่อนอาศัยตามท้องถนนและหาเลี้ยงชีพด้วยการขายของ เธอผ่านการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวดายโดยไม่มีใครที่ข้างเตียงของเธอ เพิ่งหลังจากเธอแต่งงานที่ครอบครัวได้ยอมรับการตัดสินใจของเธอ

ไลลาในร้านอาหารที่เธอชื่นชอบแห่งหนึ่งในกรุงเตหะราน (ภาพ MEE)
ไลลาในร้านอาหารที่เธอชื่นชอบแห่งหนึ่งในกรุงเตหะราน (ภาพ MEE)

ทั้งคู่ตัดสินใจที่จะไม่บอกครอบครัวของไลลาว่าฮัยดาร์ก็เป็นบุคคลผ่าตัดแปลงเพศ ในอิหร่านผู้ชายจะถูกถือว่าเป็นเรื่องสำคัญกว่าผู้หญิง และคนแปลงเพศมาอาจจะไม่ถูกมองว่าเป็น “ผู้ชายอย่างสมบูรณ์”

แต่ในทางกลับกัน ผู้หญิงแปลงเพศเป็นชายนั้น จะยังคงเป็นที่ยอมรับของสังคมมากกว่าชายแปลงเป็นหญิง ทั้งนี้การยอมรับบุคคลหนึ่งที่ไม่ต้องการเป็นผู้ชายในสังคมปิตาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องยากเข็ญ

สังคมอัปยศและการศึกษาห่วยแตก

แม้ว่าการผ่าตัดแปลงเพศ เป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมายและปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางในอิหร่านเป็นเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา แต่สังคมในวงกว้างยังไม่คุ้นเคยกับการแปลงเพศ ตามรายงานของ “มะห์ตาร์ (Mahtaa)  สื่อออนไลน์อิหร่านซึ่งเป็นกระบอกเสียงของคนข้ามเพศ ระบุ “หลายคนคิดว่าการเป็นคนข้ามเพศ เป็นภาวะที่สามารถ “บำบัด” ให้หายได้”

มูฮัมหมัด ตัวแทนของ Mahtaa ชี้ให้เห็นว่า “บางคนคิดว่าคนข้ามเพศ คือคนที่มีทั้งสองเพศ และพวกเขาคิดว่าการผ่าตัดคือการแก้ไขร่างกาย พวกเขาไม่ได้ตระหนักว่าร่างกายนั้นใช่ แต่ใจนั้นไม่ได้”

นอกจากนี้ยังมีข้อสรุปที่ไม่ชัดเจนระหว่างนักวิชาการศาสนามุสลิมชีอะห์ ที่จำนวนมากของพวกเขายังถกเถียงเกี่ยวกับการแปลงเพศ เว้นแต่ในกรณีอวัยวะสืบพันธุ์จะไม่ปรากฏอย่างชัดเจนว่าชายหรือหญิง นอกจากนี้ยังมีจิตแพทย์จำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าการเป็นคนข้ามเพศ สามารถ “บำบัดให้หาย” ได้ ด้วยยา ไฟฟ้าช็อต หรือ อิสลามบำบัด (การรักษาทางด้านจิตวิญญาณและศาสนาซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยับยั้งจิตใจ)

ในทำนองเดียวกัน ตามที่อธิบายไว้โดยศาสตราจารย์ อัฟซาเนะ นัจมาบาดี (Afsaneh Najmabadi) ในหนังสือของเธอ  Selves: Transsexuality and Same Sex Desire in Contemporary Iran ระบุว่า  คนข้ามเพศ คือ การมักเข้าใจผิดโดยคนข้ามเพศเอง พวกเขามักจะพูดคุยเกี่ยวกับความกลัวความรุนแรงที่พวกเขาเคยมีประสบการณ์ เมื่อพวกเขาคิดว่าพวกเขามีพฤติกรรมรักร่วมเพศ และไม่มีหนทางที่จะบอกกับครอบครัวของพวกเขา”

เพราะความหมายเชิงลบดังกล่าว คนข้ามเพศจึงมักจะถูกเข้าใจผิดและถูกประณาม Mahtaa ถือว่านั่นคือการดูหมิ่นเหยียดหยาม โดยเฉพาะทางวาจา ซึ่งเป็นเรื่องดาดๆ มาก องค์กรของผู้แปลงเพศได้ทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะได้รับการยอมรับทางสังคมตามที่ได้รับจากกฎหมาย และด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงตัดขาดตัวเองอย่างเป็นทางการจากสมาคมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับรักร่วมเพศ อะไรที่เห็นในตะวันตกตามประเพณีของเครือข่าย LGBTQ (กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ) จึงแทบไม่มีอยู่ในประเทศอนุรักษ์นิยมอิหร่านเลย

เป็นที่เข้าใจว่า ชาวเกย์นั้นมีชีวิตที่เป็นความลับ กระนั้นส่วนมากของพวกเขาได้ผ่านกระบวนการคัดกรองที่จะได้รับการรับรองผ่าตัดแปลงเพศ เพื่อตอบสนองต่อผู้บุพการีหรือเพื่อที่จะมีเอกสารอย่างเป็นทางการที่จะแสดงกับตำรวจ ซึ่งการได้ใบรับรองนั้นไม่ยาก เนื่องจากเป็นคำถามที่มีการถามซ้ำบ่อย และคาดหมายคำตอบซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานความหนักแน่นในการจะออกจากเพศที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ตาม ตามการอธิบายของมูฮัมหมัด ระบุว่า การได้รับใบรับรองสำหรับคนเป็นเกย์น้อยครั้งที่จะนำไปสู่การผ่าตัดแปลงเพศ

ปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้น

ปัญหาของคนที่ผ่าตัดแปลงเพศ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่สังคมที่รายล้อมคนข้ามเพศเท่านั้น  การผ่าตัดนั้น ด้วยตัวมันเองมักจะเป็นส่วนที่ยากที่สุดของการรักษา เนื่องจากการไม่มีการช่วยเหลือทั้งในระหว่างและหลังการผ่าตัด ในกรณีที่มีการดำเนินการผิดพลาด ก็ไม่มีใครให้ร้องเรียน “ไม่มีใครได้ยินเรา” ฮัยดาร์ กล่าวและว่า “ควรจะมีการช่วยเหลือหลังการผ่าตัดด้วยบ้างบางส่วน นอกจากนั้นก็ควรมีด้านจิตวิทยาด้วย”

ตามที่ Mahtaa ระบุ คุณภาพของศัลยแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐอยู่ในระดับต่ำมาก และฟังก์ชั่นทางเพศหลังการดำเนินการดังกล่าวมักจะไม่ตอบสนองความคาดหวังของประชาชน ในสถานการณ์เช่นนั้นการสนับสนุนจากครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ และในกรณีของคนที่ได้รับการปฏิเสธจากครอบครัวของพวกเขา กระบวนการเหล่านี้จะสร้างความเจ็บปวดเหลือคณา และคนแปลงเพศจำนวนมากหลายคนมักจะจบลงด้วยการทำงานเป็นโสเภณี

คนผ่าตัดแปลงเพศมักจะเผชิญกับความยากลำบากที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าพวกเขาจะแต่งงานก็ตาม แต่ความจริงที่ว่าพวกเขาไม่สามารถมีลูกได้ ทำให้ครอบครัวดังกล่าวมีลักษณะที่ไม่สมบูรณ์อย่างแท้จริง

ไม่มีดำหรือขาว

ฮัยดาร์และไลลาแต่งงานกันอย่างมีความสุข พวกเขาเพิ่งไปเยี่ยมชมสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในพื้นที่ของตน และหวังว่าจะสามารถที่จะรับเอาเด็กมาอุปการะ หนึ่งสัปดาห์หลังจากที่เราได้พบกัน ไลลาเริ่มต้นการศึกษาระดับปริญญาของเธอในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเพื่อสังคม วันนี้ความฝันของพวกเขามีความเรียบง่ายและพวกเขาไม่ได้รู้สึกแตกต่างจากคู่อื่นๆ

นิมา เพื่อนของพวกเขา เพิ่งได้รับการผ่าตัดเมื่อสามเดือนที่ผ่านมา เมื่อผู้สื่อข่าวถามเขาเกี่ยวกับส่วนที่ยากที่สุดของกระบวนการนี้ เขาปรารภเกี่ยวกับการแยกทางกับผู้หญิงคนหนึ่งที่เขาอยู่ด้วยก่อนที่จะผ่าตัดแปลงเพศ ตอนนี้เป็นสิ่งที่เขารู้สึกเสียใจมากที่สุด ผู้หญิงแต่งงานใหม่ไปแล้ว แต่เธอไปเยี่ยมเขาที่โรงพยาบาลพร้อมกับสามีของเธอที่ตระหนักถึงความสัมพันธ์ของพวกเขาและแสดงให้เห็นความเข้าใจและการสนับสนุนอย่างมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าแปลกใจที่มีอยู่ในสังคมอนุรักษ์นิยม

ตามที่ Mahtaa ระบุ ความรู้ของชุมชนคือสิ่งที่จะช่วยทำให้ดีขึ้น ถึงแม้หนทางข้างหน้ายังคงอีกยาวไกลที่ต้องเดิน แต่สถานการณ์ก็ดีกว่า 10 ปีที่แล้ว  และแม้จะมีอีกหลายปัญหาที่เห็นได้ชัดเจน แต่ชาวคนข้ามเพศจำนวนมากก็มีชีวิตที่ดีขึ้นหลังการผ่าตัด “หนึ่งปีแล้วของฉัน ที่ตอนนี้ฉันรู้รสชาติของเสรีภาพ ฉันเป็นอิสระจากคุกของฉัน” ไลลากล่าว

แปล/เรียบเรียงจาก http://www.middleeasteye.net/in-depth/features/transsexuality-iran-liberal-law-conservative-state-1887443646