บทบาททางการเมืองมุสลิมของมุสลิมปาทาน ในอีสานใต้ของประเทศไทย และแขวงนครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยของดร.ฟาริดา สุไลมาน หลักสูตรปรัชญาดุษฏีบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์ ในระดับปริญญาเอก ลูกหลานชาวปาทาน รุ่นที่ 3 ที่กำเนิดในดินแดนอีสานใต้ จังหวัดสุรินทร์ติดชายแดนประเทศกัมพูชา ดินแดนอีสานที่ไม่มีมุสลิมอยากมาใช้ชิวิตอยู่ในแถบนี้ เพราะมีแต่ความแห้งแล้ง มุสลิมมีน้อย หาอาหารฮาลาลยากมาก ไม่มีมัสยิด มุสลิมมีน้อยหลายคนกลัวว่าหากอยู่ที่นี่จะเปลี่ยนศาสนา เพราะแวดล้อมด้วยเพื่อนบ้านชาวพุทธ หากตายไปกลัวถูกนำไปเผา เพราะไม่มีมัสยิด ไม่มีสังคมเพื่อนบ้านมุสลิม นี่คือสภาพสังคมของอีสานใต้เมื่อ 50-100 ปี ที่ผ่านมา

วันนี้สังคมที่นี่เปลี่ยนไปมากมุสลิมมากขึ้น เมื่อความเจริญมาถึง ถนนหนทาง อาหารการกินสะดวกขึ้นมีร้านอาหารมีอาหารฮาลาลทุกจังหวัด และมีการอพยพของพี่น้องมุสลิมภาคกลางและภาคใต้เพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลของการสำมะโนครัวประชากรมุสลิมในภาคอีสานปี2543พบว่ามีมุสลิมใน อีสานจำนวน 18,069 คน(แผนงานสร้างเสริมสุขภาวะมุสลิมไทย 2547:2-3) และทุกจังหวัดของอีสานวันนี้มีมัสยิดเต็มพื้นที่

ในวัยเด็กที่ผู้วิจัยถูกซึมซับจากวัฒนธรรมของชาวอีสานในจังหวัดสุรินทร์ทั้ง วัฒนธรรมชาวลาว เขมร กูย และของพี่น้องชาวพุทธในพื้นที่ที่หล่อหลอมรวมกัน กับความเป็นมุสลิมปาทานของคุณปู่ คุณตา ที่อพยพมาจากปากีสถาน ที่ยึดถือหลักปัสตุนวลี ที่คนปาทานต้องมี 9 ข้อ ได้แก่

1. การต้อนรับแขกด้วยความอบอุ่น
2. การให้ความคุ้มครองปกป้อง
3. ความเป็นธรรม
4. ความกล้า
5. ความซื่อสัตย์
6. ความถูกต้องเที่ยงธรรม
7. ความเชื่อในพระเจ้าและหลักคำสอน
8. การเคารพในต้วเอง
9. การให้ความเคารพต่อสตรี

มุสลิมปาทานที่เข้ามาในดินแดนอีสานในช่วงอพยพเข้ามาในช่วงสงครามโลกครั้งที่1 นั้น ส่วนใหญ่เดินเท้าผ่านมาทางภูเขาภาคเหนือที่อ.แม่สอด กระจายสู่ภาคเหนือและภาคอีสานของประเทศไทย และทางเรือเข้ามาทางสิงคโปร์ มาเลเซีย ข้ามแดนมาทางใต้ของประเทศไทย แล้วกระจายอยู่ภาคต่างๆของประเทศไทย

เมื่อมุสลิมรุ่นแรกที่อพยพมาส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่ม16-18 ปี เมื่อมาถึงแรกๆ พูดภาษาไทยไม่ได้ ใช้ภาษาปัชตุน ทำให้ทำอาชีพอื่นไม่ได้ ด้วยความซื่อสัตย์ ความอดทน จึงได้รับความไว้วางใจจากคนพื้นเมืองมาเป็นยาม เลี้ยงสัตว์ ทำเนื้อ เพราะต้องหาอาหารฮาลาลทาน จึงมีอาชีพทำเนื้อเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาเมื่อได้ปักหลักปักฐานได้แต่งงานกับหญิงพื้นเมือง ชาวลาว เขมร ด้วยความขยัน ใจสู้ อดทน ซื่อสัตย์ จึงได้รับความไว้วางใจจากคนพื้นเมือง มาทำธุรกิจต่างๆ เช่น โรงแรม โรงเรียน ขนส่ง ค้าขาย รับเหมาก่อสร้าง รวมทั้งการไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนในอีสานให้เข้าสู่การมีส่วนร่วมทางการ เมือง โดยเป็นนักการเมืองท้องถิ่น เช่นในอีสานใต้ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ยโสธร และอุบลราชธานี มีมุสลิมปาทานเข้าไปเป็นนักการเมืองระดับชาติ รวมทั้งระดับท้องถิ่น ได้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวม 32 คน เป็นชาย 22คน หญิง 10 คน

จากข้อมูลในอีสานใต้พบว่ามุสลิมปาทานเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองที่สูงมาก จากจำนวนสัดส่วนประชากรมุสลิมปาทานของแต่ละจังหวัดเช่นที่สุรินทร์ มีมุสลิมปาทานประมาณ 45 คน จังหวัดศรีสะเกษ ประมาณ 140 คน จังหวัดยโสธร ประมาณ 30 คน จังหวัดบุรีรัมย์ประมาณ 63 คน จังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ 75 คน จากข้อมูลพบว่ามุสลิมปาทานในแต่ละจังหวัดมีปริมาณที่น้อย แต่การได้รับการยอมรับจากประชาชนชาวพุทธในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการ เมืองในการเป็นตัวแทนของประชาชนในสัดส่วนที่สูงมาก

จากการศึกษางานวิจัยนี้พบว่ามุสลิมปาทานสามารถปรับตัวและไดัรับการยอมรับใน บทบาทที่โดดเด่น 6 ด้านได้แก่ ด้านความซื่อสัตย์ ความเป็นผู้นำและกล้าตัดสินใจ ความรู้เกี่ยวกับหลักศาสนาอิสลาม ความเข้าใจในสภาพปัญหาของชุมชนอย่างแท้จริง การส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว ชุมชน สังคม การส่งเสริมกิจกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองภาคประชาชน ซึ่งคุณค่าทั้งหมดที่กล่าวมานี้ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ศรัทธาให้การยอมรับ จนสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ส่วนที่เเขวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มุสลิมมาจากประเทศปากีสถาน อพยพมาทางเรือ และบางส่วนเข้ามาทางประเทศไทย มุสลิมปาทานที่แขวงนครเวียงจันทน์มีประมาณ 42 ครอบครัว ชุมชนที่มีมุสลิมปาทานอยู่มากได้แก่ ชุมชนโพนชัย ชุมชนสีสวาท ชุมชนทุ่งขานดำ ชุมชนท้องแก ชุมชนโพนสวาท ชุมชนดงปาลาน ชุมชนทุ่งตุูม ชุมชนจอมแจ้ง และชุมชนนำ้พุ

ย่านชุมชนน้ำพุเป็นชุมชนเก่าแก่ ย่านธุรกิจที่ชาวมุสลิมปาทานอาศัยอยู่มาก ปัจจุบันย่านน้ำพุได้จัดสร้างเป็นมัสยิดของชาวปาทานชื่อมัสยิดยาเมีย สมัยก่อนช่วงไม่มีสงคราม มีมุสลิมปาทานหลายร้อยคนอาศัยอยู่ แต่ปัญหาการเมืองทำให้มุสลิมปาทานที่เวียงจันทน์อพยพไปยังประเทศที่สามเช่น แคนาดา อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศล สวีเดน นอร์เวย เดนมาร์ค และบางส่วนกลับประเทศปากีสถาน ดังนั้นในการรักษาอัตลักษณ์ การใช้ภาษา การแต่งกาย อาหารการกิน วัฒนธรรมประเพณี ชาวมุสลิมปาทานของแขวงนครเวียงจันทน์ มีมากกว่ามุสลิมปาทานในอีสานใต้ของประเทศไทย เพราะมีการติดต่อกันโดยตลอดจากญาติพี่น้องที่ประเทศปากีสถาน เช่นลูกหลานนิยมส่งไปเรียนที่ปากีสถาน จึงทำให้สามารถสื่อสารพูดภาษาปุสโตได้

เนื่องจากสภาพการเมืองที่ไม่เอื้อเปิดโอกาสให้มุสลิมปาทานเข้ามาสู่การเมืองเหมือนใน ประเทศไทยด้วยระบอบการปกครองที่ต่างกัน แต่บทบาทของมุสลิมปาทานที่สปป.ลาวก็ไม่แตกต่างจากประเทศไทยในแง่ของความเป็น ผู้นำ การมีปฎิสัมพันธ์กันในชุมชน การสร้างความเข้มแข็งในชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง จนทำให้มุสลิมปาทานในแขวงนครเวียงจันทน์ก้าว มามีบทบาทเป็นนักธุรกิจและเป็นผู้นำของสปป.ลาว

บทบาททางการเมืองของมุสลิมปาทานในอีสานใต้ประเทศไทย และแขวงนครเวียงจันทน์ ในสปป.ลาว ที่ผู้วิจัยได้ศึกษาจากงานวิจัยที่ผู้วิจัยเป็นส่วนหนึ่งของมุสลิมปาทานที่ เป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในสังคมอีสานมาร่วม 50 ปี สิ่งที่ค้นพบและพิสูจน์ให้เห็นคือการยึดถือหลักศาสนาและหลักปัสตุนวลีของชาว ปาทาน ทำให้มุสลิมปาทานสามารถอยู่ในสังคมที่มิใช่มุสลิม และอยู่แล้วได้รับการยอมรับจากสังคมของพี่น้องชาวพุทธ และสิ่งหนึ่งที่สะท้อนออกมาให้เห็นชัดคือสังคมอีสานของพี่น้องชาวพุทธ คือเป็นสังคมของการเอื้ออาทร ให้เกียรติ เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง  ยอมรับในความคิดความเชื่อของการนับถือศาสนาและการปฏิบัติ จึงทำให้มุสลิมปาทานและชาวพุทธสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างสันติ