ไม่ห่วงทุนไหลเข้าไทย หลัง “อีซีบี” ผ่อน ‘คิวอี’

หลังจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เมื่อปลายสัปดาห์กลางเดือนมกราคม ทำให้มีเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนของไทย ผลกระทบที่เกิดขึ้น มีผลค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังไม่ผันผวนมากนัก ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อหุ้นไทยต่อเนื่องตั้งแต่อีซีดี ดำเนินมาตรการคิวอี จากการคาดการณ์ว่าจะมีเงินไหลเข้าเอเชียมากขึ้น

ทำให้ผู้คุมบังเหียนด้านเศรษฐกิจอย่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าแม้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยก็ตาม แต่ ธปท.ได้ดูแลเรื่องเงินทุนไหลเข้าได้ดีมาก เห็นได้จากค่าเงินบาทที่ไม่ได้ผันผวน แม้ตลาดหุ้นไทยจะปรับขึ้นสูงถึง 1,600 จุด ธปท.ก็ยังทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดี ยังไม่ต้องใช้เครื่องมือทางการเงินใดๆเพิ่มเติม

“ค่าเงินบาท(27 ม.ค.) ปิดตลาดที่ 32.53-32.55 บาทต่อดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากช่วงเช้าโดยระหว่างวันค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆโดยปรับตัวแข็งค่าสุดที่ 32.53 บาทต่อดอลลาร์และอ่อนค่าสุดที่ 32.61 บาทต่อดอลลาร์”

เงินทุนไหลเข้ามาจำนวนมากนั้น ธปท.ยังดูแลได้ดี ค่าเงินบาทไม่แข็ง ไม่ต้องใช้เครื่องมือเข้าแทรกแซงค่าเงิน แต่ที่ที่กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขการส่งออกของไทยตลอดทั้งปี2557ยังติดลบ 0.41 % นั้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ระบุว่าการคำนวณตัวเลขส่งออกต้องนำสินค้า น้ำมัน ยางพารา ทองคำแท่ง ทองรูปพรรณออก เพราะเวลาราคาน้ำมันลง ในการคิดมูลค่าจะดึงราคายาง และดึงราคาทองคำ โลหะลง นอกจากนี้ไทยได้ส่งออกน้ำมันส่ง โดยนำเข้าน้ำมันดิบ และกลั่นน้ำมันทั้งเบนซิน และดีเซล โดยในประเทศใช้น้ำมันดีเซลจำนวนมาก ขณะที่ราคาส่งออกน้ำมันเบนซินนั้นลง ทำให้มีผลต่อการส่งออกน้ำมันเบนซิน

“หากไม่นับ น้ำมัน ยางพารา ทองคำ ที่มีปริมาณการส่งออกเท่าเดิม แต่ราคาการส่งออกลดลงนั้น เชื่อว่าตัวเลขการส่งออกทั้งทั้งปีที่จะอยู่ 1.5% คือเป็นบวก ส่วนในปี2558 เชื่อว่าการคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกไทยอยู่ที่ 4% ยังมีความเป็นไปได้ เนื่องจากมองว่าราคาน้ำมันไม่น่าลดลงมากกว่านี้”

ตรงจุดนี้แม้เงินทุนไหลเข้ามา ทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นบ้าง แต่ตัวเลขการส่งออกรัฐบาลก็ยังถือว่าพอใจ เพราะว่าเศรษฐกิจทั้งโลกยังไม่ฟื้น เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกาก็เพิ่งฟื้น แต่ยังไม่ฟื้นเต็มที่ ญี่ปุ่นฟื้นและหยุดชะงักไป ส่วนจีนที่เคยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ 8 % ก็ลดลงเหลือ 6% นอกจากนี้ประเทศเพื่อนบ้านเราก็โดนผลกระทบเหมือนกันหมด การที่การส่งออกไทยยังยืนอยู่ได้ก็แสดงว่ากระทรวงพาณิชย์ทำได้เก่งมาก

โดยที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รายงานว่า กรณีธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) อัดฉีดเงิน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นการเพิ่มสภาพคล่องผ่านการซื้อสินทรัพย์เข้ามาในงบดุลของอีซีบี แต่คงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25 % เท่ากับธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ซึ่งการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(คิวอี) แสดงให้เห็นว่ายูโรโซนกำลังเผชิญสภาวะเงินฝืด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบลดลง และเป็นไปในแนวทางเดียวกับสหรัฐ อังกฤษ และญี่ปุ่น ได้เคยทำไปก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าเม็ดเงินจะไหลเข้าภูมิภาคเอเชียและไทย อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทผันผวนในทิศทางแข็งค่าขึ้น จะกระทบการส่งออกสินค้าของไทยที่ได้ตกลงราคาไว้แล้วเพียงระยะสั้น

“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นของโลก ทำให้นักวิเคราะห์เริ่มเห็นสัญญาณชัดเจนว่า หลายประเทศทั่วโลกกำลังเข้าสู่สงครามการเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้ จนถึงกันยายนปี 2559 เป็นอย่างน้อย รวมใช้เงิน 1.1 ล้านล้านยูโร หรือราว 41.8 ล้านล้านบาท ในการเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจยูโรโซน และผลักดันเงินเฟ้อแต่ระยะเวลาสิ้นสุด ยังถูกเปิดไว้ เชื่อว่าคงคล้ายกับสหรัฐที่รอดูจนกว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจจะเข้าที่”

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(สค.) ย้ำว่ารัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจเตรียมมาตรการรับมือกรณีคิวอีของอีซีบี ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้า เพื่อเฝ้าติดตามสถานการณ์และปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ เป็นระยะๆ โดยผู้ประกอบการควรทำประกันความความเสี่ยงจากตลาดการเงินที่มีความผันผวนไปทั่วโลกในปีนี้

ในช่วงที่ค่าเงินยูโรอ่อน นับเป็นโอกาสเหมาะในการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักร โดยเฉพาะจากเยอรมัน เพื่อก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เพื่อให้มีต้นทุนถูกลง สำหรับมาตรการด้านการคลังนั้น ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ทำพอสมควร โดยเป็นมาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออก และลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ เช่น การลดภาษีให้กับเอสเอ็มอี การลดภาษีวัตถุดิบ เครื่องจักร นาโนไฟแนนซ์ เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2558 ที่ผ่านมา

กนง.ประกาศคงดอกเบี้ย2%

ในวันที่ 28 มกราคม 2558 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงคงให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2%ต่อปี โดย 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง0.25%ต่อปี นายเมธี สุภาพงษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น ช่วยชดเชยอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดเล็กน้อยในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะยังมีแนวโน้มฟื้นตัว

โดยราคาน้ำมันที่ปรับลดลงมากจะช่วยให้การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศเข้มแข็งขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกยังมีอยู่ ทั้งจากการฟื้นตัวช้าของคู่ค้าสำคัญหลายประเทศ ปัญหาการเมือง และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลักที่มีทิศทางแตกต่างกัน อาจทำให้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงตามราคาพลังงาน และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะหลุดขอบล่างของกรอบเป้าหมายในปีนี้ แต่ไม่ถือเป็นภาวะเงินฝืด เพราะอุปสงค์ในประเทศยังขยายตัว และราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมันไม่ได้ปรับลดลง ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัว อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ตามแนวโน้มราคาน้ำมันโลก เมื่ออุปทานและอุปสงค์ทยอยปรับตัวเข้าสู่สมดุล เสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามคุณภาพของสินเชื่อครัวเรือนและการปรับตัวของราคาสินทรัพย์

ในช่วงที่ผ่านมาธปท.ยังได้ติดตามสถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ พบว่าขณะนี้ยังไม่พบสัญญาณฟองสบู่ในภาคอสังหาฯตามที่หลายฝ่ายกังวล แม้จากการลงพื้นจะพบว่าเริ่มเห็นบางโครงการตามหัวเมืองจะไม่สามารถจบโครงการได้ แต่ในโครงการในกทม.และปริมณฑลยังเดินหน้าได้ปกติ แต่อย่างไรก็ตามธปท.จะติดตามสถานการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิดต่อไป ส่วนปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนในปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลง เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวการบริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม คงไม่น่าเป็นห่วงแม้ว่ามีสัญญาณเงินทุนไหลเข้ามา หลังจากที่กนง.คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2% เพราะเชื่อว่ายังไม่มีอันตรายที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจไทยที่จะกดดันให้เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ เพราะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปลายปีที่ผ่านมา ธปท.ยังเห็นการขยายตัวของเศรษฐกิจ จึงไม่มีมาตรการทางการเงินออกมาดูแลเงินทุนไหลเข้าในระยะนี้

เงินทุนที่ไหลเข้ามา คงทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น แต่ไม่กดดันให้เกิดฟองสบู่ในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด