**หมายเหตุ :ข้อมูลเมื่อวันที 29 มิถุนายน 2559
ในช่วงนี้ใครๆ ก็คงให้ความสนใจกับโรคจากไวรัสที่เริ่มมีชื่อคุ้นหูคนไทยมากขึ้น นั่นคือไข้ซิกา ซึ่งเกิดจากไวรัสซิกา และที่ผู้คนเริ่มตื่นตัวกันมากเป็นพิเศษก็เพราะโรคนี้สามารถทำให้เด็กทารกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อไวรัสซิกามีอาการศีรษะเล็กผิดปกติได้
ไวรัสซิกา เป็นไวรัสในตระกูลเฟลวิไวรัส ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับไวรัสเดงกีที่เป็นตัวการของไข้เลือดออก ไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเวสต์ไนล์ และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี ไวรัสซิกามีพาหะคือยุงลาย โดยไวรัสจะอาศัยอยู่ในตัวยุงลายโดยไม่มีผลใดๆกับยุง เมื่อยุงกัดคนก็จะถ่ายทอดเชื้อไวรัสไปสู่คนที่ถูกกัด เชื้อนี้อาจถ่ายทอดได้จากการมีเพศสัมพันธ์ การให้เลือด หรือจากมารดาไปสู่ทารกในครรภ์ แต่ยังไม่มีรายงานการติดต่อจากการให้นมบุตร
เมื่อติดเชื้อไวรัสซิกา อาการแสดงคือ มีผื่นขึ้นตามลำตัว มีไข้ ปวดตามข้อ อ่อนเพลีย ตาแดง เยื่อบุนัยน์ตาอักเสบ ปวดศีรษะ นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดขา ต่อมน้ำเหลืองโต ความดันต่ำ เกิดขึ้นได้
สิ่งที่ควรต้องระวังไม่ได้อยู่ที่การติดเชื้อในผู้ใหญ่ เพราะการติดเชื้อไวรัสซิกาไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต ผู้ป่วยสามารถหายได้เองในเวลา 7 วัน แต่อันตรายอยู่ที่การติดเชื้อไวรัสซิกาในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทของทารกในครรภ์ ทำให้ทารกมีสมองเล็กลงอย่างมาก รอยหยักบนเนื้อสมองหายไป สิ่งที่มองเห็นได้ชัดเจนคือทารกที่คลอดออกมาจะมีศีรษะเล็กลงกว่าทารกปกติ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้ซิกาในหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก และการแพร่ระบาดในทวีปอเมริกาใต้ โดยเฉพาะบราซิล ทำให้เริ่มมีการให้ความระมัดระวังในการป้องกันโรคไข้ซิกามากยิ่งขึ้น วิธีหนึ่งในการป้องกันคือการกำจัดพาหะของโรคคือยุงลาย โดยกำจัดแหล่งน้ำขัง ป้องกันไม่ให้ยุงกัด ตามแนวทางเดียวกันกับการป้องกันโรคไข้เลือดออก อีกวิธีหนึ่งคือความหวังใหม่ในการใช้วัคซีนในการป้องกันโรค
จากเดิมซึ่งไข้ซิกานี้ยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกัน แต่ข้อมูลล่าสุดระบุว่า เราอาจจะได้มีวัคซีนป้องกันไข้ซิกาในอนาคตอันใกล้นี้ เนื่องจากได้มีการทดสอบวัคซีนป้องกันไข้ซิกาในหนู พบว่าวัคซีนที่ผลิตจากดีเอ็นเอ และวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อไวรัสซิกาที่ทำให้อ่อนแรงลงแล้ว ทั้งสองแบบสามารถป้องกันการติดเชื้อไข้ซิกาในหนูได้อย่างสมบูรณ์ หลังจากให้วัคซีนหนึ่งโดสแล้วตามด้วยการพยายามทำให้หนูติดเชื้อไวรัสซิกาจากการให้เชื้อไวรัสเข้าไป ซึ่งภูมิคุ้มกันนี้จะอยู่ได้นานไม่น้อยกว่าสองเดือน ในขณะที่หนูกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับวัคซีนมีการติดเชื้อไวรัสซิกาและพบเชื้อไวรัสในเลือดในปริมาณสูง
แต่อย่างไรก็ตาม ความใกล้เคียงกันของเชื้อไวรัสซิกาและไวรัสเดงกี ทำให้ยังมีข้อสงสัยว่า การให้วัคซีนไข้ซิกาทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อไวรัสซิกาแล้ว อาจเกิดภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกีด้วยหรือไม่ เนื่องจากไวรัสสองชนิดนี้มีความคล้ายคลึงกันจนอาจทำให้เกิดอันตรายเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสเดงกี่ในภายหลัง เพราะแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสซิกาอาจสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาของโรคไข้เลือดออกที่รุนแรงขึ้น คือเปรียบเสมือนมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเดงกีด้วย พอติดเชื้อไวรัสเดงกีจึงเกิดปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันเหมือนติดเชื้อครั้งที่สอง อาการจึงรุนแรงขึ้นจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่ก็ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปว่าความเป็นไปได้ของข้อสงสัยนี้จะเกิดขึ้นในทุกกรณีหรือไม่
การทดสอบวัคซีนในหนูที่กล่าวมานี้ยังไม่สามารถนำมาใช้ในคนได้เลยในทันที จะต้องมีการทดสองในสัตว์อื่นเพิ่มเติม จนเมื่อแน่ใจในความปลอดภัยแล้วจึงจะนำมาทดลองใช้ในคนต่อไป ซึ่งก็เป็นความหวังในอนาคตที่จะป้องกันความพิการในทารกแรกเกิด สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่จะลดความเสี่ยงในการเป็นไข้ซิกา ซึ่งก็ต้องศึกษาประโยชน์ที่จะได้รับเทียบกับความเสี่ยงในกรณีต่างๆที่อาจเกิดขึ้นโดยรอบด้าน เพื่อความปลอดภัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต