ประชาชนอังกฤษกว่า 5 แสนลงชื่อในฎีกา ไม่ให้ทรัมป์ได้เยือนในระดับประมุขประเทศ

อินดีเพนเดนท์ – ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงประชาชนมากกว่า 500,000 คนได้ลงนามในฎีกาเรียกร้องมิให้ประธานาธิบดีสหรัฐได้เยือนสหราชอาณาจักรในระดับประมุขประเทศ (State Visit)

ทั้งนี้รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะตอบสนองต่อฎีกาทั้งหมดที่มีมากกว่า 10,000 ลายเซ็น และในกรณี 100,000 ลายเซ็นนั้นจะต้องนำเข้าพิจารณาโดยการอภิปรายในรัฐสภา

มีการอ้างว่า มีพยานหลักฐานชัดเจนว่าทรัมป์เกลียดชังสตรีเพศและหยาบคาย โดยฎีกานั้นระบุ ให้นายทรัมป์ได้รับอนุญาตเข้าประเทศได้ แต่จะไม่ได้รับเชิญให้เข้าพบสมเด็จพระราชินี

ฎีกาถูกเขียนเมื่อวันบ่ายวันอาทิตย์ (29 ม.ค. ตามเวลาท้องถิ่น) โดยมีผู้ลงชื่อสนับสนุนเฉลี่ยนาทีละ 1,000 คน

“”โดนัลด์ ทรัมป์ ควรได้รับอนุญาตให้เข้าสหราชอาณาจักรในฐานะหัวหน้ารัฐบาลสหรัฐ” ฎีการะบุและว่า ” แต่เขาไม่ควรจะได้รับเชิญให้เยือนในระดับประมุขประเทศ (State Visit) เพราะจะทำให้เกิดความลำบากใจกับสมเด็จพระราชินี”

ฎีกายังระบุว่า “”มีพยานหลักฐานชัดเจนว่าทรัมป์เกลียดชังสตรีเพศและหยาบคาย อันทำให้เขาถูกตัดสิทธิ์ที่จะได้รับการต้อนรับจากสมเด็จพระราชินีหรือเจ้าชายแห่งเวลส์ ดังนั้นในช่วงระยะเวลาของการเป็นประธานาธิบดีของเขา โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ควรได้รับเชิญให้เยือนสหราชอาณาจักรในระดับประมุขประเทศ”

ฎีกาเริ่มลงนามเมื่อเวลา 12.45 น. ของวันอาทิตย์ (ตามเวลาท้องถิ่น) ซึ่งปรากกว่าเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็มีผู้มาลงชื่อเกิน 10,000 คน และเมื่อถึงจุดหนึ่งถึงขนาดมีคนลงชื่อ 56,000 ลายเซ็น ภายชั่วโมงเดียว โดยผู้ลงชื่อมาจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วสหราชอาณาจักร

นายกรัฐมนตรี เทเรว่า เมย์ ประกาศครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในระหว่างการเยือนกรุงวอชิงตันของเธอว่า นายทรัมป์ได้รับเชิญจากสมเด็จพระราชินีในการเยือนสหราชอาณาจักรในปลายปีนี้

เทเรซ่า เมย์ ปฏิเสธถึง 3 ครั้งในช่วงการเดินทางของเธอที่จะประณามนโยบายเกี่ยวกับผู้อพยพของนายทรัมป์ซึ่งห้ามพลเมืองจาก 7 ประเทศมุสลิมเข้าสหรัฐอเมริกา

นาดิม ซาฮาวี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคของเทเรซ่า เมย์เอง  ถึงกับกล่าวว่า การห้ามดังกล่าวส่งผลให้เขาไม่สามารถเข้าไปยังประเทศนี้ได้  เขาบอกว่าเขารู้สึกเหมือนถูกลดเกียรติด้วยนโยบายนี้  “เป็นครั้งแรกในชีวิตของผม ที่ผมรู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ” เขากล่าว

อนึ่งประเภทของการเยือนระหว่างประเทศนั้น จะเรียกแตกต่างกัน เช่น

Royal Visit การเยือนของกษัตริย์และพระราชวงศ์

State Visit  การเยือนระดับประมุขประเทศ ซึ่งจะมีข้อกำหนดไว้ชัดเจนว่า 1 ปีจะมีกี่ครั้ง และเป็นการเยือนที่สำคัญที่สุด

Official Visit การเยือนอย่างเป็นทางการ ก็คือ การแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรีที่สำคัญๆ ต่างๆ ปีหนึ่งมีได้หลายครั้ง

Working Visit  การเยือนอย่างเป็นทางการเช่นกัน แต่คณะผู้แทนที่มาเยือนในลักษณะ working visit อาจจะมีจำนวนองค์ประกอบคณะน้อยกว่า official visit ก็ได้