หญิงสาวจากชนเผ่าฮาซารา (Hazara) อัฟกานิสถาน ฝึกศิลปะการต่อสู้ของเส้าหลินบนยอดเขาในทางตะวันตกของกรุงคาบูล เตรียมความพร้อมเข้าร่วมการแข่งขันชิงแชมป์โลกเส้าหลินในประเทศจีน
ตอนที่พุทธศาสนิกชนในอัฟกานิสถานกำลังแกะสลักพระพุทธรูปขนาดยักษ์ในพื้นที่ “บามิยัน” เมื่อปี ศ.ศ. 500 ระหว่างนั้นพุทธศาสนิกชนในประเทศจีนก็กำลังรังสรรค์ศิลปะการต่อสู้ที่วัดเส้าหลินในมณฑลเหอหนาน
1,500 ปีต่อมา สตรีวัยรุ่น 10 คนจากชนเผ่าฮาซารา ก็กำลังฝึกศิลปะการต่อสู้ของเส้าหลินบนยอดเขาในทางตะวันตกของกรุงคาบูล พวกเขากำลังเตรียมความพร้อมสำหรับวันที่อัฟกานิสถานสามารถส่งทีมนักกีฬาหญิงของตนเข้าร่วมการแข่งขันชิงแชมป์โลกเส้าหลินในประเทศจีน
ชนเผ่าฮาซารา (Hazara) เป็นชนกลุ่มน้อยมุสลิมนิกายชีอะห์ ที่อยู่ในเขตพื้นที่บามิยัน (Bamiyan) ของประเทศอัฟกานิสถานมายาวนานหลายศตวรรษ พวกเขาเป็นตัวอย่างของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างสองศาสนา “อิสลาม-พุทธ” พระพุทธรูปน้อยใหญ่มากมายสัญลักษณ์แห่งความศรัทธาของพุทธศาสนาในดินแดนแห่งนี้ได้รับการปกป้องและมิเคยถูกแตะต้องจากชนพื้นเมืองมุสลิม
ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์บามิยันเคยรุ่งเรืองในฐานะแหล่งท่องเที่ยวและอู่อารยธรรมของโลก จวบจนกระทั่งการเข้ามามีอำนาจของ “ตอลีบัน” กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมที่ยึดแนวทางการตีความแบบสุดโต่ง ก็ทำให้มุสลิมนิกายชีอะห์ชนเผ่าฮาซาร่าถูกตามเข่นฆ่าไปพร้อมๆ กับพระพุทธรูปขนาดใหญ่แห่งบามิยันที่ถูกทำลาย
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า “สีมา อาซีมี” ซึ่งมีพื้นเพจากจัคฮุรี (Jaghuri) ในภาคกลางของอัฟกานิสถาน เป็นผู้ฝึกสอนศิลปะการต่อสู้ของเส้าหลินให้นักเรียนหญิง 9 คน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก รวมทั้งยังเพื่อป้องกันตนเองบนท้องถนนของกรุงคาบูลที่สตรีมักถูกคุกคามเป็นประจำ อาซีมีจำเหตุการณ์ที่โจรพยายามจะฉกกระเป๋าของเธอ แต่เพราะด้วยทักษะศิลปะการต่อสู้ที่เธอมี ทำให้เธอสามารถตอบโต้และรักษาไว้ทรัพย์สินไว้ได้
“ไรฮานา อามีรี” วัย 20 ปีเช่นกัน เธอมีความหวังว่าจะได้เข้าร่วมการแข่งขันศิลปะการต่อสู้เส้าหลินนานาชาติ และสามารถนำเกียรติยศและความภาคภูมิใจมาสู่อัฟกานิสถาน ประเทศที่ถูกทำลายจากภัยสงครามมาหลายทศวรรษ
[fbvideo link=”https://www.facebook.com/PRESSTV/videos/1425379194170530/” width=”500″ height=”400″ onlyvideo=”1″]
เมื่ออาซีมีไม่สามารถฝึกสอนนักเรียนของเธอบนภูเขาเนื่องจากหิมะปกคลุมไปทั่วคาบูล เธอก็ไปสอนกันในคลับของชาวกรันจ์ซึ่งมีนักแสดงวัยรุ่นคนหนึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุน อาซีมีกล่าวว่า เป็นเรื่องลำบากที่จะหาอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นในการฝึกสอน ยกตัวอย่างเธอต้องสั่งซื้อดาบเส้าหลินจากอิหร่านที่ซึ่งเธอได้ไปเรียนศิลปะนี้เป็นเวลา 3 ปี พวกเขาไม่สามารถหาชุดเครื่องแบบเส้าหลินได้ แต่พวกเขาก็ออกแบบและสั่งตัดมันขึ้นมาจากร้านตัดเสื้อในกรุงคาบูล
ตอนที่กำลังศึกษาอยู่ในอิหร่าน อาซีมีได้เข้าแข่งขัน 2 ครั้ง โดยที่เธอสามารถคว้าเหรียญทองและเหรียญทองแดง หนึ่งปีหลังจากที่กลับไปยังอัฟกานิสถานเธอตัดสินใจที่จะฝึกสอนหญิงสาวที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงฮาซารา
นักเรียนส่วนใหญ่ของเธอเป็นวัยรุ่น ในขณะที่บางส่วนของนักเรียนเรียนที่แก่กว่าก็กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัย
อาซีมีคิดค่าสอน 2 ถึง 5 เหรียญ (ประมาณ 70 ถึง 175 บาท) ต่อเดือน ขึ้นอยู่กับความสามารถที่พวกเขาจ่ายได้
“ครอบครัวของนักเรียนบางส่วนมีปัญหาในการยอมรับที่ลูกสาวของพวกเขามาเรียนวูซู (ศิลปะการต่อสู้)” เธอกล่าวและว่า ” แต่ฉันได้ไปหาที่บ้านพวกเขาและพูดคุยกับพ่อแม่ของพวกเขา”
ชาวอัฟกานิสถานหัวโบราณคิดว่า สตรีไม่ควรเล่นกีฬาที่รุนแรง พ่อแม่หลายคนกลัวว่าอุบัติเหตุจากกีฬาอาจส่งผลให้หญิงสาวสูญเสียเยื่อพรหมจารีของเธอก่อนการแต่งงานซึ่งถือว่าเป็นที่น่าอับอายอย่างมาก
ขณะที่ก้าวย่างของสตรีอัฟกานิสถานกำลังรุดหน้าขึ้นเรื่อยๆ อาซีมีกล่าวว่า มันก็ยังคงมีสิ่งต่างๆ อีกมากมายที่จะต้องเปลี่ยนแปลง เธอเชื่อมั่นว่าเด็กสาวและสตรีสามารถยืนขับเคี่ยวไปกับผู้ชายในศิลปะการต่อสู้เส้าหลินนี้