คลังชง ครม.ลดมูลค่าหุ้นไอแบงก์เหลือ 1 สตางค์ ก่อนถมเพิ่มทุน 1.8 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2560 โยกหนี้เสีย 5 หมื่นล้านบาทให้ IAM บริหารแทน เพื่อเคลียร์เงินกองทุนไม่ให้ติดลบ ก่อนดึงพันธมิตรต่างชาติร่วมทุน
เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 60 ประชาชาติออนไลน์รายงานว่า นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ขณะนี้คืบหน้า โดยไอแบงก์ได้ประชุมผู้ถือหุ้นและมีมติเห็นชอบเกี่ยวกับการโอนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) ของลูกค้าที่ไม่ใช่มุสลิมไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IAM) บริหารต่อ และกระทรวงการคลังได้เสนอเรื่องถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว น่าจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเร็ว ๆ นี้
“ส่วนเรื่องเพิ่มทุนให้ไอแบงก์ไม่ได้มีปัญหาอะไร รอแค่จังหวะเท่านั้น แต่ก็ชัดเจนขึ้น ลำดับต่อไปเหลือเรื่องการหาพันธมิตรมาร่วมลงทุน”
นายเอกนิติกล่าวว่า ส่วนกรณีที่ NPF เพิ่มขึ้นในช่วงที่อยู่ระหว่างแผนฟื้นฟู เท่าที่ทราบเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากลูกหนี้รายใหญ่ 2 ราย มูลหนี้หลักร้อยล้านบาท ซึ่งแบงก์กำลังแก้ไขอยู่
ขณะที่แหล่งข่าวจากไอแบงก์เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้เสนอรายละเอียดการเพิ่มทุน 18,000 ล้านบาท ให้แก่ไอแบงก์ภายในปี 2560 นี้ไปที่ ครม.แล้ว จะมีการพิจารณาสัปดาห์นี้ หรือหากไม่ทันจะเป็นสัปดาห์หลังเทศกาลสงกรานต์ ก่อนหน้านี้ เมื่อ 30 มี.ค. 2560 ไอแบงก์ได้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2560 โดยที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการลดทุน เพิ่มทุน และโอนหนี้ NPF
“การลดทุนจะมีการลดมูลค่าหุ้นจาก 10 บาท เหลือ 1 สตางค์ เพื่อล้างขาดทุนสะสม จากนั้นจะเพิ่มทุน 18,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังรายเดียวเพื่อให้เงินกองทุนของธนาคารไม่ติดลบ ซึ่งการเพิ่มทุนจะมีวงเงินที่รัฐบาลเคยอนุมัติไว้ 2,500 ล้านบาท ที่ปัจจุบันยังเหลือ 2,000 ล้านบาท และเงินจากกองทุนพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (กองทุน SFIs) ในส่วนที่เหลือ สำหรับเงินจากกองทุน SFIs น่าจะเข้ามา 2 รอบ แต่ทั้งหมด 18,000 ล้านบาท จะเกิดขึ้นภายในปี 2560”
สำหรับการเพิ่มทุนโดยกระทรวงการคลังนั้น จะต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อปลดล็อกชั่วคราวให้คลังถือหุ้นไอแบงก์เกิน 49% ได้ อาจเสนอใช้มาตรา 44 หรือเสนอแก้กฎหมายตามกระบวนการปกติ แต่ขอให้เป็นวาระเร่งด่วน และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาผ่านกฎหมาย 3 วาระรวดก็ได้
“หลัง ครม.เห็นชอบ และมีการเพิ่มทุนเรียบร้อยแล้ว น่าจะมีพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งกระบวนการเพิ่มทุนกับการแก้ไขกฎหมายจะเดินควบคู่กันไป”
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า เมื่อ ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอ ไอแบงก์จะโอนหนี้ราว 50,000 ล้านบาท มูลค่าทางบัญชีประมาณ 22,900 ล้านบาท (ตัดบัญชี ณ 31 ธ.ค. 2559) ไปให้ IAM โดย IAM จะออกพันธบัตรมาแลกหนี้ก้อนดังกล่าวโดยคลังไม่ต้องค้ำประกันให้แต่อย่างใด
นอกจากนี้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นยังได้เลือกตั้งกรรมการคนใหม่แทนกรรมการธนาคารที่ลาออก 1 ตำแหน่ง โดยมีมติเลือกนางสาวอังคณา สวัสดิ์พูน ที่ปรึกษาธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เป็นกรรมการธนาคาร แทนนายวิทยา ฉายสุวรรณ ที่ลาออกไป