เหตุการณ์สำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์อิสลามสมัยใหม่ ก็คือความขัดแย้ง “อาหรับ-อิสราเอล” ความขัดแย้งนี้มีหลายแง่มุม ซับซ้อน และยังคงเป็นปัญหาที่คาราคาซังมากที่สุดในโลกในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ด้านหนึ่งของความขัดแย้งนี้คือปัญหาผู้ลี้ภัยซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ.2491) พร้อมกับการสร้างรัฐ “อิสราเอล” ในปีนั้นชาวปาเลสไตน์กว่า 700,000 คนกลายเป็นผู้ลี้ภัย ในสิ่งที่เรียกว่า “Nakba” ซึ่งเป็นภาษาอาหรับ แปลว่า “ภัยพิบัติ” หรือ “หายนะ”
ภูมิหลัง
ในปี 1800 ขบวนการชาตินิยมใหม่เกิดขึ้นในยุโรป “ไซออนิสต์” เป็นขบวนการทางการเมืองที่สนับสนุนการสร้างรัฐยิว ชาวยิวจำนวนมากเชื่อว่าการมีรัฐของตัวเองเป็นสิ่งจำเป็นในการเผชิญหน้ากับการเลือกปฏิบัติและการกดขี่ของชาวยุโรปที่ย้อนหลังกลับไปหลายศตวรรษ หลังจากถกเถียงเรื่องดินแดนที่จะสร้างรัฐใหม่ในสภาไซออนิสต์ครั้งแรกเมื่อปี 1897 (พ.ศ.2440) ขบวนการไซออนิสต์ได้ตัดสินใจที่จะมุ่งสร้างรัฐของพวกเขาใน “ปาเลสไตน์” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมัน ทว่า “สุลต่านอับดุลฮามิด ที่ 2” แห่งจักรวรรดิออตโตมันได้ปฏิเสธไปแม้จะมีการเสนอจ่ายเงินให้เป็นจำนวนถึง 150 ล้านปอนด์ โดย “ธีโอดอร์ เฮิร์ซล์” (Theodor Herzl) ผู้ก่อตั้งขบวนการไซออนิสต์เพื่อแลกกับการเป็นเจ้าของดินแดนปาเลสไตน์
อย่างไรก็ตาม หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประตูก็เปิดให้ไซออนิสต์ โดยระหว่างสงครามอังกฤษสามารถพิชิตปาเลสไตน์จากออตโตมันในปี 1917 (พ.ศ.2460) และในเวลาเดียวกันนั้นรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ “อาเธอร์ บัลฟอร์” (Arthur Balfour) ได้ออกคำประกาศถึงขบวนการไซออนิสต์ว่าด้วยการสนับสนุนจากอังกฤษในการสร้างรัฐยิวในปาเลสไตน์
หลังจากสงคราม ในปี 1920 (พ.ศ.2463) ปาเลสไตน์กลายเป็นดินแดนใต้อาณัติ (mandate) สันนิบาตชาติ (League of Nations) ภายใต้การควบคุมของอังกฤษ ( สันนิบาตชาติ : องค์การระหว่างประเทศ ตั้งขึ้นในปีค.ศ.1919 จากการประชุมสันติภาพที่ปารีสของประเทศผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อสงครามจบถูกยุบและแทนที่ด้วย “สหประชาชาติ” กระทั่งปัจจุบัน) นับตั้งแต่อยู่ภายใต้การควบคุมของอังกฤษ ขบวนการไซออนิสต์ผลักดันการอพยพชาวยิวในยุโรปไปยังปาเลสไตน์อย่างหนักหน่วง ผลที่ตามมาคือจำนวนผู้อพยพชาวยิวในปาเลสไตน์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามข้อมูลสำมะโนประชากรของอังกฤษในปี 1922 (พ.ศ.2465) มีชาวยิว 83,790 คนในปาเลสไตน์ เมื่อถึงปี 1931 (พ.ศ.2474) มีจำนวน 175,138 คน และเมื่อถึงปี 1945 (พ.ศ.2488) จำนวนได้เพิ่มขึ้นถึง 553,600 คน ภายใน 25 ปีชาวยิวได้เพิ่มจาก 11 เปอร์เซ็นต์ เป็น 31เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด
เป็นธรรมชาติ ที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากชาวอาหรับปาเลสไตน์ ความตึงเครียดระหว่างผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ชาวยิวและชาวปาเลสไตน์เจ้าของพื้นที่ปะทุขึ้นหลายครั้ง ในที่สุด ปี 1940 (พ.ศ.2483) อังกฤษตัดสินใจว่าพวกเขาไม่สามารถควบคุมดินแดนนี้ และตัดสินใจที่จะยุติการเป็นเจ้าอาณัติของปาเลสไตน์ แล้วก็ออกจากประเทศนี้ไป
แผนของสหประชาชาติ และเอกราชของอิสราเอล
เมื่อมองเห็นการสิ้นสุดการควบคุมของอังกฤษที่มีต่อปาเลสไตน์ และความขัดแย้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ระหว่างชาวอาหรับและชาวยิวที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา องค์การสหประชาชาติที่เพิ่งถูกตั้งขึ้นในปี 1947 (พ.ศ.2490) ก็เข้ามามีส่วนร่วมพร้อมกับ “แผน” ที่เรียกว่า “แผนแบ่งส่วนปาเลสไตน์ของสหประชาชาติ” (United Nations Partition Plan for Palestine) ในแผนนั้นพวกเขาสนับสนุนการสร้าง “สองรัฐ” ในดินแดนซึ่งอดีตถูกรู้จักกันในนาม “ปาเลสไตน์” หนึ่งนั้นสำหรับชาวยิวที่เรียกว่า “อิสราเอล” และสำหรับชาวอาหรับคือ “ปาเลสไตน์”
ในขณะที่ชาวยิวในปาเลสไตน์ยอมรับแผนการอย่างกระตือรือร้น ชาวอาหรับก็ปฏิเสธอย่างรุนแรง ในมุมมองของพวกเขา มันคือการยึดเอาแผ่นดินที่เคยเป็นดินแดนอาหรับมุสลิมในอดีตตั้งแต่สงครามครูเสดและไปยกให้กับชนกลุ่มน้อยชาวยิวใหม่ที่เข้ามาในประเทศนี้ ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างสองฝ่าย
ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นนี้ อังกฤษประกาศยุติการเป็นเจ้าอาณัติปาเลสไตน์และถอนตัวออกจากประเทศนี้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 1948 (พ.ศ.2491) ในวันเดียวกันนั้น ขบวนการไซออนิสต์ในปาเลสไตน์ก็ได้ประกาศจัดตั้งประเทศใหม่ “อิสราเอล” วันถัดมาประเทศอาหรับเพื่อนบ้านประกาศปฏิเสธการประกาศดังกล่าวและบุกอิสราเอล
ผลของสงครามปี 1948 นำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬารของขนาดพื้นที่อิสราเอล บังเกิดให้รัฐแห่งนี้มีขนาดใหญ่กว่าพื้นที่รัฐที่เสนอโดยสหประชาชาติ ซึ่งมาจากการเข้ายึดครองประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่รัฐอาหรับ
การขับไล่ชาวปาเลสไตน์
อาจบางทีผลกระทบที่สำคัญที่สุดต่อมนุษย์ในสงครามปี 1948 ก็คือการขับไล่ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากออกไป ภายในพรมแดนของรัฐใหม่อิสราเอลมีชาวอาหรับปาเลสไตน์เกือบ 1 ล้านคนก่อนสงคราม เมื่อสิ้นสุดสงครามในปี 1949 (พ.ศ.2492) ชาวปาเลสไตน์ระหว่าง 700,000 ถึง 750,000 คนถูกขับไล่ไสส่งออกมา เหลือเพียง 150,000 คนเท่านั้นที่อยู่ในอิสราเอล
ผู้ลี้ภัยมักเป็นผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากสงคราม ตลอดหน้าประวัติศาสตร์กลุ่มคนมักระเห็จหนีเพื่อหลบเลี่ยงการสู้รบและช่วงชิงชัยชนะ แต่อะไรคือสิ่งที่ทำให้ชาวปาเลสไตน์ต้องเป็นผู้ลี้ภัยในปี 1948 (พ.ศ.2491)? พร้อมกันนั้น อันใดคือเหตุผลที่พวกเขากลายเป็นผู้ลี้ภัย? เรื่องนี้ยังคงนี้มีความขัดแย้งอย่างมากในปัจจุบัน นักประวัติศาสตร์หลายคนวิเคราะห์สาเหตุของการอพยพของชาวปาเลสไตน์ว่ายังคงเป็นเพราะการได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นักประวัติศาสตร์ (รวมทั้งนักประวัติศาสตร์ชาวอิสราเอลบางคน) ได้ระบุเหตุผลสำคัญบางประการสำหรับการอพยพว่า :
ความกลัว : ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากระเห็จหนีเพราะกลัวการโจมตีของอิสราเอลและการสังหารโหด โดยเมื่อวันที่ 9 เมษายน 1948 (พ.ศ.2491) นักรบของอิสราเอลจำนวนประมาณ 120 คนได้เข้าไปใน “เดียร์ ยัสซิน” หมู่บ้านปาเลสไตน์ใกล้กรุงเยรูซาเล็ม ชาวบ้าน 600 คนถูกสังหารเสียชีวิต บางคนเสียชีวิตในการปกป้องเมืองจากการต่อสู้กับกองกำลังอิสราเอล ในขณะที่คนอื่นๆ ถูกฆ่าโดยระเบิดมือซึ่งถูกโยนเข้าไปในบ้านของพวกเขา หรือถูกประหารหลังจากที่ถูกจับแห่ไปตามถนนของกรุงเยรูซาเล็ม
เป็นธรรมดา เมื่อการสังหารหมู่นี้แพร่กระจายไปทั่วปาเลสไตน์ ชาวปาเลสไตน์ก็กลัวความอำมหิตของชาวอิสราเอล ในหลายกรณี ชาวบ้านปาเลสไตน์จึงหนีการรุกคืบเข้ามาของอิสราเอล โดยหวังที่จะหลีกเลี่ยงชะตากรรมเช่นเดียวกับที่เกิดกับหมู่บ้าน “เดียร์ ยัสซิน” กลุ่มชาวอิสราเอลบางกลุ่มเช่น ยีชูฟ (yishuv) เร่งโหมสร้างสงครามจิตวิทยาเพื่อข่มขู่ชาวบ้านปาเลสไตน์ให้ยอมจำนนหรือหลบหนี มีการออกอากาศทางวิทยุเตือนชาวอาหรับว่าพวกเขาไม่สามารถยืนหยัดต่อสู้กับการรุกคืบของอิสราเอลได้ และการต่อต้านก็ไร้ประโยชน์
การขับไล่โดยกองกำลังของอิสราเอล : ในขณะที่ความกลัวเป็นปัจจัยกระตุ้นหลักสำหรับผู้ลี้ภัยตั้งแต่ในช่วงต้นของสงคราม เมื่อสงครามลากผ่านไปจนถึงปี 1948 (พ.ศ.2491) การขับไล่จากอิสราเอลโดยเจตนากลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น ในขณะที่ชาวอิสราเอลพิชิตอาณาเขตมากขึ้นเรื่อยๆ กองกำลังของพวกเขาก็แผ่กระจายไปทั่วทั้งประเทศ เพื่อที่จะรักษาการควบคุมพื้นที่เหล่านี้ หมู่บ้านที่ถูกยึดครองจำนวนมากถูกรื้อถอนโดยกองกำลังอิสราเอล
หนึ่งในตัวอย่างที่ถูกจารึกจดจำก็คือกรณี “เมืองลิดดา” (Lydda) และ “รามลา” (Ramla) ใกล้กรุงเยรูซาเล็ม เมื่อพวกเขาเอาชนะได้ในเดือนกรกฎาคมปี 1948 “นายยิตซัค ราบิน” (Yitzhak Rabin) ได้ลงนามในคำสั่งขับไล่ชาวปาเลสไตน์ทั้งหมดออกจากสองเมืองนี้จำนวน 50,000 ถึง 70,000 คน กองกำลังของอิสราเอลได้พาพวกเขาบางส่วนไปยังแนวรบอาหรับ ขณะที่คนอื่นๆ ถูกบังคับให้เดิน โดยได้รับอนุญาตให้นำสิ่งของติดตัวไปเท่าที่พวกเขาสามารถนำไปได้เท่านั้น การขับไล่ครั้งเดียวนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10 เปอร์เซนต์ของการขับไล่ชาวปาเลสไตน์ทั้งหมดในปี 1948
การสนับสนุนโดยกองกำลังอาหรับ : ในบางกรณีกองทัพอาหรับจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะจอร์แดนที่สนับสนุนให้ชาวปาเลสไตน์อพยพออกจากเมือง สาเหตุหนึ่งที่เป็นไปได้สำหรับเรื่องนี้ก็คือ เพื่อให้สามารถเปิดสนามรบโดยไม่มีพลเรือนตกอยู่ในห่ากระสุน ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม พลเรือนชาวปาเลสไตน์จำนวนมากได้ออกจากบ้านเกิดเมืองนอนของตนภายใต้การอำนวยการของกองทัพอาหรับ โดยหวังว่าจะกลับมาโดยเร็วหลังจากชัยชนะของชาวอาหรับ ทว่ากลายเป็นว่าพวกเขาต้องไปเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้าน
หลังสงคราม
สงครามอาหรับ-อิสราเอลในปี 1948 สร้างปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยอย่างมากในตะวันออกกลาง กว่า 500 หมู่บ้านและเมืองทั่วปาเลสไตน์ถูกลดประชากรอย่างสมบูรณ์ในช่วงเวลานี้ ผู้ลี้ภัยกว่า 700,000 คนจากเมืองเหล่านี้กลายเป็นภาระทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศเพื่อนบ้านและฝั่งตะวันตก (West Bank) ดินแดนปาเลสไตน์ภายใต้อำนาจของจอร์แดน ในปี 1954 (พ.ศ.2497) อิสราเอลได้ผ่านกฎหมายป้องกันการแทรกซึม โดยอนุญาตให้รัฐบาลอิสราเอลขับไล่ชาวปาเลสไตน์ที่ลอบกลับไปยังบ้านของตนซึ่งกลายเป็นดินแดนใหม่ของอิสราเอล นอกจากนี้ยังอนุญาตให้รัฐบาลขับไล่ชาวปาเลสไตน์ที่ร่อนเร่อยู่ภายในอิสราเอลได้หากพวกเขาคิดกลับไปยังบ้านเดิมของตน
วันนี้สิทธิในการกลับบ้านเกิด (right of return) ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้โดยการเจรจาสันติภาพระหว่างชาวปาเลสไตน์และอิสราเอล การขับไล่ชาวปาเลสไตน์ในปี 1948 ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้นต่อไปแม้ชีวิตของผู้ลี้ภัยดั้งเดิมจะเดินเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้วก็ตาม.
โต๊ะข่าวต่างประเทศ แปล/เรียบเรียงจาก http://lostislamichistory.com/the-nakba-the-palestinian-catastrophe-of-1948/
*** หมายเหตุ ทุกวันที่ 15 พฤษภาคม คือวันนักบา (Nakba Day) ที่ชาวปาเลสไตน์ทั่วโลกจะรำลึกถึงความหายนะที่พวกเขาประสบในปี 1948 และเป็นวันแห่งการทวงสิทธิในการกลับคืนสู่มาตุภูมิของตน (right to return)