ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ที่แยกไม่ออกจากเทคโนโลยีเริ่มอยู่ยากเข้าไปทุกที หลายคนไม่รู้ตัวว่าอาจจะกำลังถูกสอดส่องโดยบริษัทต่างๆ หลายสิบแห่งตั้งแต่วินาทีที่คุณตื่นนอนไปจนถึงวินาทีที่คุณนอนหลับ
สิ่งที่เทคโนโลยีบางส่วนจับตามองอยู่ ก็คือข้อมูลส่วนตัวของคุณ!!
ข้อเท็จจริงที่น่าอึดอัดก็คือ ข้อมูลส่วนตัวของคุณเป็นเสมือนค่าตอบแทน หรือช่องทางหนึ่งในการจ่ายค่าผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี หรือบริการต่างๆ ที่คุณกำลังใช้ และคิดมาโดยตลอดว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นเป็นของฟรี ซึ่งในความจริงก็คงเหมือนที่ใครๆกล่าวกันไว้ว่า “ของฟรีไม่มีในโลก”
มีวิธีการมากมายที่บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ กำลังสอดแนม ค้นหาข้อมูลส่วนตัวของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว และข้อมุลเหล่านี้ก็ถูกนำไปแชร์แบ่งปันเพื่อทำประโยชน์ทางการตลาด หรืออาจจะเอาไปทำอย่างอื่นที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
แน่นอน พวกเขาบอกเราว่า สามารถปิดมันได้ แต่เอาเข้าแล้วคุณต้องการจะปิดจริงๆ หรือ?
1. ปุ่ม “ถูกใจ” ของเฟสบุ๊ค
แม้คุณจะไม่ได้ใช้เฟสบุ๊ค แต่คุณก็จะต้องได้เห็นปุ่ม “ถูกใจ” หรือ Like ของบริษัทนี้ที่ผุดขึ้นมาในที่ต่างๆ ทั่วอินเทอร์เน็ต เหมือนกับโรคอีสุกอีใส ถ้าคุณกดมัน คุณสามารถถูกใจหน้าเพจของบริษัท บุคคล หรือยี่ห้อ โดยไม่ต้องออกจากเว็บไซต์ที่คุณกำลังเปิดอยู่
นอกจากนั้นแล้วก็มีปุ่มแชร์ของเฟสบุ๊ค และช่องแสดงความคิดเห็นของเฟสบุ๊ค ทั้งสองปุ่มจะดึงเข้าสู่หน้าบริการของบริษัทนั้นๆ เพื่อให้เห็นคุณลักษณะของตัวเอง
แต่มันเป็นความสัมพันธ์แบบสองทาง!!
ราคาที่คุณต้องจ่ายเพื่อจะได้ตอบโต้กับเฟสบุ๊ค ก็คือ พวกเขาสามารถมองเห็นเว็บไซต์อื่นๆ ที่คุณกำลังเปิดอยู่ และติดตามคุณไปทั่วอินเทอร์เน็ต จากนั้นก็ใช้ข้อมูลที่ได้มาเพื่อปรับการโฆษณาและเนื้อหาที่ตรงเป้ายิ่งขึ้นกลับมาหาคุณ
วิธีหยุดมัน : ถ้าคุณออกจากระบบของเฟสบุ๊คเมื่อคุณใช้งานเสร็จแล้ว ความสามารถในการติดตามการเปิดหาหน้าเว็บของคุณจะถูกขัดขวางอย่างเด็ดขาด แต่ขณะเดียวกันก็จะขัดขวางความสามารถของคุณในการที่จะถูกใจเรื่องราวและความคิดเห็นด้วย ก็อยู่ที่ว่าคุณพอใจที่จะปิดเพื่อการแลกเปลี่ยนแบบนั้นไหม?
2. บริการบอกตำแหน่งของสมาร์ทโฟน
ถ้าคุณมี “ไอโฟน” ลองทำสิ่งนี้ดู : กดไปที่การตั้งค่า (setting) จากนั้นเลือกความเป็นส่วนตัว(privacy) จากนั้นเลือกบริการบอกตำแหน่ง (location services) บริการระบบ (system services) และตำแหน่งพิกัด (frequent locations) คุณจะสังเกตเห็นรายชื่อของเมืองทั้งหมดที่คุณไปเป็นประจำ กดไปที่เมืองใดเมืองหนึ่ง แล้วคุณจะพบว่าโทรศัพท์ของคุณรู้จักสถานที่ทั้งหมดที่คุณไปบ่อยๆ
สำหรับผู้เขียน มันมีทั้งบ้าน สถานทีรถไฟฟ้าน และสำนักงาน มีบ้านของเพื่อนสนิทคนหนึ่ง แล้วก็ร้านหนังสือที่ผู้เขียนไปบ่อยๆ ด้วย
ส่วนผู้ใช้ “ระบบแอนดรอยด์” ก็อย่าเพิ่งรู้สึกสบายใจ เพราะกูเกิลก็เก็บบันทึกตำแหน่งของคุณอย่างมากมายเช่นกัน ไม่เหมือนกับแอปเปิ้ล มันจะถูกเก็บไว้ในระบบคลาวด์ ที่ซึ่งในทางทฤษฎีมันสามารถถูกหมายเรียกบังคับใช้ทางกฎหมายได้ หรือเข้าถึงได้โดยบุคคลน่าสงสัยที่บังเอิญรู้รหัสผ่านของคุณ
วิธีปิดมัน : ทั้งสองบริษัทให้คุณปิดประวัติตำแหน่งได้จากหน้าเพจเดียวกับที่คุณสามารถดูตำแหน่งของคุณ แต่ถ้าคุณทำอย่างนั้น มันก็จะให้ผลที่แย่กว่ามากในการให้คำแนะนำที่แม่นยำและมีประโยชน์กับคุณในการบอกตำแหน่ง
โอ๊ะโอ่! มันเป็นการแลกเปลี่ยนที่น่ารำคาญอีกแล้ว
3. อูเบอร์
บางทีมันอาจจะไม่น่าประหลาดใจเลยที่บริษัทที่ขายบริการรถรับจ้างราคาถูกให้คุณผ่านทางแอพเก๋ไก๋จะเก็บข้อมูลการเดินทางของคุณเอาไว้ และข้อมูลนั้นจะถูกนำมาใช้เป็นอย่างดีโดยอูเบอร์เพื่อให้ความมั่นใจกับลูกค้าว่าการเดินทางของพวกเขาจะปลอดภัย บริษัทจะแสดงให้คุณเห็นประวัติการโดยสารของคุณ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวข้องคนขับรถ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการโต้แย้ง หรือรับประกันความยุติธรรม
แต่อูเบอร์ไม่ได้มีประวัติดีเยี่ยมในการใช้ข้อมูลนั้นเป็นอย่างดี บริษัทนี้เคยต้องขอโทษมาแล้วเนื่องจากการเข้าถึงรายละเอียดการเดินทางของนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่ง เพื่อสร้างประเด็นทางวาทศิลป์ รวมทั้งหยิบยก “วารสารศาสตร์ข้อมูล” ชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวกับประวัติการขับขี่ไปรวมตัวกันมาใช้ เพื่อจะดูว่าลูกค้าของพวกเขาที่ใช้บริการในคืนหนึ่งนั้นมีจำนวนเท่าไหร่ พวกเขาตั้งชื่อโพสต์นั้นว่า “rides of glory”
สำหรับประเทศไทย อูเบอร์ได้ขยายบริการเข้ามาสู่กรุงเทพฯ แล้ว ตั้งแต่ มี.ค.2557
วิธีปิดมัน : วิธีที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการไม่ใช้บริการอูเบอร์ แต่มันก็มีการแลกเปลี่ยนกันอีกแล้ว แท็กซี่แบบเก่า ไม่ว่าจะโบกจากท้องถนนหรือเรียกจากศูนย์ มักจะมีปัญหาเรื่องไปบ้างไม่ไปบ้าง หรือจะต้องเก็บค่าโดยสารแพงกว่าปรกติสำหรับการเดินทางไปที่ใหม่ๆ ของคุณ
4. เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ
โทรศัพท์มือถือของคุณทำงานด้วยการส่งข้อความการสื่อสารที่เข้ารหัสแล้วจากเสาสัญญาณโทรศัพท์ ที่เรียกว่า “เซลล์” แน่นอนว่าในพื้นที่ที่มีสิ่งปลูกสร้าง ก็น่าจะมีมากกว่าหนึ่งเซลล์ในระยะรับสัญญาณของโทรศัพท์คุณ และมันคงสับสนวุ่นวายถ้าหากทุกคนพยายามต่อโทรศัพท์ในเวลาเดียวกัน ดังนั้น โทรศัพท์ของคุณจึงจับคู่กับเซลล์หนึ่ง และ “ส่งออกไป” ยังอีกเซลล์หนึ่งเมื่อคุณไปไหนมาไหน (เสียงคลิ๊กที่คุณได้ยินถ้าวางโทรศัพท์ไว้ใกล้ลำโพงก็คือโทรศัพท์ของคุณกำลังตรวจสอบเซลล์หนึ่ง เพื่อยืนยันว่ามันยังใช้งานได้อยู่)
ถ้าคุณให้ความสนใจ คุณจะรู้ว่านั่นหมายถึงอะไร : เครือข่ายโทรศัพท์มือถือของคุณมีบันทึกประวัติว่าคุณไปที่ไหนบ้าง มีความแม่นยำอย่างน้อยก็ในระยะเสาสัญญาณโทรศัพท์ที่ใกล้ที่สุด ในทางปฏิบัติมันอาจจะแม่นยำกว่านั้นนิดหน่อย เพราะมันสามารถดักการใช้ข้อมูลจากเสาสัญญาณอื่นๆ ในพื้นที่ของคุณได้
วิธีปิดมัน : เลิกใช้โทรศัพท์มือถือ จริงๆ แล้ว สิ่งนี้จะไม่ไปไหน ถ้าคุณมีแบตเตอรี่ถอดได้ คุณจะลองถอดมันออกก็ได้เมื่อคุณไม่ต้องการถูกติดตามตัว แต่เมื่อใดที่คุณเปิดโทรศัพท์ เครือข่ายโทรศัพท์มือถือของคุณก็จะรู้ว่าคุณอยู่ที่ไหน
5. ข้อมูล Exif ในรูปภาพของคุณ
คุณรู้ไหมว่ารูปถ่ายดิจิตอลบรรจุข้อมูลเกี่ยวกับรูปภาพนั้นเอาไว้? ข้อมูล Exif เป็นมาตรฐานที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเก็บข้อมูลควบคู่กับภาพที่อาจจะเป็นประโยชน์กับรูปถ่ายนั้น เช่น ความยาวโฟกัสและรูรับแสงที่ใช้ขณะถ่ายภาพ ผู้เชี่ยวชาญจะใช้มันเพื่อฝังข้อมูลติดต่อและรายละเอียดการสงวนลิขสิทธิ์เอาไว้ด้วยเช่นกัน
มาตรฐานส่วนใหญ่จะมีขอบเขตคุณลักษณะอยู่เล็กน้อย และปัจจุบันนี้ ข้อมูล Exif สามารถบรรจุข้อมูลมากกว่านั้นมาก ถ้าคุณถ่ายรูปด้วยสมาร์ทโฟน หรือแม้แต่กล้องดิจิตอลที่ทันสมัย มีโอกาสอย่างมากที่รูปนั้นจะบันทึกข้อมูลว่ามันถูกถ่ายที่ไหน โดยใช้ระบบ GPS ที่อยู่ในตัว มันเป็นการสร้างแผนที่วันหยุดพักผ่อนของคุณที่ยอดเยี่ยม แต่ไม่ดีแน่ถ้าคุณต้องแลกเปลี่ยนรูปถ่ายกับคนแปลกหน้า
วิธีปิดมัน : กล้องส่วนใหญ่ให้คุณปิดการฝังข้อมูลบอกตำแหน่งในไฟล์ได้ แต่ข่าวดีก็คือ เครือข่ายสังคมออนไลน์ล้ำหน้าคุณอยู่หนึ่งก้าว และคราวนี้มันอยู่ฝ่ายคุณ ทั้งเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ดึงข้อมูล metadata จากรูปภาพที่อัพโหลดลงในเว็บไซต์ สร้างความปวดหัวให้กับผู้ใช้ที่ต้องการข้อมูลพิเศษ แต่ปกป้องผู้ที่ไม่รู้ว่ากำลังอัพโหลดข้อมูลที่สำคัญอย่างยิ่งอยู่
6. การจดจำใบหน้า
คุณเคยใช้คุณลักษณะแนะนำให้ tag ของเฟสบุ๊คหรือเปล่า? เครือข่ายสังคมออนไลน์นี้สามารถสแกนผ่านรูปถ่ายที่คุณอัพโหลดลงไปเพื่อค้นหาเพื่อนคนที่ไม่ถูก tag และเสนอคำแนะนำแก่คุณว่าจะเพิ่มใคร มันเป็นการประหยัดเวลาขึ้นในการทำตามคู่มือ ถึงแม้ว่าการใช้มันโดยไม่ระมัดระวังอาจนำไปสู่การทำผิดมารยาททางสังคมได้ (พยายามหลีกเลี่ยงการ tag คนที่คุณไม่ชอบ เพียงเพราะพวกเขาอยู่ในฉากหลังของอีกรูปหนึ่ง)
แต่เฟสบุ๊คและกูเกิล ซึ่งเสนอคุณลักษณะคล้ายๆ กัน สามารถทำอย่างนั้นได้ก็เพราะมันใช้งานซอฟท์แวร์จดจำใบหน้าบนรูปถ่ายที่ถูกอัพโหลดขึ้นเว็บไซต์มานานหลายปี เดือนกันยายน ปี 2012 เฟสบุ๊คถูกบังคับให้ปิดคุณลักษณะนี้ หลังจากถูกกรรมาธิการปกป้องข้อมูลของไอริชตำหนิว่าดำเนินการเช่นนั้นโดยไม่ได้รับอนุญาต
วิธีปิดมัน : พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในรูปถ่ายหรือการมีเพื่อน ง่ายจัง!