การเรียกร้องให้โลกอิสลามมีเอกภาพในการพูดเป็นเสียงเดียวกันต่อประเด็นเยรูซาเล็มได้กลายเป็นเหยื่อของการแข่งขันในระดับภูมิภาค หลังซาอุฯ และพันธมิตรส่งผู้แทนระดับล่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอดฉุกเฉินขององค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี (OIC) ในกรุงอิสตันบูลเมื่อวันพุธ (13 ธ.ค.) ที่ผ่านมา
นายตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีแห่งตุรกี เรียกประชุมโอไอซีวาระฉุกเฉินครั้งนี้ในกรุงอิสตันบุลเพื่อให้โลกมุสลิมร่วมตัดสินใจต่อกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศรับรองให้กรุงเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล
หลังการประชุม องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี (OIC) ออก “ปฏิญญาอิสตันบูล” ระบุว่าเยรูซาเล็มตะวันออกนั้นคือเมืองหลวงของปาเลสไตน์
“เรายืนยันว่า เราให้การรับรองสถานะของปาเลสไตน์โดยที่มีเยรูซาเล็มตะวันออกเป็นเมืองหลวงของรัฐ และเรียกโลกให้ยอมรับกรุงเยรูซาเล็มตะวันออกว่าเป็นเมืองหลวงที่ถูกยึดครองของปาเลสไตน์” ปฏิญญาระบุ
อย่างไรก็ตาม การประชุมสุดยอดครั้งนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า ชะตากรรมของกรุงเยรูซาเล็มซึ่งนับเรื่องที่เป็นศูนย์กลางของโลกมุสลิม ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้กลุ่มก๊กต่างๆ ของโลกมุสลิมละวางความไม่ลงรอยลงได้ แม้เพียงจะชั่วคราวก็ตาม
ซาอุดิอาระเบียส่งแค่รัฐมนตรีกิจการศาสนาเข้าร่วมการประชุมสุดยอด ขณะที่พันธมิตรของซาอุฯ อย่างอียิปต์ส่งผู้แทนจากกระทรวงต่างประเทศเท่านั้น ส่วนบาห์เรนส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในขณะที่ยูเออีส่งตัวแทนจากกระทรวงต่างประเทศ สำนักข่าวมิดเดิ้ลอีสต์อายรายงาน
มิดเดิ้ลอีสต์อายตั้งข้อสังเกตว่า จุดนี้จึงแสดงให้เห็นถึงความแตกแยกที่เกิดขึ้นหลังกลุ่มพันธมิตรภายใต้การนำของซาอุฯ ได้ปิดล้อมกาตาร์เพื่อนบ้าน นอกเหนือจากความแตกแยกระหว่างซาอุฯ กับอิหร่าน
สำหรับกาตาร์และอิหร่านนั้นผู้แทนระดับสูงของประเทศได้เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดโอไอซีครั้งนี้ โดยกษัตริย์แห่งกาตาร์และประธานาธิบดีอิหร่านเดินทางมาด้วยตนเอง
คูเวตซึ่งพยายามที่จะไกล่เกลี่ยระหว่างกาตาร์กับซาอุดีอาระเบียเป็นหนึ่งใน 23 ประเทศที่ผู้นำระดับประมุขเข้าร่วมการประชุมสุดยอดโอไอซี วาระฉุกเฉินครั้งนี้
การเข้าร่วมประชุมสุดยอดเมื่อวันพุธ (13 ธ.ค.) ชี้ให้เห็นว่า โอไอซีซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1969 (พ.ศ.2512) หลังจากการลอบวางเพลิงในมัสยิดอัลอักซอ ในกรุงเยรูซาเล็ม ยังคงเป็นร่างกายที่ถูกแบ่งแยก และไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศสมาชิกไม่สามารถละวางความขัดแย้ง และแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของประชาคมอิสลาม
มีรายงานระบุว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่ตัดสินใจในทิศทางดังกล่าวหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากซาอุดีอาระเบีย มิดเดิ้ลอีสต์อายระบุ
รัฐมนตรีต่างประเทศของตุรกี เมฟลุต คาวูโซกลู กล่าวในกรณีนี้ว่า “การตัดสินใจของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้การยึดกรุงเยรูซาเล็มของอิสราเอลเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย โดยคาดหวังว่าประชาคมมุสลิมจะเงียบ แต่เราจะไม่นิ่งเงียบในเรื่องนี้ สำหรับเราการตัดสินใจครั้งนี้ของสหรัฐฯ ไม่มีอันใดถูกต้อง”