มีพื้นที่สำหรับอิสลามบ้างไหม? ในระบอบประชาธิปไตย, เสรีภาพในการพูด และเซคคิวลาร์

“ถ้าอิสลามถูกวาดภาพให้เป็นศัตรูสำคัญของอารยธรรมและค่านิยมตะวันตก ก็เป็นเพราะว่ามันมีท่าทีเป็นอุปสรรคที่น่ากลัวต่อผลประโยชน์ในการครองอำนาจของจักรวรรดินิยม” นักวิชาการชาวแคนาดากล่าว

(ภาพ) รายัน โทลิเวอร์ จากอาร์ลิงตัน เท็กซัส ถือป้ายข้อความ “เราเชื่อในสันติภาพและความรัก” ขณะที่โทลิเวอร์เข้าร่วมกับคนอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการประชุมของมุสลิมเพื่อต่อต้านความเกลียดชังและการก่อการร้าย ที่เคอร์ติส คัลเวลล์ เซ็นเตอร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 17 มกราคม 2558 ในการ์แลนด์ เท็กซัส


 

ลอนดอน – ท่ามกลางความกังวลว่าแนวคิดสุดโต่งกำลังพัฒนาไปสู่การต่อต้านระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก สื่อ นักการเมือง และนักวิชาการได้มุ่งเน้นในการกล่าวถึงความรู้สึกที่ว่าอิสลามโดยเนื้อแท้มีลักษณะต่อต้านกับค่านิยมหลักของตะวันตกอันได้แก่ ระบอบประชาธิปไตย (democracy), เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (freedom of expression) และแนวคิดเซคคิวลาร์ (secularism) หรือฆราวาสนิยม

“คุณไม่สามารถพูดได้ว่า (กลุ่มก่อการร้ายญีฮาด) ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับอิสลาม นักรบญีฮาดกำลังใช้เสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยเพื่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพื่อที่จะทำลายระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพที่มันบูชา” บารอนเนส แคโรลีน ค๊อกซ์ จากเดอะ เฮ้าส์ ออฟ ลอร์ดส์ ในอังกฤษ บอกกับสำนักข่าว

ถึงแม้ความเชื่อเช่นนั้นจะถูกผลักดันออกมาบ่อยครั้ง แต่ ดร.จอห์น แอนดริว มอร์โรว์ นักวิชาการชาวแคนาดา และผู้อำนวยการมูลนิธิโคเวแนนท์ อธิบายว่า การกล่าวอ้างเช่นนั้นนอกจากจะไม่เป็นจริงแล้ว ยังเต็มไปด้วยอคติและความเกลียดกลัวคนต่างชาติพันธุ์

“อิสลามที่แท้จริงไม่เป็นภัยต่อมนุษยชาติ ตรงกันข้าม มันแสดงถึงการช่วยให้รอดพ้นจากบาป อิสลามไม่ได้ต่อต้านประชาธิปไตย ฆราวาสนิยม และเสรีภาพในการพูดตามความหมายที่แท้จริงของคำเหล่านี้ ตามประวัติศาสตร์ อิสลามสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม” มอร์โรว์กล่าว

“ถ้าอิสลามถูกวาดภาพให้เป็นศัตรูสำคัญของอารยธรรมและค่านิยมตะวันตก ก็เป็นเพราะว่ามันมีท่าทีเป็นอุปสรรคที่น่ากลัวต่อผลประโยชน์ในการครองอำนาจของจักรวรรดินิยม ระบอบประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และหลักฆราวาสนิยมเป็นเพียงหน้ากากที่มีผู้สวมหนึ่งเปอร์เซ็นต์ กลุ่มชนชั้นสูงของโลกที่พยายามจะทำให้มวลมนุษย์ตกเป็นทาส ในขณะเดียวกับที่มันทำลายโลกนี้ด้วยความโลภต่อทรัพยากร ความมั่งคั่ง และอำนาจสูงสุด มันประสบความสำเร็จในการทำลายล้าง การปราบปราม และการแต่งตั้งส่วนที่เหลือทั้งหมดของผู้ขัดขืนต่อต้าน มีเพียงอิสลามเท่านั้นที่ยืนขวางทางพวกเขาอยู่ นี่เป็นการอธิบายว่าทำไมชนชั้นสูงของโลกจึงเข้าร่วมในการรณรงค์เพื่อใช้ ‘อิสลาม’ ปลอมไปทำลายอิสลามที่แท้จริง” เขากล่าวเสริม

ด้วยการนำของประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า ของสหรัฐฯ ผู้นำตะวันตกพยายามอย่างยิ่งที่จะแยกลัทธิก่อการร้ายกับอิสลาม โอบาม่าได้กล่าวในการปิดการประชุมสุดยอดเรื่องการเผชิญหน้ากับกลุ่มหัวรุนแรงเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ ว่า “เราจะไม่ให้ความชอบธรรมทางศาสนาแก่พวกเขา(นักรบไอซิซ) พวกเขาไม่ใช่ผู้นำศาสนา พวกเขาเป็นผู้ก่อการร้าย… เราไม่ได้ทำสงครามกับอิสลาม เราทำสงครามกับผู้ที่บิดเบือนอิสลาม”

ถึงกระนั้น ศาสนานี้ยังคงเป็นเป้าความเกลียดชังของสาธารณชนจำนวนมาก มุสลิม 1,600 ล้านคนทั่วโลกต้องร่วมกันแบกรับความผิดของไอซิซ ศาสนาหนึ่งจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนอกแนวทางศาสนาของกลุ่มก่อการร้ายที่มีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรผู้นับถือศาสนานั้น

อันที่จริง ขณะที่ไอซิซและอัล-กออิดะฮ์ประกาศสงครามกับโลกตะวันตก ชาวมุสลิม ทั้งซุนนีและชีอะฮ์ คือผู้ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด มุสลิมหลายพันคนต้องล้มตายไปด้วยน้ำมือของนักรบไอซิซทั้งในอิรักและซีเรีย ขณะที่อีกหลายหมื่นคนถูกบังคับให้หลบหนีไปจากบ้านเรือนและชุมชนเพื่อให้รอดพ้นจากความรุนแรงของกองทัพธงดำนี้

“ชาวมุสลิมมีความเสี่ยงมากกว่าชุมชนอื่นๆ ในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายนี้ เพราะการก่อการร้ายมุ่งตรงมายังพวกเขา” เจ้าชายอับดุล อาลี ซีราจ แห่งอัฟกานิสถานบอกกับสำนักข่าว

เรื่องเก่ามาเล่าใหม่

ขณะที่ฝรั่งเศสและชาติอื่นๆ ในยุโรปค่อยๆ มาถึงจุดที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีสำนักงานของชาร์ลี เอบโด ในเดือนมกราคม การสนทนาปรากฏขึ้นจากเมืองหลวงต่างๆ ของชาติตะวันตก โดยที่ชาวมุสลิมและศาสนาอิสลามถูกประทับตราว่าต่อต้านตะวันตก

พวกนักรบได้วางหลักการที่บิดเบือนของพวกเขาเข้ากับคัมภีร์กุรอานเพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมือง และมีความเข้าใจกันอย่างกว้างขวางว่า อิสลามเองเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้เกิดลัทธิสุดโต่ง

“เราตำหนิเซลล์ดีๆ ว่าเป็นมะเร็งหรือเปล่า? ไม่อย่างแน่นอน เพราะนั่นมันไร้เหตุผล แล้วการที่ตีตราประชากรในโลกนี้ทั้งหมด เราไม่ได้กำลังปฏิบัติตามตรรกะที่ไร้เหตุผลแบบเดียวกันกับพวกสุดโต่งเหล่านั้นหรอกหรือ? อิสลามไม่ใช่ตัวปัญหา แต่เป็นความสุดโต่งต่างหาก คำสอนของอิสลามไม่ใช่ตัวปัญหา แต่การตีความตัวบทคัมภีร์ศาสนาของพวกสุดโต่งต่างหากที่เป็นตัวปัญหา” เจ้าชายอาลีกล่าว

ทว่าอิสลามไม่ใช่ศาสนาเดียวที่เคยถูกปล้นจากผู้มีอำนาจแอบแฝงทางการเมืองเพื่อรักษาวาระอื่นๆ ขณะที่ปลอมตัวอยู่ภายใต้เสื้อคลุมอันศักดิ์สิทธิ์ วาระเหล่านี้ปรากฏชัดเจนขึ้นเมื่อรายงานข่าวกรองเปิดเผยออกมาว่า ไอซิซได้รับการสนับสนุนเงินทุนและอาวุธจากบรรดากษัตริย์ที่ร่ำรวยน้ำมัน ผู้มีเป้าหมายสูงสุดในการทำลายเสถียรภาพของตะวันออกกลางโดยผ่านการแบ่งแยกนิกาย เพื่อที่พวกเขาจะได้เข้าควบคุมและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันอันมหาศาลของภูมิภาคนี้ได้ดียิ่งขึ้น

นับตั้งแต่เริ่มต้นขึ้นในสมัย 1860s คูคลักซ์แคลน (Ku Klux Klan –KKK) กลุ่มเชิดชูคนผิวขาวที่อ้างตนว่าเป็นองค์กรคริสเตียน ได้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อชุมชนคนผิวดำและผู้สนับสนุนและเห็นอกเห็นใจพวกเขา ตอนที่มีสมาชิกมากที่สุด กลุ่ม KKK เคยมีสมาชิกประมาณ 4 ถึง 5 ล้านคน ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศ ในเยอรมนีสมัยนาซี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เคยใช้ธงของศาสนคริสต์เพื่อจัดเตรียมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว หรือฮอโลคอสต์

กลุ่ม KKK และฮิตเลอร์ใช้ศาสนาคริสต์ ในขณะที่ไอซิซใช้ศาสนาอิสลาม แต่ทุกคนก็ยังดึงดันด้วยความเกลียดชังและกระทำความร้ายกาจต่อผู้ที่พวกเขาตราหน้าว่าไม่เป็นที่พึงปรารถนา แม้ว่า KKK จะเคยมีสมาชิกพุ่งสูงขึ้นเป็นหลายล้านคน ซึ่งมากกว่าสมาชิกของไอซิซและอัล-กออิดะฮ์รวมกันเสียอีก แต่ชาวอเมริกันทั้งหมดก็ไม่เคยที่จะเรียกหาคำตอบจากการกระทำของคนกลุ่มน้อยในเขตของพวกเขา

ตามข้อมูลของซีไอเอ ไอซิซมีนักรบประมาณ 21,000 ถึง 31,500 คน ในเดือนกันยายน “จำนวนรวมใหม่นี้สะท้อนให้เห็นถึงจำนวนสมาชิกที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีการเกณฑ์คนที่เข้มงวดขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน หลังจากประสบความสำเร็จในสนามรบและการประกาศตั้งรัฐที่ปกครองด้วยคอลิฟะฮ์ การปฏิบัติการในสนามรบแกร่งกล้าขึ้น และการข่าวกรองที่เพิ่มขึ้น” โฆษกซีไอเอบอกกับซีเอ็นเอ็น เมื่อเดือนกันยายน

และตามที่มอร์โรว์บอกกับสำนักข่าว “มุสลิม 1,600 ล้านคนในโลกนี้ ได้เห็นศาสนาของพวกเขาถูกจับเป็นตัวประกันโดยคนบ้าไม่กี่พันคน”

ในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน มุสลิมถูกเหมาให้รวมอยู่ในกลุ่มหนึ่งจากสองกลุ่ม คือมุสลิมดี กับมุสลิมเลว มาห์มูด มัมดานี, เฮอร์เบิร์ต เลห์แมน ศาสตราจารย์ด้านการปกครองและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้ระบุไว้ในบทเรียงความให้สภาวิจัยสังคมศาสตร์

ศาสตราจารย์ตาริก รอมาดัน นักวิชาการผู้มีชื่อเสียงและศาสตราจารย์อิสลามศึกษาร่วมสมัยคณะตะวันออกศึกษาของมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า ขั้วทั้งสองนี้มีมาก่อนการก่อการร้าย และมีรากเหง้ามาจากลัทธิล่าอาณานิคม
“ย้อนกลับไปในยุคล่าอาณานิคม (ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20) นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกชาวยุโรปได้กล่าวถึงมุสลิมในลักษณะสองขั้วเหมือนกัน คือมุสลิมดีกับมุสลิมเลว โดยขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาเห็นด้วยหรือต่อต้านมหาอำนาจนักล่าอาณานิคม เวลาอาจจะเปลี่ยนไป แต่กรอบความคิดแบบเก่าๆ และการสร้างภาพแบบง่ายๆ ยังคงแผ่เงาอยู่เหนือการถกเถียงเกี่ยวกับอิสลามของปัญญาชน นักการเมือง และสื่อในปัจจุบัน” รอมาดันกล่าว

“และเนื่องจากเรื่องราวได้ทำให้เกิดความเข้าใจว่าอิสลามไม่มีการแบ่งแยกระหว่างศาสนาและการเมือง จึงเห็นพ้องกันว่าไม่มีการแบ่งแยกที่ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างแนวคิดและการปฏิบัติทางศาสนาและการกระทำทางการเมือง ดังนั้นจึงทำให้มีการลดแนวคิดของอิสลามและโลกมุสลิมลงไปสู่สูตรสำเร็จง่ายๆ และมีอคติอยู่ในตัว”
เมื่อกล่าวถึงอคติที่ชาวตะวันตกมีต่ออิสลาม รอมาดันกล่าวว่า โดยส่วนตัวเขาเชื่อว่าที่มาของปัญหาน่าจะเกี่ยวกับความคิดที่ผิดๆ ทางศาสนามากกว่าการแบ่งขั้วทางแนวคิด

“จากมุมมองที่บิดเบี้ยวนี้ มุสลิมถูกมองและเข้าใจไปว่าเป็นภัยคุกคามต่อสังคม ‘เปิด’ และสังคมสมัยใหม่” รอมาดันกล่าว “แต่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และประเด็นอ้างอิงของเราไม่เมือนกัน เพราะฉะนั้น เราไม่ควรใช้ระบบการอ้างอิงของฝ่ายหนึ่งมาตัดสินอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะมุมมองของเราจะเกิดความลำเอียง”

ดังที่รอมาดันได้พาดพิงถึง ความเข้าใจอันบิดเบี้ยวของชาวตะวันตกที่มีต่อศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมอาจทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า การปะทะกันของอารยธรรม มากกว่าจะเป็นค่านิยมที่อิสลามยอมรับและที่มุสลิมพยายามรักษาไว้
รอมาดันเน้นว่า ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม มีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง แม้ว่าจะมีความตึงเครียดอยู่ใน “บางประเทศระหว่างชุมชนชาวคริสต์และมุสลิม ด้วยเหตุผลทางการเมือง สังคม หรือเศรษฐกิจ แต่ถ้าผมมองโลกในมุมกว้าง ชาวคริสเตียนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอย่างสันติร่วมกับมุสลิม และอีกฝ่ายก็เช่นเดียวกัน” เขากล่าว “และเป็นเช่นนี้ในประเทศที่มุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่ ดังนั้นเราจึงจำเป็นจะต้องระมัดระวังอย่างยิ่งกับความเข้าใจที่ว่า มีบางอย่างที่แตกต่างกันอย่างแท้จริงระหว่างสองศาสนานี้”

เขากล่าวเสริมว่า “มันเป็นความจริงที่ถ้าหากคุณศึกษาเข้าไปลึกๆ หรือถึงหลักการและบทเรียนต่างๆ จากศาสนาทั้งสองนี้แล้ว เรามีความใกล้ชิดกันอย่างมาก นี่คือสิ่งที่ถูกกล่าวถึงหลายครั้งในคัมภีร์กุรอาน”

เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยและหลักเซคคิวลาร์ (ฆราวาสนิยม)

นับตั้งแต่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประกาศสงคครามกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในปี 2001 โลกตะวันตกถูกสอนว่า ศาสนาอิสลามอยู่ตรงกันข้ามกับระบอบประชาธิปไตยและหลักเซคคิวลาร์ ดังที่บารอนเนส ค๊อกซ์ ได้กล่าวไว้

แต่จะว่าอย่างไรถ้าไม่มีการแบ่งแยก และความเชื่อนี้ไม่มีแก่นสารที่แท้จริงเลย? เป็นไปได้หรือไม่ที่อเมริกาและโลกตะวันตกเพียงแต่สร้างผีมุสลิมในจินตนาการขึ้นมาจากความปรารถนาของพวกเขาเอง เพื่อย่อโลกให้อยู่ในกรอบค่านิยมที่พวกเขากำหนดเอาไว้แล้ว?

“มันสำคัญที่จะต้องเข้าใจว่าไม่มีการปะทะกันอย่างจริงจังระหว่างอิสลามกับเซคคิวลาร์ การสร้างภาพว่าทั้งสองศาสนาเป็นสิ่งตรงข้ามกันนั้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคนนั้นมีความเข้าใจต่อโลกแบบลำเอียง” รอมาดันกล่าวเน้น

“ก่อนอื่น เราต้องกำหนดนิยามว่าโลกแบบฆราวาสนั้นหมายถึงอะไร เพราะกระบวนการทำให้เป็นฆราวาสนิยมนั้นต้องทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างอำนาจของรัฐและอำนาจของโบสถ์ หรืออำนาจของศาสนา แต่เนื่องจากโครงสร้างทางศาสนาของคริสต์และอิสลามนั้นมีความแตกต่างกันมาก ฆราวาสและศาสนาหมายถึงสิ่งที่แตกต่างกัน ในศาสนาอิสลาม เราไม่มีนักบวช และมีเส้นที่ชัดเจนระหว่างรัฐและการวางหลักทางศาสนาที่เหมาะสมอยู่แล้ว”

รอมาดันอธิบายว่า ในขณะที่โบสถ์เคยวางกฎและบังคับบัญชากิจการของรัฐผ่านการปกครองตามลำดับชั้นที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด อิสลามได้ขีดเส้นที่ชัดเจนระหว่างศาสนาและการเมืองเสมอ

“ถ้าเราพูดถึงการใช้อำนาจร่วมกัน ชาวมุสลิมไม่มีปัญหาเพราะแนวคิดนี้เข้ากันได้ดีกับคำสอนของอิสลาม โดยที่กิจการของรัฐและกิจการทางศาสนาแยกออกจากกันโดยธรรมชาติ ถ้าเราย่อความเป็นฆราวาสและกระบวนการเปลี่ยนเป็นฆราวาสนิยมเพื่อลดศาสนาลงไปหรือไม่ให้มีศาสนาในสังคม นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การถกเถียงกันใหม่ในตะวันตกเกี่ยวกับความเป็นฆราวาสเกิดขึ้นก็เพราะความชัดเจนแบบใหม่ของมุสลิม” เขากล่าว

รอมาดันบอกว่า ที่ตะวันตกเรียกร้องให้รัฐเปลี่ยนไปเป็นฆราวาสนิยมนั้นก็เนื่องมาจากความเข้าใจที่ว่า ขอบเขตจะต้องถูกกำหนดขึ้นมา และสถาบันต่างๆ ของรัฐต้องแยกตัวออกจากโบสถ์เพื่อที่ระบอบประชาธิปไตยจะได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

“เพราะชาวตะวันตกต้องเผชิญกับการปฏิบัติศาสนกิจของชาวมุสลิม พวกเขาจึงรู้สึกว่าหลักฆราวาสนิยมเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่เราจะพูดได้จริงๆ หรือว่า เนื่องจากการปฏิบัติศาสนกิจของคนคนหนึ่ง จะทำให้เขาปฏิเสธการแบ่งแยกอำนาจไปโดยปริยารย? ย่อมไม่ใช่แน่ๆ มันหมายความเพียงว่าพวกเขากำลังปฏิบัติศาสนกิจในชีวิตประจำวันของพวกเขา ผมสามารถเป็นมุสลิม ละหมาด สวมผ้าคลุมศีรษะ และทำสิ่งต่างๆ ทั้งหมดเหล่านี้ได้ และในเวลาเดียวกันก็เคารพต่อระบบกฎหมายแบบฆราวาส ไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างชีวิตตามหลักศาสนากับหน้าที่และความรับผิดชอบแบบพลเมืองของบุคคล” รอมาดันเน้น

“ชาวมุสลิมไม่มีปัญหากับเรื่องนี้ ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ มันเป็นทัศนะและความเข้าใจที่บิดเบือนต่ออิสลามของมหาอำนาจตะวันตกเองที่หล่อเลี้ยงความคิดผิดๆ นี้และนำไปสู่ความตึงเครียด ชาวมุสลิมในตะวันตกไม่มีปัญหากับระบบนี้ พวกเขาใช้ชีวิตอย่างสุขสมบูรณ์ดีภายในระบบนี้” เขากล่าว และเสริมว่าปัญหาไม่ได้อยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่อยู่ที่ “ความไม่เท่าเทียม การเหยียดชาติพันธุ์ การแบ่งแยกนิกาย และอื่นๆ”

เกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ขณะที่เหตุการณ์ 11 กันยายนเกิดขึ้นเสมือนการโจมตีต่อระบอบประชาธิปไตย การโจมตีสำนักงานของชาร์ลี เอบโด ก็ถูกเข้าใจไปว่าเป็นเสมือนการประกาศสงครามกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยแบบตะวันตกทั้งหมด

เมื่อโลกลุกขึ้นประณามอาชญากรรมร้ายแรงของผู้ก่อเหตุการณ์ทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ปราศจากอาวุธ ศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ศาสนาของพวกเขาถูกชำแหละและวิเคราะห์เพื่อพิสูจน์ว่าค่านิยมต่อต้านตะวันตกที่ฝังอยู่ในอิสลามนั้นขัดขวางแนวคิดแห่งเสรีภาพบริบูรณ์(absolute freedom) อย่างไร เลอ ฟิกาโร่ หนังสือพิมพ์รายวันของฝรั่งเศส ขึ้นพาดหัวข่าวว่า “เสรีภาพถูกลอบสังหารแล้ว”

Screen-Shot-2015-03-03-at-7.38.59-AMแม้จะมีข้อถกเถียงกันว่าประชาชนควรที่จะสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องกลัวการตามกลั่นแกล้งหรือปฏิกิริยาตอบกลับหรือไม่ รอมาดันถามว่า เป็นไปได้หรือที่จะยึดถือตามหลักเสรีภาพบริบูรณ์? ตรงจุดไหนที่เสรีภาพของเราไปขัดขวางเสรีภาพของคนอื่น?

“เรื่องที่เราพูดกันเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนี้เป็นสิ่งที่สำคัญทีเดียว แต่จุดเริ่มต้นของเราก็มีอคติและผิดอีกแล้ว เสรีภาพบริบูรณ์ในการแสดงความคิดเห็นไม่มีอยู่ในปรัชญาใด ในองค์กรทางสังคมใด และในโครงสร้างทางปรัชญาใดๆ เสรีภาพบริบูรณ์ในการแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้” รอมาดันกล่าว “ทุกประเทศในตะวันตกไม่กฎหมายที่เป็นกฎข้อบังคับต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมเป็นพวกเหยียดชาติพันธุ์ มีบางอย่างที่ผมไม่สามารถทำได้ ไม่สามารถพูดได้โดยที่ไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย”

เพื่อเป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ รอมาดันระบุถึงกฎหมายฝรั่งเศสที่บัญญัติให้การกระทำที่ท้าทายต่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิว(ฮอโลคอสท์) เป็นความผิดทางอาญา “ขณะที่ประชาชนเห็นพ้องกันว่าเหตุการณ์ฮอโลคอสท์เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ จึงควรจะเปิดให้มีการถกเถียงและอภิปรายกัน ฝรั่งเศสกลับใช้กฎหมายบังคับไม่ให้ใครทำการท้าทายความถูกต้องที่กำหนดไว้แล้วของเหตุการณ์” เขากล่าว “คุณจะใช้กฎหมายกับประวัติศาสตร์ได้อย่างไร?”

“ในตะวันตกมีสิ่งที่คุณสามารถพูดได้และสิ่งที่คุณไม่สามารถพูดได้ และการจะรู้จักเสรีภาพของคุณได้นั้นคือต้องเข้าใจขอบเขตของเสรีภาพของคุณนั่นเอง”

ขณะที่อิสลามไม่รับรองเสรีภาพบริบูรณ์ในการพูด เพราะมันจะทำให้ทุกคนสามารถพูดได้ทุกอย่างโดยไม่ต้องรับโทษที่ทำให้เกิดทุกข์อันตรายแก่ผู้อื่นในนามของเสรีภาพเช่นนั้น มันไม่ใช่การจะบอกว่ามันปฏิเสธเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเสียเลยทีเดียว

รอมาดันบอกกับสำนักข่าวว่า “ในทัศนะของอิสลาม เราต้องแยกระหว่างระบบกฎหมายกับศีลธรรม หรือการปฏิบัติตัวที่ดี มีสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายและสิ่งที่ถูกต้องตามหลักจริยธรรม และไม่ใช่ว่าทุกสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายจะถูกหลักจริยธรรมเสมอไป”

เขากล่าวต่อไปว่า :

“บางครั้งเราจะได้ยินประชาชนดูหมิ่นศาสนาในเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นใดประเด็นหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วมันเป็นการพูดถึงความอ่อนไหวทางสังคม และความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม

เมื่อพูดถึงคุณสมบัติผู้ดี เมื่อพูดถึงการเคารพซึ่งกันและกัน มันไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย มันเป็นเรื่องของการศึกษาและจริยธรรม มันเป็นเรื่องของความสามารถของบุคคลในการที่จะยอมรับว่าทัศนคติหนึ่งนั้นเป็นทัศนคติที่เลวทรามทางสังคม เราต้องถามตัวเองว่า เราต้องการจะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมแห่งความเป็นจริงไหม?

เราอยู่บนโลกที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเคารพซึ่งกันและกัน ยอมรับซึ่งกันและกันในความแตกต่างของเรา ด้วยความเมตตาและความเห็นอกเห็นใจ และแม้ว่าบางคนจะโต้แย้งว่า มันเป็นสิทธิ์โดยธรรมชาติของเขาในการจะพูดสิ่งที่เขาอยากจะพูด และจะเล่นงานตามที่พวกเขาต้องการ แต่มันถูกหลักศีลธรรมหรือไม่ที่ทำแบบนั้น? มันถูกต้องหรือไม่ที่ทำแบบนั้น?

เราไม่สามารถพูดถึงสิทธิได้โดยไม่พูดถึงความรับผิดชอบด้วย อิสลามสอนว่าสิทธิมาควบคู่กับความรับผิดชอบ”

 

แปล/เรียบเรียงจาก http://www.mintpressnews.com/is-there-room-for-islam-in-democracy-freedom-of-speech-and-secularism/202827/