บันทึกของ “มร.แฮมเฟอร์” : สายลับอังกฤษในดินแดนออตโตมัน (5)

 ภาคที่ 5

เดินทางมุ่งหน้าสุ่เมืองนะญัฟและกัรบะลา

ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นได้มีคำสั่งจากลอนดอน ให้ข้าพเจ้าเดินทางไปยังเมืองนะญัฟและกัรบะลาซึ่งทั้งสองเมืองนั้นถือว่าเป็นศูนย์กลางและศูนย์รวมบรรดาอุลามะห์และมุสลิมชาวชีอะฮ์ เมืองทั้งสองนั้นมีประวัติความเป็นมาในทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน

ประวัติของเมืองนะญัฟได้เริ่มขึ้นเมื่อ อะลี บินอะบีฏอลิบ ผู้เป็นคอลีฟะห์คนที่สี่ของชาวซุนนะห์ และเป็นอีหม่ามคนแรกของชาวชีอะฮ์ ถูกฝัง ณ สถานที่แห่งนี้ 

และใกล้ๆ เมืองนี้มีอีกเมืองหนึ่งที่ห่างออกไปสักประมาณ 1 ฟัรซัค ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ชื่อว่า เมือง กูฟะห์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของอะลี หลังจากที่เขาถูกสังหารแล้ว ลูกชายทั้งสองของเขา คือ ฮาซันและฮูเซ็น ได้นำเอาศพไปฝังที่นอกเมือง กูฟะห์ ซึ่งปัจจุบันมีชื่อว่า เมือง นะญัฟ

นับจากนั้นเป็นต้นมาเมืองนะญัฟก็ได้กลายเป็นเมืองที่รุ่งโรจน์ แต่เมืองกูฟะห์นั้นกลับเป็นเมืองที่ทรุดโทรม เพราะเมืองนะญัฟกลายเป็นศูนย์กลางของอุลามะห์ชีอะฮ์ ดังนั้นจึงได้มีการปลูกสร้างอาคารบ้านเรือน, ตลาด และโรงเรียนสอนวิชาการแห่งศาสนา ซึ่งปัจจุบันนี้ เมืองนะญัฟก็ยังเป็นศูนย์กลางของอุลามะห์ชีอะห์อีกด้วย

ฝ่ายคอลีฟะห์อุษมานียะห์ ก็ได้ให้ความเคารพต่อเมืองนี้ อันเพราะมีความหวาดกลัวต่อพวกเขาด้วยกับเหตุผลประการดังนี้ -:

1.  เพราะรัฐบาลชีอะฮ์ในอิหร่านให้การสนับสนุนพวกเขา ซึ่งหากคอลีฟะห์มิให้เกียรติและเคารพสิทธิต่อพวกเขาแล้ว มันจะก่อให้เกิดความบาดหมางขึ้นระหว่างทั้ง 2 รัฐบาล   ดีไม่ดีอาจจะนำมาซึ่งศึกสงครามก็เป็นได้ 

2.  ส่วนมากบรรดาเผ่าพันธุ์ใหญ่ๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่รอบๆ นอกเมืองนะญัฟนั้น มีอาวุธที่เพียบพร้อมและยังเป็นผู้ให้การสนับสนุนบรรดาอุลามะห์แห่งเมืองนะญัฟอีกด้วย ถึงแม้นว่าอาวุธต่างๆ ที่พวกเขามีอยู่จะไม่ทันสมัยก็ตามแต่การเผชิญหน้ากันซึ่งๆหน้า ระหว่างราชวงศ์อุษมานียะห์กับบรรดาอุลามะห์ในเชิงลักษณ์เช่นนี้ เสมือนเป็นการชักศึกสงครามนองเลือดอย่างไม่จำเป็น เพราะว่า รัฐบาลอุษมานียะห์ ถือว่า การกำจัดบรรดาอุลามะห์นั้นเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น จึงต้องปล่อยให้พวกเขาอยู่ตามอัธยาศัย 

3.  บรรดาอุลามะห์เหล่านี้ คือ มัรเญียอฺ ตักลีด ของมุสลิมชาวชีอะห์ทั่วโลกไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในประเทศ อินเดีย แอฟฟริกา และประเทศอิสลามอื่นๆ ก็ตาม ดังนั้นหากทางคอลีฟะห์อุษมานียะห์ได้ดูหมิ่นยังอูลามะห์เหล่านี้แล้ว เสมือนกับว่า เขาได้สร้างศัตรูภายในตัวกับชาวบรรดาชีอะห์ และจะทำให้บรรดาชีอะห์จะลุกขึ้นต่อต้านและต่อสู้กับพวกเขาอย่างแน่นอน

ส่วนประวัติความเป็นมาของเมืองกัรบะลานั้นเริ่มต้นครั้นเมื่อหลานสุดที่รักของศาสดามุฮัมหมัดและบุตรชายของฟาติมะห์ ผู้เป็นบุตรีของศาสดามุฮัมหมัด คือ ฮูเซ็น บิน อะลี ถูกสังหาร ในสถานที่แห่งนั้น “กัรบะลา”

ประชาชนชาวอิรักได้ทำการเชิญชวน   ฮูเซ็นมายังเมืองพวกเขา เพื่อให้มาเป็นคอลีฟะห์ และฮูเซ็นก็ได้ตอบรับคำเชิญชวน   ดังกล่าวจึงเดินทางออกจากเมืองมะดีนะห์ เข้าสู่เมือง ฮิญาซ (ซาอุดีในปัจุบัน) และเดินทางมุ่งสู่อิรัก แต่เมื่อฮูเซ็นและครอบครัวได้เข้ามาถึงยังแผ่นดินกัรบะลา (ซึ่งห่างจากเมืองกูฟะห์ประมาณ 12 ฟัรซัค) ชาวอิรักกลับลุกขึ้นต่อสู้กับฮูเซ็น ด้วยอำนาจคำสั่งของยะซีด บุตรของมุอาวียะห์ซึ่งเป็นคอลีฟะห์อยู่ที่เมือง ชาม 

ดังนั้นฮูเซ็นพร้อมครอบครัวและสหายของเขาจึงได้ลุกขึ้นสู้กับทหารอันมากมายของมุอาวียะห์อย่างหาญกล้า จนทำให้ฮูเซ็นและสหายถูกสังหาร

ซึ่งฝ่ายกองทัพของยะซีดได้ใช้กลยุทธ์วิธีการที่สกปรก เดรัจฉาน ในการเข่นฆ่าพวกเขาในครั้งนี้ด้วย 

นับจากนั้นเป็นต้นมา บรรดาชีอะฮ์จึงได้ถือเอาสถานที่บริเวณแห่งนั้น เป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณของพวกเขา แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ ณ สถานที่แห่งหนใด  ก็จะมุ่งหน้ายังสถานที่แห่งนี้ เพื่อรวมตัวกันอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งการแสดงออกในลักษณะเช่นนี้ มิเคยปรากฎให้เห็นเลยในคริสตศาสนาของเรา 

เมืองกัรบะลานี้ ถือว่าเป็นอีกเมืองหนึ่งของชีอะห์ ที่มีบรรดาอุลามะห์และสถานศึกษาศาสนา ซึ่งเมืองนี้กับเมืองนะญัฟ ต่างก็จะให้ความร่วมมือ  สนับสนุนซึ่งกันและกัน 

ทันใดที่ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งจากลอนดอน ก็ได้เดินทางมุ่งหน้าสู่เมืองกัรบะลา และนะญัฟ โดยใช้เส้นทางเมือง บัสราห์ สู่เมืองแบกแดด

“แบกแดดเป็นศูนย์กลางการปกครองของคอลีฟะห์อุษมานียะห์” จากแบกแดดก็เข้าสู่เมือง ฮิลละห์ ซึ่งเป็นเมืองที่ติดกับแม่น้ำฟูรอต

แม่น้ำฟูรอต และแม่น้ำดิจละห์ คือแม่น้ำ 2 สาย ที่สำคัญยิ่งซึ่งทั้งสองแม่น้ำนี้ มีต้นทางจากตุรกี และไหลผ่านใจกลางเมืองอิรัก และไหลลงสู่ท้องทะเลซึ่งผลิตผลทางการเกษตรของชาวอิรัก ความอุดมสมบูรณ์ทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกของชาวอิรัก จะขึ้นอยู่กับแม่น้ำทั้งสองสายนี้

หลังจากที่ข้าพเจ้าถูกเรียกตัวกลับยังกรุงลอนดอนนั้น ข้าพเจ้าเคยเสนอแก่ทางกระทรวงล่าอาณานิคม ว่า ให้วางแผนกำหนดยุทธศาสตร์ในการสกัดกั้นแม้น้ำทั้งสองสายนี้ เพื่อที่จะให้อิรักนั้นตกอยู่ในสภาวะคับขันและจะต้องยอมจำนนเพราะหากว่าเมื่อใดที่สายน้ำแห่งนี้ไปไม่ถึงมือชาวอิรักแล้ว จะทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากที่จะต้องยอมจำนนต่อเรา (กระทรวงอาณานิคม)

จากนั้นข้าพเจ้าได้เดินทางออกจากเมือง ฮิลละห์  เพื่อเข้าสู่เมืองนะญัฟ โดยที่ได้ปลอมตัวเป็นนักธุรกิจ/พ่อค้า ชาวอาเซอร์ไบจัน และก็ได้เพื่อนที่เป็นนักการศาสนาคนหนึ่ง ทำให้ข้าพเจ้ามีการไปมาหาเขาบ่อยครั้งและยังเคยเข้าร่วมฟังบทเรียนของเขาด้วย จากความรู้ ความยำเกรง และความบริสุทธิใจของเขาทำให้ข้าพเจ้าต้องตกตะลึง 

แต่ก็ยังเห็นว่าพวกเขายังตกอยู่ในสภาพที่เดิมๆ ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้นว่าวันเวลาจะผ่านมากี่ศตวรรษก็ตาม เห็นได้จากสิ่งต่างๆเหล่านี้ -:

1.  บรรดาอุลามะห์เมืองนะญัฟจะเป็นปฏิปักษ์ ต่อต้านการปกครองของราชวงศ์อุษมานียะห์ในตุรกี การปฏิปักษ์ต่อราชวงศ์อุษมานียะห์นั้นมิใช่ด้วยสาเหตุที่ว่า พวกเขาเป็นชาวซุนนี  แต่ด้วยสาเหตุที่ได้สกัดกั้นความเป็นเสรีภาพของพวกเขา แต่จะอย่างไรก็ตามที พวกเขาก็มิเคยมีความคิดที่จะลุกขึ้นสู้และต่อต้านราชวงศ์อุษมานียะห์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อที่จะได้รับสิทธิเสรีภาพ  

2.  บรรดาอุลามะห์ชีอะห์ “เหมือนกับบาทหลวงของเราในยุคสมัยหนึ่ง” ที่ ทุ่มเทเวลาและครุ่นอยู่กับเฉพาะเรื่องศาสนา จะทอดทิ้งศาสตร์ความรู้ทางโลก “วัตถุ” จะมีก็เพียงน้อยนิดที่ยังประโยชน์ต่อตัวเขา และจะไม่มีความรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องทางโลกวัตถุ 

3.  บรรดาอุลามะห์ชีอะห์ จะไม่ครุ่นคิดและละเลยไม่สนใจต่อสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้น ข้าพเจ้าได้พูดกับตัวเองว่าเป็นเรื่องน่าเวทนาเสียเหลือเกินที่พวกเขาอยู่ในสภาพที่หลับใหล ในขณะที่สถานการณ์โลกกำลังตื่นตัว และสิ่งนี้เองที่จะทำให้ อีกไม่นานเกินรอพวกเขาต้องล่มสลาย

หลายครั้งหลายคราที่ข้าพเจ้าพยายามที่จะโน้มน้าวพวกเขาให้ลุกขึ้นสู้กับราชวงศ์อุษมานียะห์ แต่ว่าหาได้พบสักคนไม่ที่จะน้อมรับ มิหนำซ้ำมีพวกเขาบางคนกลับเยาะเย้ยและล้อเลียนข้าพเจ้า และพวกเขายังพูดอีกว่า ข้าพเจ้าเป็นตัวการที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายในโลก ซึ่งพวกเขามีมุมมองและโลกทัศน์ต่อระบบการปกครอง “คิลาฟัต” ว่า เราไม่มีอำนาจพอที่จะโค่นล้ม รัฐบาลอุษมานียะห์ได้ นอกเหนือจาก ด้วยการปรากฏของ วะลีอัมร์

วะลีอัมร์ ในทัศนะของพวกเขา คือ อิมามคนที่สิบสอง ที่สืบเชื้อสายมาจาก ศาสดามุฮัมหมัด ซึ่งถือกำเนิดในปีที่ 255 (ฮิจเราะห์) และมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ จะมีวันหนึ่งซึ่งบุรุษผู้นี้ จะปรากฏกายขึ้นมาและจะทำให้โลกเต็มไปด้วยความยุติธรรม หลังจากที่มันเต็มไปด้วยความอยุติธรรม มันสร้างความประหลาดใจและฉงนใจต่อข้าพเจ้าอย่างมากที่ว่า มันเป็นไปได้อย่างไรเล่า ที่อุลามะห์ ผู้ทรงรอบรู้ และประชาชนผู้มีเกียรติ มีหลักความเชื่อที่งมงาย ลักษณะเช่นนี้? ! หลักความเชื่อเช่นนี้เหมือนหลักความเชื่อที่งมงายของบางกลุ่ม ชาวคริสเตียนซึ่งเชื่อว่า พระเยซูจะทรงลงมาจากฟากฟ้า และจะทำให้โลกนี้เต็มไปด้วยความยุติธรรม 

ข้าพเจ้าได้ถามชายผู้หนึ่งว่า เป็นสิ่งที่วาญิบหรือไม่สำหรับคุณในการขจัดความอยุติธรรมดั่งเหมือนที่ท่านศาสดาเคยกระทำ?

เขาตอบว่า  การที่ศาสดาสามารถกระทำได้ก็เพราะทรงได้รับความช่วยเหลือจากพระองค์

ข้าพเจ้าพูดว่า  …ในอัลกุรอานยังได้ตรัสว่า (หากสูเจ้าช่วยเหลือพระองค์ แน่แท้ พระองค์ก็จะทรงช่วยเหลือพวกเจ้า) ดังนั้น หากพวกคุณลุกขึ้นต่อสู้ด้วยอาวุธกับคอลีฟะห์ อุษมานียะห์แล้ว พระผู้เป็นเจ้าก็จะช่วยเหลือพวกคุณอย่างแน่นอน 

เขาก็พูดว่า .. คุณเป็นพ่อค้า และหัวข้อนี้เป็นประเด็นทางวิชาการ ซึ่งพ่อค้าอย่างคุณ ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้หรอก

สำหรับสุสาน “ที่ฝังศพ” ของอะมีรุลมุมินีน ตามคำกล่าวของชาวชีอะห์นั้น เป็นสุสานที่ถูกประดับประดาด้วยเงินทองอย่างงดงามและมันเป็นสุสานที่มีฐานภาพอันทรงเกียรติ มีโดมที่ใหญ่ และข้างๆ นั้นมีเสามะนาเราะห์สีทองสองเสา 

ชาวชีอะห์จะเข้าฮะรัมของอิมามคนนี้อยู่ทุกวันและจะทำการละหมาดญะมาอัตและขอดุอาอฺร่วมกันในที่นั้นด้วย พวกเขาจะจูบที่ ลูกกรงของสุสานเพื่อเอาความสิริมงคล ครั้นเมื่อพวกเขาเข้ามาในฮะรัม เมื่อยืนแล้วจะโค้งคารวะ แล้วจะให้สลามยังอิมามและขออนุญาต เข้า จากนั้นจึงเดินเข้าไปในเขตบริเวณข้างในฮะรัม ส่วนบริเวณเขตฮะรัมจะมีลานที่กว้างใหญ่ ซึ่งมีห้องมากมาย จะมีทั้งห้องที่เตรียมไว้สำหรับผู้ที่มาซิยารัตและนักเรียนศาสนา 

ในเมืองกัรบะลา มี 2 ฮะรัม ที่มีลักษณะคล้ายเหมือนเช่นนี้ คือ ฮะรัมของอิมามฮูเซ็น และฮะรัมของอับบาส ผู้เป็นน้องชายของฮูเซ็น ซึ่งทั้งสองถูกสังหารที่กัรบะลา

ชาวชีอะห์อยู่ในเมืองกัรบะลา  จะมีขนบธรรมเนียมปฏิบัติเหมือนอย่างชาวชีอะห์ในเมือง นะญัฟ เมื่อพวกเขาเข้ามาซิยารัต

ภูมิอากาศในเมืองกัรบะลา จะดีกว่าเมือง นะญัฟ เพราะรอบๆ เมืองกัรบะลา จะมีสวน ต้นไม้ และลำธารน้ำที่ไหลผ่านอย่างมากมาย

การเดินทางในอิรักครั้งนี้ ได้ประจักษ์เห็นสิ่งต่างๆ มากมายซึ่งเป็นการเพิ่มความหวังให้ข้าพเจ้ามากยิ่งขึ้น เพราะสภาพเหตุการโดยทั่วไปนั้น บ่งชี้ถึงช่วงเวลาอันใกล้ของการล่มสลายการปกครองแห่งราชวงศ์อุษมานียะห์ เพราะผู้ปกครองในเมืองอิรักที่ทางราชวงศ์อุษมานียะห์ได้ส่งมานั้น เป็นผู้ปกครองที่บ้าอำนาจ จะใช้อำนาจของตนเองในการบังคับ ขู่เข็ญ ประชาชนและเลือกปฏิบัติเยี่ยงทาส ซึ่งสร้างความไม่พอใจกับประชาชนเป็นอย่างมาก

ชาวชีอะห์จะไม่ให้ความสำคัญต่อผู้ปกครอง เพราะผู้ปกครองได้ลิดรอน สิทธิอันชอบธรรมต่างๆ ของพวกเขา ส่วนชาวซุนนีก็ไม่พึงพอใจเช่นกันเพราะว่า แทนที่ราชวงศ์อุษมานียะห์จะเลือกทำเอาผู้มีเกียรติ และผู้ที่มีความเคารพนับถือจากวงศ์วานของมุฮัมหมัด ซึ่งเป็นผู้ที่คู่ควรและเหมาะสมยิ่งในการเป็นผู้ปกครองนั้น กลับนำเอาผู้ที่บ้าอำนาจแทนมาปกครองพวกเขา

เช่นเดียวกัน ในการเดินทางยังอิรักครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้สัมผัสเห็นเมืองต่างๆ ที่ทรุดโทรม อีกทั้งประชาชนยังอยู่ในสภาพที่ยากลำบากทั้งความขัดสนและความสกปรก ถนนหนทางไม่ปลอดภัย มีโจรปล้นสะดมตามถนนหนทางต่างๆ ซึ่งหากไม่มีตำรวจแล้วพวกเขาก็จะทำการปล้นสะดมผู้เดินทาง จึงสร้างความกลัวให้กับผู้เดินทาง นอกเสียจากว่าจะมีตำรวจคอยคุ้มกันพวกเขา อีกทั้งมีการเข่นฆ่านองเลือดเกือบทุกวันระหว่างชนเผ่าต่างๆ  ความโง่เขลาและการไร้การศึกษาได้แผ่คลุมประชาชนอย่างน่าวิตก จึงทำให้ข้าพเจ้านึกถึงยุคสมัยหนึ่ง ที่ทางโบสถ์ ซึ่งมีอำนาจในการปกครองประเทศของเรา 

จะมีเพียงแค่บรรดาอุลามะห์ในเมืองนะญัฟ  เมืองกัรบะลา และบางส่วน จากญาติสนิทของพวกเขาที่มีความรู้ มีการศึกษา นอกเหนือจากนั้นแล้วเป็นผู้ที่ไร้การศึกษาทั้งสิ้น

เศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่ตกต่ำและย่ำแย่  ประชาชนตกอยู่ในสภาพยากไร้ขัดสนเป็นจำนวนมาก การรักษาความปลอดภัยก็ไม่มี ยิ่งสร้างความยากลำบากมากขึ้น

ฝ่ายรัฐกับฝ่ายปกครองท้องถิ่น ต่างก็มีความคลางแคลน สงสัยซึ่งกันและกัน จึงไม่มีความเชื่อมั่นเกิดขึ้นระหว่างสองฝ่าย บรรดานักการศาสนาก็หมกมุ่นในเรื่องของศาสนาอย่างเดียว มิเคยสนใจในเรื่องที่เกิดขึ้น “ทางโลก” 

ที่ดินส่วนใหญ่ถูกปล่อยปละละเลยไม่มีการเพาะปลูก แม่น้ำ ดิจละห์และฟุรอต เสมือนกับแขกที่มาเยือนที่ได้ไหลผ่านพวกเขาและ มาบรรจบที่ท้องทะเล อย่างไร้ประโยชน์   ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้ ได้สร้างสภาพความเป็นอยู่ที่โกลาหล วุ่นวายและเกิดอบายมุข  ที่อันเป็นการรอคอยช่วงเวลาแห่งการปฏิรูปและฟื้นฟู

ข้าพเจ้าได้อยู่ในเมืองนะญัฟและกัรบะลาประมาณ 4 เดือน ช่วงระยะเวลาที่อยู่ในเมืองนะญัฟนั้น ข้าพเจ้าได้ล้มป่วยเป็นไข้ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ทำให้ข้าพเจ้าเกือบหมดหวังว่าจะมีชีวิตได้ต่อไปอีกหรือไม่  ข้าพเจ้าได้ไปหาหมอ หมอก็ได้ให้ยากิน หลังจากที่ได้กินยาสักพัก ก็รู้สึกว่ามีอาการที่ดีขึ้น ช่วงนั้นจวบเหมาะกับหน้าร้อนพอดี

ช่วงที่ข้าพเจ้าป่วยไข้นั้น ได้อาศัยอยู่ในห้องใต้ดิน ซึ่งมีชื่อว่า “ซัรด็อบ” ห้องหนึ่ง ซึ่งเจ้าของบ้านได้ให้ข้าพเจ้าเช่า และยังได้ตระเตรียมอาหารและยาให้กับข้าพเจ้าด้วย ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้ให้ค่าตอบแทนอันน้อยนิดแก่เขา 

เจ้าของบ้านถือว่าการรับใช้ดูแลข้าพเจ้านั้น เป็นสิ่งหนึ่งของการกระทำที่มีผลบุญอย่างมาก เพราะเขาคิดว่าข้าพเจ้าเป็นผู้มาซียารัตอะมีรุลมุมินีน ดังนั้นจึงต้องดูแลรับใช้ให้ดี 

วันแรกของการป่วยไข้ จะมีอาหารเพียงแต่ ซุปไก่เท่านั้น จากนั้นหมอจึงอนุญาตให้ผมกินเนื้อได้ และในสัปดาห์ที่ 3 จึงอนุญาตให้ข้าพเจ้ากินข้าวกับไก่ได้ 

หลังจากที่ข้าพเจ้าหายป่วยแล้วจึงเดินทางต่อยังเมืองแบกแดด และที่แบกแดดข้าพเจ้าได้เขียนรายงานความคืบหน้า ถึงสิ่งที่ประจักษ์เห็นในเมือง นะญัฟ  กัรบะลา ฮิลละห์ และแบกแดด จำนวน 100 หน้า ให้กับตัวแทนของกระทรวงล่าอาณานิคมในเมืองแบกแดด จากนั้นข้าพเจ้าก็รอคอยคำสั่งต่อไปว่าจะให้ข้าพเจ้าอยู่ในอิรักต่อไปอีกหรือว่าจะให้กลับกรุงลอนดอน

ข้าพเจ้ามีความปรารถนายิ่งที่จะกลับลอนดอนเพราะเป็นเวลานานพอสมควรที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว อีกทั้ง ความรักที่มีต่อครอบครัวบ้านเกิด ยิ่งทำให้ข้าพเจ้าต้องการที่จะกลับภูมิลำเนา โดยเฉพาะต้องการกลับไปเห็น สัมผัสลูกชายของข้าพเจ้าที่ชื่อว่า โรสบูติน ซึ่งได้คลอดออกมาหลังจากที่ข้าพเจ้าเดินทางออกจากกรุงลอนดอน ดังนั้นในรายงานที่ได้เขียนไปนั้น จึงได้ขอร้องจากกระทรวงให้อนุมัติแก่ข้าพเจ้าให้กลับลอนดอน ถึงแม้เป็นช่วงเวลาอันสั้นก็ตาม อีกทั้งข้าพเจ้ายังจะได้กล่าวรายงานความคืบหน้าด้วยตัวเองและเป็นการพักผ่อนในตัวอีกด้วย เพราะข้าพเจ้าใช้เวลาเดินทางไปอิรักถึง 3 ปีเต็ม 

ตัวแทนของกระทรวงล่าอาณานิคมในแบกแดดได้พูดกับข้าพเจ้าว่า เพื่อที่จะไม่ให้เกิดความสงสัยในตัวข้าพเจ้า  โปรดอย่าได้เข้ามาหาเขาบ่อยครั้ง และเขายังพูดอีกว่า ให้ข้าพเจ้าหาห้องเช่าใกล้ๆ แม่น้ำ ดิจละห์ เพื่อความสะดวกเมื่อได้รับคำตอบจากกรุงลอนดอนก็จะได้แจ้งให้ทราบทันที

ช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าอยู่ในเมืองแบกแดดนั้น ได้เห็นถึงความแตกต่างๆ ระหว่างเมืองหลวงของรัฐบาลการปกครองของอุษมานียะห์ ในตุรกีกับเมืองแบกแดด และประจักษ์ชัดถึงการดูหมิ่นและเกลียดชังของชาวเติร์กที่มีต่อชาวอิรัก ด้วยเหตุผลที่ว่าพวกเขาเป็นชาวอาหรับและไม่สามารถที่จะวางใจพวกเขาได้ 

ในระยะเวลาที่ข้าพเจ้าได้เดินทางจากเมืองบัสเราะห์ไปยังเมืองกัรบะลาและนะญัฟนั้น ข้าพเจ้ามีความวิตกกังวลและเป็นห่วงถึง สภาพความเป็นอยู่ของ มุฮัมหมัด บินอับดุลวาฮับเพราะข้าพเจ้ายังไม่เชื่อมั่นถึงตัวตนของเขาสักเท่าใด ว่าเขาสามารถปฏิบัติตามนโยบายของที่ได้กำหนดไว้ เพราะมุฮัมมัดเป็นคนที่มักเปลี่ยนสถานภาพอย่างง่ายดาย อีกทั้งยังเป็นคนขี้โมโหด้วย ดังนั้นข้าพเจ้าจึงมีความหวาดกลัวอย่างยิ่งว่า อย่าได้ให้ความใฝ่ฝันของข้าพเจ้าต้องดับสูญ

ก่อนที่ข้าพเจ้าจะอำลาจากมูฮัมมัดนั้น เขาตัดสินใจว่าจะไปตุรกี “ศูนย์กลางการปกครองราชวงศ์อุษมานียะห์” เพื่อไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ แต่ทว่าข้าพเจ้าสั่งห้ามมิให้เขาไป โดยที่พูดกับเขาว่า เป็นไปได้ว่า บางทีคุณอาจจะเอ่ยพูดทัศนะของคุณออกไปและพวกเขาปฏิเสธ ซึ่งบางที่พวกเขาอาจจะกล่าวหาคุณได้ว่าเป็นกาฟิรและอาจจะถูกฆ่าในสุดก็ได้ 

แต่ในความเป็นจริงนั้นข้าพเจ้ามีความหวาดวิตกว่า เมื่อเขาได้ไปที่นั่น บางที่อาจจะพบเจอนักการศาสนา นักวิชาการ และพวกเขาอาจจะชี้ทางแห่งสัจธรรมกับเขาได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นความใฝ่ฝันของผมต้องจบสิ้นลง 

มุฮัมมัดไม่ยอมที่อยู่ในเมืองบัสเราะห์อีก ข้าพเจ้าจึงพูดกับเขาว่า ไปอิศฟะฮานและชิราซจะดีกว่า เพราะเมืองทั้งสองเป็นเมืองที่สวยงามน่าเที่ยวชม และประชาชนก็เป็นชีอะห์อีกด้วย 

ข้าพเจ้ามีความเชื่อว่า การที่ชีอะห์จะสามารถลบล้างความเชื่อถือของเขานั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความหมดห่วง และความกังกังวลเมื่อได้อำลาจากเขา 

ก่อนที่ข้าพเจ้าจะจากเขาไปนั้น ได้ถามเขาว่า …คุณมีความเชื่อเรื่อง  ตะกียะห์  “การอำพรางตน”หรือไม่? 

เขาตอบว่า… ใช่  ผมมีความเชื่อ เพราะหนึ่งในสาวกของท่านศาสดา ก็ได้ทำการตะกียะห์ และคิดว่าสาวกคนนั้นชื่อว่า มิกดาด ช่วงที่บรรดามุชริกีนได้ทำการทารุณกรรมครอบครัวเขา และบิดามารดาของเขาถูกสังหาร จนกระทั่งเมื่อถึงตัวเขา เขาจำยอมปฏิบัติตามคำพูดของ มุชริกีน ซึ่งการกระทำของเขาในลักษณะเช่นนั้นท่านศาสดาได้ให้การยอมรับ 

ดังนั้นข้าพเจ้าจึงบอกเขาว่า ในการเดินทางไปอิหร่านนั้น คุณจำต้องตะกียะห์ และอย่าพูดเด็ดขาด ว่า คุณคือชาวซุนนีย์  เพื่อที่จะไม่ให้เกิดอันตรายต่อตัวคุณและคุณยังสามารถที่จะได้รับประโยชน์จากประเทศของเขาและอุลามาอฺของเขา อีกทั้งยังสามารถรับรู้ถึงวัฒนธรรมประเพณีการปฏิบัติของพวกเขาอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วยังคุณประโยชน์ทั้งสิ้นสำหรับอนาคตภายภาคหน้าของคุณ

ข้าพเจ้าได้ยื่นเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการจ่ายซากาตให้เขา และยังได้ซื้อพาหนะเดินทางเป็นของกำนัลให้แก่เขาแล้วเราทั้งสองก็ได้จากกัน

ในขณะที่เราแยกจากกันนั้นข้าพเจ้าไม่รู้ว่าเขาจะตัดสินใจเดินทางไปยังหนทางไหน ดังนั้นจึงมีความวิตกเป็นอย่างมาก จึงได้สัญญากับเขาว่า เราจะนัดพบเจอกันอีกครั้งที่เดิมคือ บัสเราะห์และเราทั้งสองก็ได้กลับมาตามนัด 

หลังจากนั้นเราทั้งสองก็ไม่ได้พบเจออีกแต่ก็จะเขียนจดหมายถึงกัน ซึ่งจะฝากไว้ที่อับดุลริฎอ และเราก็จะได้รับรู้ความเป็นอยู่ของกันและกันจากจดหมายนี้