“มัสยิดผู้หญิง” ในจีน

หลังจากอ่านเรื่องอีหม่ามหญิงในจีนจาก http://www.chinesemuslimthailand.com/printable.php?id=392 แล้ว ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงหนังสือเรื่อง “The History of Women’s Mosques in Modern China” ครั้งแรกที่เห็นชื่อหนังสือดังกล่าว ก็ทำให้ “ตะลึง” ไม่น้อย หลังจากอ่านแล้วจึงค่อยๆ เข้าใจความเป็นมา  คำว่า “Women’s Mosques” ตำราต่างๆ ในจีนได้ให้การนิยามความหมายของคำนี้ไว้หลายอย่าง อันดับแรกคือหมายถึง  ศาสนสถาน ที่จัดไว้ให้เป็นที่อาบน้ำและละหมาดของผู้หญิงมุสลิมในประเทศจีน และบางรายงานกล่าวไว้ว่า คือสถานที่จัดไว้เพื่อสอนความรู้ทางศาสนาอิสลามสำหรับผู้หญิงมุสลิม เป็นสถานที่ที่สอนความรู้ทางด้านศาสนาโดยเฉพาะ มัสยิดผู้หญิงและอีหม่ามหญิงถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ ผสานระหว่างวัฒนธรรมอิสลามกับวัฒนธรรมของจีน

ในสมัยราชวงค์หยวน (ค.ศ.1206-1370) มีมุสลิมกระจายอยู่ทั่วประเทศจีนตอนกลางของจีนนั้นถือว่าเป็นเขตที่มุสลิมมี จำนวนมากอีกแห่งหนึ่ง การศึกษาของอิสลามจึงเริ่มเกิดขึ้นในตอนกลางของประเทศ กลุ่มการศึกษานั้นแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มซ่านซี กลุ่มซานตงซึ่งมีอิทธิพลต่อชุมชนมุสลิมทั่วประเทศจีน มุสลิมชาวหุยในตอนกลาง ของจีนนั้นยังให้ความสำคัญกับการศึกษาของผู้หญิง ฉะนั้นผืนดินแห่งนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมอิสลามของจีนใน สมัยนั้น ยังคงเป็นแหล่งกำเนิดการศึกษาของผู้หญิงอิสลามอีกด้วย แม้ว่าวัฒนธรรมทางด้านศาสนาของจีนจะได้รับผลกระทบ ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่วัฒนธรรมของมัสยิดผู้หญิงในจีนยังคงได้รับการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตอนกลางของจีนยังคงมีมัสยิดผู้หญิงที่มีจำนวนมากและบทบาทค่อนข้างมาก มัสยิดผู้หญิงจึงเป็นผลงานของมุสลิมในจีน คือปรากฏการณ์ทางด้านวัฒนธรรมที่จะต้องให้ความสำคัญอีกเช่นกัน

ศาสนา อิสลามในจีนนั้นได้เป็นศูนย์รวมของชนชาติทุกกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลาม  แต่เนื่องด้วยความขัดแย้งทางด้านความเชื่อและวิถีชีวิตของลัทธิหยู (ขงจื้อ) ชาวมุสลิมในจีนจึงคิดวิธีในการอนุรักษ์วัฒนธรรมของตนเอง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาทางด้านศาสนา ของผู้หญิง ดังนั้นไม่เพียงแต่การให้ความสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาของผู้หญิงภายใน ครอบครัวแล้วยังมีการก่อสร้างมัสยิดของผู้หญิงขึ้น จึงกลายเป็นวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ส่วนตัวของอิสลามในจีน ได้เริ่มมีสถานศึกษาสำหรับผู้หญิงอิสลามในจีนมา ตั้งแต่สมัยปลายราชวงค์ หมิงต้นราชวงค์ชิง (ราว ค.ศ.1644-1683) จากการบันทึกในตำราประวัติศาสตร์จีน ทราบว่า ในช่วงแรกของการเริ่มสร้างมัสยิดผู้หญิงนั้น มีแนวความคิดนี้จากมุสลิมผู้ชายที่ต้องการใหีผู้หญิงมีความรู้ทางศาสนาเพิ่ม ขึ้น ในช่วงแรกมีผู้ชายเป็นผู้สอนความรู้ต่างๆ หลังจากนั้นค่อยๆ เปลี่ยนเป็นผู้หญิง และในที่สุดผู้หญิงที่มีความรู้ก็ค่อยๆ เข้ามาแทนที่ผู้ชายมุสลิม และค่อยๆ มีบทบาททางด้านกิจกรรมต่างๆ ของศาสนา จนกระทั่งกลายเป็น อีหม่ามหญิงของมัสยิดผู้หญิงในประเทศจีน

เนื้อหาของการศึกษาความรู้ทางศาสนาของผู้หญิงนั้นแบ่งออกเป็นสองประเภท ประเภทแรกคือการศึกษาของผู้หญิงอิสลามทั่วไป เพื่อให้เรียนรู้เนื้อหาพื้นฐานทางด้านศาสนา อีกประเภทหนึ่งคือ เป็นเนื้อหาความรู้ทางด้านศาสนาเพื่อที่จะมุ่งผลิตอีหม่ามหญิง ซึ่งแบ่งออกเป็นสองระดับคือ การศึกษาระดับต้นและการศึกษาระดับสูง ตำราพื้นฐานที่สืบทอดกันมาของมัสยิดผู้หญิงใช้นั้นประกอบด้วย 5 เล่ม ซึ่งเนื้อหาส่วนมากนั้นประกอบด้วย ความรู้พื้นฐานของศาสนาอิสลาม ภารกิจต่างๆของผู้หญิงมุสลิมหลังการคลอดบุตร ขณะที่มีรอบเดือน ผู้หญิงกับครอบครัว และชีวิตการแต่งงานเป็นต้น นอกจากนี้ยังประกอบด้วยเรื่องราวของประวัติศาสตร์อิสลาม ประวัตินบี และบทบาทของผู้หญิงในสมัยนบีเป็นต้น

มัสยิดผู้หญิงที่ชื่อว่า Beida  ตั้งอยู่ในเมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน เป็นมัสยิดผู้หญิงที่มีบทบาทค่อนข้างมาก มัสยิดแห่งนี้สร้างเมื่อ ค.ศ.1911 ตั้งอยู่กลางชุมชนมุสลิมในเมืองเจิ้งโจว ได้ผลิตลูกศิษย์เป็นจำนวนมากหลังจากที่มีการก่อสร้างมัสยิด มัสยิดดังกล่าวยิ่งมีความสำคัญมากหลังจากการเปิดประเทศจีน( ค.ศ. 1978 )

อีหม่ามหญิงที่ชื่อว่า Du Shuzhen ประจำอยู่ที่มัสยิดดังกล่าว ถือเป็นผู้ผลิตอีหม่ามหญิงที่มีชื่อเสียงในมณฑลเหอหนาน ซานตง ส่านซี ดำรงตำแหน่งดังกล่าวมานานกว่า 50 ปี ท่านเป็นผู้ทุ่มเทให้ความสำคัญทางด้านการบริหารจัดการ และสามารถเอาชนะปัญหาต่างๆ ของมัสยิดผู้หญิง จนเป็นที่ยอมรับในวงการ บิดาของอีหม่าม Du Shuzhen ก็เคยเป็นผู้นำศาสนามาก่อน ท่านศึกษาศาสนามาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ และเริ่มเข้าสู่วงการมัสยิดผู้หญิงตั้งแต่อายุ 15 ขวบระหว่างนั้น ท่านเคยร่ำเรียนกับอีหม่ามที่มีชื่อเสียงหลายท่าน  ท่านจึงสามารถนำความรู้ความสามารถมาผลิตอีหม่ามหญิงที่เพรียบพร้อมไปด้วย คุณธรรม มีความรู้กว้างขวาง และสามารถปรับตัวในสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี  หลังจากนั้นก็จะไปดำรงตำแหน่งอีหม่ามหญิงในมณฑลต่างๆ เช่น มณฑลเหอหนาน  ซานตง ส่านซี เป็นต้น นอกจากจะมีชื่อเสียงแล้ว มัสยิดดังกล่าวยังเป็นมัสยิดที่หน่วยงานการวิจัยและองค์กรทางด้านศาสนาต่างๆ ให้ความสำคัญอีกด้วย อย่างเช่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวัฒนธรรมผู้หญิงของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ยังเคยมาเยือน

อิทธิพลของมัสยิดผู้หญิงนั้นมีผลกระทบต่อผู้หญิง อิสลามในจีนไม่น้อย เพราะนอกจากจะเป็นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับทางด้านการศึกษาแล้วยังให้ความ สะดวกในการปฏิบัติศาสนกิจ สามารถกล่าวได้ว่าเป็นอีกเส้นทางเลือกหนึ่งของมุสลิมในจีน ความรู้ที่ได้จากการเรียนนั้นตั้งแต่ ‘การศึกษานั้นเป็นหน้าที่ของมุสลิมทั้งชายและหญิง’ ‘สวรรค์นั้นอยู่ใต้ฝ่าเท้าของมารดา’ รวมทั้งเรื่องราวการออกรบของผู้หญิงในประวัติศาสตร์ของศาสนาอิสลาม เนื้อหาเหล่านี้อาจเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการศึกษาของผู้หญิงว่า ผู้หญิงก็มีสิทธิ์และหน้าที่ในการแสวงหาความรู้  ขณะเดียวกันเนื่องด้วยอิทธิพลของลัทธิหยู  (ขงจื้อ)  ทำให้มัสยิดของผู้หญิงนั้นเป็นพื้นที่ส่วนตัว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสังคมภายนอก ซึ่งก็มีผลดีดีต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมของตัวเอง ขณะเดียวกันก็อาจเกิดปัญหาเรื่องความล้าหลังได้

สรุปแล้วลัทธิหยู (ขงจื้อ) นอกจากจะมีผลกระทบต่อจารีตของผู้หญิงในจีนแล้ว การที่ให้อีหม่ามหญิงเป็นผู้สอนความรู้ทางศาสนาให้กับผู้หญิงในภาคกลางนั้น ย่อมมีความสะดวกกว่า หรืออาจเป็นเพราะว่าสำนักชี หรือเต้าก้วนที่มีนักบวชหญิงมีผลต่อระบบการศึกษาดังกล่าว  อนึ่งเนื่องจากสภาพภูมิอากาศและเงื่อนไขทางด้านเศรษฐกิจ จึงทำให้มัสยิดผู้หญิงมีความสำคัญในการประกอบกิจกรรมต่างๆ เช่นการชำระร่างกายตามหลักศาสนบัญญัติ แต่การจัดตั้งมัสยิดผู้หญิงนั้นไม่ได้รับการยอมรับทั้งหมด เพราะตามหลักของศาสนาของอิสลามนั้น ผู้หญิงไม่มีการละหมาดรวม จึงไม่มีความจำเป็นในการสร้างมัสยิด มัสยิดจำนวน 950 แห่งในมณฑลเหอหนานนั้น ส่วนมากจะให้การศึกษาของผู้หญิง

หรือว่ามัสยิดผู้หญิงนี้ควรตั้งชื่อใหม่เป็นโรงเรียนสอนศาสนาสำหรับผู้หญิง ?

แหล่งอ้างอิง
http://helena-dream.blog.sohu.com/19183294.html
http://www.islamzx.com/jspx_view.asp?id=542
http://baike.baidu.com/view/2949461.htm
http://www.chinesemuslimthailand.com/printable.php?id=392
http://www.islamzx.com/jspx_view.asp?id=163

ตีพิมพ์ครั้งแรก: เดอะพับลิกโพสต์ ฉ.33 ตุลาคม 2553