ศาสนาอิสลามในมณฑลต่างๆ ของจีน (ตอนที่ 5)

มณฑลยูนนานเป็นชื่อมณฑลอีก มณฑลหนึ่งของประเทศจีนที่ชาวไทยคุ้นหู เมืองท่องเที่ยวต้าหลี่ ลี่เจียง แชงกรีล่าและเชียงรุ่งเป็นต้น ล้วนแต่เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในมณฑลดังกล่าว ประเทศจีนมีกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมด 55 กลุ่ม มณฑลยูนนานเป็นมณฑลที่มีกลุ่มชาติพันธุ์มากที่สุดถึง 52 กลุ่ม กลุ่มชาติพันธุ์ที่นับศาสนาอิสลามที่มากที่สุดในมณฑลดังกล่าวคือชาวหุย มีจำนวนประมาณ 640,000 คน ทั้งมณฑลมีมัสยิด 810 แห่ง เมืองคุนหมิงเป็นมหานครของมณฑลยูนนาน มณฑลดังกล่าวตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน มีแนวชายแดนติดกับประเทศพม่า ลาวและเวียดนาม ลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์ของชาวมณฑลยูนนานมีความเป็นเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง และมีความสลับซับซ้อน จัดอยู่ในสภาพภูมิอากาศแบบเขตร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 5-24 องศา มณฑลยูนนานถือว่าเป็นมณฑลที่มีอากาศสบายตลอดทั้งปีของจีน และเป็นมณฑลที่อุดมไปด้วยสัตว์ป่าและพืชพันธ์และแร่อโลหะต่างๆ


ค.ศ. 1219 เจงกิสข่านปฐมกษัตริย์แห่งราชวงค์หยวน ได้ออกรบตะวันออกกลางจนสามารถเอาชนะได้และมีทหารชาวอาหรับ เปอร์เซียติดตามกลับมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งทหารเหล่านี้มีทั้งทหารช่าง ทหารอาวุธต่างๆ ซึ่งได้ชื่อว่า หุยหุย ที่กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ภายในประเทศจีน ในปีค.ศ.1280  ลูกชายของกุบไลข่าน (หลานของเจงกิสข่าน) ที่ชื่อว่า Nasuludin ได้ไปรับตำแหน่งขุนนางที่มณฑลยูนนาน และในปี ค.ศ.1284 Nasuludin ก็ได้ทุ่มเทในการพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของมณฑลดังกล่าว และสร้างป้อมปราการต่างๆ บนถนนสายสำคัญๆ ที่เชื่อมต่อเมืองต่างๆ ภายในมณฑล โดยเกณฑ์ทหารมองโกล และ Semu มาประจำการณ์ สามารถกล่าวได้ว่า วิธีการปกครองและการจัดการในสมัยนี้ เป็นการปูพื้นฐานในการปกครอง และบริหารจัดการภายในมณฑลได้ดี และทหารSemu เหล่านี้ส่วนมากนับถือศาสนาอิสลาม หลังจากที่ประจำการณ์ตามจุดต่างๆ ของดังกล่าวก็มีการสมรสกับผู้หญิงในท้องถิ่น จนกระทั่งกลายเป็นชุนมุสลิมใหญ่เล็กที่กระจายอยู่ภายในมณฑลยูนนาน

ใน สมัยราชวงค์ชิง (ค.ศ. 1636-1911) โดยเฉพาะช่วงก่อนการล่มสลาย ชาวหุยในมณฑลยูนนานได้รับการทารุณและทดสอบอย่างโหดร้าย ทั้งนี้เป็นเพราะการคอร์รัปชั่นและมุ่งหวังผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง รัฐบาลชิงจึงได้ดำเนินนโยบายในการกดดันชาวหุยด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เหตุการณ์Mianning และเหตุการณ์ Yongchang กล่าวกันว่า หมู่บ้าน Mianning มีชาวหุย 754  ครัวเรือน มีชาวหุย 3,000 กว่าคน เดิมทีคนที่ชื่อ YangYaodou มีใจที่จะ “ปราบหุย” อยู่แล้ว หลังจากที่ได้รับการยุยงของทางการ ก็มีการสังหารชาวหุยทั้งหมดและกลายเป็นคดีสังหารชาวหุยคดีแรกในยูนนาน หลังเกิดเหตุการณ์นี้ไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์ Yongchang ขึ้น ตามหลักฐานที่บันทึก ภายในอำเภอ Baoshan ของเมืองYongchang มีชาวหุยอาศัยอยู่ 4,000 กว่าคน และมีชาวหุยอาศัยอยู่ปะปนกับชาวฮั่นในหมู่บ้านชานเมืองกว่า 50 หมู่บ้าน เดิมทีนั้นมีการอาศัยอยู่สงบสุข และไม่เกิดปัญหาขัดแย้งต่างๆ แต่หลังจากเหตุการณ์ Mianning และนโยบายกดดันของรัฐบาล จึงทำให้เกิดการสังหารชาวหุยและทำลายมัสยิดในเมืองดังกล่าว รวมมีชาวหุยทั้งหมด 8,000 กว่าคน มีเพียงร้อยกว่านั้นที่สามารถหนีเอาชีวิตรอด  อนึ่งนอกจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ด้วยเหตุการณ์เช่นนี้จึงทำให้ชาวหุยส่วนหนึ่งหลบหนีเข้าประเทศเพื่อนบ้านและ ภาคเหนือตอนบนของไทย ในสมัยนั้นยังเกิดเหตุการณ์ลักษณะที่คล้ายคลึงกันนี้หลายเหตุการณ์ จนกระทั่งหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง และการสถาปนาของสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวหุยในมณฑลยูนนานที่หลงเหลือทั้งมณฑลกว่า 100,000 กว่าคนถึงจะได้หลุดพ้นจากการหวั่นระแวงจากการสังหาร

ชาว หุยในมณฑลยูนนานมีทั้งที่อาศัยอยู่ชุมชนเมืองและในชนบท การอาศัยอยู่ของชาวหุยในชุมชนในเมืองนั้นส่วนมากจะสังเกตได้ชัดจากธุรกิจทาง ด้านอาหาร เช่นบริเวณ Shunchengjie ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมที่เก่าแก่ภายในเมืองคุนหมิง ชาวหุยที่อยู่ตามชนบทนั้น ส่วนมากจะมีความเป็นกลุ่มก้อนมากกว่า เช่นหมู่บ้าน Naguzhen ในอำเภอ Yonghai เมืองYuxi และหมู่บ้านHuihuideng ในอำเภอWeishan ของเมืองต้าหลี่ เป็นต้น ในที่นี้ผู้เขียนใคร่เสนอลักษณะทั่วไปของหมู่บ้านHuihuideng ตามที่พบเจอในช่วงเดินทางไปเก็บข้อมูลเมื่อปลายปีที่แล้ว

หมู่บ้าน Huihuideng ในอำเภอWeishan ของเมืองต้าหลี่ ชื่อเต็มของอำเภอดังกล่าวคืออำเภอที่ปกครองตัวเองของชาวหุยและชาวหยี และเป็นอำเภอที่เป็น “เมืองโบราณ” รัฐบาลมี  นโยบายให้อนุรักษ์บ้านเรือนที่อาศัยอยู่ ซึ่งมีสถาปัตยกรรมแบบจีนมากกว่าคอนโดแบบตะวันตก บริเวณรอบๆ หมู่บ้านดังกล่าว ก็จะมีหมู่บ้านใกล้เคียงที่ส่วนมากจะเป็นชาวหุยอาศัยอยู่หลายหมู่บ้าน  Huihuideng เป็นหมู่บ้านที่ชาวหุยอาศัย อยู่ทั้งหมด 1,070 ครัวเรือน เป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างจากเมืองต้าหลี่ประมาณ 50 กิโลเมตร ในอดีตนั้นผู้ชายชาวหุยในหมู่บ้านดังกล่าวส่วนมากมีอาชีพค้าขาย โดยใช้ม้าเป็นพาหนะ มีการไปขายตามหมู่บ้านใกล้เคียง ต่างอำเภอและอาจไกลถึงพม่าและทางเหนือของไทย ในระยะแรกหมู่บ้านนี้มีตระกลู Zhu และ Hu อาศัยอยู่เป็นหลัก ตอนหลังที่อาศัยอยู่ด้วยกันมีทั้งหมดห้าตระกูลคือ Shi, Zhu, huang, Hu, Huang คนในหมู่บ้านส่วนมากจะประกอบอาชีพส่วนตัว เช่นค้าขายหรือทำอุตสาหกรรมภายในครัวเรือน เช่นผู้หญิงทำผ้าปัก ซึ่งจะขายให้กับคนในหมู่บ้านเองและมีคนต่างหมู่บ้านมาสั่งซื้อ บางครอบครัวทำอาหารดอง ส่วนผู้ชายในหมู่บ้านนั้นจะเดินทางไปค้าขายหรือรับจ้างต่างอำเภอ ภายในหมู่บ้านมีมัสยิดสองแห่ง มัสยิดแห่งแรกเป็นมัสยิดที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามหลักกฎหมายทุกประการ ส่วนอีกมัสยิดแห่งที่สองนั้นเป็นมัสยิดที่อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนกับ ทางการ เมื่อถึงเวลาละหมาดทั้งห้าเวลา ทุกครัวเรือนจะได้ยินเสียงอะซานจากลำโพงที่ติดมากับเสียงตามสาย เมื่อถึงเวลาปฏิบัติศาสนกิจทุกครัวเรือนก็จะวางงานที่ทำอยู่และพร้อมใจกัน ปฏิบัติศาสนกิจ ผู้เขียนมีโอกาสรู้จักกับคุณป้าHu  ท่านอายุ 62 ปี บุตรทั้งหมด 7 คน (หลัง ค.ศ.1978 รัฐบาลจีนมีโยบายลูกโทน ยกเว้นกลุ่มชาติพันธ์หรือผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบทสามารถมีได้สองคน) ท่านอาศัยอยู่กับบุตรสาวทั้งสองซึ่งไม่ค่อยสมประกอบ แต่เมื่อได้ยินเสียงละหมาด บุตรสาวทั้งสองกุลีกุจอรีบไปอ่านละหมาดด้วยความตั้งใจอย่างเห็นได้ชัด ป้าHu เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า สิ่งเดียวและสิ่งที่มีค่าทีสุดที่ให้กับลูกสาวสองคนนี้คือให้รู้จักศาสนาและ เดินในแนวทางที่ถูกต้อง

และ ผู้เขียนมีโอกาสรู้จักกับคุณ Xian เป็นผู้หญิงชาวหุยที่อายุ 36 มีลูกสาวที่กำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งต้องเดินทางไปเรียนในเมืองและลูกชายเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สามีของคุณ Xian ออกไปค้าขายต่างอำเภอ ประมาณสามสัปดาห์ถึงจะกลับมาบ้านครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นแล้วในบ้านยังมีคุณย่าที่อายุ 75 ที่ต้องดูแล ที่บ้านคุณ Xian จะมีหน้าร้านขายของเล็กๆ นอกจากงานบ้านแล้วเธอก็ต้องดูแลหน้าร้านและในหมู่บ้านจะมีตลาดนัดซึ่งจะมี ขึ้นห้าวันครั้ง เมื่อถึงวันที่มีตลาดนัด เธอก็จะขนของใส่รถจักรยานยนต์พ่วงท้ายของเธอไปขายในตลาดนัด นอกจากนี้แล้วเธอยังมีไร่ผืนหนึ่งที่ต้องดูแล ยามเสร็จภารกิจต่างๆในบ้านแล้วเธอก็ต้องรีบไปดูแลไร่ แม้ว่ากิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเธอดูเหมือนจะมากมาย แต่เธอก็มิได้ละทิ้งเงื่อนไขต่างๆ ตามที่ศาสนากำหนดไว้ เธอสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างครบถ้วน  เธอเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่อก่อนนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับศาสนามาก ตอนหลังมัสยิดภายในหมู่บ้านมีการจัดการเรียนการสอนความรู้ทางด้านศาสนาเพิ่ม เติม ทุกๆ คนในหมู่บ้านก็เริ่มตักเตือนกัน และสามารถปฏิบัติให้ถูกต้องในที่สุด

บรรยากาศ ของหมู่บ้านชาวหุยที่มีบรรยากาศของอิสลามที่ค่อนข้างจะเข้มข้นในลักษณะดัง กล่าว เป็นความจริงที่นึกไม่ถึง ว่าจะสามารถค้นพบ ด้วยนโยบายทางด้านศาสนาของรัฐบาลจีนมีการเปิดกว้างขึ้น  และผู้เขียนชื่อแน่ว่าเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์คอยเป็นแรง “ผลักดัน” ในการทำให้ชาวหุยในมณฑลยูนนาน “ตื่นตัว” ไม่มากก็น้อย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
http://www.2muslim.com/forum.php?mod=viewthread&tid=93598
http://www.baoshan.cn/4034/2005/03/30/150@204973.htm
http://www.yslzc.com/ysls/Class108/Class109/200404/2169.html
http://www.kyaz.com/bbs/dispbbs.asp?boardid=8&id=15463

แหล่งที่มา : พับลิกโพสต์ ฉ.39 เมษายน 2554