อึ้ง!! เงินหลายพันล้านเหรียญ “หาย” จากบัญชี “กัดดาฟี” ที่ถูกแช่แข็งในเบลเยียม

อดีตผู้นำลิเบีย “โมอัมมาร์ กัดดาฟี” © Reuters / Max Rossi

อาร์ที/รอยเตอร์ – อัยการกำลังตรวจสอบว่าธนาคารเบลเยียมจ่ายดอกเบี้ยและเงินปันผลใจากบัญชีที่ถูกแช่แข็งภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของสหประชาชาติในปี 2011 หลังจากที่มีการขับไล่ผู้นำลิเบีย “โมอัมมาร์ กัดดาฟี”

เงินจำนวนมหาศาล 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 1.88 แสนล้านบาท อาจถูกจ่ายไปให้ผู้คนที่ควบคุมบัญชีของลิเบีย รวมทั้งนักรบติดอาวุธในประเทศนี้ซึ่งถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน สถานีโทรทัศน์ RTBF ของเบลเยียมรายงานโดยไม่ได้เปิดเผยแหล่งข่าว

RTBF รายงานว่า เมื่อสหประชาชาติตกลงที่จะระงับการฝากถอนเงินที่ถือโดยฝ่ายบริหารของกัดดาฟีในต่างประเทศ เบลเยียมก็ได้ทำตาม แต่ก็ไม่ได้ระงับการจ่ายดอกเบี้ยและเงินปันผล

ด้วยการแทรกแซงของนาโต้ในปี 2011 สหประชาชาติได้อกมาตรการคว่ำบาตรทรัพย์สินของรัฐบาลลิเบียโดยยึดเงินทุนประมาณ 67,000 ล้านเหรียญ จากหน่วยงานด้านการลงทุนของลิเบีย (Libyan Investment Authority – LIA) ซึ่งกระจายอยู่ทั่วยุโรปและอเมริกาเหนือ สำหรับในสหภาพยุโรปรัฐบาลของประเทศต่างๆ ได้แช่งแข็งเฉพาะเพียงจำนวนเงินเดิม ในขณะที่ดอกเบี้ยและเงินปันผลที่ได้รับหลังจากปี 2011 ยังคงเป็นสินทรัพย์สภาพคล่อง (liquid asset)

รัฐมนตรีต่างประเทศเบลเยียม นายดิดิเยร์ เรนเดอร์ส (Didier Reynders) กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอังคาร (30 ต.ค.) ว่าเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลิกบล็อกดอกเบี้ยเงินฝาก

“เรื่องนี้ (การตัดสินใจเพื่อเลิกบล็อก) เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง ผมไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจตอน 6 ธันวาคม 2011 และยังไม่ได้ตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้” เรนเดอร์สกล่าว พร้อมทั้งเตือนความทรงจำว่า การอนุญาตให้ยกเลิกแช่แข็งบัญชีของลิเบียบางส่วนออกโดยกระทรวงการคลังของเบลเยียมในเดือนตุลาคม 2012 โดยที่กระทรวงการคลังตอนนั้นอยู่ภายใต้การนำของ นายสตีเฟน วานัคเกียร์ (Steven Vanackere)

นอกจากนี้นสหประชาชาติยังกำลังดำเนินการตรวจสอบการยักยอกเงินที่ถูกอ้างว่า เงินหลายพันล้านยูโรได้หายไปจากบัญชีของกัดดาฟี ตามที่นายจอร์จ กิลคิเนต (Georges Gilkinet) สมาชิกสภาเบลเยียมระบุ

“เอกสารของสหประชาชาติยืนยันว่า เบลเยียมไม่สามารถปฏิบัติตามมติของสหประชาชาติว่าด้วยการแช่แข็งสินทรัพย์ของลิเบียได้” กิลคิเนตกล่าวกับทีวี RTBF และเสริมว่า เขาได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนจากเจ้าหน้าที่เบลเยี่ยมเท่านั้น นักการเมืองคนนี้กล่าวว่าจำเป็น “เพื่อชี้แจงสถานการณ์ ซึ่งอาจนำไปสู่เรื่องอื้อฉาวครั้งใหญ่ เพราะเงินหลายร้อยล้านยูโรถูกส่งไปยังใครก็ไม่รู้ในลิเบีย”

จากการตรวจสอบโดย Politico สื่อเกี่ยวกับกิจการยุโรปที่มีสำนักงานในกรุงบรัสเซลส์ พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ “มีการไหลเวียนของหุ้นปันผล รายได้ตราสารหนี้ และการจ่ายดอกเบี้ยเป็นจำนวนมาก” จากกองทุนกัดดาฟีที่เชื่อมโยงกันอยู่ในเบลเยี่ยมซึ่งเป็นช่องโหว่ในระบบการคว่ำบาตร”