ดร.วินัย ดะห์ลัน : จริงหรือที่ว่า “ปีใหม่” คือการฉลองทางศาสนา?

โดย : ดร.วินัย ดะห์ลัน

 

มีคำถามมาถึงผมจากพวกเราหลาย คนว่าการเฉลิมฉลองวันปีใหม่ที่ใครต่อใครทำกันอยู่เป็นพิธีกรรมทางศาสนา คริสต์ใช่หรือไม่ หากใช่ การที่คนในศาสนาอื่นไปเฉลิมฉลองแบบนั้นบ้างจะผิดหลักการในศาสนาของตนเองหรือ เปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนมุสลิม คำตอบจากผมคือนั่นเป็นความเข้าใจผิด แต่ตอบอย่างนั้นออกจะสั้นไปหน่อย จึงขออธิบายความเพิ่มเติมโดยขอทำความเข้าใจกับวิธีการนับวันเวลาเสียก่อน

วัน เวลาที่กำหนดเป็นแต่ละวัน เป็นสัปดาห์ เป็นวันที่ เป็นเดือนหรือปี รวมทั้งการกำหนดเวลาโดยแบ่งเป็นยาม ชั่วโมง นาที วินาที ล้วนเป็นสิ่งสมมุติทั้งนั้น สามารถแปรเปลี่ยนแก้ไข ร่นเข้าถอยออกได้ เป็นเช่นนี้มานับแต่โบราณ จะกำหนดว่าใครเป็นเจ้าของการกำหนดวันเวลาไม่ได้ เพราะพัฒนาการของสังคมมีความทับซ้อนต่อยอดกันมาตลอด ถ่ายทอดจากชนกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง จะบอกว่าวันเวลาเป็นของคนกลุ่มนี้ ของคนในศาสนาโน้นย่อมไม่ถูกต้อง

การ แปรเปลี่ยนของวันเวลาผ่านการสังเกตของชุมชนมนุษย์มานานหลายพันปี ก่อนการบันทึกทางประวัติศาสตร์เสียด้วยซ้ำ เมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักการตั้งหลักปักฐานสร้างชุมชนโดยอาศัยการทำเกษตรกรรม จำเป็นต้องบันทึกการแปรเปลี่ยนของเวลาเพื่อสะดวกต่อการเพาะปลูก โดยกำหนดจากดวงอาทิตย์บ้าง ดวงจันทร์บ้างหรือแม้กระทั่งดวงดาว บางสังคมสังเกตการเปลี่ยนแปลงของต้นไม้ใบหญ้า บ้างสังเกตจากการอพยพของฝูงสัตว์ สุดท้ายคือการจัดทำปฏิทินอย่างที่รู้จักกัน

ปฏิทิน ถูกกำหนดขึ้นจากชนหลายกลุ่ม แต่ที่นิยมใช้กันในทุกวันนี้มีอยู่สองแบบคือแบบที่กำหนดโดยสังเกตการโคจรของ โลกรอบดวงอาทิตย์เรียกว่า “สุริยคติ” มี 365-366 วันต่อหนึ่งรอบ และแบบที่สังเกตการโคจรของดวงจันทร์รอบโลกเรียกว่า “จันทรคติ” มี 29-30 วันต่อหนึ่งรอบ การนับทั้งสองแบบนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งแต่ละสังคมนับไม่ตรงกัน แต่เป็นอย่างที่บอกคือการกำหนดนั้นเป็นเรื่องสมมุติสุดท้ายหลายสังคมปรับการ นับสองแบบนี้ให้ใกล้เคียงกัน

ลอง สังเกตดูจะเห็นว่าการนับแบบสุริยคติมีจันทรคติปนมาด้วยคือแยกปีออกเป็นเดือน แบบจันทรคติ และทางจันทรคติยังรวมสิบสองเดือนเป็นหนึ่งปีแบบสุริยคติ เป็นการประนีประนอมสองแนวทางเข้าด้วยกัน บางสังคมถึงขนาดรวมทั้งสองแบบไว้อย่างเช่นการจัดทำปฏิทินแบบจีน อินเดีย ไทย ผสมผสานทั้งจันทรคติและสุริยคติ ดังนั้นในโลกของความเป็นจริงจึงแยกสุริยคติออกจากจันทรคติไม่ได้ เพราะทุกสังคมต่างใช้ประโยชน์จากทั้งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์

หนึ่ง ปีตามสุริยคติมี 365 วันโดยปรับเป็น 366 วันทุกสี่ปี ขณะที่หนึ่งปีตามจันทรคติมี 354 วัน การนับสองแบบจึงต่างกัน 11 วัน ปฏิทินในหลายสังคมทำการชดเชยวันเวลาที่ต่างกันนี้โดยวิธีที่ต่างฝ่ายต่าง กำหนด อย่างเช่นปฎิทินไทยกำหนดให้ทุกสามปีมีเดือนแปดสองครั้ง ทำให้สุริยคติตรงกับจันทรคติทุกสามปี ขณะที่หลายสังคมไม่กำหนดแนวทางประนีประนอมในลักษณะนั้น แต่กลับผสมผสานทั้งสองแบบไว้ด้วยกัน วันอีสเตอร์ในศาสนาคริสต์น่าจะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน

พระ เยซูคริสต์หรือนบีอีซา (ตามที่เรียกในศาสนาอิสลาม) ถือกำเนิดในดินแดนปาเลสไตน์ในยุคที่ยึดถือปฏิทินจันทรคติ เมื่อมีการกำหนดวันอีสเตอร์หรือวันฟื้นคืนชีพของพระเยซูขึ้นเป็นครั้งแรก นั้น ชาวคริสต์กำหนดวันตามจันทรคติแม้เมื่อปรับเปลี่ยนการใช้ปฏิทินเป็นสุริยคติ ในภายหลังกลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงวันอีสเตอร์ เหตุนี้วันอีสเตอร์ในแต่ละปีจึงเลื่อนเร็วขึ้นปีละประมาณ 10-11 วัน

วัน สำคัญในศาสนาอิสลามถือปฎิทินจันทรคติเป็นหลัก การกำหนดพิธีฮัจย์ หรือการกำหนดเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นพิธีกรรมสำคัญในศาสนาอิสลามนับจากอดีตถึง ปัจจุบันเป็นไปตามปฏิทินจันทรคติโดยยังไม่มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศมุสลิมต่างใช้ปฏิทินสุริยคติในการกำหนดวันเวลาไปพร้อมๆกับปฏิทิน จันทรคติด้วยกันทั้งนั้น ตัวอย่างเช่นซาอุดีอาระเบียกำหนดวันชาติของตนไว้ในวันที่ 23 กันยายนของทุกปีตามปฏิทินสุริยคติ ไม่มีการกำหนดตามปฏิทินอาหรับซึ่งเป็นปฏิทินจันทรคติแต่อย่างใด เป็นไปอย่างที่บอกคือวันเวลาเป็นเรื่องสมมุติ ใช้เพื่อสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับต้องตรงกันเท่านั้น

กลับ มาที่คำถามเริ่มต้นว่าเหตุใดวันปีใหม่สากลจึงกำหนดตามปฏิทินสุริยคติและให้ เป็นวันที่ 1 มกราคมของทุกปี ซึ่งบางคนเข้าใจผิดว่าการเฉลิมฉลองวันปีใหม่เป็นพิธีกรรมทางศาสนาโดยเฉพาะ อย่างยิ่งในศาสนาคริสต์ อันที่จริงการกำหนดปฏิทินสุริยคติเริ่มมานานนับได้หลายพันปีแล้ว ชาวบาบิโลน ชาวจีนและอินเดียกำหนดปฏิทินสุริยคติก่อนชาวโรมันเสียด้วยซ้ำ โดยกำหนดวันปีใหม่ว่าเป็นวันเริ่มต้นการเพาะปลูก

อารยธรรม โบราณส่วนใหญ่ของโลกอยู่ทางตอนเหนือของเส้นศูนย์สูตร วันเริ่มต้นการเพาะปลูกจึงเริ่มต้นในฤดูใบไม้ผลิซึ่งเป็นช่วงเดือน กุมภาพันธ์ไปจนถึงพฤษภาคม เทศกาลเฉลิมฉลองในแต่ละอารยธรรมจึงมักอยู่ในช่วงนี้ อย่างเช่น วันตรุษจีนเป็นเดือนกุมภาพันธ์ วันสงกรานต์ของอินเดียเป็นเดือนเมษายน ชาวบาบิโลนในเขตที่เป็นประเทศอิรักปัจจุบันเฉลิมฉลองวันปีใหม่ในเดือนเมษายน ไปดูญี่ปุ่น เกาหลี หรือแม้กระทั่งในอารยธรรมกรีกโรมันโบราณล้วนไม่ต่างกัน

พิจารณา จากฤดูกาลที่ซึมเศร้าที่สุด ว้าเหว่ที่สุดเห็นจะเป็นฤดูหนาวซึ่งซีกโลกเหนือเส้นศูนย์สูตรคือเดือน พฤศจิกายน-มกราคม จักรพรรดิโรมันเห็นปัญหานี้จึงย้ายวันปีใหม่จากฤดูเก็บเกี่ยวไปเป็นฤดูหนาว เพื่อให้ผู้คนได้รื่นเริงในฤดูหนาวกันบ้าง การกำหนดวันปีใหม่ให้เป็นวันที่ 1 มกราคมจึงเริ่มต้นในอาณาจักรโรมันตั้งแต่ปีที่ 45 ก่อนพระเยซูถือกำเนิด บ้างก็ว่า 153 ปีก่อนพระเยซูเสียด้วยซ้ำซึ่งแน่นอนว่าการเฉลิมฉลองจำเป็นต้องเอาศาสนาและ ความเชื่อผสานเข้าไปด้วย การฉลองวันปีใหม่จึงมีพิธีกรรมทางศาสนาเข้ามาปน แต่ไม่ใช่คริสต์อย่างแน่นอน

แต่ละ สังคมนำเอาวันที่ 1 มกราคมมากำหนดเป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ไม่พร้อมกัน อย่างเช่นโรมันเองเมื่อเปลี่ยนไปยึดเอาศาสนาคริสต์เป็นหลักแล้วกว่าจะยอมรับ ให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันปีใหม่ก็ล่วงเลยมานับร้อยปีโดยเห็นว่าวันที่ 1 มกราคม เป็นเรื่องของคนนอกศาสนา ต่อเมื่อเริ่มเข้าใจได้ว่าวันเวลามีความเป็นสากลไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาแล้ว นั่นแหละจึงเริ่มยอมรับ ชาวคริสต์แต่ละนิกายเริ่มใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันปีใหม่ไม่ตรงกัน ที่น่าสังเกตคือไม่มีกลุ่มใดยึดถือว่าวันปีใหม่เป็นวันสำคัญทางศาสนา ส่วนเป็นปีใหม่แล้วจะเฉลิมฉลองหรือไม่นั้นก็ขึ้นกับแต่ละสังคม

สังคม มุสลิมในประเทศมุสลิมมักไม่มีประเพณีนับถอยหลังหรือเคาท์ดาวน์กันตอนเที่ยง คืนวันที่ 31 ธันวาคม ให้เป็นการเอิกเกริก จะมีให้เห็นบ้างก็เพื่อสนุกสนานรื่นเริงไม่ได้คิดว่าเป็นพิธีกรรมทางศาสนา อย่างเช่นในกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซียและอีกหลายประเทศ สังคมมุสลิมมีวันเฉลิมฉลองของตนเองอยู่แล้วคือวันตรุษอิดิลอัฎฮาและอิดิลฟิต ริ จะไปเฉลิมฉลองเลียนแบบคนอื่นกันชนิดสุดเหวี่ยงคงไม่เหมาะ ส่วนใครที่เที่ยวเหมาว่าการฉลองปีใหม่เป็นวัฒนธรรมในศาสนาของตนนั่นก็ไม่ เหมาะอีกเช่นกัน

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
ดร.วินัย ดะห์ลัน เป็นผู้อำนวยการ/ผู้ก่อตั้ง ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อดีตคณบดี คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ติดตาม : https://www.facebook.com/winaidahlan