การสร้างคณะทำงาน

การสร้างคณะทำงานหรือการรวมตัวของคนหลายคนมาร่วมกันทำงานในภารกิจเดียวกัน เป็นวิธีการทำงานวิธีหนึ่งที่จะทำให้งานที่ทำประสบความสำเร็จอย่างงดงามและมีประสิทธิภาพ/คุณภาพ ทำให้มีส่วนร่วมมีความรักสามัคคีกันในหมู่คณะ และสังคมมีความเป็นปึกแผ่น การทำงานนั้นหากเราไม่ตั้งกลุ่มทำงานหรือคณะทำงานที่ว่านี้ งานที่ทำก็จะทำแบบวันแมนโชว์ คือตัวใครตัวมัน ต่างคนต่างทำ ปัญหาต่างๆ จะตามมาอย่างคาดไม่ถึงและแก้ไขไม่ได้หรือแก้ไขได้อย่างลำบากยากเย็น

สังคมมุสลิมไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใด จังหวัดใด ภูมิภาคใด พื้นที่ใดก็ตาม ย่อมมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของท้องถิ่นที่ แตกต่างกัน แม้กระทั่งรูปแบบการปฏิบัติศาสนกิจบางอย่างก็อาจไม่เหมือนกัน ความแตกต่างเหล่านี้อย่าสนใจให้มากนัก อาจจะนำไปสู่ความรู้สึกแตกแยกกันได้ ความแตกแยกที่เกิดขึ้นนี้เป็นความแตกแยกที่ไร้เหตุผล

ในการจัดตั้งคณะทำงานจึงต้องพิจารณาอย่างถ่องแท้ ควรเลือกคนที่มีรสนิยมหรือคตินิยมใกล้เคียงกัน ความจริงคณะทำงานโดยกฎหมายนั้นเรามีกันอยู่แล้ว นั่นคือ   คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด หรือประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คนเหล่านี้ต่างก็ต้องรับผิดชอบให้คณะทำงานเหล่านี้รวมตัวกันเพื่อทำงาน มิใช่รวมตัวกันเพียงอยากได้ตำแหน่งประการเดียว

ส่วนคณะทำงานที่จัดตั้งกันเองโดยธรรมชาติสังคม ไม่ว่าจะเป็นคณะทำงานที่ร่วมกันจัดตั้งเพื่อทำงานที่มีความรับผิดชอบเดียวกัน คณะทำงานนี้อาจจัดตั้งเป็นกลุ่มย่อยในคณะใหญ่ หรือจัดตั้งมาจากบุคคลที่เหมาะสมโดยไม่จำกัดสังกัด

การจะจัดตั้งคณะทำงานต้องพิจารณากันให้รอบคอบและคิดเสมอว่า จัดตั้งคณะขึ้นมาทำงาน มิใช่จัดตั้งเพื่อแบ่งตำแหน่งหน้าที่ เพื่อมีเกียรติ เพื่อผลประโยชน์ เพื่อยกระดับตัวเองให้เหนือกว่าคนอื่น หรือเพื่อจะกีดกันคนที่ตนไม่พอใจ หรือเพื่อเอาชนะกัน เมื่อได้รับตำแหน่งแล้วก็ไม่คิดจะทำอะไร หากสังคมคิดเรื่องจัดตั้งตำแหน่งต่างๆ กันเพียงเท่านี้ ก็แสดงถึงความล้มเหลวของสังคมอย่างน่าเวทนาเป็นที่สุด

คณะทำงานที่สังคมสร้างขึ้นเพื่อรับผิดชอบภารกิจอะไร ก็จะต้องทำงานให้บรรลุ   สู่เป้าหมาย มิใช่ดีใจกับตำแหน่งจนลืมภาระหน้าที่ของตนเอง มัวแต่ชุมนุมแสดงความ   ชื่นชนยินดีจนไม่คิดจะทำอะไร

บางคณะทำงานนอกจากได้ตำแหน่งมาครองแล้ว ยังมีงบประมาณมหาศาลตำแหน่งตามมาด้วย เช่น ตำแหน่งทาง การเมืองไม่ว่าระดับใด สิ่งเหล่านี้ล่อใจให้คิดอยากได้ผลประโยชน์จนไม่คิดทำอะไร การคัดเลือกคนเข้าไปมีตำแหน่งจึงกลายเป็นเหมือนเล่นการพนันหาคนชนะคนแพ้ พอได้ชัยชนะมาแล้วก็ไม่สนใจอะไรอีก ทำงานตามที่ถูกกำหนดโดยกฎหมายแบบซังกะตาย ไม่มีความคิดริเริ่ม ไร้ซึ่งความจริงใจ ความจริงจัง และความจริงแท้ในอุดมการณ์ที่เคยประกาศไว้ตอนหาเสียง นั่นคือความสิ้นหวังของประเทศชาติ และองค์กรที่สังกัด ทำงานตามตำแหน่งแต่ไม่คิดทำงานให้สมกับตำแหน่งและพัฒนางานในตำแหน่ง

คณะทำงานที่สังคมจัดตั้งขึ้นนั้นไม่ว่าจะเป็นคณะทำงานให้กับองค์กรศาสนาหรือองค์กรรัฐก็ตาม หากจมปลักอยู่กับตัวหนังสือที่กำหนดโดยกฎหมาย ไม่มีความคิดริเริ่ม และไม่มีการขยายความตัวหนังสือให้เกิดพัฒนาการอันก้าวหน้า ความอ่อนด้อยความตกต่ำความล้มเหลวจะตามมาประชิดองค์กรนั้นจนพ่ายแพ้ยับเยิน เป็นความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นเพราะตัวเอง ตัวเองทำลาย ตัวเองฆ่าตัวเอง นั่นคือการฆ่าตัวตายหรือที่เรียกว่า  อัตวินิบาตกรรมโดยแท้ แม้องค์กรจะเหลือซากเดนแห่งวัตถุเหลืออยู่บนพื้นที่ที่อาคารนั้นตั้งอยู่ แต่อาคารนั้นมิได้ฟ้องความสง่างามเลย ฟ้องความล้มเหลวความพ่ายแพ้และความเน่าเฟะ แม้อาคารนั้นจะมีราคามูลค่ามหาศาล แต่ในข้อเท็จจริงแล้วไม่มีคุณค่าที่สามารถคำนวณเป็นราคาใดๆ เลย

ก่อนและขณะที่สร้างอาคารมีความคิดบรรเจิดฝันหวานอย่างปีนบันไดจนถึงสวรรค์ชั้นฟิรเด๊าส์ แต่ความเป็นองค์กร และการกำหนดนโยบายในด้านการทำงาน ในด้านการริเริ่ม มีที่ตระการตาที่สุด คือ ศิลปะแห่งอาคาร แต่ไร้ซึ่งศิลปะแห่งกิจการ น่าอดสูเป็นที่สุด ความอดสูที่เข้ามาแทนที่ความชื่นชมนั้นมีค่าวัดความตกต่ำที่สูงมาก

คุณค่าของคณะทำงานเราวัดกันที่ความสำเร็จในการบริหารมิใช่วัดกันที่ตัวอาคาร แม้อาคารจะไร้ค่า โบราณ และเชย แต่ถ้าการบริหาร ตั้งแต่บริหารงาน บริหารอาคาร บริหารคนที่ใช้อาคาร ตลอดจนบริหารสิ่งแวดล้อมรอบบริเวณอาคาร ได้แสดงออกซึ่งความสำเร็จความเจริญก้าวหน้าในวัตถุประสงค์แห่งการบริหารโดยแท้จริง  

การทำงานเป็นคณะย่อมเพิ่มพลังให้เหนือและมากกว่าทำงานแบบตัวใครตัวมัน เมื่อมีการรวมตัวเป็นหมู่คณะ พลังอันแข็งแกร่งจะเกิดแก่พวกเขา สอดคล้องกับ  ฮะดีษที่ระบุว่า ‘อำนาจแห่งอัลลอฮ์ย่อมอยู่พร้อมกับหมู่คณะ’ สรุปได้สั้นที่สุดว่า ‘รวมตัวเป็นหมู่คณะย่อมมีพลัง’ หรือ ‘สามัคคีคือพลัง’

แม้การรวมตัวกันเป็นหมู่คณะจะมีจำนวนน้อยกว่าบางกลุ่มที่รวมเป็นหมู่คณะเหมือนกัน แต่เป็นการรวมตัวเฉพาะเชิงจำนวน แต่ไม่รวมตัวกันเชิงคุณภาพ กล่าวคือทางจิตใจไม่รวมกันมีแต่ความแตกแยก รวมกันอย่างผิวเผิน ต่อให้มีจำนวนมากสักปานใด    ก็หามีพลังไม่ ความพ่ายแพ้จะเกิดขึ้นทันที อัลกุรอานได้บัญญัติให้เราเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า หมู่คณะที่มีจำนวนน้อยตั้งเท่าใดแล้วที่สามารถชนะหมู่คณะที่มีจำนวนมากกว่า เมื่ออัลลอฮ์ตะอาลาอนุญาต นั่นคือ   หมู่คณะที่มีความรักสามัคคีจากหัวใจที่มีศรัทธามีความอดทนมีความรู้ความเข้าใจทั้งในด้านยุทธศาสตร์ ด้านการบริหาร ด้านสังคม ด้านวิชาการ และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

การสร้างคุณภาพแก่หมู่คณะจึงเป็นหน้าที่ของทุกคน คำสุภาษิตที่ว่าน้ำน้อย  ย่อมแพ้ไฟนั้นถือเป็นคำพูดให้เราเอาใจใส่ กับคุณภาพของหมู่คณะโดยตรง ยิ่งจำนวนสมาชิกในหมู่คณะมีมากเราอาจจะดำรง   หมู่คณะอย่างประมาท แล้วก็พ่ายแพ้หมู่คณะที่มีสมาชิกจำนวนน้อยจนได้ ดังนั้นจะต้องคำนึงถึงคุณภาพมากกว่าจำนวนตราบเท่าที่ความเป็นองค์กรยังดำรงอยู่ ทุกอย่างจะต้องไม่เปิดช่องโหว่ให้จำนวนมากเข้ามาบ่อนทำลายความมั่นใจจนประสบความพ่ายแพ้อย่างไม่น่าให้อภัย

คณะทำงานในสังคมมุสลิมเรามีจำนวนมาก ทั้งที่จัดตั้งกันเองหรือกฎหมายเป็นผู้จัดตั้งก็ตาม แต่เราก็มักจะประมาทไม่สนใจสร้างคุณภาพแก่หมู่คณะ นอกจากการทำงานจำเจอยู่กับรูปแบบที่คุ้นเคยซ้ำๆ ซากๆ ไม่มีอะไรริเริ่มใหม่ให้น่าสนใจ รูปแบบอลังการ และยศถาบันดาศักดิ์ที่กำหนดในการทำงานของคณะทำงานนั้น ทำให้ความเป็นกันเองของหมู่คณะค่อยๆ ถอยหลังกรู บังเกิดความเหินห่างอย่างไม่คาดคิด

ต้นทุนสังคมมุสลิมไทยมีมูลค่ามหาศาล แต่เราไม่บริหารคุณค่าเราคิดบริหารกันแต่มูลค่าอย่างเดียว เราคิดอะไรก็คิดกันสั้นๆ ไม่สนใจที่จะคิดถึงอนาคตอันยาวไกล หากคิดเพียงปัจจุบันชั่วครั้งชั่วคราว ที่เรียกว่าขาดวิสัยทัศน์ เช่น งานเลี้ยง งานขอบคุณ งานแสดงความยินดี งานแจกรางวัล งานเหล่านี้เรามองไม่เห็นคุณค่าใดๆ นอกจากการประจบสอพลอ การล่าบุญคุณ การตอบแทนบุญคุณ ช่างไร้สาระและเสียเวลามากๆ อย่างน่าเสียดายจริงๆ

สังคมที่มีงานประเภทนี้บ่อยครั้งเป็นเครื่องวัดว่าสังคมนั้นตกเป็นทาสของนิกายทุนนิยม วัตถุนิยม และบริโภคนิยม มิใช่สังคมสาระนิยม สังคมวิชาการ สังคมคุณภาพ สังคมศาสนา จนกระทั่งสังคมภราดร เพราะไม่เห็นสื่อสารกันในเรื่องเกื้อกูล เรื่องเพิ่มคุณภาพสังคม เรื่องพัฒนาและแก้ไขปัญหาของสังคม ภาพที่มองเห็นได้ง่ายที่สุดคือต่างคนต่างอยู่ และอยู่แบบตัวใครตัวมัน

ภาพอุดมการณ์ที่สอดคล้องกับบท บัญญัติแห่งอิสลามนั้น คือความร่วมมือความช่วยเหลือระหว่างกันและกัน เป็นอุดมการณ์ที่อัดแน่นอยู่ในจิตใจของมุสลิมทุกคน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มชนที่มีความหลากหลายในด้านใดๆ ก็ตาม

แท้จริงแล้วทุกหมู่คณะที่รับผิดชอบภารกิจเดียวกันนั้น ล้วนมีสภาพเป็นพี่น้องกันตลอดกาล แม้จะแตกต่างกันบ้างระหว่างสภาพบุคคลหรือรายละเอียดของงานในแต่ละหมู่คณะก็ตาม

ตีพิมพ์ในเดอะพับลิกโพสต์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 32 ประจำเดือนกันยายน พ.ศ. 2553