ปัญหาการก่อการร้าย (Terrorism) แม้จะไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ แต่นับวันปัญหานี้ยิ่งซับซ้อนยากที่จะเข้าใจมากขึ้นทุกทีๆ ยุ่งเหยิงในแบบยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง หากมองความพยายามกว่า 14 ปีที่ผ่านมา หลังเหตุวินาศกรรมโจมตีสหรัฐในวันที่ 11 กันยายน 2001 หรือเหตุการณ์ 9/11 สหรัฐอเมริกาได้เดินหน้าทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย (War on terror) มาอย่างต่อเนื่องและเป็นปฏิบัติการในเชิงรุก ร่วมกับพันธมิตรทั่วโลกภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ องค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะองค์การทางทหารอย่างนาโต้ เน้นยุทธศาสตร์ด้านการใช้กำลังทหารและความร่วมมือด้านการข่าว ตลอดจนการสนับสนุนด้านงบประมาณให้กับกลุ่มพันธมิตรเพื่อการกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก ทำทุกวิถีทางเพื่อสกัดกั้นการเติบโตและกวาดล้างกลุ่มก่อการร้าย (ยกเว้นวิถีการเจรจาและพิจารณาสาเหตุ) ในทุกหนทุกแห่ง
ภาพรวมและผลลัพธ์ของการรับมือกับปัญหาการก่อการร้ายสมัยใหม่
ท่ามกลางองคาพยพของความร่วมมือขนาดใหญ่ การปฏิบัติการด้วยกำลัง การทุ่มเทงบประมาณมหาศาลไปเพื่อการปราบปรามการก่อการร้ายและเครือข่ายกลุ่มติดอาวุธต่างๆ แต่ปัญหานี้กลับยกระดับความวิกฤตและหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ เหมือนยิ่งแก้ยิ่งยุ่งเหยิง ยิ่งปราบยิ่งเพิ่ม การขยายตัวของปัญหาเห็นได้ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่ากลุ่มก่อการร้ายนอกจากจะไม่ลดลงแล้วยังเพิ่มขึ้นและเป็นการเพิ่มขึ้นในลักษณะเครือข่ายอีกต่างหาก ความถี่และความรุนแรงของปฏิบัติการก็ยกระดับขึ้นเรื่อยๆ ในแง่ของพื้นที่ก็ขยายไปเรื่อยๆ ทั้งในตะวันออกกลาง เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงไต้ และแน่นอนในโลกตะวันตกด้วย ในด้านตัวบุคคลหรือตัวแสดงที่เป็นสัญลักษณ์ของการก่อการร้ายในระดับสากลก็พบว่าหลังนายอุซามะห์ บินลาเดน หัวหน้ากลุ่มอัลกออิดะห์ ถูกสังหารก็ไม่ได้ทำให้โลกปลอดภัยขึ้นเลย อีกทั้งยังปรากฏกลุ่มใหม่หรือที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มรัฐอิสลาม หรือ Islamic State (IS) ที่ถูกมองว่ามีศักยภาพและความโหดเหี้ยมที่เหนือกว่าอัลกออิดะห์มาก พูดง่ายๆคือมาแทนที่อัลกออิดะห์ ซึ่งสามารถเขย่าโลกได้อย่างน่าสะพรึ่งกลัวในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนอัลกออิดะห์ก็ยังคงเคลื่อนไหวอยู่
นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาซ้อนปัญหาที่ลึกไปถึงระดับสังคมและระบบคิดของปัจเจก กล่าวคือความหวาดกลัวเกลียดชังภายใต้กระแส Islamophobia หรือโรคเกลียดกลัวอิสลาม ที่แพร่อยู่ในหลายพื้นที่และบ่อยครั้งมีการเผชิญหน้ากันทั้งในทางตรงและทางอ้อมโดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกา
ผลลัพธ์ดังกล่าวจึงเป็นประเด็นให้ชวนคิดวิเคราะห์ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น หากจะสรุปว่าเพราะการขยายตัวของกลุ่มก่อการร้าย ก็จะพบกับคำถามมากกว่าคำตอบว่าเหตุใดกลุ่มก่อการร้ายถึงเพิ่มและยกระดับขึ้นท่ามกลางความพยายามปราบปรามอย่างหนัก สะท้อนอะไร? หรือเพราะกลุ่มเหล่านี้มีการพัฒนาศักยภาพอย่างรวดเร็ว มีเงินประมาณมหาศาล มีแนวร่วมมากขึ้น ถ้าเช่นนั้นก็หมายความได้หรือไม่ว่าสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่ผ่านมาล้มเหลว? หรือสหรัฐอเมริกาและสังคมโลกต้องทบทวนยุทธ์ศาสตร์ยุทธ์วิธีในการรับมือกับปัญหาการก่อการร้ายและทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์นี้ใหม่ทั้งหมด มากกว่ามุ่งทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายแต่เพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเดินหน้าในแบบเดิมยิ่งจะเป็นการต่อยอดการก่อการร้ายเสียมากกว่า และคงยากที่จะเอาชนะการก่อการร้ายได้ ในทางกลับกันฝ่ายก่อการร้ายยิ่งดูจะประสบความสำเร็จมากกว่าในแง่จิตวิทยา เพราะที่ผ่านมาสงครามต่อต้านการก่อการร้ายได้ก่อให้เกิดความรุนแรง การล้มตาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะต่อผู้บริสุทธิ์ Joichi Ito นักธุรกิจและนักเคลื่อนไหวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น พูดถึงการต่อสู้กับการก่อการร้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า “หากเราทำลายสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ในการต่อสู้กับการก่อการร้าย นั้นหมายความว่าพวกเขา (ผู้ก่อการร้าย) ชนะแล้ว”
การก่อการร้ายและสงครามต่อต้านการก่อการร้าย กับ “การก่อการร้ายซ่อนรูป”
ที่ผ่านมาสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ไม่เพียงถูกวิจารณ์ในประเด็นข้างต้นเท่านั้น แต่ยังถูกมองว่าไม่น่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการกับปัญหา Howard Zinn นักประวัติศาสตร์อเมริกันและศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยบอสตัน ตั้งคำถามว่า “จะทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายได้อย่างไร ในเมื่อสงครามก็คือการก่อการร้ายในตัวของมันเอง” Zinn มองว่า “การบุกทำลายบ้านของพลเรือนทั่วไป (ของสหรัฐในนามสงครามต่อต้านการก่อการร้าย) ที่ไปพรากชีวิตสมาชิกในครอบครับของพวกเขา ทำให้พวกเขาเกิดความทุกข์ทรมาน มันคือการก่อการร้าย การรุกรานและการทิ้งระเบิดในประเทศอื่นๆ นอกจากไม่ได้ทำให้สหรัฐปลอดภัยขึ้นแล้ว ยิ่งทำให้อันตรายไปใหญ่”
ถ้าสงครามคือการก่อการร้ายในตัวของมันเอง โดยเฉพาะสงครามที่ไม่ชอบธรรมด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐต่างๆที่ก่อสงครามในลักษณะนี้อาจถูกเรียกว่า “รัฐก่อการร้าย” ( State Terrorism) แต่ที่ผ่านมาแม้ตัวแสดงที่เป็นรัฐจะมีพฤติกรรมดังกล่าวก็ไม่ถูกเรียกว่ารัฐก่อการร้าย เหตุผลกำปั่นทุบดินคือเพราะเป็นการ ใช้อำนาจรัฐ โดยรัฐ เพื่อรัฐ นั่นเอง แม้จะมีกล่าวถึง State terrorism อยู่บ้างทั้งในวงวิชาการและสังคมระหว่างประเทศ แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นกระแสให้เกิดความตื่นตัวกับแนวคิดนี้มากนัก ซึ่งหากรัฐสามารถเป็นผู้ก่อการร้ายในเวลาเดียวกันได้แต่ถูกมองข้าม ก็ไม่น่าแปลกที่แนวการวิเคราะห์ (analysis approach) การก่อการร้ายที่ผ่านมาจะผิดเพี้ยน
“สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” ในมุมของ Noam Chomsky ศาสตราจารย์ด้านภาษาศาสตร์แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และนักวิจารณ์อำนาจรัฐคนสำคัญ มองว่า “ไม่อาจจะเรียกว่าเป็นสงครามของการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย เป็นไปไม่ได้ เหตุผลเพราะมันนำโดยหนึ่งในรัฐก่อการร้ายที่เลวร้ายที่สุดในบรรดารัฐก่อการร้ายอื่นๆของโลก ซึ่งจริงๆ ก็คืออยู่ภายใต้การชักนำของรัฐๆเดียวที่ถูกประณามโดยศาลโลกและสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แต่ถูกสหรัฐใช้สิทธิยับยั้ง (veto)” ซึ่งหากย้อนกลับไปดูสถิติการใช้สิทธิวิโต้ของสหรัฐฯ จะพบว่าสหรัฐใช้สิทธินั้นปกป้องผลประโยชน์ของอิสราเอลบ่อยมากๆ
ความซับซ้อนของการก่อการร้าย ไม่ได้มีเพียงมิติด้านความรุนแรงและการใช้กำลังอย่างเดียว แต่สาส์นแห่งความน่าสะพรึงกลัวที่เป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการของการก่อการร้าย นอกจากจะก่อให้เกิดความหวาดกลัวแล้วยังเป็นพาหะนำไปสู่ภาวะความเกลียดชังและความเครียดแค้นแบบเหมารวมผ่านภาพลักษณ์ที่สะท้อนออกมาจากกลุ่มก่อการร้ายและสื่อกระแสหลัก เช่นกระแส Islamophobia ที่ปรากฏให้เห็นทั่วไปในสังคมยุโรปและอเมริกา ซึ่งชักนำความคิดของคนจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มเสรีนิยมให้ละทิ้งหลักการสิทธิและเสรีภาพมาเป็นการต่อต้านทางเชื้อชาติและศาสนา ในขณะเดียวกันก็ใช้หลักสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกอย่างไร้ขอบเขตมาสนับสนุนการแสดงออกที่ดูหมิ่นหยามทางศาสนา กลายเป็นอีกชนวนของความขัดแย้งที่ถูกจุดขึ้นมา เช่นกรณีการสร้างภาพยนตร์หรือวาดการ์ตูนล้อเลียนศาสดาของอิสลาม
Patrick J. Kennedy อดึตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจากพรรคเดโมแครต กล่าวว่า “การก่อการร้าย คือ สงครามจิตวิทยาแบบหนึ่ง ที่ผู้ก่อการร้ายพยายามที่จะปลุกปั่นให้พวกเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านการสร้างความหวาดกลัว ความไม่แน่นอนในชีวิต และการแบ่งแยกทางสังคม” ซึ่งหากเป็นเป้าหมายของการก่อการร้ายสมัยใหม่แล้ว แน่นอนว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้มีแค่การก่อการร้ายทางกายภาพ แต่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น การก่อการร้ายทางความคิดหรือจิตวิทยา (Psychological terrorism) จึงอาจกล่าวได้ว่ายิ่งเกิดกระแสการต่อต้านหรืออคติระหว่างเชื้อชาติศาสนาอันเป็นผลมาจากอิทธิพลของการก่อการร้าย เช่น กระแส Islamophobia และการตอบโต้ในลักษณะที่สุดโต่ง ยิ่งหมายถึงการตอกย้ำชัยชนะของผู้ก่อการร้ายหรือไม่
สาส์นของการก่อการร้ายอาจเรียกได้ว่าเป็นยาพิษทางความคิดที่จะนำไปสู่การเผชิญหน้าและต่อยอดปัญหาการก่อการร้ายอย่างไม่สิ้นสุด ในลักษณะที่เป็นสงครามตัวแทนของการก่อการร้าย (Terrorist proxy war) ซึ่งจะหมายความว่าคนทั่วไปหรือตัวแสดงที่เป็นรัฐเองก็อาจถูกทำให้เป็นเบี้ยตัวหนึ่งของการก่อการร้ายสมัยใหม่
Noam Chomsky ได้พูดถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าคิดว่า “ทุกคนเป็นกังวลว่าจะหยุดการก่อการร้ายได้อย่างไร อันที่จริงมันง่ายนิดเดียว แค่หยุดมีส่วนร่วมกับมัน”
—
โปรดรออ่านต่อตอนต่อไป
ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ