กรุงเทพฯ 24 มีนาคม 2558 – สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) หรือ สบร. ผุดงานวิจัยแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ OTOP ของตลาดในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้ “โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ OTOP โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์” เพื่อชี้ช่องทางการพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยเน้นศึกษาทั้งเชิงวิชาการและเชิงพฤติกรรมผู้บริโภค พบสหรัฐอเมริกาและเยอรมัน มีความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ส่วนญี่ปุ่น มีความต้องการผลิตภัณฑ์ของใช้ของตกแต่งที่ละลึก ขณะที่สิงคโปร์ มีความต้องการผลิตภัณฑ์ผ้า เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ ระบุไทยยังขาดการพัฒนาส่งเสริมที่เป็นระบบ โดยเฉพาะการศึกษาวิจัยสำหรับกำหนดทิศทางผลิตและพัฒนาสินค้า ทั้งที่เป็นกระบวนการสำคัญในการยกระดับและเพิ่มมูลค่า ก่อให้เกิดปัญหาผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับความต้องการ และปัญหาสินค้าล้นตลาด(Oversupply) หวังนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยเสนอรัฐวางแผนนโยบายส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP อย่างสร้างสรรค์
นายอารยะ มาอินทร์ รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(สบร.) เปิดเผยว่า จากบทบาทและหน้าที่ของ สบร. ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานส่งเสริมด้านการจัดการความรู้ สำหรับนำไปใช้สร้างอาชีพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ เชื่อมโยงกับกระแสและทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน พัฒนาจุดแข็งของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ด้วยบทบาทและภารกิจของหน่วยงาน สบร. จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ OTOP ของตลาดในและต่างประเทศ ภายใต้ “โครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ OTOP โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์” เพื่อชี้ช่องทางการพัฒนาในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะทำให้เข้าถึงตลาดเป้าหมายในเชิงรุกทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันสินค้า OTOP นั้น สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยปีละหลายหมื่นล้านบาท แต่หากมองภาพรวมการส่งเสริมของภาครัฐในปัจจุบัน กลับพบว่าขณะนี้ประเทศไทยยังขาดการพัฒนาส่งเสริมที่เป็นระบบ โดยเฉพาะการศึกษาวิจัยความต้องการของตลาด สำหรับใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่แท้จริง
นายอารยะ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาแม้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะพยายามสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ OTOP แต่ก็เป็นไปในลักษณะเดียวคือการส่งเสริมการขาย โดยในแต่ละปีจะมีการจัดงานมหกรรมใหญ่ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ต่างจากประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการส่งออกสินค้า เจาะตลาดเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากใช้งานวิจัยเป็นข้อมูลสำคัญเพื่อกำหนดทิศทางผลิตและพัฒนาสินค้า ทำให้สามารถขายสินค้าได้ในราคาที่เหมาะสมและขยายธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ขณะที่ประเทศไทยเน้นผลิตสินค้าออกมาวางขายก่อน จากนั้นค่อยมากศึกษาวิจัยเพิ่มเติมภายหลัง ในทางปฏิบัติจึงก่อให้เกิดปัญหาสินค้าและผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และปัญหาสินค้าล้นตลาด(Oversupply) เนื่องจากผู้ประกอบจะเน้นผลิตแต่สินค้าที่ขายดี จนเกินความต้องการและในที่สุดก็ต้องลดราคาสินค้าเพื่อกระตุ้นยอดขาย
สำหรับจุดเด่นของงานวิจัยชิ้นนี้จะเน้นศึกษาทั้งเชิงวิชาการและเชิงการตลาด จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เห็นถึงสถานการณ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ใน มิติของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยศึกษาสถิติข้อมูลการตลาดในประเทศ จากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและผู้บริโภคคนไทย และศึกษาข้อมูลการตลาดต่างประเทศ จากผู้ซื้อในกลุ่มประเทศที่มียอดสั่งซื้อสูงสุด ก่อนนำผลการศึกษาที่ได้ไปวิเคราะห์เจาะลึกต่อในการเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการตามภูมิภาคต่างๆ ต่อไป เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้กระจายครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสการเพิ่มยอดขายและสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศได้มากขึ้น หลังการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2559 รองผู้อำนวยการ สบร. กล่าวสรุป