มหากาพย์การก่อการร้ายระหว่างประเทศในการเมืองโลก (3) : ทบทวนปัญหาการก่อการร้ายในการเมืองของระเบียบโลกใหม่ ปรากฏการณ์และความซับซ้อนของปัญหา

หากวิเคราะห์การขับเคลื่อนระเบียบโลกใหม่ของระบอบเสรีประชาธิปไตยและทุนนิยมที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเครื่องมือสำคัญที่ถูกนำมาใช้คือเครื่องมือทางการเมือง การทหาร การแทรกแซง การทูต และที่สำคัญคือเครื่องมือทางเศรษฐกิจ แต่หากมองระเบียบโลกใหม่แบบ Hantington อะไรคือเครื่องมือหรือฟืนชั้นดีที่จะสุ่มกองไฟแห่งความขัดแย้งและการปะทะกันทางอารยะธรรมไปได้มากกว่า เครื่องมือทางจิตวิทยาและการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) การก่อการร้ายและความรุนแรงในนามศาสนา เสรีนิยมและการสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกอย่างไร้ขอบเขตกรณีการลบหลู่ดูหมิ่นศาสนา การตอบโต้การดูหมิ่นด้วยความรุนแรง เป็นต้น

 

สงครามจิตวิทยาในระเบียบโลกใหม่:จากการก่อการร้าย-กระแสอิสลามโมโฟเบียถึงเสรีนิยมสุดโต่ง กระบวนการที่ใครก็มีส่วนร่วมได้

ในยุคสงครามเย็นเครื่องมือทางจิตวิทยาถือเป็นอาวุธสำคัญและถูกใช้อยู่เสมอรวมทั้งปัจจุบัน แต่ที่เสริมขึ้นมาคือการก่อการร้ายและความรุนแรง กระบวนการขับเคลื่อนเสรีภาพในการแสดงออกเชิงลบหลู่ดูหมิ่นทางศาสนา ขบวนการต่อต้านและเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติศาสนาซึ่งนำไปสู่การตอบโต้ที่ไม่ถูกต้องกล่าวคือการใช้ความรุนแรง สิ่งเหล่านี้เป็นชนวนสำคัญในการสรรค์สร้างระเบียบโลกของการแบ่งแยกและการปะทะกันทางอารยะธรรมอย่างเป็นระบบ

ในกระบวนการและกลไกดังกล่าวจะเห็นได้ว่าปัญหาการก่อการร้ายและการสร้างระเบียบโลกใหม่ ครอบคลุมตัวแสดงที่หลากหลายเข้าไปมีส่วนร่วมไม่ทางใดทางหนึ่ง ทั้งตัวแสดงที่เป็นรัฐและไม่ใช่รัฐ กลุ่มก่อการร้าย องค์กร กลุ่มบุคคล ขบวนการ และปัจเจก ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในทางตรงและทางอ้อม (ในการสร้างระเบียบโลกใหม่) ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว รัฐหรือตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

แต่ที่น่าสังเกตคือ ท่าทีของตัวแสดงหลักที่เป็นรัฐมหาอำนาจซึ่งเป็นแกนนำต่อต้านการก่อการร้าย และการต่อสู้ของกลุ่มองค์กรก่อการร้ายสมัยใหม่ นั้นมีทั้งจุดต่างและจุดร่วมที่สอดรับกันว่าด้วยการปูทางสู่ระเบียบโลกใหม่ของการปะทะกันทางอารยะธรรมหรือที่ถูกมองให้เป็นเช่นนั้น

จุดต่างที่สำคัญคือ สถานะทางอำนาจ ศักยภาพด้านกำลัง รูปแบบวิธีการในการต่อสู้ ส่วนจุดร่วมที่สำคัญคือ การใช้ความรุนแรงที่ส่งผลกระทบกับผู้บริสุทธิ์ การขับเคลื่อนกระแส Islamophobia และการปล้นภาพลักษณ์ของศาสนาอิสลาม การก่อการร้ายที่อ้างในนามศาสนา แต่ใช้วิธีการที่ขัดกับหลักการศาสนา จะด้วยการตีความแบบสุดโต่งผิดเพี้ยนหรือโดยเจตนาก็แล้วแต่ หรือการอ้างเหตุผลใดๆ ต่อการฆ่าผู้บริสุทธิ์ย่อมไม่อาจสร้างความชอบธรรมได้ ที่สำคัญคือทำให้ภาพลักษณ์ของอิสลามดูรุนแรง (แม้ในบางกรณีจะเป็นกรณีที่น่าเห็นใจเช่น การเข้าร่วมกับการก่อการร้ายของเยาวชนรุ่นใหม่ที่สิ้นหวังกับความยุติธรรมหรือการถูกดขี่ทางการเมืองและเศรษฐกิจ การเลือกปฏิบัติ หรือจากความสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากความอธรรมของสงคราม ฯลฯ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ควรเป็นหนึ่งในกระบวนการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายที่พิจารณาที่ต้นเหตุ แต่กระนั้นก็ไม่สามารถอ้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ได้ ตราบใดที่ไม่ได้เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องตนเองจากการรุกรานหรือจากการถูกขับไล่ออกไปจากบ้านเรือนของตนเองโดยปราศจากความชอบธรรม หรือการต่อสู้เมื่อถูกบังคับให้เลิกศรัทธา ) ทำให้เกิดวาทกรรมเกี่ยวกับอิสลามในทางเสียหายซึ่งเป็นชุดวาทกรรมที่แพร่ไปทั่วโลก เช่น กลุ่มก่อการร้ายอิสลาม (Islamic Terrorist) อิสลามหัวรุนแรง (Radical Islam /Extremist) กลุ่มติดอาวุธอิสลาม (Islamic Militant) กบฏอิสลาม (Islamic rebel) ฯลฯ โดยวาทกรรมเหล่านี้มักถูกสร้างและประโคมจากสื่อทรงอิทธิพลของตะวันตกที่ครั้งหนึ่งเป็นกระบอกเสียงให้ค่ายเสรีประชาธิปไตยในยุคสงครามเย็นหรือเป็นเครื่องมือหลักทางจิตวิทยาและการโฆษณาชวนเชื่อของมหาอำนาจในยุคนั้น

การนำเสนอวาทกรรมเหล่านี้กลับไม่ถูกตั้งคำถามในแง่จรรยาบรรณและการสร้างคำพูดเกลียดชัง (Hate Speech) หรือแม้แต่การลบหลู่ดูหมิ่นทางศาสนา เห็นได้จากใช้คำว่า “อิสลาม” ไปโยงกับพฤติกรรมความรุนแรง โดยไม่แยกหลักการศาสนาที่บริสุทธิ์ออกจากพฤติกรรมของศาสนิกที่อาจไม่บริสุทธิ์ จึงทำให้เกิดคำถามว่าหากใช้ตรรกนี้เหตุใดพฤติกรรมความรุนแรงที่ก่อโดยศาสนิกอื่นๆ ถึงไม่ถูกเชื่อมโยงในลักษณะเดียวกัน ที่สำคัญคือในกระบวนการถ่ายถอดและนำเสนอของสื่อเกี่ยวกับความรุนแรงและการก่อการร้ายที่โยงศาสนานั้น สื่อมักนำเสนอความรุนแรงพร้อมกับเป้าหมายและอัตลักษณ์ของกลุ่มก่อการร้ายที่อ้างการกระทำในนามศาสนาแต่เพียงมิติเหล่านี้เท่านั้น แต่จะไม่นำเสนออีกด้านของความเป็นจริงในเนื้อหาที่ถูกต้องตามหลักการของศาสนา (สื่อมักบอกแค่เป็นการตีความสุดโต่ง แต่ไม่ได้นำเสนอหลักการที่ถูกต้องและสายกลาง) ทำให้โลกและคนจำนวนมากเกิดมายาคติในแง่ลบต่ออิสลาม (ซึ่งในสังคมแห่งการเรียนรู้ในยุโรปและอเมริกา ประชาชนเริ่มตื่นตัวและศึกษาอิสลามเองมากขึ้นเพื่อหาข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่ไม่ถูกนำเสนอ) เช่น เมื่อนำเสนอเกี่ยวกับการก่อการร้าย ก็จะไม่นำเสนอว่าขัดกับหลักการของอิสลามอย่างไร หรือใช้คำว่า ญิฮาด ก็ไม่ได้อธิบายอะไรไปมากกว่า มันคือ “การทำสงครามศาสนา สงครามศักดิ์สิทธ์ “ แต่ไม่นำเสนอหลักการเรื่องนี้อย่างรอบด้าน

อุปมาการนำเสนอในลักษณะเช่นนี้ได้ดังอุปมัยการประชาสัมพันธ์วาทกรรมชวนเชื้อของกลุ่มก่อการร้าย ที่ไม่เพียงจะไม่ใช่การป้องกันแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ที่ไม่เข้าใจบริบทของปัญหาหรือที่คับแค้นใจจากปัญหาต่างๆ เข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในอีกด้านหนึ่ง

นอกจากสร้างความไม่พอใจให้กับมุสลิมจำนวนมากถึงวาทกรรมเหมารวมแล้ว ยังสร้างให้เกิดมายาคติแง่ลบเกี่ยวกับอิสลามหรือการสร้างกลุ่มก้อนทางความคิดอีกชุดหนึ่งนี้ (ชุดใหญ่) ให้กับสังคมโลกและสังคมต่างศาสนิกที่ไม่เข้าใจอิสลามหรือไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนมุสลิม ซึ่งอาจนำไปสู้ความเครียดแค้นและรังเกลียดอิสลาม การเหยียดเชื้อชาติศาสนา การเลือกปฏิบัติอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในสังคมส่วนหนึ่งของยุโรปและอมริกาในขณะนี้ กลุ่มคนเหล่านี้ก็เป็นผลผลิตส่วนหนึ่งของระเบียบโลกใหม่ในกระบวนการปลุกปั่นความขัดแย้งทางอารยะธรรม

ผลพวงอีกด้านหนึ่งคือทำให้เกิดกลุ่มเสรีนิยมสุดโต่ง ในสังคมยุโรปและอเมริกา ที่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกอย่างไร้ขีดจำกัด ที่ก้าวข้ามขอบเขตสิทธิมนุษยชนไปสู่การต่อต้านโจมตีและดูหมิ่นทางศาสนาหรือเหยียดเชื้อชาติอย่างเปิดเผย ซึ่งเห็นได้จากหลายๆปรากฏการณ์ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ล้อเลียนศาสดาแห่งอิสลาม ภาพการ์ตูนล้อและดูหมิ่นอิสลาม การเผ่าคัมภีร์อัลกรุอาน ข้อความและวาทกรรมลบหลู่ต่างๆ กระประท้วงต่อต้านการทำให้เป็นอิสลามในยุโรปของกลุ่มพากิดา (Pagida) ในเยอรมันและที่อื่นๆ ปรากฏการณ์เหล่านี้อาจเรียกได้ว่าเป็นผลผลิตริมขอบของการทำให้เกิดปัญหาการปะทะกันทางอารยะธรรมและการตอบโต้ที่รุนแรง โดยรับอิทธิพลมาจากการขับเคลื่อนของกลุ่มศูนย์กลางการจัดระเบียบโลกใหม่ภายใต้ยุทธศาสตร์และแนวปฏิบัติที่สอดรับกับของตัวแสดงที่เป็นรัฐมหาอำนาจและพันธมิตรกับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐหรือกลุ่มก่อการร้าย เป็นจุดร่วมบนความแตกต่างที่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

หากมองจากกรอบและข้อมูลข้างต้น จึงไม่น่าแปลกที่จะเกิดกระแสการมองว่าโลกหลังสงครามเย็นจะเป็นโลกของการปะทะกันทางอารยะธรรมและการเกิดขึ้นมาของกระแสเกลียดกลัวอิสลามเมื่อดูจากกระบวนการของการหล่อหลอมทางสังคม (socialization) ภายใต้ระเบียบโลกใหม่ (ที่ไม่เป็นระเบียบ) ของการเมืองโลก แต่ถ้าไม่เกิดกระแส Islamophobia หรือการต่อต้านอิสลาม หรืออื่นๆในทำนองนี้ อาจจะเป็นเรื่องที่น่าแปลกมากกว่าภายใต้บริบทที่กล่าวมา และที่น่าเป็นห่วงคือสังคมโลกจะรับมืออย่างไรต่อปัญหาการก่อการร้ายได้อย่างยังยืน จะตอบสนองระเบียบโลกและกระแสการทำให้เป็นปัญหาความขัดแย้งทางอายธรรมได้อย่างไร ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การสร้างระเบียบโลกใหม่ที่เน้นสันติภาพอย่างแท้จริง

อาจกล่าวได้ว่าการทำความเข้าใจการก่อการร้ายสมัยใหม่โดยพิจารณาเฉพาะปรากฏการณ์ทางสังคมในปัจจุบัน จึงไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมในการทำความเข้าใจกับปัญหาอันซับซ้อนนี้ แต่การศึกษาวิเคราะห์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องศึกษาเชื่อมโยงครอบคลุมหลายมิติ ทั้งมิติทางการเมือง ระบบระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ประวัติศาสตร์พัฒนาการของการก่อการร้ายกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก ฯลฯ

ผู้เขียนในฐานที่ทำหน้าที่สอนวิชา “การก่อการร้ายระหว่างประเทศในการเมืองโลก” ซึ่งได้ศึกษาทำความเข้าใจปัญหานี้ในมิติต่างๆ ที่กล่าวมา และได้ติดตามปรากฏการณ์ทางสังคมในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นว่าอาจจะเป็นประโยชน์หากนำเอาทั้งสองส่วนนี้มาวิเคราะห์และนำเสนออย่างเป็นลำดับ โดยเน้นศึกษาอย่างครอบคลุมถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงของคลื่นการก่อการร้ายกับการเมืองโลก นิยามและความเข้าใจที่เปลี่ยนไป ที่มาและสาเหตุ บทบาทและความเชื่อมโยงของตัวแสดงต่างๆ ในเวทีโลกตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน สถานการณ์การก่อการร้ายในปัจจุบัน กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ฯลฯ ตลอดจนการศึกษาวิเคราะห์กลุ่มผลประโยชน์ว่า ใคร ได้อะไร ที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร โดยนำเสนอข้อมูลและมุมมองความคิดรอบด้าน ทั้งที่เป็นชุดความคิดกระแสหลัก และนอกกระแส (แม้ข้อมูลข่าวสารนอกกระแส จะดูขาดน้ำหนักเพราะไม่ได้ถูกนำเสนอโดยสื่อกระแสหลัก แต่เมื่อมันสามารถทำให้เกิดกลุ่มก้อนทางความคิดและคำถามอีกชุดหนึ่งได้ จึงถือเป็นหน่วยวิเคราะห์หนึ่งที่ไม่สามารถละเลยได้ โดยเฉพาะเมื่อศึกษาตามกรอบของ Neo-Gramscian ว่าด้วยสื่อและการควบคุมความยินยอม)

กรอบความคิดหลักที่จะใช้ในการนำเสนอ จะเน้นการวิเคราะห์เชิงโครงสร้างระบบระหว่างประเทศ การครองหรือรักษาอำนาจนำและการต่อต้านอำนาจนำ (Hegemony and Counter Hegemony) ของ Neo-Gramscian การจัดระเบียบโลกใหม่หลังสงครามเย็นกับปัญหาการก่อการร้ายและการทำให้เป็นปัญหาการปะทะกันทางอารยะธรรม (ต่างจากมุมมองของฮันติงตัน) หรือที่ผู้เขียนจะขออธิบายว่าเป็น “การปะทะกันทางอารยะธรรมแบบสรรสร้าง” (Constructive Clash of Civilization) หรืออาจเรียกอีกแบบได้ว่า “การปะทะกันทางอารยะธรรมที่เป็นระบบ” (Systematic Clash of Civilization) เพื่อให้เกิดความเข้าใจและทางออกของปัญหาด้วยการเสนอทางออกว่าด้วย “Constructive Peace among Nations and Civilizations” หรือ “สันติภาพระหว่างชาติและอารยะธรรมที่สรรสร้าง” ตลอดจนการวิเคราะห์ปัญหาของทุนนิยมกับการก่อการร้ายและทฤษฎีความยุ่งเหยิง (Chaos Theory)

บทความนี้อาจค่อนข้างยาวหลายตอนและไม่รู้ว่าจะจบได้เมือไรเพราะปัญหาการก่อการร้ายสมัยใหม่ยิ่งวันยิ่งซับซ้อนและมองไม่เห็นทางออกเข้าไปทุกทีๆ แต่ก็หวังว่าจะสามารถสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการก่อการร้ายในมุมมองที่กว้างและครอบคลุม ที่สำคัญคือความมุ่งหวังที่จะเสนอที่มาที่ไปของพลวัตการก่อการร้ายกับการเมืองโลก พลวัตกระแสเกลียดกลัวอิสลามกับการทำให้เข้าใจว่าเป็นปัญหาทางอารยะธรรม พลวัตของกระแสเสรีนิยมสุดโต่งและการตอบโต้ด้วยความรุนแรง เพื่อให้เกิดความเข้าใจและการตอบสนองต่อกระแสเหล่านี้อย่างรู้เท่าทัน ว่าใครได้อะไร ที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร ใน “มหากาพย์การก่อการร้ายระหว่างประเทศกับการเมืองโลก”

 


โปรดรออ่านต่อตอนต่อไป