การศึกษาไทยจะไปทางไหน??

หลายรัฐบาลมา แล้วขึ้นมาบริหารประเทศ แต่ละรัฐบาลมีรัฐมนตรีหลายรัฐมนตรีสับเปลี่ยนขึ้นมาบริหารกระทรวงต่างๆ รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการที่มีหน้าที่รับผิดชอบการศึกษาของเด็กไทย ต่างได้นำนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาที่เสนอไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง อย่างเช่นยุคพรรคประชาธิปัตย์ บริหารราชการแผ่นดิน ได้นำนโยบายที่พูดเกี่ยวกับการศึกษาคือการเรียนฟรีให้งบซื้อตำราเรียน แจกนมเป็นอาหารเที่ยง หรือยุคของพรรคเพื่อไทยที่ฮือฮา คือเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนไว้ผมยาวแทนผมเกรียนได้และอื่นๆ

เหล่านี้ในทางปฏิบัติจะเกิดผลอย่างไรก็ รู้ๆ อยู่ คือเรียนฟรีจริงหรือไม่ เห็นผู้ปกครองหลายคนยังคงโวยวายอยู่ว่า “ฟรีไม่จริง” เปิดเทอมทีไรพ่อแม่ยังเดือดร้อน ต้องจำนำจำนองของ เพื่อหาเงินเสียค่าเทอม หรือการตัดผมการไว้ผมได้จริงหรือไม่ เห็นเด็กบางโรงเรียนยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะผู้ปกครองเด็กยังต้องการให้เด็กไว้ผมเกรียนแบบเดิมยังทำใจรับการ เปลี่ยนแปลงไม่ได้

วันนี้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ฯพณฯ “จาตุรนต์ ฉายแสง” จากพรรคเพื่อไทย กำลังคิดจะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู โดยเฉพาะครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้ อย่างเช่นครูสอนภาษาต่างประเทศ ครูสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น หรือการขาดแคลนครูที่มีคุณภาพ ซึ่งยิ่งนานยิ่งจะขาดมากขึ้น นับเป็นสัญญาณอันตรายต่อเด็กที่เป็นอนาคตของชาติ เพราะเด็กจะเรียนดีเรียนเก่ง ต้องมีครูผู้สอนที่ดีที่เก่งดังปรากฏในงานวิจัยพบว่า ไม่ว่าจะลงทุนหรือเพิ่มปัจจัยในด้านใดก็ตามในเรื่องการศึกษา จะไม่สามารถเพิ่มคุณภาพการศึกษาได้ กราฟคุณภาพเด็กนักเรียนไม่กระเตื้อง แต่หากนำครูที่เก่งเข้าไปอยู่ในชั้นเรียน กราฟคุณภาพการศึกษาของเด็กกลับพุ่งขึ้นสูงกว่าลิบลับชนิดไม่ต้องลงทุน

การสร้างจำนวนครูเพื่อเติมเต็มที่ ขาดแคลน และการเพิ่มคุณภาพของครูนั้น แม้ว่าประเทศไทยจะมากด้วยอุปสรรค เพราะประเทศที่ปกครองแบบเสรีทุนนิยม มีความเหลื่อมล้ำของรายได้ในอาชีพที่ต่างกัน ทุกคนจึงพยายามเรียนรู้ในสายอาชีพที่มีรายได้สูงหางานง่าย อย่างเช่นอาชีพแพทย์, วิศวะกร, นักการบัญชี เป็นต้น ส่วนบางอาชีพที่หางานยาก รายได้ต่ำ ซึ่งในกลุ่มอาชีพเหล่านี้ มีอาชีพความเป็นครูอยู่ด้วย จึงจะแลเห็นว่า อาชีพครูจะไม่เป็นสิ่งดึงดูดให้นักศึกษา สนใจเข้ามาเรียนในวิชาชีพที่เป็นครู คนดีคนเก่ง มีความสามารถ ส่วนใหญ่ไปเรียนทางอื่นหมด

ดังเช่น อาจารย์โสภณ สกุลเรือง หรือ มาสเตอร์เปิ้ล ครูโรงเรียนเอกชนชื่อดังอย่างอัสสัมชัญได้สะท้อนให้ฟังว่า “ตอนนี้ครูที่มาสมัครใหม่ในโรงเรียนนั้นน้อยลงกว่าแต่ก่อน เพราะเด็กปัจจุบันให้ความสนใจในสายอาชีพครูน้อยลงเด็กในโรงเรียนที่จบออกไป ก็น้อยคนนักที่เลือกเรียน”

“อาชีพครูเป็นเหมือนทางเลือกสุดท้ายในการตัดสินใจ” มติชนหน้า 20 วันที่ 29 สค.56

ตรงกันข้ามกับประเทศฟินแลนด์ ประเทศที่มีคุณภาพทางการศึกษาดี ระดับ 1 ใน 3 ของโลก จากการเปิดเผยของ วิเวก้า ฮาจมาร์ค(VIVECA HAGMARK)นักเคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องการศึกษาชาวฟินแลนด์ บอกว่า “สำหรับหลักสูตรของผู้ที่จะเรียนจบออกมาเป็นครูที่ฟินแลนด์นั้น ต้องใช้เวลาเรียนถึง 6 ปี แถมคนที่อยากเป็นครูนั้น คือ เด็กนักเรียนระดับหัวกะทิอันดับ 1-5 ของประเทศ”

“ครูในประเทศฟินแลนด์ มีทั้งปริมาณและคุณภาพที่ดี อีกทั้งจำนวนเด็กนักเรียนในแต่ละห้องมีไม่เกิน 20 คน” มติชนหน้า 20 วันที่ 29 สค.56

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าในทางตรง กันข้ามเด็กหัวกะทิในประเทศไทยจะหนีจากการเรียนเป็นครู!! ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น อาจมองได้ นโยบายการปกครองของประเทศแตกต่างกัน ในขณะที่ประเทศไทยปกครองแบบเสรีทุนนิยม แต่ประเทศฟินแลนด์ปกครองสังคมนิยมรูปแบบรัฐสวัสดิการ ที่ทุกคนไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด รายได้จะไม่แตกต่างกันนัก ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ วิศวะ ครูหรือกรรมกร และทุกอย่างรัฐรับผิดชอบทั้งหมด ไม่ว่ารักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ได้ป่วย การศึกษาของบุตรหลาน หรือคนตกงาน ประชาชนคนของประเทศไม่จำเป็นต้องแข่งขันกอบโกยสะสมทรัพย์สมบัติ นั่นคือชีวิตของเขาที่แตกต่างไปคนในประเทศไทยที่ต้องดิ้นรนเอาชีวิตให้รอด

เมื่อเข้าใจอย่างนี้ การจะเพิ่มจำนวนครู เพิ่มคุณภาพของครู รัฐบาลต้องสร้างแรงจูงใจเด็กหัวกะทิให้เกิดความอยากเรียนด้านความเป็นครูให้ มากขึ้น ซึ่งไม่มีทางอื่น นอกจากคงจะต้องเพิ่มเงินเดือนเพิ่มค่าตอบแทนครู รวมถึงสวัสดิการต่างๆ เหมือนสายอาชีพอื่นๆ อย่างเช่นสายอาชีพแพทย์ ผู้พิพากษา อัยการ เป็นต้น เพราะ…ตราบใดที่ค่าตอบแทนของครูค่อนข้างน้อย นโยบายการเพิ่มครูที่มีคุณภาพก็คงไม่บังเกิด การพัฒนาเด็กไทยก็ย่อมเป็นไปไม่ได้!!