บทความโดย : ดร.วินัย ดะห์ลัน
ผู้อำนวยการ/ผู้ก่อตั้ง ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อดีตคณบดี คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ติดตาม : https://www.facebook.com/winaidahlan
ไดโนซอร์ (Dinosaur) คนไทยเรียกผิดว่าไดโนเสาร์แต่จะเรียกผิดเรียกถูกอย่างไรไม่สำคัญขอให้เข้าใจ ตรงกันก็พอ ในที่นี้ขอเรียกว่าไดโนเสาร์ก็แล้วกัน ไดโนเสาร์เป็นชื่อเรียกที่เซอร์ริชาร์ด โอเวน (Sir Richard Owen) ชาวอังกฤษตั้งขึ้นใน ค.ศ.1842 หรือเมื่อ 170 กว่าปีมาแล้ว ชื่อนี้มาจากคำสนธิของภาษาละตินโบราณสองคำแปลได้ใจความว่าสัตว์เลื้อยคลาน ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดเพราะไดโนเสาร์ไม่ใช่สัตว์เลื้อยคลานแต่เป็นสัตว์บก
มนุษย์พบเห็นซาก ไดโนเสาร์มานานนับหมื่นปีแล้วเพียงแต่ไม่รู้ว่ามันคือกระดูกสัตว์อะไร ต่างคนต่างตีความไปต่างๆนานากระทั่งช่วงต้นศตวรรษที่ 19 นั่นแหละที่นักธรณีวิทยาชาวอังกฤษเริ่มจัดหมวดหมู่ของซากกระดูกโบราณเหล่า นี้แล้วตั้งชื่อตามที่ตนเองเข้าใจก่อนที่เซอร์โอเวนจะรวมกลุ่มสัตว์กลุ่มนี้ ให้เป็นไดโนเสาร์เพราะเห็นว่ามันน่าจะเป็นสัตว์กลุ่มเดียวกันแม้จะแบ่งเป็น หลายร้อยสายพันธุ์ก็เถอะ
ไดโนเสาร์กำเนิดขึ้นมา บนโลกหลังยุคการสูญพันธุ์ครั้งมโหฬารเมื่อประมาณ 230 ล้านปีมาแล้ว ค่อยๆวิวัฒนาการกระทั่งแพร่พันธุ์อยู่เต็มโลกไปหมด กระทั่งประมาณ 66 ล้านปีก่อน จู่ๆสัตว์ขนาดยักษ์กลุ่มนี้ก็มีอันเป็นไปเสียเฉยๆ เมื่อนับจาก 65 ล้านปีเป็นต้นมาจึงไม่ปรากฏว่ามีใครพบซากสัตว์ยักษ์กลุ่มนี้อีกเลยคล้ายมัน จะนัดกันสูญพันธุ์ไปจนหมด กลายเป็นว่าไดโนเสาร์เป็นกลุ่มสัตว์ที่ครอบครองโลกในช่วงยุคการสูญพันธุ์สอง ช่วงคือระหว่างการสูญพันธุ์เพอร์เมียน-ไทรแอสซิก (Permian-Triassic extinction) เมื่อ 230 ล้านปีก่อนกับ การสูญพันธุ์ครีเทเชียส-เทอร์เทียรี (Cretaceous-Tertiary extinction) เมื่อ 65 ล้านปีมาแล้ว เป็นสัตว์ที่ถือกำเนิดมาเพื่อที่จะสูญพันธุ์โดยแท้
ช่วงระหว่าง 230 ล้านปีถึง 65 ล้านปีจะว่าเป็นยุคสุขสงบสำหรับไดโนเสาร์ก็ไม่ถูกเพราะประมาณ 200 ล้านปีก่อนเกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดครั้งใหญ่สร้างมลพิษครอบคลุมโลก ไปหมด ครั้งนั้นไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปไม่น้อย ส่วนที่เหลือยังคงเกิดวิวัฒนาการกันต่อไปกระทั่งถึง 66 ล้านปีนี่เองที่เกิดเหตุการณ์อะไรสักอย่างที่ทำให้ไดโนเสาร์แทบทั้งหมดไปไม่ รอด ส่วนที่เหลือเชื่อว่าเกิดวิวัฒนาการกันต่อกระทั่งกลายเป็นนกอย่างที่เรา รู้จักกันในปัจจุบัน
มีคำถามอยู่บ่อยๆว่า อะไรกันแน่ที่เป็นสาเหตุทำให้สัตว์ยักษ์เหล่านี้สูญหายไปจากโลก คำตอบขึ้นกับทฤษฎีที่ตั้งขึ้นมาบ้างก็ว่าเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมในโลก เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วกระทั่งสัตว์กลุ่มนี้ทนต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงไม่ ไหว หากเป็นอย่างนั้นจริงไฉนมันจึงนัดกันสูญพันธุ์ไปหมด เมื่อทฤษฎีการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศของโลกใช้อธิบายไม่ได้จำเป็นจะต้องมี ทฤษฎีอื่นๆในการอธิบาย ทฤษฎีที่น่าเชื่อถือมากที่สุดคือการพุ่งชนโลกของอุกาบาตขนาดยักษ์ที่เปลี่ยน สภาพแวดล้อมของโลกอย่างฉับพลัน ดูเหมือนทฤษฎีนี้จะมีผู้คนเชื่อถือมากที่สุดเพราะให้บังเอิญมีอุกาบาตขนาด ยักษ์พุ่งชนโลกในยุคนั้นจริงๆ
ย้อนหลังไปในยุค 65-66 ล้านปีมาแล้วเกิดปรากฏการณ์ดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งที่มีขนาดเส้นผ่า ศูนย์กลางประมาณ 10 กิโลเมตรพุ่งชนโลกบริเวณคาบสมุทรยูคาทาน ซึ่งเป็นประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน ก่อให้เกิดหลุมที่เรียกว่า หลุมอุกาบาตชิกซูลูบ (Chicxulub Crater) ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างถึง 180 กิโลเมตร นับเป็นการชนครั้งมโหฬารชนิดมหัศจรรย์พันลึกที่สร้างผลกระทบร้ายแรงให้แก่ โลก แรงระเบิดที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นเชื่อกันว่ามีขนาดเท่ากับแรงระเบิดทีเอ็นที 4.2 ล้านล้านตัน
ผลที่ติดตามมาคือการ เกิดคลื่นสึนามิขนาดยักษ์ถาโถมไปทั่วโลก เกิดแผ่นดินไหวทั้งทำให้ภูเขาไฟหลายร้อยลูกทั่วทั้งโลกพากันระเบิดต่อเนื่อง กันอีกหลายร้อยครั้ง ฝุ่นผงคละคลุ้งครอบคลุมโลกอยู่หลายปี สร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยคาร์บอนไดอ็อกไซด์หนาแน่น สิ่งมีชีวิตร้อยละ 75 สูญพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่คือสัตว์พันธุ์ยักษ์อย่างไดโนเสาร์ที่ตายตกไปพร้อมๆกันจนแทบ ไม่มีเหลือ
คำถามน่าสนใจอีกคำถาม หนึ่งคือเหตุการณ์นัดกันตายหมู่ครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่กันแน่ และเกิดจากสาเหตุอะไร คำถามนี้นักวิทยาศาสตร์อเมริกันร่วมกับอังกฤษและอีกบางกลุ่มในยุโรปช่วยกัน หาคำตอบโดยมีการตั้งคำถามย่อยไว้สองคำถาม คือ เมื่อ 65-66 ล้านปีมาแล้วเกิดเหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกจริงหรือเปล่าเพราะเรื่อง นี้พูดกันอยู่บ่อยแต่ยังหาคำตอบยืนยันไม่ได้ว่าจริงไหม คำถามย่อยที่สองคือผลกระทบของการชนครั้งนั้นถึงขนาดทำให้เกิดการสูญพันธุ์ ครั้งมโหฬารถึงระดับร้อยละ 75 อย่างที่ว่ากันจริงหรือเปล่า
ดร.พอล เรนน์ (Paul Renne) นักธรณีวิทยาแห่ง the Berkeley Geochronology Center (BGC) สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่เข้ามาร่วมโครงการค้นหาคำตอบที่ ว่านี้โดยการศึกษาระดับรังสีที่พบแถวคาบสมุทรยูคาทานรวมทั้งที่พบในเศษซาก ดาวตกในบริเวณนั้นที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นเศษซากของดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งชน โลกเมื่อประมาณ 65-66 ล้านปีก่อน คำตอบที่เคยพบก่อนหน้านั้นสรุปได้ว่าการชนของดาวเคราะห์น้อยน่าจะเกิดขึ้น 180,000 ปีก่อนการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ซึ่งสร้างความสับสนให้กับทฤษฎีการสูญพันธุ์ ครั้งใหญ่ค่อนข้างมาก
งานการศึกษาของทีม ดร.เรนน์ ทำกันอย่างละเอียด นักวิทยาศาสตร์นำเอาเศษซากดาวตกที่คาดกันว่ามาจากส่วนของดาวเคราะห์น้อยที่ พุ่งชนโลกแถบคาบสมุทรยูคาทานในเม็กซิโกมาวิเคราะห์กันอีกครั้ง ทั้งยังเข้าไปศึกษาในบริเวณสถานที่เกิดเหตุ มีการตรวจวิเคราะห์ข้อมูลมากมายที่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มอื่นเคยทำไว้แล้วใน ที่สุดก็สรุปได้ว่าดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกจริงเมื่อ 66.03-66.04 ล้านปีมาแล้ว เป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์พอดิบพอดี
ภูมิอากาศที่แปร เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วหลังการชนของดาวเคราะห์น้อยกลายเป็นปัจจัยหลักที่ ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ ถึงวันนี้นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อสรุปแล้วว่าการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เกิดขึ้น เมื่อประมาณ 66 ล้านปีก่อนจากการที่ดาวเคราะห์น้อยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 กิโลเมตรพุ่งชนโลก หากในอนาคตเกิดปัญหาดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกอีกครั้งซึ่งก็มีวี่แววอยู่ เหมือนกัน
สิ่งมีชีวิตที่จะถึงคราวสูญพันธุ์อย่างมโหฬารครั้งใหม่ จะเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจาก..มนุษย์ !!