ภาษาอังกฤษในโลกวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

บทความโดย : ดร.วินัย ดะห์ลัน
ผู้อำนวยการ/ผู้ก่อตั้ง ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อดีตคณบดี คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ติดตาม : https://www.facebook.com/winaidahlan


จะเชื่อบ้างไหมครับ หากจะบอกว่าร้อยละ 98 ของงานตีพิมพ์ในโลกวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกวันนี้เป็นภาษา อังกฤษ ส่วนที่เหลือแค่ร้อยละ 2 เท่านั้นที่เป็นภาษาอื่นๆรวมทั้งภาษาไทย คำถามมีอยู่ว่าเหตุใดภาษาอังกฤษจึงมีอิทธิพลต่อโลกวิชาการได้มากมายขนาดนั้น เรื่องราวเป็นมาอย่างไร มีอะไรอยู่เบื้องหลังที่ทำให้ภาษาอังกฤษเข้ามายึดครองโลกวิชาการด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มากถึงขนาดนี้

ผมยังจำได้ว่าใน ค.ศ.1989 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ผมใช้ชีวิตอยู่ในยุโรป มีการประชุมผู้นำกลุ่มชาติที่พูดภาษาฝรั่งเศสที่เรียกกันว่า La Francophonie จำนวน 43 ประเทศที่กรุงดาการ์ ประเทศเซเนกัล ทวีปอัฟริกา ประธานาธิบดีฟรังซัว มิตเตอร์รองด์ ของฝรั่งเศสกล่าวในที่ประชุมว่าในที่สุดภาษาฝรั่งเศสที่ทุกคนภูมิใจกันนัก กันหนาก็ต้องพ่ายแพ้แก่ภาษาอังกฤษซึ่งเป็นคู่ปรับกันมาช้านาน เหตุผลตามที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสบอกไว้คือภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาหลักในการ เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เมื่อเทคโนโลยีสารสนเทศก้าวหน้าขึ้น ภาษาอังกฤษก็เติบโตตามไปด้วย และนับจากนั้นภาษาอังกฤษก็เติบโตวิ่งนำหน้ากระทั่งไม่มีภาษาใดก้าวขึ้นมาสู้ ได้

ก่อนหน้าที่ภาษา ฝรั่งเศสจะยกธงขาว มหาวิทยาลัยโฮเฮนไฮม์ เมืองสตุ๊ตการ์ด ของเยอรมนี ที่ผมไปเรียนอยู่ในบางช่วง ประกาศออกมาว่าหลายโปรแกรมระดับบัณฑิตศึกษาหรือปริญญาโท-เอกจะใช้ภาษาอังกฤษ เป็นหลักในการทำวิทยานิพนธ์เพื่อให้สอดรับกับการตีพิมพ์ผลงานในวารสารทาง วิชาการ ไม่อยากจะเชื่อว่าขนาดสถาบันการศึกษาระดับสูงในประเทศที่พัฒนาด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของยุโรปอย่างเยอรมนียังต้องยอมทิ้งภาษา ของตนเอง ประเทศเล็กๆคงไม่มีทางเลือกอื่น

ผมเรียนในเบลเยี่ยม เป็นหลักแต่ต้องเดินทางไปเข้าคอร์สในเยอรมันและสวิตเซอร์แลนด์เป็นระยะ เบลเยี่ยมที่ผมเรียนใช้ภาษาฝรั่งเศส ส่วนเยอรมันและสวิตเซอร์แลนด์ใช้ภาษาเยอรมัน มีนักศึกษาจากหลายชาติเข้าไปเรียนอยู่ด้วยกัน ทุกคนใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการเขียนงานทางวิชาการกันทั้งนั้น ผมเองคุยกับเพื่อนที่เป็นชาวมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อนๆชาวเยอรมันยังแปลกใจว่ามาจากเอเชียด้วยกันแท้ๆไหงใช้ภาษาอังกฤษในการ ติดต่อกัน

ในช่วงนั้นวงการทาง วิชาการในแต่ละประเทศของยุโรปพากันยอมรับภาษาอังกฤษ กระทั่งถึง ค.ศ.1990 เลขาธิการสหภาพโซเวียตผู้ยิ่งใหญ่หรือรัสเซียในวันนี้คือนายมิกาอิล โกบาชอฟ เจ้าของทฤษฎีกลาสนอสต์-เปเรสทรอยก้าอันโด่งดังออกมายอมรับเองว่าภาษาอังกฤษ มีอิทธิพลเหนือทุกภาษาในโลกไปแล้ว ความจริงในเรื่องภาษาทางวิชาการนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งทำให้สหภาพโซเวียต ต้องปรับเปลี่ยนประเทศให้สอดรับกับสังคมโลกหาไม่แล้วในอนาคตโซเวียตจะพัฒนา สังคมต่อไปไม่ได้ แต่ก็ไม่ทันการเพราะหลังจากนั้นแค่ปีเดียว สหภาพโซเวียตก็ล้มครืนลง

มีผู้คนสงสัยว่าเป็นมา อย่างไร ภาษาอังกฤษจึงเข้าไปครอบครองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้จนเบ็ดเสร็จ ศาสตราจารย์ไมเคิล กอร์ดิน (Michael Gordin) นักประวัติศาสต์แห่งมหาวิทยาลัยปรินซตัน สหรัฐอเมริกา เขียนหนังสือเรื่องการคัดเลือกภาษาทางวิชาการ “Selection of scientific languages” ไว้ว่าทุกอย่างมันเริ่มต้นเมื่อกว่าสามร้อยปีมานี้เอง

มองย้อนหลังไปในอดีต ภาษาที่ใช้กันในวงการวิทยาศาสตร์คือ “ละติน” หรือโรมันเดิม แต่เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่ละประเทศในยุโรปเริ่มถอนตัวออกจากภาษาละตินกลับไปใช้ภาษาของตนเอง อย่างกาลิเลโอหันไปเขียนผลงานทางวิทยาศาสตร์ในภาษาอิตาลี เซอร์ไอแซค นิวตันของอังกฤษเขียนงานค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ในภาษาอังกฤษ นักวิทยาศาสตร์ในฝรั่งเศสและเยอรมนีก็ไม่ต่างกัน ต่างหันไปหาภาษาท้องถิ่นของตนเองเพื่อให้ทุกคนในสังคมเข้าใจได้ง่ายๆ เหตุผลแฝงในขณะนั้นคืออิทธิพลของศาสนาคริสต์นิกายแคธอลิกลดลงค่อนข้างมากไป ก่อนหน้านั้น

หมดยุคภาษาละติน แต่ละชาติหันไปหาภาษาเดิมของตนเองกันระยะหนึ่ง กระทั่งถึงกลางศตวรรษที่ 19 งานวิชาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเริ่มตีวงไปที่ สามภาษาคือฝรั่งเศส อังกฤษและเยอรมัน กระทั่งโลกเข้าสู่มหาสงครามโลกครั้งที่หนึ่งตอนต้นศตวรรษที่ 20 นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศสและเบลเยี่ยมรวมกลุ่มกันจัดตั้งสหภาพขึ้นหลายสหภาพ ไม่มีใครอยากจะยุ่งกับเยอรมันซึ่งแพ้สงครามไปหมาดๆ นักวิทยาศาสตร์เยอรมันเริ่มถูกทิ้งไว้ข้างหลัง พร้อมๆกับนักวิทยาศาสตร์คือภาษาเยอรมันเอง

ยุคนั้นแม้นักวิชาการ เยอรมันในหลายสาขาจะมีอิทธิพลต่อโลกค่อนข้างสูงแต่เมื่อส่วนที่เหลือของโลก พากันหันหลังให้กับเยอรมัน นักวิทยาศาสตร์เยอรมันทั้งที่เป็นยิวและพวกที่ฝักใฝ่สังคมนิยมจำนวนไม่น้อย พากันอพยพย้ายถิ่นไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ งานวิชาการของนักวิทยาศาสตร์เยอรมันจึงเริ่มเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษ

การเปลี่ยนแปลงเป็น ภาษาอังกฤษไม่ได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วแต่ใช้เวลาหลายสิบปี ในช่วงทศวรรษ 1950 และ 1960 งานวิชาการยุคสงครามเย็นระหว่างค่ายตะวันตกและคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่ตีพิมพ์ใน ภาษาอังกฤษและรัสเซีย เมื่อเข้าทศวรรษที่ 1970 สหภาพโซเวียตเริ่มลดอิทธิพลทางการเมืองลงทำเอาภาษารัสเซียเซตามไปด้วย เข้ากลางทศวรรษที่ 1990 งานวิชาการทางวิทยาศาสตร์ร้อยละ 96 กลายเป็นภาษาอังกฤษ กระทั่งถึงทศวรรษที่ 2010 ร้อยละ 98 ล้วนเป็นภาษาอังกฤษอย่างที่บอก

ผมกลับมาทำงานในเมือง ไทยกระทั่งกลายเป็นคณบดีในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตอนทศวรรษที่ 2000 แปดปีในตำแหน่งผมมีโอกาสแวะเวียนไปในหลายประเทศพบว่าหลายมหาวิทยาลัยระดับนำ ในญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส สเปน เยอรมนีปรับเปลี่ยนบางหลักสูตรเป็นภาษาอังกฤษกันไปหมดกลับมาจึงเสนอให้ทุก หลักสูตรในระดับปริญญาตรีของคณะทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ผมดูแลอยู่สอนใน ภาษาอังกฤษกันบ้าง

มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีอยู่นับร้อย สังคมต้องสร้างคนในระดับนำเพื่อพาประเทศเข้าสู่สนามการแข่งขันที่นับวันจะเข้มข้นขึ้น

ผมนำเสนอในขณะที่ อาจารย์ส่วนใหญ่ในคณะยังไม่พร้อม สิ่งที่ทำได้คือเปลี่ยนหลักสูตรบัณฑิตศึกษาเฉพาะที่ผมดูแลอยู่ให้เป็น หลักสูตรนานาชาติใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ถึงวันนี้ผมออกจากคณะนั้นมาแล้ว ยังปลื้มใจอยู่หน่อยที่อาจารย์หลายคนบอกผมว่าน่าจะเปลี่ยนหลักสูตรบัณฑิต ศึกษาทุกหลักสูตรเป็นภาษาอังกฤษตามที่ผมเคยเสนอไว้ เพื่อให้วิชาการของไทยก้าวตามเทคโนโลยีให้เร็วกว่าที่เป็นอยู่ เพราะวันนี้ดูท่าเราจะก้าวตามโลกได้ช้าเกินไป

มา วันนี้หลายมหาวิทยาลัยระดับนำในมาเลเซีย ญี่ปุ่น แม้กระทั่งในโลกอาหรับอย่างซาอุดีอาระเบีย คูเวต ยูเออีพากันนำภาษาอังกฤษเข้ามาใช้เป็นหลักในการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี มากกว่าเรา หากมหาวิทยาลัยระดับจุฬาลงกรณ์ มหิดล ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ฯลฯ ไม่ปรับตัวแข่งกับประเทศอื่น ผมเกรงว่าอีกสิบปีเราจะวิ่งตามใครเขาไม่ทันแล้ว