มองชายแดนใต้ในลิ่มความขัดแย้ง ไทยพุทธ-มุสลิม เปิดมุมมอง และแง่คิดที่แหลมคม ของ อะมีร (ผู้นำ) คนสำคัญกลุ่มดะวะห์ “รอหมาน เจ๊ะม้ะ”

เมื่อ 9-11 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา พี่น้องดะวะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมที่เรียกร้อง เชิญชวน และเผยแพร่อิสลาม ได้จัด ‘โยร์’ (รวมตัว) ณ ‘ศูนย์มัรกัสยะลา’ โดยมีกลุ่มดะวะห์ ผู้นำศาสนา ปราชญ์ และผู้นำจิตวิญญาณที่มาจากกลุ่มประเทศมุสลิมเกือบทั่วโลก มารวมตัวกันกว่า 30,000 คน

โอกาสนี้  ‘รอหมาน เจ๊ะม้ะ’ หนึ่งใน ‘อะมีร’ (ผู้นำ) คนสำคัญของกลุ่มดะวะห์ ที่ทำงานเผยแพร่อิสลามมานานกว่า 30 ปี และเป็นแกนในการจัดโยร์หนนี้ ได้ให้ ‘พับลิกโพสต์’ เข้าสัมภาษณ์ ซึ่งล้วนมีมุมมอง และแง่คิดที่แหลมคม โดยเฉพาะต่อกรณีปัญหาภาคใต้ที่คนบางกลุ่มพยายามปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง ระหว่าง ‘สองศาสนา’ อยู่ในขณะนี้

อะ มีร ‘รอหมาน’ อธิบายนิยามการจัด ‘โยร์’ ของพี่น้องดะวะห์ให้เราเข้าใจว่า คำว่า ‘โยร์’ มาจากภาษาอุรดู (ภาษาอินเดีย-ปากีสถาน) ที่หมายถึงการมารวมตัวกัน มีเป้าหมายเพื่อจะปรับปรุงงาน การจัดโยร์ ก็เพื่อที่จะมาชี้แจงวิธีการทำงานแต่ละขั้นตอน ซึ่งผู้อาวุโสก็เอาข้อมูลงานที่กำลังทำอยู่ แล้วก็มาอธิบายว่าสมควรจะแก้ไข ตรงไหน อย่างไร กล่าวโดยสรุป การจัดโยร์ก็เพื่อมารวมตัวกัน แล้วก็มารับคำแนะนำเพื่อจะปรับปรุงงานที่กำลังทำอยู่ให้ดีขึ้น

“งาน ดะวะห์ คือ งานจิตใจ ดังนั้นการทำงานจะต้องละเอียด โดยเฉพาะในเครือข่าย   ดะวะห์ที่ไม่มียศ ไม่มีขั้น การควบคุมดูแลและการปกครองเอาความศรัทธาเป็นหลัก หมายความว่า ผู้นำจะต้องได้รับการยอมรับจากผู้ตาม แล้วงานแต่ละงานเราจะสั่งการทีเดียวไม่ได้ ต้องมีการทำความเข้าใจ โยร์ คือจุดรวมของสิ่งดังกล่าวหมดเลย”

“โยร์จะเน้นคนทำงานดะวะห์ มาแปลงคนทำงานให้เป็นคนที่มีคุณภาพในการทำงาน นั่นคือแปลงจาก majority (จำนวนมาก) เป็น quality (คุณภาพ)” อะมีรรอหมาน กล่าว

การจัดโยร์ ใหญ่ที่ผ่านมาจะมีเพียงปีละครั้งที่กรุงเทพฯ ปทุมธานี หรือพัทยา  ตามความเหมาะสม  แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่จะมีการแบ่งโซนด้วย  โดยในภาคใต้นั้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมตัวกันที่ยะลา อีก 3 จังหวัด (สตูล พัทลุง สงขลา) รวมกันที่หาดใหญ่  อีก 4 จังหวัด (ตรัง กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช) รวมกันที่กระบี่ ส่วนพังงา ภูเก็ต ระนอง รวมกันที่พังงา

อะมีรรอ หมาน บอกเหตุผลว่า “อาจจะด้วยเหตุการณ์ สิ่งแวดล้อมหลายๆ อย่าง โดนน้ำท่วมก็หลายจังหวัด ยางพาราก็แพง ถ้าเราจัดไกล 3 วันก็จะมีค่าเดินทางไป-กลับ รวมทั้งเวลาเดินทางก็จะเป็น 5 วัน คนต้องทิ้งบ้าน เวลาทำมาหากิน รายได้อาจหายไป ก็เลยทำให้เสมือนต้องบังคับให้เขาตัดสินใจเลือกว่าจะไปหรือไม่ไป”

“และ อีกอย่าง เนื้อหาของแต่ละพื้นที่ก็ต่างกันแล้ว อย่างสามจังหวัดภาคใต้ก็มีเคสพิเศษหลายอย่าง ซึ่งอาจจะมีวิธีแนะนำที่อาจลงลึกไปกว่าจังหวัดอื่นๆ ก็เลยมีการแยกตรงนี้แห่งหนึ่ง”

ซึ่งกระแสตอบรับจากชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อกลุ่มดะวะห์นั้นเป็นไปในทิศทางที่ดี

“ชาว บ้านโอเคน่ะ ให้การตอบรับดี แต่ในส่วนของหมู่บ้านที่ขบวนการมีอิทธิพล เราอาจจะไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร เช่นห้องน้ำโดนปิด ขีดข่วนรถหรือปล่อยลมยาง (หัวเราะ) แต่ก็ไม่เป็นประเด็น เราถือเป็นเรื่องปรกติ” อะมีรรอหมาน กล่าว และว่า

“โดยภาพรวมทาง ขบวนการเขาก็ไม่ได้แสดงออกอะไรมาก เพราะเขาก็ชูขบวนการศาสนา ซึ่งก็เสมือนว่านโยบายของเขาก็เป็นเกราะกันเราได้ส่วนหนึ่ง เพราะชาวบ้านจะยอมรับว่า ดะวะห์คือศาสนาล้วนๆ ไม่มีอะไรเจือปน ขบวนการก็เปิดประเด็นเรื่องศาสนามาว่าเขาต่อสู้เพื่อศาสนา จากตรงนี้จึงเป็นเกราะให้เรา เพราะถ้าเขาทำเท่ากับว่าเขาฉีกคำพูดของเขาเอง”

หากแต่อะมีรรอหมาน ก็ยืนยันว่า นโยบาย ของ ‘ดะวะห์’ กับของ ‘ขบวนการ’ นั้นสวนทางกันชัดเจน

“ระหว่างแบ่งแยก กับแบ่งปัน มันไม่เหมือนกัน!!”

พร้อม อธิบายว่า ดะวะห์เรียกร้องให้คนอยู่ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นศาสนาไหนก็ตาม คือเริ่มจากอิสลามก่อน หมายความว่า ไม่ว่าคุณจะนิกายไหน คุณจะเรียนมาแบบไหน จะเป็นอะไรก็ช่าง ให้อยู่ในกรอบที่คุณเรียนมา เราจะไม่แตะต้องในเรื่องของความแตกต่างหรือความขัดแย้ง กับศาสนิกอื่นก็เหมือนกัน ให้เราถือว่าเราจำเป็นต้องอยู่ร่วมกัน  เหมือนขี่จักยาน ถ้าตัดครึ่งให้มุสลิม อีกครึ่งให้ศาสนิกอื่น มันก็ไปไม่ได้ทั้งสอง

“เราพยายามสร้างความแบ่งปัน การอยู่ร่วมกัน ซึ่งเรื่องนี้มันสวนทางกับกลุ่มขบวนการอย่างสิ้นเชิง การทำงานจึงต้องลงในรายละเอียดมากขึ้น เพราะหากทำไปทำมาแล้วกลายเป็นสุดโต่ง เราเองจะเสียเปรียบ และอาจทำให้งานของเราสะดุด จึงต้องมีการอธิบายการทำงานอย่างละเอียด เช่นความอดทน หรืออย่าไปชนตรงๆ เราต้องใช้วิทยปัญญา เหล่านี้เป็นต้น”

“แบ่งปัน หมายถึงอยู่ด้วยกัน การช่วยเหลือกันในทุกๆ ด้าน แต่แบ่งแยก มีทั้งภาษา ธงชาติเขาธงชาติเรา ศาสนาเขาศาสนาเรา ทุกอย่างของการแบ่งแยกคืออันตราย จะทำให้คนเป็นกลุ่ม พวกเขาพวกเรา ซึ่งประเทศหนึ่งประเทศใดถ้ามีพวกเขาพวกเรามันพัฒนาไม่ได้”  อะมีรรอหมาน กล่าว และว่า

“เราพยายามเล่าให้ฟังว่าท่านศาสดาให้ เกียรติคนต่างศาสนาอย่างไร จนกระทั่งอิสลามในตอนนั้นได้รับเกียรติจากคนต่างศาสนาอย่างไรแบบไหน เช่น มีช่วงหนึ่งในเมืองมาดินะห์ ชาวยิวจะห้ามลูกๆ ไม่ให้กินของหวานนอกบ้าน ลูกๆก็ถามว่าทำไมถึงกินไม่ได้ เพราะก่อนหน้านี้เราก็กินอยู่ทุกวัน ชาวยิวก็บอกกับลูกๆ เขาว่า เดือนนี้เป็นเดือนรอมฎอน เด็กๆ มุสลิมเขาถือศีลอดกัน ถ้าเราไปกินให้เห็นก็จะทำให้เขาหิวขึ้นมา นี่คือเมื่อการแบ่งปันเป็นการให้เกียรติ มันคือจุดเริ่มต้นของความรัก  ความรักจะไม่มีทางเกิดจากการแบ่งแยก เป็นไปไม่ได้”

“ลึกๆ แล้วมันเป็นอะไรที่สวนทางเหมือนดำกับขาว ทั่วโลก! ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย กระแสดะวะห์กับกระแสญิฮาดมันสวนทางกันสิ้นเชิง เพราะเราไม่ได้ยกธงไปสู้รบกับใคร เราถือว่าเราสยบปัญหาด้วยความเงียบ แต่เราทำทุกวัน”

สำหรับสังคมมุสลิมสามจังหวัดชายแดนใต้ในสายตาของคนทำงานศาสนามาอย่างยาวนาน อะมีรรอหมาน มองว่า

“คนใน 3 จังหวัดใจเขาใฝ่ศาสนาน่ะ เป็นคนชอบศาสนา แต่ว่าด้วยวิสัยทัศน์ที่ไม่ได้รับการดูแลเลย ทำให้วิสัยทัศน์ของคน 3 จังหวัดเป็นวิสัยทัศน์แบบปิด ไม่เปิด ไม่ค่อยรับรู้เรื่องของคนอื่น ก็เลยกลายเป็นกลุ่มชนที่อยู่กับที่”

“เมื่อไม่เปิดกว้าง ความใฝ่ศาสนาจึงกลายเป็นเรื่องอันตราย ทำให้คนที่รู้จุด รู้ว่าถ้าจะเอาเรื่องศาสนามาหลอกจะเอาอะไรมา ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเรื่องญิฮาดกัน มีดพร้าอันเดียวกล้าวิ่งเขาไปหาเอ็ม16 นี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดา เป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง”

“งานดะวะห์ก็คือ การพยายามนำพวกเขาเหล่านี้มาสู่การเป็นอยู่ที่แท้จริงว่าอิสลามจริงๆ นั้นต้องการอะไร แต่เราจะไม่พูดเรื่องของเขาที่ผิดมาเราไม่พูด เพราะถือว่าการย้ำแผลเก่านั้นทำให้เขาเจ็บเปล่าๆ”

ซึ่งทางแก้ปัญหาที่เกิดจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นนั้น เขาให้ความเห็นว่า

“ปัญหาในสามจังหวัดต้องเอาศาสนามาแก้อย่างเดียว อย่างอื่นแก้ไม่ได้ ผมสัมผัสที่นี่มานาน คนที่นี่ถ้าแก้กับสิ่งอื่น side effect (ผลข้างเคียง) จะมีมาก”

“แต่การใฝ่ศาสนาโดยไม่รู้ศาสนามันเป็นจุดบอด เขารู้ว่าคนที่นี่ใฝ่่ศาสนาเขาจึงเอายาพิษมาใส่ในศาสนา กลายเป็นญิฮาดที่ผิดๆ อยู่ในตอนนี้ วิธีแก้เราก็ต้องใส่ยารักษาในศาสนา”  อะมีรรอหมาน กล่าว พร้อมทั้งติงหน่วยงานต่างๆ ว่า

“เวลาเราทำนโยบาย เกี่ยวกับสามจังหวัดเราคิดแต่สิ่งที่เราจะได้รับ แต่เราไม่เคยคิดว่าสิ่งที่เราจะเสียไปนั้นมีอะไรบ้าง เราต้องมีการคำนวณว่าสิ่งที่เราได้มากับสิ่งที่เราเสียไปอะไรหลายๆอย่างแล้ว มันคุ้มกันไหม”

“วันนี้ 3 จังหวัดต้องเป็นหนูทดลองยามาหลายนโยบาย เราพยายามนำเสนอว่ามีวิธีการเดียวคือศาสนาที่จะไม่มีผลข้างเคียงอะไรเลย ซึ่งก็อยู่ที่ว่ารัฐจะมีใจเปิดกว้างหรืิอไม่ในเรื่องนี้”
ส่วนความเห็นต่อการฆ่ารายวัน โดยเฉพาะการฆ่าพี่น้องไทยพุทธอย่างต่อเนื่องที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ อะมีรรอหมาน กล่าวหนักแน่นว่า

“อันนี้เป็นนโยบายเพื่อตอกลิ่มแห่งความแตกแยก!!”

“วัน นี้คนๆ หนึ่งไปยิงไทยพุทธสัก 4-5 คน พอพรุ่งนี้คนๆ เดิมที่ไปยิงมุสลิมอีก 2-3 คน เพียงแต่เวลาไปยิงพี่น้องไทยพุทธเขาก็พยายามแต่งกายให้คนมองว่าเป็นมุสลิม พอไปยิงมุสลิมก็พยายามแต่งกายให้คนมองว่าเป็นคนไทยพุทธหรือเจ้าหน้าที่ ซึ่งเราเคยจับได้มาหลายหนแล้ว นโยบายของเขาก็ต้องการขับเคลื่อนให้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างคนสองกลุ่ม ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็จะเป็นมิคสัญญี  จะเป็นสุญญากาศทางกฎหมาย  เขาก็จะได้รับประโยชน์ ไม่ได้เข้าข้างใครน่ะ แต่สภาพที่เห็นมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ”

“การเมืองมันทำให้คนกล้าลงทุน แม้กระทั่งเผาบ้านตัวเองก็ยังทำได้ การเมืองมันทำได้ทุกอย่าง”

“ที่ สำคัญคืออย่าให้เจ้าหน้าที่ความคิดสั้น ไปเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เรื่องนี้จริงๆ ชาวบ้านเข้าใจ เพราะเขาอยู่ด้วยกันมานาน แต่พุทธที่มีปฏิกิริยาเพราะมีเจ้าหน้าที่อยู่เบื้องหลัง แล้วมีการเอาอาวุธไปให้ในนามเพื่อป้องกันตัว นี่เป็นเรื่องอันตราย และไปเข้าทางของขบวนการ เพราะสิ่งที่เขาต้องการคือให้พุทธจริงๆไปฆ่ามุสลิม ซึ่งถึงตอนนั้นเขาก็ไม่ต้องลงมือฆ่า ไม่ต้องสร้างภาพ เพราะเมื่อถึงเวลานั้นพวกเราพุทธ-มุสลิมจะลงมือฆ่ากันเอง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น เตรียมนับถอยหลังได้เลย” อะมีรรอหมาน กล่าวเตือนสติ พร้อมทิ้งท้ายว่า

มันคือเกม! จริงๆ เรื่องนี้มุสลิมที่ไม่เอากับขบวนการก็รู้และเข้าใจ แต่มุสลิมกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่เอากับขบวนการอยู่ในภาวะหวาดกลัว แสดงอะไรไม่ได้เลย  รัฐไปขอข่าวขอความร่วมมือ เขาก็ไม่พูดอะไร เพราะถือว่าไม่คุ้มทุน ไม่มีใครคุ้มครองเขา เจ้าหน้ามาพูดเขาก็ไม่มั่นใจ เพราะคุณเองก็ยังเอาตัวไม่รอด!!