“เธออาจถามฉันว่า บุหงาของฉันหายไปไหน
มาตุภูมิของฉันอยู่แห่งหนใด
ฉันมีความภักดีต่อราชอาณาจักรแห่งนี้หรือไม่
ฉันจะมีชีวิตเยี่ยงไรในประเทศที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม
ฉันจะยืนเคียงข้างฝ่ายใดในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
นี่คือเรื่องราวที่ฉันได้พบเห็น
ฉันมาจากคาบสมุทรมลายู
ดินแดนแห่งความรัก สันติภาพและแรงบันดาลใจ
ตาของฉันเป็นช่างไม้ ส่วนยายเย็บปักถักร้อย
ฉันเติบโตในหมู่บ้านเล็กเล็กริมตีนเขาบูโด
ในท่ามกลางนิทานพื้นบ้านและเรื่องเล่าจากอัลกุรอาน
ทุกวันฉันพูด ร้องไห้ และหัวเราะ
ด้วยภาษาแม่ของฉัน
บทสนทนายามเช้าที่ร้านน้ำชา
ราวสำนักข่าวอิสระประจำท้องถิ่น
ถ่ายทอดเรื่องราวจากที่ห่างไกล
ในสรรพสำเนียงของเรา
ฉันมาจากคาบสมุทรมลายู
ดินแดนแห่งความรัก สันติภาพและแรงบันดาลใจ
เสียงปืนในภาษาของฉันและเธอแตกต่างกัน
เมื่อเสียงปืนแตกโป้งโป้งหนังสือพิมพ์ลงข่าวปังปัง
นกดุเหว่า บรรพบุรุษของฉันเรียกบุหรงตูโว
คำว่า เลือด น้ำตา ผู้ปกครอง และการกดขี่
เมื่อเปล่งออกมาจากปากของฉันด้วยภาษาของเธอ
ความหมายและการตีความจึงกัดกร่อนความจริง
ฉันไม่ได้ร่วมสร้างถ้อยคำเหล่านี้
กระนั้นฉันยังคงฝันที่จะถักทอความในใจ
และจินตนาการของฉันด้วยภาษาของเธอ
แม้ที่สุดภาษาของเธอ
เป็นได้เพียงภาษาที่สองของฉันก็ตาม
ฉันมาจากคาบสมุทรมลายู
ดินแดนแห่งความรัก สันติภาพและแรงบันดาลใจ
บางทีเธออาจสงสัยในตัวฉัน
แต่ศาสนาของฉันสอนให้มองโลกในทางดี
ให้เชื่อฟังผู้ปกครองอันเปี่ยมธรรม
ให้ต่อสู้กับความอยุติธรรม
และให้กล่าวความจริงเบื้องหน้าผู้ปกครองที่อธรรม
ไม่ต้องกลัวว่าฉันจะก่อการกบฏ แบ่งแยกดินแดน
ไม่ต้องกลัวว่าฉันจะขัดขืนยื้อแย่งอำนาจรัฐ
เพียงเธอยื่นมือที่ปราศจากเขม่าดินปืน
ฉันจะหอบดอกไม้จรุงกลิ่นหอมยื่นให้
แต่หากมือนั้นเปื้อนเลือดที่แห้งกรังของผู้คนไซร้
ฉันจะโบกธวัชแห่งเมล็ดข้าว
ร่วมต่อต้านกับผืนแผ่นดิน
แม้ที่สุดความปราชัยจะเป็นทางเลือกสุดท้าย”
‘ผลิบานจากคาบสมุทรมลายู’ ผลงานของกวีหนุ่ม ซะการีย์ยา อมตยา ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปของวิถีชีวิตของเขาที่บ้านเกิดในแถบเทือกเขาบูโด อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส
เวลา นี้วงการนักเขียนนักอ่านคงนั่งลุ้นระทึกกันตัวโก่งว่ากวีนิพนธ์เล่มใดจะคว้า รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ ( Southeast Asian Writers Award : S.E.A. Write ) ประจำปี 2553 โดยคณะกรรมการได้มีการประกาศผลกวีนิพนธ์ 6 เล่มที่เข้ารอบ ได้แก่ 1. ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ 2. เดินตามรอย ของ วันเนาว์ ยูเด็น 3. ในความไหวนิ่งงัน ของ นายทิวา 4. เมืองในแสงแดด ของ โกสินทร์ ขาวงาม 5. รูปฉายลายชีพ ของ โชคชัย บัณทิต และ 6. ไม่มีหญิงสาวในบทกวี ของ ซะการีย์ยา อมตยา
‘ไม่มีหญิงสาวในบทกวี’ เป็นหนังสือรวมกวีนิพนธ์แบบไร้ฉันทลักษณ์ (free verse) ที่มีความสั้นยาวแตกต่างกันไป ตั้งแต่ 11 บรรทัดจบในครึ่งหน้า จนถึงร้อยกว่าบรรทัดหลายหน้าจบ รวม 36 บท โดยกวีนิพนธ์เล่มนี้ทำหน้าที่สื่อประสบการณ์และทัศนะอันหลากหลายของ ผู้แต่ง ตั้งแต่การสำรวจตนเอง ทัศนะต่อบทบาทธรรมชาติหน้าที่ของกวีนิพนธ์ จนไปถึงทัศนะต่อมนุษย์ ชีวิต ปรากฏการณ์ และสถานการณ์ร่วมสมัยในสังคม ทั้งในระดับบุคคลและก้าวไปถึงระดับมนุษยชาติ
ย้อนกลับมาดูว่าเรามี นักเขียน นักกวีสักมุสลิมกันกี่มากน้อย? นับตั้งแต่ อิศรา อมันตกุล มูฮัมมัด ส่าเหล็ม รัตนชัย มานะบุตร กระทั่ง มาถึง ซะการีย์ยา อมตยา กวีหนุ่มจากดินแดนคาบสมุทรมลายูหนึ่งในผู้เข้ารอบชิงรางวัลซีไรต์ประชำปี 2553 งานกวีของเขาลุ่มลึกและ นุ่มนวล ทว่าบางทีก็แข็งกร้าวและล้ำลึก ทั้งท่วงทีการอ่านบทกวีของเขาหนักแน่นยังแต่จะเร้าอารมณ์ผู้ฟังให้คล้อยตาม
และ แล้วทีมงานพับลิกโพสต์ก็ได้พบกับกวีหนุ่มในเย็นวันหนึ่ง เขามาด้วยทีท่าสบายๆ ด้วยเสื้อยืด กางเกงยีนส์ และหมวกเบเรต์สีน้ำตาล เขาเล่าว่าเดิมเป็นคน อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส แล้วไปเรียนต่อทางด้านอิสลามศาสตร์ ที่ประเทศอินเดียจนจบปริญญาตรี
ที่มาที่ไปของไม่มีหญิงสาวในบทกวี
“รวมบทกวีตลอดระยะเวลาสิบปีเป็นช่วงแรกที่กลับมาอยู่เมืองไทย ค่อนข้างหลากหลาย งานเราจะมีปรัชญาอยู่”
จุดเริ่มต้นการเขียนบทกวี
“เริ่ม เขียนบทกวีตอนที่ไปเรียนอินเดียแรกๆ แล้วเรียนไม่รู้เรื่อง เพราะเขาสอนภาษาอาหรับ หลังจากนั้นก็เขียนมาเรื่อย พอเราเข้าใจภาษาอาหรับ เวลามีกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยเราก็ได้ขึ้นไปอ่านบทกวีเป็นภาษาอาหรับบ้าง”
ซีไรต์ให้อะไรกับสังคม?
“มัน เป็นการสร้างบรรยากาศของการสร้างงานให้เพิ่มมากขึ้น กระตุ้นการผลิตสู่สังคมมากขึ้น แต่คนที่ได้รางวัลก็จะกลายเป็นการตลาดไป สื่อก็จะเอาแต่คนที่ได้รางวัล มันก็คงไม่มีประโยชน์ด้วยมั้งที่จะไปจับเล่มที่ไม่ได้รางวัล อยากให้สื่อสนใจเล่มที่ไม่ได้รางวัลบ้าง ที่ผ่านมาพอประกาศผล เล่มที่ไม่ได้รางวัลก็หายเงียบไปเลย บางทีอาจจะให้แง่มุมที่แตกต่างไปกับผู้อ่าน ไม่ต่างจากเล่มที่ได้รางวัลก็ได้”
เลยตั้งเว็บไทยโพเอทโซไซตี้ดอทคอม? (www.thaipoetsociety.com)
“ใช่ จุดมุ่งหมายเพื่อสร้างพื้นที่ให้กับกวี จริงๆ มันมีหลายเว็บที่ให้พื้นที่ แต่มันไม่ได้ดั่งใจเรา ตั้งมาใกล้จะครบรอบปีที่แล้ว ก็มีคนเข้ามาเยอะพอสมควร”
แนวความคิดต่อสังคม การเมืองในปัจจุบัน
“มี คนเขาว่าเราโรแมนติก กลางกลวง (ชนชั้นกลางที่ ‘กลวง’) อะไรก็ช่างเขา เพราะเรายังไม่แน่ใจว่าความจริงคืออะไร แต่เราก็เห็นอยู่ว่าอะไรเป็นอะไร เรามีอิสระที่จะคิด เรายับยั้ง ตัวเราก่อน จะไม่ทุ่มตัวลงไป เลยไม่ค่อยแสดงทัศนะทางการเมืองเท่าไหร่ แต่เราดูอยู่ เราเห็น ส่งผลบางทีงานเขียนของเราอาจจะไม่ชัดเจนนัก
ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญที่ เราจะต้องก้าวผ่าน มันถึงจุดที่ต้องแหลกสลาย ถึงจุดที่แต่ละคนเผยความคิดออกมาว่ากำลังคิดอะไรอยู่ ที่ผ่านมาเป็นแบบแอบๆ ไม่กล้าคิด ไม่กล้าพูดสิ่งที่ตัวเองพูดนัก”
ถ้าได้รางวัลซีไรต์?
“ก็ไม่ทำอย่างไร (หัวเราะ) เราก็คงเขียนหนังสือต่อ มันคงไม่ได้เปลี่ยนชีวิตเราและไม่ได้ทำให้เราเขียนหนังสือดีขึ้นหรอก”
ทำไมกวีที่เป็นมุสลิมถึงมีน้อย?
“นักเขียนมุสลิมก็น้อยอยู่แล้ว ถ้าเป็นมุสลิมแถว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะเป็นปัญหาเรื่องของภาษา ส่วนมุสลิมกรุงเทพฯ ไม่ใช่ มุสลิมกรุงเทพฯ นั้นภาษาดี แต่เขาไม่สนใจ กวีภาษามลายูก็มี แต่ไม่มีพื้นที่ปล่อยงาน ไม่มีวารสารภาษามลายูเลย แล้วเขาก็ไม่ส่งงานลงสู่สนาม อย่างการประกวดต่างๆ ฝีมือมันวัดกันตรงนี้”
ติดที่กรอบศาสนาด้วยหรือเปล่า?
“นั่น ก็ส่วนหนึ่ง พอมีกรอบ งานวรรณกรรม ก็ไม่เป็นวรรณกรรม แต่จริงๆ แล้วงานวรรณกรรม ที่อิงศาสนา อิงประวัติศาสตร์ก็ทำได้ มุสลิมมีวัตถุดิบเยอะ เช่น เรื่องเล่าต่างๆ ในคัมภีร์อัล กุรอาน หรืออะไรต่างๆ สามารถนำมาขยายได้หมด อยากฝากถึงนักเขียนมุสลิม ถ้าจะเขียนหนังสือ ต้องเขียนให้คนอื่นอ่านรู้เรื่องด้วย คนอื่นเจอคำทับศัพท์ไปคำหนึ่งก็งงแล้ว เขียนอ่านกันเองก็สร้างสรรค์นะ แต่คุณต้องเอาตัวงาน ออกมาตีพิมพ์ในวงการนักเขียน วงการข้างนอก ให้เป็นภาษาที่ทุกคนอ่านได้ จริงๆ แล้วคนอื่นอยากรู้เรื่องของมุสลิมเยอะ ที่ผ่านมามีแต่คนที่ไม่ใช่มุสลิมนำเรื่องของเรามาเขียน คนกำลังรออยู่ว่าเสียงจากชุมชนมุสลิมเมื่อไหร่จะออกมาอธิบายให้คนข้างนอก เข้าใจ เราน่าจะอธิบายเรื่องของเราได้ดีกว่าคนอื่น”
หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์นี้ กองบก.ได้สัมภาษณ์ ซะการีย์ยา อมตยา ก่อนการประกาศผลซีไรต์
แหล่งที่มา : พับลิกโพสต์ ฉ.32 กันยายน 53