‘ธีรศักดิ์ สุวรรณยศ’ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เปิดอกคุยกับ ‘พับลิกโพสต์’ ในฐานะแม่ทัพ ‘ibank’ ในโอกาสครบปีที่ 2 ที่เข้ามาบริหารที่นี่ ซึ่งคำต่อคำ บรรทัดต่อบรรทัด อันเต็มไปด้วยมุมมองที่น่าสนใจ ทั้งแง่คิด และแนวคิด
พับลิกโพสต์ : มุมมองท่าน ไอแบงก์วันนี้เป็นอย่างไร
ธีร ศักดิ์ : ผมกำลังพูดถึงระบบธนาคารอิสลาม ระบบการเงินอิสลาม จากที่เราอยากจะให้มีระบบการเงินที่ถูกต้อง พี่น้องมุสลิมได้ใช้สถาบันการเงินที่ไม่ขัดต่อความเชื่อและศาสนา เราก็คิดกันหลากหลาย เราอยากมีแบงก์ แต่ไม่รู้ว่าแบงก์เป็นยังไง นี่คือปัญหาหลักที่เผชิญอยู่ เพราะฉะนั้นในระบบงานที่เรานำมาใช้เป็นระบบงานอิสลาม ที่ได้ใช้ในต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย หรือปากีสถาน
ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนิกอื่น ที่ไม่ใช่มุสลิม เขาก็มีความเข้าใจง่าย และเขาเปรียบเทียบได้ว่าถูกกว่า ดีกว่า เขาตัดสินใจได้ แต่เราจะมีความเข้าใจค่อนข้างยากกับพี่น้องมุสลิม ซึ่งมีจำนวนหนึ่งที่ไม่เชื่อว่าแบงก์อิสลาม เป็นระบบอิสลาม ก็เลยไม่ยอมใช้บริการแบงก์อิสลาม แต่ไปใช้บริการแบงก์ดอกเบี้ย ซึ่งเราก็แปลกใจว่า เราทำทุกอย่างในกระบวนการที่เป็นหลักการ ภายใต้กรอบคัมภีร์อัลกุรอาน ฮะดีษ ซุนนะฮ์ แล้วก็ออกมาเป็นโปรดักต์ แต่เรากลับถูกมองว่า เราเป็นแบงก์ที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ
“ผมทำมา เพื่อมุสลิม แต่คุณกลับว่า คุณไม่สบายใจขอใช้แบงก์อื่น ซึ่งมันห้าม ผมก็เลยมาถึงจุดหนึ่งว่า เราคงต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องมุสลิมให้มากขึ้น เราตั้งเป้าที่ทำ ทั้งการจัดสัมมนา การทำสื่อ เข้าหากลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น”
อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2 ปีที่ผ่านมา การตอบรับดีมากขึ้น ความเข้าใจมีมากขึ้น ลูกค้าใช้บริการมากขึ้น แต่ก็ยังมีลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ติเตียนและตั้งป้อมกับธนาคารอย่างเดียว ซึ่งเราไม่ติดใจอะไร ฟังเขาแล้ว เราพยายามชี้แจงว่า เราทำยังไง
ธนาคาร อิสลาม มันคือ ‘ระบบ’ ไม่ใช่ธนาคารอิสลามของใครคนใดคนหนึ่ง มันเป็นสิ่งที่เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของการมีชีวิตที่จะก้าวไปสู่โลกหน้า โดยที่ไม่มีบาปติดตัว เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องที่จะมาบอกว่า แบงก์อิสลาม ทำก็ได้ไม่ทำก็ได้
พับลิกโพสต์ : ลำบากใจในการทำแบงก์อิสลามไหม
ธีร ศักดิ์ : ผมไม่ลำบากใจในการทำแบงก์อิสลาม แต่ผมลำบากใจในการทำความเข้าใจ เราทำแบงก์อิสลาม เรามีกระบวนการ เราศึกษา เราเอาระบบงานมาใช้ เรามีคณะกรรมการศาสนา เรามีทุกอย่าง ซึ่งเป็นระบบงานของแบงก์อิสลาม แต่ก็จะมีผู้รู้บางคนที่มาโจมตีแบงก์ว่าไม่ถูก โดยที่ผู้รู้เหล่านั้นก็คือ มุสลิม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เราเจอ ผมพูดกับลูกน้องของผมเลยน่ะ ผมนี่ถือว่าโชคดีที่สุดที่ผมที่รู้จักอิสลามก่อนมุสลิม ถ้าผมรู้จักมุสลิมก่อน ผมคงไม่ถึงวันนี้
พับลิกโพสต์ : ท่านพอจะเห็นอุปสรรคและปัญหา แต่ทำไมจึงเลือกที่จะมานั่งบริหารไอแบงก์
ธีร ศักดิ์ : ผมเริ่มต้นธนาคารอิสลามเป็นคนแรก ตั้งแต่อยู่แบงก์กรุงไทย เริ่มตั้งแต่เราไปศึกษาระบบงานในตะวันออกกลางเป็นยังไง เพราะผมอยู่กับสังคมมุสลิมมานาน ผมรู้ว่าระบบดอกเบี้ยมันบาป ผมก็คิดว่า ถ้าผมทำให้เกิดสถาบันการเงินอิสลามได้ ผมก็คงจะได้บุญมาก เพราะผมได้ทำให้พี่น้องมุสลิมไปโลกหน้า โดยไม่ต้องพาบาปดอกเบี้ยติดตัวไปโดยเฉพาะมุสลิมในเมืองไทย เราก็เริ่มตั้งแต่ตรงนั้น
พับลิกโพสต์ : วางเป้าการบริหารและความสำเร็จอย่างไร
ธีร ศักดิ์ : ผมว่าในแง่การทำรายได้ ผมประสบความสำเร็จ เพราะผมทำให้แบงก์ มีกำไรได้ ในการที่ผมทำให้แบงก์มีกำไรได้ก็แสดงว่าผมทำให้แบงก์เป็นที่เข้าใจของคนได้ คนมาใช้บริการแบงก์มากขึ้น
“แต่วันนี้สิ่งที่ผมประสบความสำเร็จ และที่ผมภูมิใจที่สุด ไม่ใช่เรื่องทำให้แบงก์มีกำไร สิ่งที่ผมภูมิใจ คือ ทำให้คนได้เข้าใจว่าแบงก์อิสลามคืออะไร และทำให้คนรู้จักอิสลามดีขึ้นว่า ยังมีสิ่งดีๆ อีกเยอะ ตรงนี้ต่างหากที่ผมภูมิใจ การทำให้แบงก์มีกำไร และมีคนมาใช้บริการแบงก์ เป็นเรื่องปกติ แต่การทำให้คนเข้าใจแบงก์ว่าระบบธนาคารอิสลาม แตกต่างกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไปอย่างไร ตรงนี้ที่ผมภูมิใจมากกว่า”
ผม เพิ่มสินทรัพย์จากหมื่นหกเป็น สี่หมื่นกว่าล้าน ผมขยายสาขา ผมมีพนักงานจาก 300 กว่าคน เป็น 800 กว่าคน และจะเป็นพันกว่าคน ก็แสดงว่า ระบบธนาคารเราติดตลาด เป็นที่ยอมรับของสังคม ไม่มีความรู้สึกเคอะเขิน ที่จะเดินมาใช้บริการธนาคารอิสลาม
“อย่างน้อยผมก็ได้ทำตามที่ท่าน ศาสดาสั่งไว้ ถ้าจะพูดกันแบบกำปั้นทุบดิน มันเป็นเรื่องของผมกับอัลเลาะฮ์ คุณรู้ได้อย่างไรว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่หนึ่งในศาสดา ก่อนถึงท่านศาสดามุฮัมมัด มีศาสดาเกิดขึ้นมาแล้วแสนสองหมื่นสี่พันคน น่ะ เพราะฉะนั้นคุณอย่ามาว่าผม คุณทำของคุณ ผมทำของผม วัน อาคีเราะห์ ผมไม่รู้ว่าคุณเดินอยู่แถวไหนน่ะ ผมอาจจะเดินแถวหน้าคุณน่ะ (หัวเราะ)”
สิ่ง หนึ่งที่ผมทำก็คือว่า ผมอยากทำ เพราะผมถือว่าผมได้บุญ ผมทำให้แบงก์อิสลามเป็นสถาบันที่เป็นยอมรับ วันนี้แบงก์อิสลาม ก็เป็นความใฝ่ฝันของเด็กมุสลิมที่จบมหาวิทยาลัย อยากมาทำงานที่นี่ มันเป็นหนึ่งในสถาบันแห่งความฝันซึ่งผมทำได้ต่างหาก
ผมกำลังจะทำต่อ ผมจะเอาแบงก์อิสลามไปทำไมโครไฟแนนซ์ ผมจะเริ่มปีนี้ ผมถือว่า ระดับพาณิชย์ ระดับข้างบน ระดับคนทั่วไป แบงก์ผมเป็นที่ยอมรับ ตอนนี้กำไรที่ผมได้ ผมจะคืนเข้าไปในสินเชื่อรากหญ้า โปรดักต์เราเตรียมไว้แล้ว
พับลิกโพสต์ : ไมโครไฟแนนซ์ จะเริ่มอย่างไร และช่วยขยายความคำว่า ไมโครไฟแนนซ์
ธีร ศักดิ์ : สินเชื่อรากหญ้าให้สำหรับคนที่จนที่สุด แต่มีความตั้งใจที่จะประกอบอาชีพ เป็นคนจนที่ดี และเราก็จะไปช่วยเขา ห้าพันบาท หมื่นบาท สองหมื่นบาท เขาก็จะได้มีกำลังไปทำมาหากิน สินเชื่อรากหญ้า เราจะมีทั้งที่จ่ายผลตอบแทน ทั้งที่ไม่ต้องจ่ายผลตอบแทน แต่ต้องคืนต้นเรา ทั้งที่เรายกให้เป็นซากาต ก็แล้วแต่ความต้องการ
โดย ขั้นตอนการช่วยเหลือและดูแลตรงนี้ เราประสานงานกับคณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้านจะให้มีคนมาเป็นผู้ประสานงานธนาคารอีกคน เขาก็จะไปเลือกคนในหมู่บ้าน ซึ่งประกอบอาชีพ แต่ขาดแคลน เงินทุนหมุนเวียน แล้วเป็นคนดี ก็จะเลือกคนพวกนี้มาให้เรา
พับลิกโพสต์ : ตั้งเป้าไว้ไหมว่าปีหนึ่งกี่คน และวงเงินในการปล่อย
ธีร ศักดิ์ : เราตั้งวงเงินไว้ หนึ่งพันหนึ่งร้อยห้าสิบล้านบาทต่อปี แต่โดยหลักสินเชื่อ ห้าพันบาท หมื่นบาท สองหมื่นบาท ลงไปรายย่อยมากๆ ขั้นต่ำ 5,000 บาท สูงสุด 200,000 บาท คาดว่าเฉลี่ยประมาณ 20,000 บ./ คน
พับลิกโพสต์ : โครงการจะเริ่มเมื่อไร
ธีร ศักดิ์ : ทันทีระบบคอมพิวเตอร์เราลงตัว คาดว่าเดือนหน้า อย่างช้าเดือนเมษายน เราจะเริ่มดำเนินการ ตอนนี้เราประสานทางจังหวัด โดยจังหวัดที่เราจะเริ่มคือจังหวัดนราธิวาส เป็นจังหวัดนำร่อง ประสานกับผู้ว่าราชการ ชมรมโต๊ะอีหม่าม เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้มีการเลือกคนมาให้เรา คนที่ตั้งใจ คนที่ลำบาก คนที่อาจจะไม่มีโอกาส แต่เราก็จะมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จะทำให้เขามีโอกาสที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่เราคิดว่า เราได้กำไรและคืนส่วนหนึ่งไปให้กับสังคม
โดยเราตั้งขึ้นมาเป็นหน่วยงานหนึ่ง แผนกนี้จะเปิดเพื่อการนี้โดยตรง เป็นงานสินเชื่อจุลภาค ฝ่ายสินเชื่อจุลภาค
ทั้งนี้ จังหวัดนราธิวาส เป็นจังหวัดที่ลำบาก ที่สุดในประเทศไทย เป็นจังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำถูกที่สุด เราเคยไปทำการสำรวจ มีคนมาเป็นพัน เราดูแววตาเขาเริ่มมีความหวัง แค่นี้เราก็ได้บุญแล้ว แต่เราต้องทำให้เป็นจริงให้ได้ ไม่ใช่ไปสร้างความหวังลมๆ แล้งๆ ให้เขา
พับลิกโพสต์ : ปี 53 วางเป้าในการบริหารธนาคารอิสลามอย่างไร
ธีร ศักดิ์ : ผมจะขยายเครือข่ายให้มากขึ้น เน้นไปจังหวัดที่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เป็นจังหวัดเป้าหมาย แล้วก็ขยายต่อไปในจังหวัดอื่น โดยเป้าหมายเราจะขยายสาขาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ในส่วนเรื่อง สินทรัพย์ที่เราจะเพิ่มอีก ปีหน้าให้ได้ 35,000,000,000 บาท พยายามเพิ่มสินเชื่อรายย่อยให้มากขึ้น จากเดิม เราเพิ่มแต่ไม่มาก เพราะเราต้องเอาตัวรอดก่อน เพราะเวลาปล่อยสินเชื่อ ไม่ว่ารายใหญ่รายย่อยใช้เวลาเท่ากัน
เราเริ่มผสมผสานระหว่างรายใหญ่ รายย่อย ทีนี่เราก็จะเพิ่มเป้าจากที่มีรายย่อยประมาณ 15% เพิ่มอีก 10% เป็น 25% และต่อไปเราจะให้พอร์ตสินเชื่ออยู่ในประมาณ 60% ของพอร์ตสินเชื่อรวมของธนาคาร
“การจะเป็นรายย่อยไม่ใช่ลุกขึ้นมาก็ เป็นได้ ระบบต้องดี คนต้องเข้าใจ เน็ตเวิร์ค หรือสาขาต้องมีพอสมควร เราต้องพัฒนาช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต เน็ตเวิร์ค เราจะมีทั้งที่เป็นรถโมบาย สาขาใหญ่ กลาง เล็ก ย่อย นี่คือ สิ่งที่เรากำลังจัดการ เปรียบเสมือนเมื่อก่อนเราป่วย แต่ตอนนี้เริ่มฟื้นไข้แล้ว แข็งแรงแล้ว เราก็จะขยาย“
พับลิกโพสต์ : มองสถานะของไอแบงก์วันนี้อย่างไร
ธีร ศักดิ์ : 7 ปีที่เราเปิดดำเนินการมา ปรากฏว่า 6 ปีแรกเราขาดทุนมาตลอด เราขาดทุนจนเกือบจะต้องถูกปิดกิจการ แต่เราพยายามอธิบายกับทางการว่า ที่เราขาดทุนเพราะเราทำไม่เป็นต่างหาก แล้วที่ผ่านมา คณะกรรมการบางคนของที่นี่ในอดีต คิดว่า ไม่ต้องทำอะไรมาก รัฐบาลก็เลี้ยงอยู่แล้ว พูดในบอร์ดอย่างนี้
เขาบอกกันว่า ก็สู้เท่าที่มีทุน แต่ผม เนี๊ยะ ผมสู้แค่ตายไง ผมไม่ให้แบงก์นี้ล้มแนวคิดไม่เหมือนกัน ผมใช้ทุกอย่าง ผมรู้จักผู้ใหญ่ ก็วิ่งไปชี้แจงให้เขา บอกว่า แบงก์นี้ดียังไง ถ้าท่านใส่เงินให้ผม สามพันล้าน ผมทำให้ท่านเห็นได้ว่ามีคืนท่านได้แน่นอน แล้วผมก็พิสูจน์ให้เขาเห็นว่า ผมทำให้แบงก์มีกำไร
“ใน ปี 51 ซึ่งเป็นปีที่ 6 ของการก่อตั้งแบงก์ ผมได้เข้ามาบริหารในเดือนกรกฎาคม ราว 6 เดือน ในปีนั้น จากแบงก์ขาดทุน 286 ล้าน ผมทำให้แบงก์มีกำไรได้ 2 ล้าน ในปี 52 เราได้กำไร 300 ล้าน ส่วนปี 53 ปีนี้ อย่างน้อยเราน่าจะได้สัก 600 ล้าน ล้างขาดทุนสะสมหมด
พับลิกโพสต์ : สัดส่วนผู้มาใช้บริการ
ธีรศักดิ์ : 85% คนไทยพุทธ 15% เป็นมุสลิมและสัดส่วนผู้มาฝากเงิน 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นไทยพุทธ
พับ ลิกโพสต์: ระบบอิสลามิกไฟแนนเชียลทั่วโลกขยายตัว ท่านมองว่าเมืองไทย มีโอกาสที่จะเอาทุนเหล่านี้ เข้ามาดำเนินธุรกรรมทางการเงินอย่างไรบ้าง
ธีร ศักดิ์ : ไทยมีโอกาสมหาศาล ซึ่งศักยภาพของประเทศเรามีโครงการอยู่เยอะมาก และเป็นที่สนใจของนักลงทุน เราสามารถที่จะเอาโครงการเหล่านี้มาทำเป็นอิสระได้ โครงสร้างพื้นฐาน โครงการรถไฟใต้ดิน ซึ่งเป็นที่ต้องการของนักลงทุนมุสลิม
สิ่งหนึ่งที่ กำลังดำเนินการอยู่ คือ การแก้ไขกฎระเบียบของประเทศไทยให้สามารถที่จะรองรับการทำธุรกรรมการเงิน อิสลาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษีอากร หรือเรื่องกฎระเบียบอื่น
“ปัจจุบัน ประเทศใหญ่ๆ เช่น ประเทศฝรั่งเศส เยอรมัน จีน ออกพันธบัตรอิสลาม ทำไมประเทศไทย จะออกพันธบัตรอิสลาม ไม่ได้ ในทางกลับกัน พันธบัตรอิสลาม มีความโปร่งใสมากกว่าพันธบัตรอื่นๆ ถ้า คุณจำได้ 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่เจ๊งกันทั้งหมด จากกรณีซับไพรม์ ไม่มีแบงก์อิสลาม เลย เพราะมันเป็นสิ่งต้องห้ามไม่ให้เราเข้าไปลงทุนในสิ่งที่ไม่มีความแน่นอน นี่คือข้อดีของพันธบัตรอิสลาม เพราะฉะนั้นคนที่เข้า ลงทุนกับพันธบัตรอิสลาม ก็จะได้รับการปกป้อง”
ผมอยู่คณะทำงานแก้ไขกฎ ระเบียบการศึกษาและการนำเสนอกฎระเบียบเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างเสนอ และส่งต่อรัฐมนตรีคลัง เพื่อจะนำเข้า ครม. แล้วเสนอสภา ในส่วน ของสำนักงาน กลต. ก็ทำกฎเกณฑ์ออกมาแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ก็เตรียมพร้อมหมด แล้ว ในเชิงการเตรียมความพร้อมทุกหน่วยงานพร้อมแล้ว คาดว่าเราจะเห็นพันธบัตรอิสลามในส่วนที่เป็นของรัฐบาล ประมาณไตรมาสที่ 3 ของปีนี้
พับลิกโพสต์ : ถ้าแก้กฎระเบียบแก้กฎหมายโอกาสที่ไทยจะใช้ประโยชน์ อยากให้ท่านวิเคราะห์ให้ฟัง
ธีร ศักดิ์ : เราก็ต้องเข้าใจนะว่าทุนนิยมอิสลาม ก็ยังคิดถึงผลตอบแทนอยู่ดี ผลตอบแทน การลงทุน การเก็งกำไร ไม่ได้เป็นสิ่งต้องห้ามของอิสลาม เพราะการค้าขายเป็นการเก็งกำไร แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการคิดที่รอบคอบ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะทำพันธบัตรออกไปขาย บางคนบอกว่า ดูไบ มีปัญหาก็อาจจะขายไม่ได้ จริงๆ แล้วเงินทุนอิสลามมีมากมายมหาศาลในโลกนี้ ไม่ใช่แค่ ดูไบ เรายังมี อาบูดาบี การ์ตาร์ เรายังมีเงินมาอีกนับแสนล้านเหรียญ
เพราะฉะนั้นถ้าเราออกโปรดักต์ ที่ ถูกต้องตามหลักศาสนา และผลตอบแทน อยู่ในระดับที่น่าสนใจ เราขายได้แน่นอน ก็ ไม่อยากตั้งเป้า แต่ระดับ 4-5 หมื่นล้าน สบายมาก โดยเฉพาะที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีไปตะวันออกกลาง เขาสนใจอยากซื้อ เราต่างหากที่ไม่มีอะไรไปขายให้เขา
พับลิกโพสต์ : ภาพลักษณ์ของไอแบงก์ที่วาดหวังไว้ในอนาคต
ธีร ศักดิ์ : เป็นสถาบันการเงินอิสลามซึ่งไม่ได้แบ่งแยก เป็นที่พึ่งพาของคน เป็นสถาบันการเงินที่มีคุณธรรม เราอยากเป็นพ่อค้าที่มีคุณธรรม เรายังคงต้องทำมาค้าขาย การทำมาค้าขายต้องมีกำไร และเราก็อยากจะได้กำไรที่พอเหมาะ ไม่ใช่กำไรมากมาย หรือน้อยไป
เราอยาก เป็นแบงก์ที่มีคุณธรรมท่ามกลางแบงก์อื่น แล้วมีความเป็นมืออาชีพ เป็นโมเดิร์นอิสลามิกแบงก์ ภายใต้กรอบศาสนา เพราะเราทำงานการเงิน เราต้อง โมเดิร์น แต่ต้องโมเดิร์น ภายใต้กรอบจริยธรรมอิสลาม
แหล่งข้อมูล : พับลิกโพสต์ ฉ.25 ก.พ.53