OKMD ชี้ช่อง “อาหารไทยคุณภาพสูง” มุ่งสู่สหรัฐอเมริกา ตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพรองรับสินค้าไม่มีที่สิ้นสุด

นายรักชัย เร่งสมบูรณ์

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) หรือ OKMD ชี้ช่องทางพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์อาหารไทยคุณภาพสูง(Specialty Food) เจาะตลาดสหรัฐอเมริกา หลังผลวิจัยล่าสุดในปี 2558 ของ Specialty Food Association สหรัฐอเมริกา พบผู้บริโภคภายในประเทศมีความชื่นชอบและนิยมอาหารไทย ติด 1 ใน 3 อันดับแรก โดยมีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าและผลิตภัณฑ์อาหารจากไทยคุณภาพสูงถึง ร้อยละ 23 ทั้งนี้ชาวอเมริกันสุดปลื้ม “ซอสปรุงรสและเครื่องแกงสำเร็จรูป” เช่น ผัดไทย แกงเขียว พะแนงหมู ต้มข่าไก่ และ “ผักและผลไม้ออร์แกนิค” เช่น ข้าวหอมนิล ข้าวหอมมะลิ กะทิ น้ำมันมะพร้าว สตรอว์เบอร์รีอบแห้ง มะม่วงอบแห้ง สับปะรดอบแห้ง เร่งเดินหน้าผลักดันผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs ปรับการผลิตในรูปแบบออร์แกนิกและปราศจาก GMO เพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด พร้อมหนุนศักยภาพผู้ประกอบการทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การผลิต การพัฒนาคุณภาพ ไปจนถึงการขาย เพื่อมุ่งสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถรองรับสินค้าจากประเทศไทยได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

นายรักชัย เร่งสมบูรณ์ ที่ปรึกษาโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ OTOP สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD และผู้เชี่ยวชาญตลาดอาหารในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า จากผลวิจัยแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ OTOP ของตลาดในประเทศและต่างประเทศ ที่ชี้ให้เห็นถึงช่องทางและโอกาสในการผลักดันอาหารไทยเข้าไปตีตลาดสหรัฐอเมริกา เนื่องจากผู้บริโภคในอเมริกามีความต้องการสินค้ากลุ่มนี้สูงสุด โดยเฉพาะอาหารคุณภาพสูง (Specialty Food) ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยผลวิจัยล่าสุดในปี 2558 ของ Specialty Food Association สหรัฐอเมริกา ระบุว่า อาหารคุณภาพสูงจากประเทศไทย มีความนิยมสูงติด 1 ใน 3 อันดับแรก ของตลาดสหรัฐอเมริกา โดยมีช่องทางการขายแบ่งออกเป็น 2 ช่องทางหลัก คือ 1.วางขายบนชั้นวางสินค้าในห้างค้าปลีก เช่น KeHE , UNFI , Safeway , Costco , Trader Joe’s ร้อยละ 80 และ 2.ขายส่งให้กับโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร ร้อยละ 20 หากผู้ประกอบการไทย สามารถผลิตสินค้าไปวางขายตามช่องทางดังกล่าว จะสามารถเพิ่มยอดขายในภาพรวมได้มากขึ้น  

ทั้งนี้ จากข้อมูลการนำเข้าสินค้าและผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพสูงจากประเทศไทยในตลาดสหรัฐอเมริกา พบว่า มีสัดส่วนการนำเข้าสูงถึง ร้อยละ 23 โดยการนำเข้าเกือบทั้งหมดจะเป็นสินค้าที่มีวัตถุดิบมาจากธรรมชาติ ในจำนวนนี้เกือบ ร้อยละ 80 ปราศจากการตัดต่อทางพันธุกรรม (GMO) สำหรับประเภทสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีความนิยมสูงมาก คือ 1.ซอสปรุงรสและเครื่องแกงสำเร็จรูป เช่น ผัดไทย แกงเขียวหวาน พะแนงหมู ต้มข่าไก่ 2.ผักและผลไม้ออร์แกนิก เช่น ข้าวหอมนิล ข้าวหอมมะลิ กะทิ น้ำมันมะพร้าว สตรอว์เบอร์รีอบแห้ง มะม่วงอบแห้ง สับปะรดอบแห้ง เป็นต้น แต่ปัญหาที่พบในขณะนี้คือยังไม่มีผู้ประกอบการรายใด ผลิตสินค้าเหล่านี้ในรูปแบบออร์แกนิกหรือปราศจาก GMO ไปวางขาย เนื่องจากหาวัตถุดิบค่อนข้างยาก ตรงนี้จึงถือเป็นช่องว่างสำคัญที่ผู้ประกอบการไทย ควรเร่งพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์เข้าวางขาย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดสหรัฐอเมริกาซึ่งมีกำลังซื้อสูงมาก

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐอเมริกาจะมีความต้องการสินค้าและผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพสูงจากไทย แต่อุปสรรคสำคัญที่ผู้ประกอบการ OTOP และผู้ส่งออกไทยต้องประสบ คือกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในเรื่องของฉลากสินค้าที่หากมีการตรวจพบปัญหาในภายหลัง จะถูกถอดออกจากชั้นวางขายทันที นอกจากนี้ยังต้องผ่านการรับรองหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) ระบบการการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร (HACCP) ข้อกำหนดความปลอดภัยสมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่ง สหราชอาณาจักร (BRC) และมาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาหาร (SQF) ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการตรวจสอบไปถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การค้าที่เป็นธรรมไม่เอารัดเอาเปรียบเกษตรกรรายย่อย และการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้นการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพด้านต่างๆ ให้ผ่านการรับรองตามข้อกำหนดข้างต้น จึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญมาเป็นอันดับแรก เพราะการผ่านการรับรองไม่ได้ส่งผลเฉพาะการปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ยังหมายถึงการมีตลาดรองรับสินค้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากนี้ในแง่ของความหลากหลายและคุณค่าของสินค้า ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญที่ผู้ผลิต จำเป็นต้องพัฒนาต่อยอดสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้มีความแปลกใหม่อยู่เสมอ รวมไปถึงอายุของสินค้าก็ต้องอยู่ได้นานมากขึ้น โดยช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในตลาดสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 12-18 เดือน

นายรักชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการไทย ให้สามารถพัฒนาและยกระดับคุณภาพสินค้า ได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในตลาดสหรัฐอเมริกา รวมทั้งผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดในข้างต้นนั้น ควรมีการจัดโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการไทย ใน ลักษณะการจัดกลุ่มเป็นเครือข่ายและพาไปจับมือกับคู่ค้ารายใหญ่ พร้อมทั้งส่งเสริมกระบวนการต่างๆ ทั้งด้านการผลิต การพัฒนาให้ได้มาตรฐาน ไปจนถึงการขายสินค้า ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ทั้งเวลาและเงินทุนค่อนข้างมาก หากรัฐเข้ามาช่วยเหลือตรงนี้ผู้ประกอบการก็จะสามารถข้ามผ่านข้อจำกัดด้าน เวลาและต้นทุน  ซึ่งในภาพรวมจะทำให้เกิดการการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ OTOP เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง