เลบานอนจัดประชุมผู้นำศาสนาอิสลามนานาชาติ เพื่อการกลับคืนสู่มาตุภูมิของชาวปาเลสไตน์

เลบานอนจัดประชุมผู้นำศาสนาอิสลามระดับนานาชาติ โดยรวมเอาผู้นำศาสนาอิสลามนิกายต่างๆ รวมถึงนักคิด และนักกิจกรรมจากทั่วโลกกว่า 30 ประเทศมารวมกันที่กรุงเบรุตพื่อทำการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาปาเลสไตน์ และกำหนดจุดยืนที่ผู้นำศาสนาควรมีต่อปัญหาดังกล่าว


รายงานโดย : มิกด๊าด วงศ์เสนาอารี

 

เมื่อวันที่ 16-18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา องค์กร The Global Campaign to Return to Palestine ได้จัดการประชุมผู้นำศาสนาอิสลามระดับนานาชาติ โดยรวมเอาผู้นำศาสนาอิสลามนิกายต่างๆ รวมถึงนักคิด และนักกิจกรรมจากทั่วโลกกว่า 30 ประเทศมารวมกันที่กรุงเบรุต ประเทศเลบานอน เพื่อทำการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาปาเลสไตน์ และกำหนดจุดยืนที่ผู้นำศาสนาควรมีต่อปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อแสวงหาทางออกให้แก่วิกฤติปัญหาที่ชาวปาเลสไตน์ต้องประสบมากว่า 67 ปี นับตั้งแต่การจัดตั้งรัฐอิสราเอลในวันที่ 15 พฤษภาคม 1948

งานเลี้ยงเปิดการประชุมเริ่มขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ 16 พฤษภาคม ควบคู่ไปกับการเฉลิมฉลองวันแห่ง “อิสรอมิอ์รอจ” (การเดินทางสู่ฟากฟ้าของศาสดามุฮัมมัด) และพิธีมอบโล่เพื่อเป็นเกียรติแก่ครอบครัวของวีรชนที่ถูกสังหารโดยทหารอิสราเอลเมื่อปี 2011 ในการเดินขบวนกลับสู่มาตุภูมิของชาวปาเลสไตน์

ในการปราศรัยเปิดงาน มุฟตีประจำกรุงเยรูซาเล็ม เชคมุฮัมมัด หุเซน ได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงของการรำลึกถึงเหตุการณ์ “อิสรอมิอ์รอจ” ที่มีต่อปัญหาของมัสยิดอัลอักซอ เนื่องจากความสำคัญของมัสยิดอัลอักซอในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่ฟากฟ้าของศาสดามุฮัมมัดตามความเชื่อของศาสนาอิสลาม

3Grand Opening Mufti Quds's Speech

ในวันที่ 17 พฤษภาคม การประชุมใหญ่ได้เริ่มขึ้นโดยตัวแทนของคณะผู้จัดงานได้กล่าวปราศรัยและชี้แจงถึงวัตถุประสงค์และความคาดหวัง ตามมาด้วยการฉายวีดิทัศน์ที่เกี่ยวกับปัญหาปาเลสไตน์และภัยที่กำลังคุกคามมัสยิดอัลอักซอ

ในช่วงบ่ายผู้เข้าร่วมประชุมได้แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย 3 กลุ่มตามประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาเป็นหัวข้อหลักในการพูดคุย ได้แก่

1.การวิจัยเชิงวิชาการเกี่ยวกับปัญหาปาเลสไตน์

2.การสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจในระดับมวลชน

และ 3.การสร้างผลกระทบทางการเมืองที่ส่งผลต่อวิกฤติปาเลสไตน์ ซึ่งผลสรุปของการประชุมกลุ่มย่อยได้ถูกนำเสนอและอภิปรายโดยตัวแทนของแต่ละกลุ่มในเช้าของวันที่ 18 พฤษภาคม หลังจากการกล่าวรายงานถึงบทสรุปของการสัมมนาโลกอิสลามที่จัดขึ้นในเยรูซาเล็ม ปี 1931

ผู้เขียนจากประเทศไทยที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ขณะให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเพรสทีวีของอิหร่าน
ผู้เขียนจากประเทศไทยที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ขณะให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเพรสทีวีของอิหร่าน

 

วันที่ 18 พฤษภาคม การประชุมได้ดำเนินมาอย่างเข้มข้นเป็นเวลาสามวัน จนถึงวันสุดท้ายซึ่งได้รับความสนใจอย่างเป็นพิเศษจากสื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศ พิธีปิดเริ่มขึ้นด้วยคำปราศรัยของที่ปรึกษาผู้นำสูงสุดของการปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน ดร. อะลีอักบัร วิลายะตี ที่ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดงานรำลึกถึงวันแห่งความหายนะ (Nakba day) และได้กล่าวสำทับถึงความสำคัญของการยืนหยัดของชาวปาเลสไตน์ในสิทธิที่ตนมีต่อแผ่นดินบ้านเกิด อีกทั้งยังได้เรียกร้องให้กลุ่มต่างๆ ที่ทำการต่อสู้เพื่อปาเลสไตน์มองข้ามปัญหาความขัดแย้งและร่วมมือกันสร้างเอกภาพและความสมานฉันท์

วิลายะตี ยังได้เรียกร้องให้ประชาชาติอิสลามขจัดปัญหาความขัดแย้งที่มี เพราะสิ่งที่ประชาชาติอิสลามต้องการมากที่สุดในเวลานี้ก็คือความเป็นเอกภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวิกฤติปาเลสไตน์อันถือเป็นวาระสำคัญที่ประชาชาติอิสลามจะต้องร่วมมือกันเป็นปึกแผ่นเพื่อแสวงหาทางออกให้แก่ปัญหาที่ยืดเยื้อมานานกว่าครึ่งศตวรรษ

บรรยากาศการละหมาดร่วมกันของผู้เข้าร่วมประชุม
บรรยากาศการละหมาดร่วมกันของผู้เข้าร่วมประชุม

หลังจากนั้นเป็นการปราศรัยผ่านวีดีโอลิงค์จากฉนวนกาซ่าของนายอิสมาอีล ฮะนียะฮ์ อดีตนายกรัฐมนตรีปาเลสไตน์และแกนนำขบวนการหะมาส โดยกล่าวถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ ดังนี้

•    ประชาชนชาวกาซ่ายังคงยืนหยัดในสิทธิที่ตนมี ซึ่งสิทธิที่สำคัญที่สุดก็คือเมืองเยรูซาเล็ม และการกลับคืนสู่แผ่นดินปาเลสไตน์

•    ประชาชนชาวกาซ่ายังคงยึดมั่นในแนวทางของขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (มุกอวะมะฮ์) ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงชัยชนะมาตลอดหน้าประวัติศาสตร์ของการต่อสู้

•    ขบวนการหะมาสได้ยอมผ่อนปรนและประนีประนอมต่อปัญหาขัดแย้ง หนึ่งในนั้นก็คือ “การที่เรายอมสละสิทธิ์อำนาจการปกครองในฉนวนกาซ่า ซึ่งเราก็เฝ้ารอจุดยืนเดียวกันนี้จากพี่น้องของเราในเวสต์แบงก์”

•    การยึดมั่นในปาเลสไตน์ในฐานะที่เป็นรากเหง้าแห่งความเป็นอาหรับและอิสลาม
นอกจากนี้ ผู้นำขบวนการหะมาสยังได้เรียกร้องมวลมุสลิมให้สร้างความเป็นเอกภาพ และร่วมกันวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อปกป้องเมืองเยรูซาเล็มและมัสยิดอัลอักซอ รวมไปถึงการยุติความขัดแย้งภายในประชาชาติ โดยกล่าวว่า “การห้ำหั่นกันภายในมีแต่จะสร้างความอ่อนแอให้แก่ชาวปาเลสไตน์และวิกฤติปัญหาที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ในปัจจุบัน”

หลังจากฮะนียะฮ์ ดร.คอลิด อัลบัฏช์ แกนนำขบวนการญิฮาดอิสลามี ได้ปราศรัยผ่านวีดีโอลิงค์ โดยเรียกร้องให้เกิดการประสานความร่วมมือและเปิดโอกาสให้มีการสานเสวนาระหว่างมุสลิมกลุ่มต่าง ๆ เพื่อร่วมกันทำลายวิกฤติปัญหาที่ชาวปาเลสไตน์ต้องประสบ อีกทั้งยังเรียกร้องให้มีการกำหนดทิศทางที่ถูกต้องให้แก่ปัญหาของประชาชาติอิสลาม

“เรามารวมตัวกันในวันนี้ในขณะที่อิสราเอลกำลังเฉลิมฉลองการจัดตั้งรัฐอย่างรื่นเริง… ทางออกของวิกฤติกาลอยู่ที่การกำหนดทิศทางของประชาชาติอิสลามให้มุ่งหน้าไปสู่ปัญหาปาเลสไตน์อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเท่านั้น” แกนนำขบวนการญิฮาดอิสลามี กล่าว

ภายหลังการวีดีโอลิงค์จากฉนวนกาซ่าการสัมมนาก็เข้าสู่ช่วงสุดท้าย เชคมุฮัมมัดหุเซน มุฟตีประจำกรุงเยรูซาเล็มขึ้นกล่าวปราศรัยโดยย้ำว่า “การสนับสนุนปาเลสไตน์ไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยปราศจากเอกภาพของมวลมุสลิม”

ตามมาด้วยการกล่าวปราศรัยของเชคมาหิร ฮัมมูด อิมามประจำมัสยิดกุดส์ ประเทศเลบานอน ที่ได้เน้นย้ำถึงสิทธิอันชอบธรรมที่ชาวปาเลสไตน์มีต่อดินแดนของตน

และเมื่อการปราศรัยต่าง ๆ ได้จบลง “การประชุมผู้นำศาสนาอิสลามระดับนานาชาติเพื่อการกลับคืนสู่ปาเลสไตน์” ก็สิ้นสุดลงด้วยการอ่านถ้อยแถลงของคณะผู้จัดงาน ตามมาด้วยการรายงานผลสรุปของการประชุมและกล่าวถึงการติดตามผลในระยะยาวโดยคณะกรรมการเฉพาะกิจที่ได้รับมอบหมายจากคณะผู้จัดการประชุม

ประมวลภาพบรรยากาศการประชุม

1 3Grand Opening Mufti Quds's Speech 3Grand Opening 4Grand Opening 5Grand Opening 6Grand Opening 7Grand Opening 9Forum 10Forum 11Sh.Yusuf with Mufti Iraq and Mufti Quds 14Forum 15Forum 16Dr.Wilayati 17Mufti Quds 18Sh.Mahir Hammud