ปากีสถาน-อิหร่าน : นัยยะสำคัญของการพบปะกันระหว่างผู้นำ 2 ประเทศ

ภาพ IRNA

หลังจากปัญหาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เพิ่งผ่านไปในญี่ปุ่น ก็มีเรื่องอีกมากมายที่ทำให้พลเมืองของโลกอย่างพวกเราต้องวิตกกังวลและปวดหัว ไม่ว่าจะเป็นการเมืองระหว่างประเทศที่นับวันยิ่งเข้มข้นมากขึ้น ปัญหาเสถียรภาพของรัฐ การเมืองภายในประเทศของไทย ปัญหาซีเรีย-ตุรกี การสลายม็อบในฮ่องกง ปัญหาการชุมนุมในอินโดนีเซีย ความ (ไม่) สัมพันธ์ของอิหร่าน-ซาอุดิอาระเบีย รวมถึงปัญหายืดเยื้อริมพรมแดนของอินเดียและปากีสถาน

นี่อาจเป็นเหตุผลหลักที่อิมราน ข่าน (Imran Khan) นายกรัฐมนตรีของปากีสถานออกเดินทางไปยังกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่านในวันที่ 13 ตุลาคม 2562 เพื่อเข้าพบประธานาธิบดีของอิหร่าน ดร. ฮัสซัน โรฮานี (Dr. Hassan Rouhani) หลังจากที่อิมราน ข่าน ตัดสินใจเดินทางไปหลังจากเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อนำเสนอปัญหาดังกล่าวมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น ซาอุดิอาระเบีย (18-20 กันยายน 2562) จีน (8-9 ตุลาคม 2562) ไม่เว้นแม้กระทั่งองค์การสหประชาชาติ (21-27 กันยายน 2562) และอาจจะต้องเดินทางไปยังซาอุดิอาระเบียอีกครั้งภายในเดือนนี้ (29-31 ตุลาคม 2562)

แม้เหตุผลการเดินทางไปยังอิหร่านของอิมราน ข่านในครั้งนี้จะบอกผ่านสื่อเกือบทุกสำนักว่า “การเยือนอิหร่านครั้งนี้มีเป้าหมายหลักในฐานะคนกลางในการไกล่เกลี่ยปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและซาอุดิอาระเบียก็ตาม” กระนั้นสื่อบางสำนักอย่าง The Hindu ของอินเดียยังรายงานว่า

“อิมราน ข่านต้องการนำเสนอปัญหาแคชเมียร์เพื่อขอการสนับสนุนจากอิหร่านเช่นเดียวกัน”

แม้เป้าหมายของอิมราน ข่านในการมายังอิหร่านในครั้งนี้เพื่อประนีประนอมความสัมพันธ์อันบิดเบี้ยวระหว่างอิหร่าน-ซาอุดิอาระเบีย หลังจากที่ตนเองได้เดินทางไปซาอุดิอาระเบียมาก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18-20 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา

การพบปะระหว่าง 2 ผู้นำของปากีสถานและอิหร่านนั้นถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาและถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปีที่อิมราน ข่านเดินทางไปยังอิหร่านเนื่องจากการเชื้อเชิญของประธานาธิบดีอิหร่าน

อิมราน ข่านกล่าวว่า

“สาเหตุที่ตนเองเดินทางมายังอิหร่านในครั้งนี้เพื่อแสดงถึงจุดยืนว่าตนเองนั้นไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่าน ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม ตนเองก็ไม่เห็นด้วยกับความขัดแย้งดังกล่าว เพราะความขัดแย้งนี้มีนัยยะสำคัญมากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะมันอาจสานต่อไปเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างซุนนีห์และชีอะฮฺได้”

ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและซาอุดิอาระเบียในเวลานี้นั้น อเมริกาและชาติมหาอำนาจอื่น ๆ ในตะวันตกพยายามหนุนซาอุดิอาระเบียและพยายามตอบโต้อิหร่าน ส่งผลให้เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา กษัติย์ซัลมานออกคำสั่งยินยอมให้กองทัพอเมริกาจำนวน 3,000 คนเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติการณ์ในอ่าวเปอร์เซีย (Rferl, 2019)

แม้ความสัมพันธ์อันไม่ลงตัวระหว่างอิหร่านและซาอุดิอาระเบียนั้นเป็นประเด็นร้อน กระนั้นประเด็นหลักที่ยังแก้ไม่ตกสำหรับอิมราน ข่าน ณ ตอนนี้ก็คือ “วาทกรรมในผืนดินแคชเมียร์”

อิมราน ข่าน จึงพยายามใช้ทุกเวทีที่ตนเองมีโอกาสเพื่อพูดคุย “ปัญหาแคชเมียร์” (Ashfaq Ahmed, 2019) เมื่อพูดถึงแคชเมียร์ ก็ไม่สามารถตัดอินเดียออกไปได้ เพราะอินเดียคือ “ตัวแสดงสำคัญ” ในปัญหาดังกล่าว เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายของแคชเมียร์ในวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา

แน่นอน ปัญหาแคชเมียร์ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 เดือนนั้น (5 สิงหาคม – 13 ตุลาคม 2562) ปากีสถานต้องพยายามหาทางออกต่าง ๆ ในการกู้สถานการณ์ความวุ่นวายดังกล่าว เนื่องจากปากีสถานเสียผลประโยชน์อย่างมากมายจากการเดินหมากครั้งดังกล่าวของอินเดีย เพราะปัญหาแคชเมียร์คือ ปฐมบทของความขัดแย้งที่ยืดเยื้อระหว่างสองประเทศนี้มาอย่างยาวนานกว่า 70 ปี

สำหรับ “ประเด็นแคชเมียร์” อินเดียและปากีสถานวางสถานะและมุมมองแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งอินเดียมองว่า “แคชเมียร์นั้นเป็นปัญหาภายในประเทศ” 

ส่วนปากีสถานมองว่า “อินเดียละเมิดข้อกฎหมายระหว่างประเทศและไม่ตามข้อตกลงที่องค์การสหประชาชาติมีมติไว้”

การพบปะระหว่างอิมราน ข่านและโรฮานีครั้งนี้จึงต้องมีการแลกเปลี่ยน “ประเด็นแคชเมียร์” อย่างเลี่ยงไม่ได้ อิมราน ข่านพูดกับผู้นำอิหร่านถึงสถานการณ์ในแคชเมียร์และสถานะใหม่ที่อินเดียมอบให้กับแคชเมียร์เพื่อต้องการ “การสนับสนุนจากอิหร่าน”

ปากีสถานพยายามนำเสนออิหร่านว่า “ประเด็นแคชเมียร์นั้นคือ ปัญหาระหว่างประเทศ”

 ซึ่งอินเดียมองว่า “แคชเมียร์ คือ ปัญหาภายในและเรียกร้องให้ปากีสถานยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น” นอกจากนี้อินเดียยังย้ำอีกว่า “ปัญหานี้ไม่ต้องการบุคคลที่สามมาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยเจรจา” (The Hindu, 2019)

หากปากีสถานต้องการเข้าไปยังอิหร่านเพื่อนำเสนอประเด็นนี้อย่างจริงจัง ปากีสถานก็จะต้องไม่ลืมว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและอินเดียนั้นก็ดำเนินไปค่อนข้างดีมาโดยตลอด” เพราะในวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ 2018 นเรนทรา โมดี ได้เชิญดร. ฮัสซัน โรฮานีประธานาธิบดีของอิหร่านมาเยี่ยมอินเดียเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน

หนำซ้ำยังมีการพูดถึงข้อตกลงทางด้านการค้าระหว่างกัน 4 ฉบับ เพราะทั้งสองประเทศนี้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาโดยตลอด แม้การเดินทางครั้งล่าสุดของประธานาธิบดีของอิหร่านมายังอินเดียนั้นจะผ่านมาหลายปีแล้ว  แต่นายกรัฐมนตรีของอินเดียเพิ่งไปเยี่ยมอิหร่านเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมานี้เอง

การพบปะกันระหว่างอินเดีย-อิหร่านในปี 2018  ณ กรุงนิวเดลีนั้นมีการพูดคุยเรื่องการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกัน พลังงาน การค้าและความร่วมมือด้านการลงทุน ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน รวมถึงสนับสนุนการแลกเปลี่ยนระหว่าง 2 ประเทศ นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนปัญหาการก่อการร้ายทั้งภายนอก-ภายในและรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน

 อิหร่าน-อินเดียเชื่อมความสัมพันธ์ทางด้านเกษตรกรรม การแพทย์แผนโบราณ สุขภาพ การติดต่อสื่อสารและการศึกษา ที่สำคัญที่สุดคือ อินเดียพยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับอิหร่านด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและมีข้อตกลงเรื่องวีซ่าระหว่างกันเพื่ออำนวยความสะดวกของผู้คนทั้งสองประเทศ ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือทางด้านการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม เพราะทั้งสองหวังและต้องการมีบทบาทในการสร้างสันติภาพในประเทศและเวทีโลกร่วมกัน (Raveesh Kumar 2018, 14-15)

หากการเดินทางของผู้นำปากีสถานมายังอิหร่านในครั้งเพื่อขอการสนับสนุนประเด็นแคชเมียร์  อิหร่านก็ต้องคิดหนักและกลุ้มพอสมควร เพราะทั้งสามประเทศนี้ ล้วนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันทั้งสิ้น หนำซ้ำ ภาพที่ถูกฉายออกมาระหว่างอินเดียและปากีสถานใน “ประเด็นแคชเมียร์” นั้นก็ค่อนข้างชวนอิหร่านปวดหัวพอสมควร  อันเนื่องมาจากอินเดีย-ปากีสถานนั้นมองต่างกันโดยสิ้นเชิง

ปากีสถานพยายามรณรงค์และนำเสนอประเด็นดังกล่าวให้กับชาวโลกได้รับรู้ว่า

“นี่คือปัญหาระหว่างประเทศ การละเมิดข้อตกลง การพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการล่วงละเมิดทางด้านมนุษยธรรม”

ในขณะผู้นำอินเดียไม่เคยปริปากเรื่องแคชเมียร์ขณะอยู่นอกประเทศ บางทีการกระทำดังกล่าวของ อินเดียนั้นตั้งใจที่จะแสดงออกและยืนยันกับชาวโลกให้รู้ว่า

“นี่คือ ปัญหาภายในของอินเดีย นี่คือกลยุทธ์ในการต่อต้านการก่อการร้าย นี่คือนโยบายความมั่นคงภายในประเทศ”

นอกจากนี้ยังต้องการสื่อสารว่า

“การพยายามของปากีสถานหมายถึง การรุกล้ำอำนาจตัดสินใจของอินเดีย”

ไม่ว่าปากีสถานจะเดินเกมและวางหมากเชิงรุกอย่างไร หรืออินเดียจะวางตัวและรับมือด้วยกระบวนท่าแบบไหน ทว่า ชาวแคชเมียร์กว่า 8,000,000 คนที่ติดอยู่ในพื้นที่ก็ยังมีคนที่ต้องประสบกับปัญหาความรุนแรงเหมือนเดิม และหากเคอร์ฟิวยังคงถูกบังคับใช้ แน่นอนกองกำลังกว่า 900,000 นายของอินเดียก็ยังคงจับปืนคุมโซนเหมือนวันที่ผ่านมา

ยิ่งไปกว่านั้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจทำให้กระบวนการยุติธรรม โรงพยาบาล โรงเรียน ตลอดจนระบบการสื่อสารก็ยังคงเป็นอัมพาตเช่นเดิม

สรุปง่าย ๆ ก็คือ ไม่ว่าอินเดียจะเดินหมากการเมืองแบบไหนหรือปากีสถานจะใช้เพลงยุทธ์ชุดใดในการจัดการ “ปัญหาแคชเมียร์” ก็ไม่น่าห่วงเท่า “ชีวิตของผู้บริสุทธิ์ที่ต้องสังเวยในช่วงเวลานี้”   

บทความชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ https://xstremarea.home.blog

อ่านเพิ่มเติม

– Ashfaq Ahmed. (2019). Pakistan Prime Minister Imran Khan visiting Iran to defuse tension in the region. Gulfnews. Oct 13, 2019. https://gulfnews.com/world/asia/pakistan/pakistan-prime-minister-imran-khan-visiting-iran-to-defuse-tension-in-the-region-1.67103124 

– Raveesh Kumar. (2018). ‘Taking a Step Forward’. India Perspective (January-March 2018). 32(1): 14-15. 

– Rferl. (2019). Khan Arrives In Iran Amid Reports Of Possible Mediation Role. Rferl. Oct 13, 2019. https://www.rferl.org/a/pakistan-khan-travels-saudi-arabia-iran-possible-mediation/30213924.html 

– The Hindu. (2019). Imran Khan discusses Kashmir issue with Iran President Rouhani. The Hindu. Oct 14, 2019. https://www.thehindu.com/news/international/imran-khan-discusses-kashmir-issue-with-iran-president-rouhani/article29675306.ece