คนงานหญิงในอียิปต์ : “วันที่ฉันเลิกทำงานคือวันที่ฉันตาย”

(ภาพ) ซาเบห์ อาห์เมด, 38, ซ่อมยางแบนให้รถตุ๊กๆ ของเธอในตัวเมืองไคโร

ไคโร – ในอียิปต์ ขุมอำนาจของโลกอาหรับ ผู้หญิงอาจทำงานนอกบ้านได้ ไปโรงเรียน ไปมหาวิทยาลัย และมีอิสระที่จะออกเสียงหรือลงสมัครในการเลือกตั้งทั้งหมด

แต่ในด้านการศึกษาและตลาดแรงงาน ผู้หญิงยังล้าหลัง ในงานวิจัยพบว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะว่างงานมากกว่าผู้ชายสี่เท่า พวกเธอยังได้รับค่าจ้างน้อยกว่าด้วย

สี่ปีหลังการปฏิวัติ ซึ่งผู้หญิงถูกกำหนดสถานะ พวกเธอยังคงเป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยถูกนำมาใช้

สามสิบปีที่แล้ว สามีของซัยนับ อับดุลรอฮีม ถูกรถไฟชนขณะที่วิ่งข้ามทางแยก ตอนนั้นเธออายุ 25 ปี และมีลูกชายสองคนกับลูกสาวสองคนให้ต้องดูแล

    (ภาพ) ซัยนับ อับดุลรอฮีม, 60, อยู่กับลูกๆ สี่คนที่ต้องดูแล เมื่อสามีของเธอเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ
(ภาพ) ซัยนับ อับดุลรอฮีม, 60, อยู่กับลูกๆ สี่คนที่ต้องดูแล เมื่อสามีของเธอเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ

ด้วยไม่รู้หนังสือและไม่มีใบรับรองการทำงาน เขาบอกว่าเธอจะไม่มีทางหางานทำได้ หลายสัปดาห์ต่อมา ซัยนับสังเกตเห็นชายแก่คนหนึ่งกำลังขัดรองเท้าอยู่ข้างถนนใกล้บ้านของเธอ

“ฉันขอให้เขาสอนฉัน” เธอเล่า

เธอตระเวนไปตามถนนต่างๆ เป็นเวลาหลายเดือนพร้อมกับครีมขัดมัน น้ำยาขัด และแปรงของเธอ

“ฉันได้พบกับการเยาะเย้ยและดูถูกเหยียดหยาม” เธอกล่าว “พวกเขาบอกว่านี่มันเป็นงานของผู้ชาย”

วันหนึ่ง เจ้าของร้านขายน้ำผลไม้มีความสงสาร และเสนอพื้นที่ให้เธอทำงานใกล้กับร้านของเขา เธอจึงได้ทำงานขัดรองเท้าที่นั่นมาตั้งแต่นั้น

“งานไม่ค่อยมีช่วงนี้ เพราะคนส่วนใหญ่สวมรองเท้ากีฬาและรองเท้าผ้าใบที่ไม่ต้องการความมันวาว” เธอบอก

ปัจจุบันนี้รอฮีมอายุ 60 ปี ลูกชายสองคนของเธอทำงานเป็นวิศวกร และลูกสาวคนหนึ่งเป็นพยาบาล

เมื่อถามว่าทำไมเธอยังทำงานอยู่ เธอบอกว่า “ฉันทำงานมา 30 ปีบนถนนนี้ มันมีบางอย่างที่ฝังแน่นอยู่ในเลือดของฉัน ลูกชายของฉันขอให้ฉันเลิกทำงาน แต่ฉันรู้สึกว่าวันที่ฉันเลิกทำงานคือวันที่ฉันตาย”

(ภาพ) ซาเบห์ อาห์เมด, 38, เป็นหญิงหม้ายที่มีลูกๆ สี่คน และแม่วัย 90 ปี ให้ต้องดูแล เธอขับรถตุ๊กๆ เป็นอาชีพ
(ภาพ) ซาเบห์ อาห์เมด, 38, เป็นหญิงหม้ายที่มีลูกๆ สี่คน และแม่วัย 90 ปี ให้ต้องดูแล เธอขับรถตุ๊กๆ เป็นอาชีพ

ซาเบห์ อาห์เมด วัย 38 ปี มาจากเมืองชับรา ปริมณฑลที่กว้างขวางทางตอนเหนือของไคโร เป็นหญิงหม้ายที่มีลูกๆ สี่คน และแม่วัย 90 ปีให้ดูแล เธอขับรถตุ๊กๆ เป็นอาชีพ

ตอนแรกที่เธอซื้อรถสามล้อสีเหลืองดำคันนี้มา เธอบอกว่าครอบครัวของเธอต่อต้านมัน

“ลูกชายคนโตของฉันจะหยุดเรียนแล้วจะมาขับตุ๊กๆ แต่ฉันไม่ยอม” เธอบอก “ฉันใช้เวลาเกือบสัปดาห์เพื่อเรียนรู้ แต่ฉันก็ขับมันได้”

ที่คิวรถในท้องถิ่น ที่ซึ่งคนขับรถตุ๊กๆ รอลูกค้า ซาเบห์บอกว่าเธอต้องพบกับการต่อต้านจากคนขับรถผู้ชาย

“คนขับรถทั้งหมดเป็นผู้ชาย และฉันเป็นสิ่งใหม่ พวกเขาไม่สามารถยอมรับฉันเข้ากลุ่มได้” เธอบอก

(ภาพ) ซาเบห์บอกว่าเธอต้องพบกับการต่อต้านจากคนขับรถผู้ชาย
(ภาพ) ซาเบห์บอกว่าเธอต้องพบกับการต่อต้านจากคนขับรถผู้ชาย

ครั้งหนึ่ง เมื่อคนขับรถชื่อมุห์ซินเข้ามาขางเธอไม่ได้รับลูกค้าด้วยรถตุ๊กๆ ของเขา เธอกระแทกเขาให้พ้นไปจากทางด้วยรถของเธอ

“ฉันต้องจ่ายค่าจ้างทั้งหมดของเดือนนั้นไปกับการซ่อมรถตุ๊กๆ ของฉัน แต่มันก็คุ้มที่ได้เห็นสีหน้าของเขา” เธอหัวเราะ

บางคนที่รู้จักเธอบอกว่า ซาเบห์สวมผ้าคลุมปิดหน้า หรือนิกอบ เพราะเธออายที่เป็นคนขับรถตุ๊กๆ เธอปฏิเสธเรื่องนี้ “ฉันสวมนิกอบมาหกปีแล้ว นานก่อนที่ฉันจะเริ่มขับรถตุ๊กๆ มันเป็นทางเลือกของฉัน” เธอกล่าว

เนื่องจากงานใหม่ของเธอนี้ เธอบอกว่าเธอถูกตัดเบี้ยเลี้ยงชีพที่เคยได้รับจากรัฐบาล
“ด้วยเงินหลายล้านที่รัฐบาลมี คุณต้องคิดว่าพวกเขาไม่ใส่ใจหรอกที่จะให้ฉันเดือนละ 350 ปอนด์ (45 ดอลล่าร์) แต่ไม่หรอก เรื่องนั้นจะไม่เกิดขึ้น มันน่าสะอิดสะเอียน”

อุมมุ อามีรา, 42, ทำงานขายมันฝรั่งทอดที่แผงเล็กๆ แห่งหนึ่งเป็นเวลาเจ็ดปี หลังจากนั้นเธอได้ซื้อร้านเป็นของตัวเองในตัวเมืองไคโร

(ภาพ) อุมมุ อามีรา แม่ครัวในวัยต้นสี่สิบจากเมืองอัสวานทางภาคใต้ เป็นที่รู้จักของช่างภาพข่าวหลายคนในไคโร
(ภาพ) อุมมุ อามีรา แม่ครัวในวัยต้นสี่สิบจากเมืองอัสวานทางภาคใต้ เป็นที่รู้จักของช่างภาพข่าวหลายคนในไคโร

เธอย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองหลวงเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว กับสามีของเธอที่เป็นกรรมกร เพื่อหางานทำและให้ชีวิตที่ดีขึ้นแก่ลูกสาวของพวกเขา อามีรา และอาซีซา

สามีของเธอตั้งแผงขายอาหารเล็กๆ ขึ้นแผงหนึ่งเพื่อขายมันฝรั่งทอดตรงมุมถนนที่ติดกับซอยที่มีร้านอาหารตั้ง อยู่หลายร้าน แต่ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นเขาถูกรถชน บาดเจ็บที่กระดูกสันหลังและไม่สามารถขยับร่างกายได้ ไม่กี่สัปดาห์หลังเกิดอุบัติเหตุ อามีราลูกสาวคนโตของเธอที่เป็นโรคหัวใจมานานได้เสียชีวิตลง

เธอเล่าเหตุการณ์นั้นด้วยรอยยิ้มเศร้าๆ “โลกของฉันดับมืดไปทั้งใบ ฉันต้องใช้เงินเก็บทั้งหมดของเราและยิมเงินหลายพันมาจากเพื่อนๆ และญาติๆ ในอัสวัน ฉันขายทองที่สามีให้ฉันในวันแต่งงานของเรา”

    (ภาพ) อุมมุ อามีรา เป็นที่รู้จักของช่างภาพข่าวหลายคนในไคโร
(ภาพ) อุมมุ อามีรา เป็นที่รู้จักของช่างภาพข่าวหลายคนในไคโร

เมื่อเพื่อนคนหนึ่งแนะนำให้เธอเปิดแผงขายอาหารด้วย อามีราปฏิเสธ “ฉันไม่รู้ว่าทำไม แต่ลึกๆ ฉันรู้ว่าแผงจะทำประโยชน์ได้… แล้ววันหนึ่งฉันก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า ทำไมฉันจึงไม่เปิดแผงด้วยตัวเอง?”

หลังจากรับช่วงธุรกิจนี้เธอต้องประหลาดใจที่พบว่าแผงของเธอมีลูกค้ามากกว่าร้าน อาหารในละแวกนั้นเสียอีก หลังจากเหนื่อยมาเจ็ดปี อุมมุ อามีราใช้คืนหนี้ทั้งหมด และเก็บเงินได้มากพอที่จะซื้อร้านเล็กๆ เป็นของตัวเองแทนแผงขายของได้

“มันไม่ง่ายเลย ฉันต้องพบเจอปัญหาทุกประเภท จากตำรวจที่มาเรียกสินบนทำให้เสียเวลาจนฉันไม่สามารถหาเงินพอไปซื้อมันฝรั่ง ได้ แต่ฉันก็ทำงานต่อไปเพื่อสามีและลูกสาวของฉัน แต่ที่สำคัญที่สุด เพื่อระลึกถึงอามีรา” เธอชี้ไปที่ป้ายที่แขวนอยู่เหนือร้านของเธอที่อ่านว่า “อุมมุ อามีรา” (แม่ของอามีรา) “การได้เห็นข้อความเหล่านี้ทุกวันทำให้ทุกปีที่ฉันทำงานมามันคุ้มค่า”

 

—–
แปลจาก http://www.middleeasteye.net/in-depth/features/women-who-work-egypt-198247730
ที่มา http://www.fatonionline.com/news/310