จีนในมุมมองของอาหรับ ยุค “อับบาซียะฮ์”

รายงานอายุ 1,100 ปี ของนักเดินทางชาวอาหรับผู้หนึ่งที่เพิ่งแปลออกมาเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้เราได้เห็นราชวงศ์ถังของจีนในมุมมองของอาหรับจากศตวรรษที่ 9

(ภาพ) พ่อค้าและนักเดินทางจากอิรักและประเทศในแถบอ่าวได้ไปสำรวจเอเชียและบันทึกรายงานเกี่ยวกับธรรมเนียมประเพณีและสังคมของชาวต่างชาติ ภาพด้านบนเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ในกวางโจวเมื่อปี 878 เมื่อผู้ชุมนุมได้เข้าทำร้ายพ่อค้าชาวอาหรับและเปอร์เซียในประเทศจีน

พวกเขาเป็นนักสังเกตการณ์ที่กระตือรือร้นและใฝ่รู้ กว่าหนึ่งพันปีมาแล้วที่ผู้แจ้งข่าวการค้าและเจ้าหน้าที่ราชการของคอลิฟะฮ์ราชวงค์อับบาซียะฮ์ จากแบกแดดหรือบัสเราะฮ์ ได้จดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่ประสบด้วยตนเองเกี่ยวกับชาวยุโรปเหนือ (ไวกิ้ง), ชาวอินเดีย, ชาวจีน และประชาชนจากดินแดนที่ปัจจุบันนี้คือกัมพูชา, อินโดนีเซีย และศรีลังกา คอลิฟะฮ์จากราชวงศ์อับบาซียะฮ์ได้ปกครองดินแดนทั่วเอเชียตะวันตกและแอฟริกาเหนือมาตั้งแต่ปี 750 จนกระทั่งถึงประมาณปี 1000 ที่อาณาจักรเริ่มอ่อนแอลง

“แบกแดดเคยเป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก” ดร.ไมค์ วาน เบอร์เกล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ยุคกลางที่มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมกล่าว เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอาณาจักรของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ เขากล่าวว่าเมืองแห่งนี้เคยถูกเรียกว่าเมืองแห่งสันติ และน่าจะมีผู้อาศัยอยู่ประมาณครึ่งล้านคน “แต่นั่นก็ยังเป็นจำนวนมหาศาลเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเมืองและเมืองต่างๆ ในยุโรปสมัยนั้น แบกแดดเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่ง มีการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรของชาร์เลอมาญในยุโรป แต่มีการติดต่อมากกว่ากับจีน, อินเดีย และเอเชียกลาง”

“ผู้คนจากทั่วทั้งตะวันออกกลางมุ่งมาที่แบกแดด ที่นี่เป็นศูนย์กลางสำคัญทางศาสนา ปรัชญา และวิทยาการของภูมิภาคนี้ของโลก” วาน เบอร์เกล กล่าว “นักภูมิศาสตร์รู้จักดารุลอิสลาม(บ้านแห่งอิสลาม) แห่งนี้อย่างละเอียด มันมีเนื้อที่กว้างใหญ่ที่แผ่ขยายมาจากดินแดนที่ปัจจุบันนี้คือสเปนไปจนถึงปากีสถานและอัฟกานิสถาน พวกเขาได้วาดแผนที่ถนน แม่น้ำ เมืองต่างๆ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ หน่วยบริหารจัดการ ประชาชน… พวกเขายังมีความรู้ดีเกี่ยวกับอินเดียด้วย แต่น้อยกว่าที่รู้เกี่ยวกับยุโรปมาก”

“เรื่องบันทึกเกี่ยวกับจีนและอินเดีย” (Accounts of China and India) โดยอบูซัยด์ อัล-ซิรอฟี และนักประวัติศาสตร์คนอื่นๆ ที่เพิ่งได้รับการแปลออกมานี้ ได้ทำให้เกิดขึ้นความเข้าใจที่น่าตื่นตาตื่นใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงถึงกันและความเป็นไปในยุคอับบาซียะฮ์ สำหรับผู้อ่านในยุคปัจจุบันที่ไม่ได้อยู่ในเวลาและสถานที่นั้น ข้อสังเกตุของนักเขียนบางคนอาจดูเหมือนเป็นเรื่องแปลกประหลาดและไม่น่าเชื่อ แต่เรื่องราวใน อัคบาร์ (รายงานข่าวที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาได้เห็นหรือได้รับฟังมา) ส่วนใหญ่สามารถทำให้นึกถึงชาวอินเดียและชาวจีนสมัยใหม่ได้ง่ายๆ

การเขียนข่าวในยุคนั้น

ทิม แมคอินทอช-สมิธ ผู้แปล เรื่องบันทึกเกี่ยวกับจีนและอินเดีย เป็นภาษาอังกฤษ และเป็นนักเขียนหนังสือเกี่ยวกับการเดินทาง ได้เปรียบ อัรบาร์ ว่าเหมือนกับการเขียนข่าวในปัจจุบัน และรูปแบบของมันทำให้เขานึกถึง “เว็บไซต์การท่องเที่ยวออนไลน์ที่มีการโต้ตอบระหว่างกัน”

อบูซัยด์ต้องการเดินทางกลับบ้าน เรื่องบันทึก ของเขาจึงไม่ได้บรรยายถึงโลกในจินตนาการ เป็นเพียงการบอกเล่าความเป็นจริงไปตามที่ได้รับรู้เท่านั้น เขาอ้างว่า “ได้หลีกเลี่ยงการเล่าเรื่องราวในประเภทที่นักเดินเรือใช้ความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นของพวกเขาแต่ความน่าเชื่อถือของพวกเขาไม่ได้ผ่านการพินิจพิเคราะห์ถึงจิตใจของมนุษย์คนอื่นๆ เลย” คติประจำใจของเขาคือ “ยิ่งสั้นยิ่งดี” ทำให้เรานึกถึงคำขวัญของการเขียนข่าวในปัจจุบันคำหนึ่งคือ KISS = ‘keep it short and simple’ (ทำให้มันสั้นและง่ายเข้าไว้)

เรื่องบันทึกการเดินทางของอบูซัยด์สะท้อนให้เห็นแรงกระตุ้นของอิสลามอาหรับภายใต้การปกครองช่วงแรกเริ่มของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ให้ทำการสำรวจไปทางตะวันออก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ทำการติดต่อกับจีน ในบทนำของ เรื่องบันทึก นี้ อัล-มันซูร คอลิฟะฮ์คนที่สองของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ และผู้สร้างเมืองแบกแดด ยืนอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำและกล่าวว่า “นี่คือไทกริส และไม่มีอะไรขวางเส้นทางนี้ระหว่างมันกับประเทศจีน” เรือของชาวอาหรับจะล่องไปทางทิศตะวันออกในฤดูกาลหนึ่งเมื่อลมพัดไปทางนั้น และกลับมาทางทิศตะวันตกเมื่อ เมาซิม (ภาษาอาหรับที่กลายมาเป็นคำว่า “monsoon” ในภาษาอังกฤษ) ทำให้ลมพัดพาเรือของชาวอาหรับกลับบ้าน

ท่าเทียบเรือสำคัญสำหรับการค้าฤดูมรสุมสมัยอับบาซียะฮ์อยู่ที่เมืองซิราฟในอ่าว บ้านเกิดของอบูซัยด์ อัล-ซิรอฟี ที่ปัจจุบันอยู่ในอิหร่าน เรือจะออกจากซิราฟข้ามอ่าวไปยังท่าเรือโอมานีในซูฮาร์ หรือมัสกัต และเดินทางต่อไปยังอินเดีย, จีน, คาบสมุทรมลายู, ชวา หรือไกลกว่านั้น ท่าเรือสำคัญของจีนคือคานฟู หรือปัจจุบันคือมหานครกวางโจว ขณะที่นักสำรวจสมัยอับบาซียะฮ์ค้นพบประเทศจีน ชาวจีนก็กำลังค้นพบ “ตะวันตก” และนักประวัติศาสตร์ของพวกเขาได้กล่าวถึงเส้นทางการเดินเรือไปอิรักและไปบังดา ตามที่พวกเขาเรียกแบกแดด

“แนวคิดสังคมนิยม” ของราชวงศ์ถัง

จุดสูงสุดของอาณาจักรคอลิฟะฮ์ราชวงศ์อับบาซียะฮ์อยู่ในสมัยเดียวกันกับช่วงเวลาแห่งความเจริญรุ่งเรืองของราชวงศ์ถังในจีน (619-907) ใน เรื่องบันทึก นี้ อาณาจักรจีนถูกบรรยายภาพออกมาเป็นสังคมที่มีกฎระเบียบและมีการจัดระบบอย่างดีเยี่ยม รัฐบาลดูแลเอาใจใส่ความเป็นอยู่ของประชาชน ถ้าผู้ป่วยเป็นคนยากจน “เขาจะได้รับค่ารักษาพยาบาลจากกองคลังของรัฐ”

พลเมืองจะจ่ายภาษีรายตัวเมื่ออายุครบ 18 ปี คนชราไม่ต้องจ่ายภาษีแต่ได้รับเบี้ยยังชีพ ทุกเมืองมีโรงเรียนและครู และเด็กๆ จากครอบครัวที่ยากจนจะได้รับอาหารจากกองคลังของรัฐ “ชาวจีน ไม่ว่าจะยากจนหรือร่ำรวย เยาวชนหรือคนชรา ทุกคนได้เรียนรู้รูปแบบตัวอักษรและการเขียน” ฟังดูเหมือนรูปแบบของสังคมนิยมก่อนจะมีคำว่าสังคมนิยม

อบูซัยด์ชื่นชม “การปกครองที่น่านับถือ” ของชาวจีน พวกเขามีหลักนิติธรรม ความถูกต้องจะเกิดขึ้น “ทุกเมื่อที่ถึงเวลา” และไม่มีการเมินเฉยต่อ “การกระทำผิดของบรรดาคนชั้นสูง” หัวหน้าขันทีด้านการเงินควบคุมดูแลการเงินของรัฐ รายได้ของรัฐประกอบด้วยเงินภาษีรายหัวและสิทธิพิเศษของผู้ปกครองในการขายเกลือและชา ชาวอาหรับไม่เคยรู้จักชามาก่อนที่จะเดินทางไปจีน ใน เรื่องบันทึก นี้ อบูซัยด์กล่าวถึงชาว่าเป็น “พืชชนิดหนึ่งที่พวกเขาดื่มกับน้ำร้อนและมีขายในทุกเมือง สร้างรายได้อย่างดี ในการชง ต้องต้มน้ำให้เดือด แล้วโรยใบชาลงไปในน้ำ และนำมาดื่มเป็นยาต้านพิษสำหรับทุกโรค”

นักเดินทางชาวอาหรับประหลาดใจกับความขยันขันแข็งของชาวจีน “ในบรรดาสิ่งถูกสร้างของพระเจ้าทั้งหมด ชาวจีนมีความคล่องแคล่วมากที่สุดในการแกะสลัก การผลิต และงานฝีมือทุกประเภท จริงๆ แล้ว ไม่มีคนชาติไหนที่จะเทียบพวกเขาได้เลยในด้านนี้”

สะดุดกับนิสัยสุขอนามัย

แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องจะได้รับความชื่นชมในสายตาของชาวอาหรับ พวกเขารู้สึกกลัวกับการขาดสุขอนามัยของชาวจีน ชาวจีนใช้ “แค่กระดาษ ไม่ใช้น้ำ ในการทำความสะอาดทวารหนักหลังการขับถ่าย”และไม่ทำความสะอาดฟันและมือก่อนรับประทานอาหาร นักประวัติศาสตร์ชาวอาหรับมีความรังเกียจกับพฤติกรรมทางเพศบางอย่างของคนที่ไม่ใช่มุสลิม พวกเขาไม่ชมชอบกับนิสัยของชาวจีนที่จะมีสัมพันธ์ทางเพศกับผู้หญิงแม้ในขณะที่พวกเธอมีประจำเดือนและกับการค้าประเวณีชั้นสูงของพวกเขา “เด็กหนุ่มวัยรุ่นชาวจีนที่ถูกจัดหามาเพื่อจุดประสงค์นั้น และเป็นลักษณะเดียวกันกับโสเภณีวิหาร”

ในบางเรื่อง นักสำรวจชาวอาหรับใช้ชีวิตในโลกที่ดีกว่าโลกของเรา ในขณะที่ปัจจุบันแรดถือว่าเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในอินเดียเพื่อมีการล่ามากเกินไป นักประวัติศาสตร์ชาวอาหรับรายงานว่าสัตว์เหล่านี้ “มีเป็นจำนวนมากในราชอาณาจักรของอินเดีย” เขารายงานว่าได้รับประทนเนื้อของแรดเพราะ “มันเป็นสิ่งที่อนุมัติสำหรับชาวมุสลิม” เขาประทับใจในความแข็งแกร่งของแรด “ไม่มีสัตว์อื่นใดที่จะแข็งแรงเท่ามัน ช้างยังต้องวิ่งหนีจากแรดด้วยความกลัว”

เช่นเดียวกับในยุคสมัยของเรา ความมั่นคงทางการเมืองและการค้าขายไม่เคยคงอยู่ตลอดไป ในช่วงปลายศตวรรษที่ 9 กลุ่มกบฎได้ทำให้ราชวงศ์ถังอ่อนแอ พ่อค้าชาวต่างชาติหลายพันคนในเมืองคานฟู หรือกวางโจว ถูกสังหารหมู่ ทำให้การค้าขายโดยตรงระหว่างชาวจีนและชาวอาหรับต้องหยุดชะงักลง อย่างไรก็ตาม การค้าขายทางอ้อมยังดำเนินต่อไป โดยที่พ่อค้าชาวอาหรับยังซื้อสินค้าของจีน เช่น ซื้อเครื่องลายครามของจีนในอินเดีย

ไม่กี่ทศวรรษหลังเกิดกบฏชาวจีนและการสังหารหมู่ในคานฟู อำนาจการปกครองของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ในอาณาจักรนี้ได้เสื่อมคลายลง วาล เบอร์เกล อธิบายว่าดินแดนภายนอกยอมรับคอลิฟะฮ์ไปตามระเบียบเท่านั้น ในช่วงเวลาแห่งความเสื่อมถอยนี้เองที่อบูฟัดลัน นักเดินทางจากอิรัก ได้เริ่มออกเดินทางไปยังดินแดนโวลก้า-บัลกา เขาได้เขียนถึงการได้พบเจอวัฒนธรรมแปลกใหม่ เช่นเรื่องเกี่ยวกับไวกิ้ง ใน “ภารกิจสู่โวลก้า” (Mission to the Volga) ของเขา

ประชาชนอย่างเรา

อัคบาร์ กระตุ้นจินตนาการและความคิดฝันของเราเกี่ยวกับประชาชนในยุคที่ผ่านมาที่แสดงให้เห็นความคล้ายคลึงกันมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 อย่างน่าประหลาดใจ ภารกิจสู่โวลก้า ของอบูฟัดลัน เป็นแรงบันดาลใจของนวนิยายเรื่อง Eaters of the Dead และภาพยนตร์เรื่อง The Thirteenth Warrior ของไมเคิล คริชตัน
Nelleke Ijssennagger ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับไวกิ้ง พบว่ามันน่าขำที่มีบางคนในยุโรปเปรียบเทียบไวกิ้งกับเหล่านักรบจากรัฐอิสลลาม หรือสลับกัน คือโหดร้าย ป่าเถื่อน… “ผมคิดว่ามันเป็นเพราะพวกเขาไม่มีแนวคิดที่แท้จริงเกี่ยวกับไวกิ้ง หรือเกี่ยวกับรัฐอิสลาม โดยแรกเริ่มแล้วไวกิ้งสร้างแต่ข่าวที่แย่มากๆ พวกเขาบุกรุกดินแดนบางแห่งในยุโรปเหนือ ทำลายทุกอย่าง และเผาหมู่บ้าน ชื่อเสียงเสียหายของพวกเขาได้ปิดบังข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาเป็นกลุ่มชนที่มีระเบียบวินัย มีความทันสมัยมากในหลายๆ ด้าน”

“การติดต่อทางการค้าในยุคกลางตอนต้นยังคงถูกมองข้ามไปอย่างมาก” ดร.คาร์ล ไฮเดกเกอร์ นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโกรนินเจน กล่าว “ วัตถุจำนวนมากจากตะวันออกกลาง แอฟริกา และแม้แต่อัฟกานิสถาน ถูกค้นพบในพื้นที่ของชาวไวกิ้ง สิ่งต่างๆ ได้หมุนเวียนไป” ไฮเดกเกอร์เน้นย้ำว่า นี่ไม่ได้หมายความว่าชาวยุโรปเหนือมีการติดต่อโดยตรงกับชาวอัฟกันหรือชาวจีน บ่อยครั้งที่สิ่งของต่างๆ มาหยุดอยู่ในที่แห่งหนึ่งหลังจากการเดินทางอันยาวนาน และผ่านมาหลายมือ

หนึ่งในสิ่งที่สร้างความประหลาดใจมากที่สุดจากเรื่องบันทึกการเดินทางของชาวอาหรับนี้ก็คือ ความทันสมัยของชาวไวกิ้ง, ชาวเติร์ก, ชาวจีน, ชาวอินเดีย และชาวอับบาซียะฮ์ เมื่อกว่าหนึ่งพันปีที่แล้ว เรื่องบันทึกนี้  บรรยายให้เห็นโลกที่มีการเชื่อมโยงถึงกัน แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความไม่จีรังยั่งยืนของอำนาจทางการเมืองและความสัมพันธ์ในความก้าวหน้าของมนุษย์ด้วยเช่นกัน

 

——-
แปลจาก http://www.middleeasteye.net/in-depth/features/1000-years-ago-chinese-through-abbasid-eyes-1745528673