เมื่อนึกถึงนักบุกเบิกผู้ยิ่งใหญ่ พวกเขามักจะคิดถึงชื่อของ มาร์โค โปโล, อิบนฺ บัตตูตา, เอฟลิยา ซีเลบี, คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ฯลฯ แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักนักบุกเบิกผู้หนึ่งที่น่าสนใจและมีอิทธิพลมากที่สุดตลอดกาล ในประเทศจีน เขาเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี แม้จะไม่เป็นที่ยอมรับและไม่รุ่งเรืองมากนัก เขาคือเจิ้งเหอ มุสลิมที่ได้เป็นแม่ทัพ เป็นนักบุกเบิก และนักการทูตผู้ยิ่งใหญ่ของจีน
ต้นกำเนิด
เจ้อเหอ เกิดในปี 1371 ในมณฑลยูนนาน ทางภาคใต้ของจีน ในตระกูลหุย (กลุ่มเชื้อชาติจีนมุสลิม) ชื่อแต่กำเนิดของเขาคือ หม่าเหอ ในประเทศจีน ชื่อสกุลจะเป็นชื่อแรก ตามด้วยชื่อตัว “หม่า” ในประเทศจีนเป็นคำย่อของ “มุฮัมมัด” แสดงว่าเจ้อเหอเป็นมุสลิมมาแต่เดิม ทั้งพ่อของเขาและปู่ของเขาเคยได้เดินทางไปมักกะฮ์เพื่อทำฮัจญ์ ดังนั้น เจ้อเหอจึงมาจากครอบครัวมุสลิมที่ถือปฏิบัติศาสนา
ในวัยเด็ก เมืองของเขาเคยถูกกองทัพของราชวงศ์หมิงบุกจู่โจม เขาถูกจับตัวและส่งไปยังเมืองหลวง “หนานจิง” ที่ซึ่งเขาต้องรับใช้อยู่ในสำนักของจักรพรรดิ์ แม้จะอยู่ในสภาวะที่กดดันและยากลำบาก แต่เจ้อเหอก็ได้เป็นสหายกับเจ้าชายองค์หนึ่ง ชื่อ ซูตี้ และเมื่อเขาได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิ์ เจิ้งเหอก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุดในรัฐบาล ในสมัยนั้นเขาได้รับฉายานามอันเป็นเกียรติว่า “เจิ้ง” และเป็นที่รู้จักกันในนาม เจิ้งเหอ
การเดินทาง
ในปี 1405 เมื่อจักรพรรดิ์ซูตี้ ตัดสินใจที่จะส่งกองเรือขนาดใหญ่ออกไปเพื่อทำการบุกเบิกและค้าขายกับโลกภายนอก เขาเลือกเจิ้งเหอให้เป็นผู้นำในการเดินทาง การเดินทางครั้งนี้เป็นการเดินทางที่ยิ่งใหญ่ ในแต่ละลำเรือจะมีกะลาสีประจำอยู่เกือบ 30,000 คน โดยที่เจิ้งเหอเป็นผู้บัญชาการพวกเขาทั้งหมด ระหว่างปี 1405 ถึง 1433 เจิ้งเหอเป็นผู้นำการเดินทาง 7 ครั้ง โดยแล่นเรือไปยังดินแดนที่ในปัจจุบันคือประเทศมาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ไทย, อินเดีย, ศรีลังกา, อิหร่าน, โอมาน, เยเมน, ซาอุดิอารเบีย, โซมาเลีย, เคนย่า และประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ เป็นไปได้ว่าในระหว่างการเดินทางเหล่านี้ มีครั้งหนึ่งเขาได้เดินทางไปมักกะฮ์เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์
เจิ้งเหอไม่ใช่มุสลิมเพียงคนเดียวในการเดินทางเหล่านั้น ที่ปรึกษาของเขาหลายคนก็เป็นมุสลิมจีนด้วยเช่นกัน เช่น หม่าฮวน ล่ามที่พูดภาษาอาหรับได้และสามารถทำให้ผู้ที่พวกเขาได้พบระหว่างการเดินทางเปลี่ยนมาเป็นมุสลิมได้ เขาเขียนบันทึกการเดินทางชื่อ “ยิงใยเช็งลัน” (Ying-yai Sheng-lan) ซึ่งเป็นตำราสำคัญเล่มหนึ่งในปัจจุบันเพื่อการทำความเข้าใจสังคมต่างๆ ในแถบมหาสมุทรอินเดียในศตวรรษที่ 15
จะเห็นได้ว่าการเดินทางเหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่ผู้คนไม่สามารถลืมไปได้ง่ายๆ เรือที่เจิ้งเหอบัญชาการเป็นเรือที่มีความยาวถึง 400 ฟุต ใหญ่กว่าเรือของโคลัมบัสที่ล่องผ่านมหาสมุทรแอตแลนติก เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้วที่ผู้คนคิดว่าเรือขนาดใหญ่ยักษ์เหล่านี้เป็นการพูดเกินจริง อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางโบราณคดีจากอู่ต่อเรือที่สร้างเรือเหล่านี้ขึ้นมาในแม่น้ำแยงซีพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าอันที่จริงแล้ว เรือเหล่านี้ใหญ่กว่าสนามฟุตบอลในปัจจุบันเสียอีก
ทุกแห่งที่พวกเขาล่องเรือผ่านไป พวกเขาได้รับความเคารพนับถือ (และบางครั้งความหวาดกลัว) จากคนในท้องถิ่น ซึ่งได้มอบเครื่องบรรณาการแก่จักรพรรดิ์จีน ด้วยเครื่องบรรณาการและการค้ากับผู้คนทั้งหมดที่พวกเขาได้พบเจอนี้ เจิ้งเหอจะแล่นเรือกลับไปยังประเทศจีนด้วยสินค้าแปลกใหม่ เช่น งาช้าง, อูฐ, ทองคำ และแม้แต่ยีราฟจากแอฟริกา การเดินทางเหล่านี้ได้ส่งสารหนึ่งไปยังโลกว่า จีนคือมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองชาติหนึ่ง
การเผยแพร่อิสลาม
เศรษฐกิจและการเมืองไม่ใช่ผลกระทบเพียงอย่างเดียวจากกองเรือยิ่งใหญ่ที่เจิ้งเหอเป็นผู้บังคับบัญชาการนี้เท่านั้น เขาและมุสลิมที่เป็นที่ปรึกษาของเขาจะส่งเสริมศาสนาอิสลามในทุกที่ที่พวกเขาเดินทางไปเสมอ ในเกาะต่างๆ ของอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นชวา, สุมาตรา, บอร์เนียว และเกาะอื่นๆ เจิ้งเหอพบว่ามีชุมชนมุสลิมเล็กๆ ตั้งอยูที่นั่นก่อนแล้ว อิสลามได้เริ่มเผยแพร่เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อหลายร้อยปีก่อนหน้านั้นผ่านการค้าขายจากอาหรับและอินเดีย เจิ้งเหอได้ช่วยสนับสนุนให้ศาสนาอิสลามเจริญรุ่งเรืองในพื้นที่เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง
เจิ้งเหอได้ตั้งชุมชนมุสลิมในปาเล็มบัง, ชวา, คาบสมุทรมลายู และฟิลิปปินส์ ชุมชนเหล่านี้ได้สอนศาสนาอิสลามให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นและมีส่วนสำคัญในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามในบริเวณนี้ กองเรือนี้ได้สร้างมัสยิดขึ้นหลายแห่ง และให้การบริการทางสังคมอื่นๆ ที่ชุมชนมุสลิมในท้องถิ่นต้องการ
แม้แต่หลังจากที่เจิ้งเหอเสียชีวิตในปี 1433 มุสลิมจีนคนอื่นๆ ได้สืบทอดงานการเผยแพร่อิสลามของเขาต่อไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ่อค้ามุสลิมจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับการส่งเสริมให้แต่งงานเพิ่มสร้างสัมพันธ์และซึมซับประชาชนในท้องถิ่นบนหมู่เกาะและคาบสมุทรมลายู ทำให้มีผู้นับถือศาสนาอิสลามเพิ่มมากขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งทำให้ชุมชนมุสลิมเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็งและหลากหลาย
มรดก
ในฐานะแม่ทัพ, นักการทูต, ทหาร และพ่อค้า เจิ้งเหอเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของชาวจีนและชาวมุสลิม เขาถูกมองว่าเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่สุดในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น่าเสียดายที่ภายหลังการเสียชีวิตของเขา รัฐบาลจีนได้เปลี่ยนหลักปรัชญาของตนไปตามแบบขงจื๊อมากขึ้น ซึ่งไม่สนับสนุนการเดินทางเหมือนการเดินทางของเจิ้งเหอ ด้วยเหตุนี้ ความสำเร็จและความดีความชอบของเขาส่วนใหญ่จึงถูกลืมเลือนหรือถูกมองข้ามไปเป็นเวลาหลายร้ยปีในประเทศจีน
อย่างไรก็ตาม มรดกของเขาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับแตกต่างกันอย่างมาก มัสยิดจำนวนมากในดินแดนนี้ถูกตั้งชื่อตามชื่อเขาเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของเขา ศาสนาอิสลามเผยแพร่เข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านหลายรูปแบบ ประกอบด้วยการค้าขาย การเดินทางของนักสอนศาสนา และการอพยพ แม่ทัพเจิ้งเหอเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการเผยแพร่อิสลามในดินแดนนั้น ปัจจุบัน อินโดนีเซียมีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมมากกว่าชาติใดในโลก และพวกเขาจำนวนมากอาจได้รับประโยชน์จากผลงานของเจิ้งเหอในดินแดนแห่งนี้
—–
แปลจาก http://lostislamichistory.com/zheng-he/
นักแปล, โต๊ะข่าวต่างประเทศ