เหตุระเบิดที่ศาลพระพรหมกลางย่านราชประสงค์ในกรุงเทพฯ ถือเป็นความสูญเสียที่รุนแรงครั้งหนึ่งของกรุงเทพฯ และกระทบต่อภาพลักษณ์หลายๆ ด้านของประเทศไทยแน่นอน แม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่เรามีรัฐบาลทหาร คสช.กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแทบทุกอย่าง แถมยังมีมาตรา 44 เป็นเครื่องมือสำคัญ ก็ตามที….
แต่ไม่ว่าจะเป็นเหตุระเบิดจากผู้ก่อการร้ายที่ไหน จะใจกลางเมืองหลวงหรือจะเกิดขึ้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ก็ตาม ล้วนเป็นเรื่องน่าเศร้าสะเทือนใจทั้งสิ้น ไม่ว่ามันจะด้วยอุดมการณ์ หรือความเชื่อใดๆ ก็ตาม เหตุการณ์แบบนี้ก็ไม่ควรเกิดขึ้นเลย แม้หลังเหตุการณ์มีการตามล่ามือระเบิดและตรวจตราระวังภัยกันอย่างเข้มข้น แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าคดีจะไปทางใด ขณะที่บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองซึ่งล้วนระดับสูงทั้งนั้น ต่างก็มีความเห็นไปคนละทิศละทาง ตั้งแต่ผู้นำรัฐบาล บิ๊กตำรวจ บรรดาบิ๊กคสช. ไปยันโฆษกรัฐบาล แต่ที่ประสานเสียงเหมือนกันเป๊ะก็คือบอกว่า “ไม่น่าใช่ก่อการร้าย เพราะไม่มีผู้อ้างความรับผิดชอบ?” แล้วก็โบ้ยไปทางฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลนั่นแหละ ง่ายดีไม่ต้องอะไรมาก
“เอาที่ท่านสบายใจเลย” ไม่ถือสากัน เพราะช่วงนี้รัฐบาลกำลังขวัญหนีมืดแปดร้อยด้านหาทางตั้งหลักอยู่ ที่เราควรทำคือ ให้กำลังใจพวกท่าน ไม่ไปกดดันมาก สื่อต่างๆ และประชาชนอาจวิพากษ์วิจารณ์กันไปก็ย่อมเป็นสิทธิที่วิจารณ์ได้ แต่อย่าลืมเชียวว่า เจ้าหน้าที่พอโดนกดดันมากๆ เข้า จะกลายเป็นเร่งให้คนทำงาน ทำแบบรีบปิดจ๊อบเกินไปแบบที่ผ่านๆ มา!
ไม่ก็ทำเนียนๆ เงียบๆ ไปซะ เดี๋ยวก็มีเรื่องอื่นมากลบเอง หรือไม่ก็อาศัยวิธียอดฮิตของบ้านเราคือ การคว้าแพะมาบูชายัญรับบาปไป ทีนี้ก็จะกลายเป็นยิ่งผิดฝาผิดตัวไปไกลอีก หวานคอนักก่อการร้ายตัวจริงเลยทีนี้ บ้านเรายิ่งหา “แพะ” ไม่ยากซะด้วย ดูอย่างคดีเกาะเต่านั่นไง….เป็นตัวอย่างที่เห็นๆ กันอยู่!!
แต่ที่เห็นชัดจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่ม ISIS วันนี้ เต็มไปด้วยคนหนุ่มสาวที่มีการศึกษาดี จำนวนไม่น้อยมีฐานะครอบครัวดี เป็นคนที่ดูปกติธรรมดาทั่วๆ ไป และมักใช้การเชื่อมโยงติดต่อกันทางโซเชี่ยล พอมีแนวทางอุดมการณ์ไปด้วยกันได้ พวกเขาก็รวมกลุ่มแลกเปลี่ยนกัน ต่างฝ่ายต่างทำ ต่างคนต่างคิดวางแผน ดังนั้นการก่อการร้ายระยะหลังๆ มาจะเห็นว่า ผู้ก่อการร้ายเป็นคนหนุ่มสาวอายุน้อยลง ที่รวมกลุ่มกันก่อการไม่กี่คน และบ่อยครั้งลงมือคนเดียวด้วยอุดมการณ์ที่ลุกโชน จึงไม่จำเป็นต้องขึ้นกับใครเลยก็ได้
ดังนั้นการที่นักวิเคราะห์หรือที่ผู้เชี่ยวชาญด้านก่อการร้าย ระบุว่า เหตุระเบิดที่ราชประสงค์มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็น “การก่อการร้าย” ก็เพราะว่า โลกยุคดิจิตอลนี้การก่อการร้ายไม่จำเป็นต้องกระทำแบบ “ครบองค์ประกอบ” ของการก่อการแบบเดิมๆ ตามแพทเทิร์นอีกต่อไป กล่าวคือลงมือแล้ว หนีหาย ไม่มีใครอ้างความรับผิดชอบ ซึ่งก็ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป
ลองสมมติว่า ถ้าเป็นคนหนุ่มสาวธรรมดาๆ ที่คลั่งอุดมการณ์แบบสุดโต่ง (ดูจากกรณีไอซิสในหลายเหตุการณ์) เมื่อคลุ่กอยู่กับโซเชี่ยลมากๆ ได้รับข้อมูลข่าวสารจนอินสุดๆ ถ้าเขาจะวางแผนเพื่อก่อการอะไรสักอย่างใจกลางกทม.ที่มีผู้คนขวักไขว่ ไม่ค่อยใส่ใจกันมากนัก ย่อมไม่ใช่เรื่องยาก หากวางแผนมาดีๆ หาทางหนีทีไล่ก็ไปได้หลายเส้นทาง ไม่ว่าจะขึ้นเครื่องภายในประเทศใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงก็ถึงด่านชายแดนแล้ว หรือจะนั่งรถทัวร์ หรือขับรถไปลงตามด่านตามตะเข็บชายแดนจังหวัดต่างๆ ก็สามารถหนีไปได้ทุกภูมิภาคของประเทศเลยทีเดียว
แค่แปลงโฉมปรับบุคลิกซะหน่อย ทำได้ง่ายๆ ด้วยสารพัดตัวช่วย ทำระเบิดยังเสิร์ชกูเกิ้ลทำกันถมไป จะสั่งซื้ออาวุธหรือวัตถุดิบบางอย่างในตลาดมืดออนไลน์ก็ง่ายเพียงคลิกเดียว ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม แปลงโฉมเนียนๆ อยู่ในหมู่คนนี่แหละ ใครจะไปรู้ว่าหนุ่มเนิร์ดกับสาวแบ้วที่เดินสวนทางกับเราเมื่อครู่พกระเบิดมาเต็มเป้หลัง เพื่อทำอะไรสักอย่างในสิ่งที่พวกเขาเชื่อหรือคับแค้นในใจ
อย่าบอกว่า สงสัยดูหนังสืบสวนมากไป….ชีวิตจริงนี่แหละมันเกิดขึ้นมาแล้ว อย่างไรก็ตาม…ชีวิตต้องเดินหน้าต่อ ประชาชนอย่างเราช่วยกันเองได้ด้วยการดูแลช่วยเหลือระแวดระวังสังเกตความผิดปกติต่างๆ กันเอง ไปหวังพึ่งแต่รัฐคงไม่รอด ก็ขนาดแค่เรื่องกล้อง CCTV ตั้ง 50,000 ตัวของกทม.ยังช่วยอะไรไม่ได้ ภาพคนร้ายเห็นหน้าเบลอยังกับเอเลี่ยน ที่ตำรวจได้ภาพมาชัดๆ ทั้งหมดล้วนเป็นภาพจากกล้องเอกชนทั้งสิ้น….เรียกว่ากล้องร้านชำยังชัดกว่ากล้องกทม.เสียอีก!!
ที่แน่ๆ ก่อการร้ายไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่จะยับยั้งไม่ให้เกิดขึ้นได้หรือไม่ ก็ต้องเริ่มจากรัฐไม่ควรปฎิเสธการมีอยู่และเป็นไปได้จริงของการก่อการร้ายเสียก่อน ถ้าแค่ถือครองอำนาจล้นพ้น ที่สามารถจะเล่นงานใครก็ได้ แต่ยังอุตส่าห์มีคนมาวางระเบิดกลางเมืองได้แบบนี้ ถือว่าหยามกันเห็นๆ ได้ไหมล่ะท่าน?!
อภิรดี จูฑะศร เป็นอดีตผู้สื่อข่าวภูมิภาค (ภาคใต้) นสพ.ผู้จัดการรายวัน อดีตหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์และครีเอทีฟบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ 2 ค่ายดังของเมืองไทย ก่อนมารับตำแหน่งบรรณาธิการบริหารนิตยสารในเครือจีเอ็ม กรุ๊ป เป็นอดีตเลขาธิการสมาคมนักข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2546-2548 มีบทบาทร่วมเคลื่อนไหวและรณรงค์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ผืนป่าตะวันตก และต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและการทารุณกรรมสัตว์ ตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน เคยเป็นเลขาธิการมูลนิธิ Wildlife และ เป็นกรรมการกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ มีผลงานเขียนทั้งบทความ สารคดี บทกวี เรื่องสั้น และบทสัมภาษณ์คนดังหลายวงการในหน้านสพ.และนิตยสารหลายเล่มตลอดกว่า 25 ปีในแวดวงสื่อสารมวลชน ปัจจุบันเป็นครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ บ.มีเดีย โร้ด , บรรณาธิการ/ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ. The Public Post