อาหารฮาลาลไทย หวังไกลเป็นครัวฮาลาลโลก

หากพูดถึงอาหารฮาลาล หลายคนคงคิดว่าเป็นอาหารสำหรับชาวมุสลิมเท่านั้น ที่สามารถรับประทานได้สะดวกและสบายใจ  แต่อาหารที่มีเครื่องหมายฮาลาล หรือเรียกสั้นๆ  
ว่าอาหารฮาลาลนั้น สามารถทานได้ทุกศาสนาและทุกประเทศ เพราะเครื่องหมายฮาลาลแสดงถึงการปรุงอาหารที่สะอาด ที่ถูกหลัก ถูกวิธี ตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งสามารถทานได้ทุกคน
แม้บุคคลนั้นนั้นจะไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามก็ตาม

“ฮาลาล” เป็นคำมาจากภาษาอารบิก  ความหมาย คือ การผลิต การให้บริการ หรือการจำหน่ายใดๆ ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนา ดังนั้น  จึงกล่าวได้ว่า “อาหารฮาลาล”  คือ  อาหารที่ได้ผ่านกรรมวิธีในการทำ ผสม ปรุง ประกอบ หรือแปรสภาพ ตามศาสนบัญญัติ

อาหาร “HALAL”

อาหารที่มีเครื่องหมายฮาลาล เป็นการรับประกันว่า ชาวมุสลิมโดยทั่วไป ไม่ว่าจะประเทศไหนๆ สามารถบริโภคอาหารหรืออุปโภคสินค้าหรือบริการต่างๆ ได้ด้วยความสบายใจ โดยสังเกตกจากตรา “ฮาลาล” ที่ฉลากสินค้านั้นๆ เสมือนเป็นเครื่องหมายรับรองที่เชื่อได้ถือได้ 100% สำหรับชาวมุสลิมทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่มาเที่ยวประเทศไทย

แต่ “ฮาลาล” ก็ไม่ได้หมายถึงอาหารในการบริโภคแต่เพียงเท่านั้น ฮาลาลยังหมายรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น  เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ของใช้ในชีวิตประจำวัน และการใช้จ่ายในด้านการเงินหรือดอกเบี้ยด้วยเช่นกัน

ตรา HALAL

“เครื่องหมายฮาลาล” หรือโลโก้หมายถึง การผ่านการรับรองหรือได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาล ของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดต่างๆ  ที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นสามารถทำการประทับตรา หรือแสดงลงบนฉลากผลิตภัณฑ์หรือกิจการใดๆ โดยใช้สัญลักษณ์ที่เรียกว่า “ฮาลาล” ภายในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ด้านหลังกรอบเป็นลายเส้นแนวตั้ง ใต้กรอบภายในเส้นขนาน จะมีคำว่า “สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย” โดยเครื่องหมายดังกล่าวนี้  จะออกให้กับผลิตภัณฑ์ อาหาร เครื่องดื่ม หรือเนื้อสัตว์ฮาลาลที่นำเข้าจากต่างประเทศ

ธุรกิจอาหารฮาลาลในตลาดโลก

กลุ่มผู้บริโภคอาหารฮาลาลนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยประชากรมุสลิมในโลก    มีประมาณ 1,800–1,900 ล้านคน ตลาดอาหารฮาลาลในโลกมีมูลค่าประมาณ 6,000,000 ถึง 8,000,000 ล้านบาท (ประมาณ 150,000–200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ)  แต่ตลาดอาหารฮาลาลมิได้จำกัดวงเฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้น ยังได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปด้วย เพราะตามที่กล่าวตอนต้น อาหารฮาลาลสามารถทานได้ทุกศาสนา ดังนั้น จึงคาดว่า มูลค่าตลาดอาหารฮาลาลมีขนาดใหญ่กว่าที่ประมาณการกันไว้มาก

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาล เฉลี่ยปีละ 120,000 –130,000 ล้านบาท  มีอัตราการขยายตัวประมาณ 9% ต่อปี โดยมีตลาดตะวันออกกลางเป็นตลาดที่มีการขยายตัวที่สำคัญที่สุดและใหญ่ที่สุด โดยเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 20% ปี 2544-2547(สถิติล่าสุด) มีบริษัทได้รับการรับรองฮาลาลถึง 1,055 บริษัท หรือเพิ่มขึ้น 71.7% จากปี 2543 ที่มีเพียง 321 บริษัท

ประเทศไทยกับการขยายตลาดฮาลาลในตลาดโลก

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในด้านอาหารสูง  สามารถที่จะเป็นศูนย์กลางของธุรกิจอาหารฮาลาลได้อย่างแน่นอน เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบในด้านวัตถุดิบ เพราะเป็นประเทศเกษตรกรรม และประเทศไทยมีนโยบายหลัก ผลักดันให้ประเทศไทยเป็น  ”ครัวโลก”ซึ่งปัจจุบันอาหารไทยเป็นที่นิยมและเป็นที่ติดใจของคนทั่วโลก แม้แต่ในการแข่งขันทำอาหารรายการทีวีของอเมริกา ยังมีผู้เข้าแข่งขันซึ่งเป็นคนต่างชาติ นำอาหารไทยไปร่วมทำการแข่งขันด้วย

และประเทศไทยมีภาครัฐและเอกชนที่พร้อมจะร่วมมือผลักดันด้านมาตรฐานการผลิตสินค้าอาหารฮาลาลให้ไปไกลในตลาดโลก แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาและอุปสรรคของ  ผู้ประกอบธุรกิจอาหารของไทย คือ ขาดความรู้ ความเข้าใจอย่างแท้จริงในสินค้าอาหารฮาลาล รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังขาดทิศทางที่ชัดเจนในการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ จะผลักดันให้ธุรกิจอาหารฮาลาลของไทย สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลและมุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารฮาลาลโลก

แม้จะขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เพราะยังขาดความรู้ความเข้าใจของผู้ประกอบการ แต่เรามีหน่วยงานที่กำกับดูแลทางด้านฮาลาลเพื่อให้การผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ได้รับเครื่องหมายฮาลาล ตรงกับศาสนบัญญัติของศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับสินค้าที่มีตราฮาลาล  หน่วยงานที่กำกับดูแล คือ  คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด

และทางรัฐบาลก็มีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหาร ฮาลาลเพื่อการส่งออก และได้แปลงนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยให้หน่วยงานเข้ามาช่วยดูแลเพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อจะได้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนได้ เช่น สถาบันอาหาร ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อช่วยพัฒนาด้านการผลิต วัตถุดิบ การส่งเสริมผู้ประกอบการ การแสวงหาตลาดและการพัฒนากลไกการรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล ให้เป็นที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค    ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ด้วยความร่วมมือกันอย่างแข่งขัน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเหล่านี้ รวมทั้งศักยภาพของประเทศไทยในด้านอาหาร จึงมั่นใจได้ว่า โอกาสที่ประเทศไทย ซึ่งหวังว่าจะเป็นครัวฮาลาลของโลก คงจะเป็นจริงได้ในไม่ช้า


ข้อมูลอ้างอิง
-สำนักส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ

-คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย