บนเกาะฟาเดล หมู่บ้านเล็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลของเขตปกครองชาร์เกียของอียิปต์ที่ห่างจากไคโรประมาณห้าชั่วโมงโดยรถยนต์ เป็นที่อาศัยของชุมชนผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์รุ่นที่สอง
พวกเขามีจำนวนประมาณ 2,000 คน เมื่อครั้งที่ผู้ลี้ภัยได้หนีเข้ามาในอียิปต์เมื่อเดือนพฤษภาคม 1948 ด้วยกลัวว่าจะประสบชะตากรรมเดียวกับพวกที่ถูกสังหารหมู่ที่ Deir Yassin พวกเขาข้ามทะเลทรายซีนายมาด้วยอูฐ พร้อมกับข้าวของธรรมดา และได้รับการต้อนรับจากรัฐบาลอียิปต์ พวกเขาได้อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย “กีซีรต์ ฟาเดล” ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นหมู่บ้านอย่างที่เห็นในปัจจุบัน พร้อมกับคำสัญญาว่าจะให้ย้ายไปอยู่สถานที่ที่ดีกว่าหลังจากนี้ไม่นาน
ฮัจญีฮิมดาน ในวัยเก้าสิบต้นๆ และเป็นคนหนึ่งจากผู้ลี้ภัยปี 1948 ที่เหลืออยู่ไม่กี่คน ได้บอกเล่าเรื่องราวของเขาแก่ Middle East Eye ด้วยความสามารถที่น่าทึ่งของเขาในการจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 65 ปีที่แล้ว
“พวกเขาบอกว่าอีกเดือนหรือสองเดือน เราจะได้ย้ายไปอยู่ที่ที่ใกล้กับเมืองหลวงมากกว่านี้” ฮิมดาน กล่าว
“เราคอยแล้วคอยอีก รัฐบาลเปลี่ยน กษัตริย์หลบหนี ประธานาธิบดีเสียชีวิต แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น หลังจากผ่านไปห้าหรือหกปี เราออกจากเต็นท์แล้วสร้างบ้าน แต่พวกเราบางคนก็ยังคงหวังว่าเราจะได้ย้ายไปที่ที่ดีกว่านี้ เรายังไม่เข้าใจบทเรียนที่ว่า ชาวอาหรับไม่ค่อยรักษาสัญญา”
หมู่บ้านนี้อยู่ในสภาพที่ยากจนอย่างยิ่ง ผู้ชายทุกคนในหมู่บ้านหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการเก็บขยะจากหมู่บ้านอื่นๆ ไปขาย โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างไปหนึ่งชั่วโมง นี่คือปัญหาใหญ่สำหรับชาวบ้านที่ไม่มีช่องทางการขนส่งใดๆ ไม่มีประปาหรือระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงในหมู่บ้าน เพราะเป็นหน้าที่ของพวกเธอที่จะต้องไปขนน้ำมาจากบ่อแบบเก่าในไร่ใกล้เคียง
เพิ่งมีการติดตั้งไฟฟ้าในหมู่บ้านนี้หลังจากที่อดีตประธานาธิบดีมุฮัมมัด มุรซี ได้รับเลือกตั้ง นอกเหนือจากไฟฟ้าแล้ว รัฐบาลของมุรซียังได้เริ่มสร้างโรงพยาบาลใกล้หมู่บ้านนี้ด้วย แต่ก็ต้องชะงักไปทันทีหลังจากที่เขาถูกขับออกไปด้วยการทำรัฐประหารของทหาร ไม่เพียงแค่การก่อสร้างโรงพยาบาลเท่านั้นที่หยุดไปโดยประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี แต่ในช่วงเดือนแรกที่เขาได้รับอำนาจ ผู้ลี้ภัยต้องสูญเสียการสนับสนุนจากรัฐบาลภายใต้ข้ออ้างว่าพวกเขาไม่ใช่พลเมืองของอียิปต์ นี่เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับตั้งแต่ปี 1948 ผู้ลี้ภัยได้รับการปฏิบัติเหมือนกับชาวอียิปต์ ตามคำบอกเล่าของชาวบ้านบนเกาะฟาเดล
ผู้หญิงคนหนึ่งในหมู่บ้าน ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อ ได้กล่าวถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า “มันเป็นวันที่มืดมิดสำหรับทั้งหมู่บ้าน เราไปรับขนมปังจากหมู่บ้านใกล้เคียง (รัฐบาลซีซีได้จัดระบบปันส่วนขึ้น โดยให้ขนมปังคนละห้าชิ้นต่อวัน) แล้วต้องประหลาดใจกับกฎหมายที่เพิ่งออกใหม่ว่า ไม่มีขนมปังให้ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์อีกต่อไปแล้ว”
ไม่มีโรงเรียนในหมู่บ้านนี้ด้วย โรงเรียนที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างไปหนึ่งชั่วโมง เช่นเดียวกับโรงพยาบาล และด้วยรายได้ของครอบครัวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 10-15 ปอนด์อียิปต์ (2 ดอลล่าร์) ทำให้น้อยคนที่จะสามารถส่งลูกเข้าโรงเรียนได้ นักเรียนในหมู่บ้านก็ไม่มีใครสามารถเรียนต่อให้สูงกว่ามัธยมได้
กฎหมายใหม่อีกฉบับหนึ่งออกเมื่อปีที่แล้ว ทำให้เป็นข้อบังคับสำหรับผู้อาศัยในหมู่บ้านทุกคนที่จะต้องไปต่ออายุเอกสารใหม่ทุกปี นี่คือประสบการณ์ที่เจ็บปวดสำหรับพวกเขาส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพราะค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่านั้น แต่เพราะพวกเขาส่วนใหญ่หลงทางได้ง่ายในระบบการทำงานของสถาบันต่างๆ ของรัฐบาล และพวกเขาต้องใช้เวลาเดินวนเวียนอยู่บนท้องถนนในไคโรอยู่สองหรือสามวัน เพียงเพื่อจะไปต่ออายุเอกสารของพวกเขา
ฮัจญีฟาราฮัต ในวัยปลายแปดสิบ พูดถึงวันเวลาของอดีตประธานาธิบดีด้วยความคิดถึง “ในสมัยของ(กามาล อับเดล) นัสเซอร์ เราต้องต่ออายุเอกสารทุกห้าปี และเราได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลก่อนเดือนรอมฎอนและก่อนทุกๆ วันอีด นัสเซอร์เป็นคนดีที่สุดในบรรดาประธานาธิบดีทั้งหมด”
เขาถอนหายใจและกล่าวต่อไปว่า “พวกเขาเริ่มลืมเราในระหว่างสมัยอันยาวนานของมุบารัก เราเคยคิดว่ามุรซีจะทำให้สภาพของเราดีขึ้น แต่พวกเขาก็กำจัดเขาออกไปก่อนที่เขาจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้”
เมื่อประเทศตกอยู่ในความวุ่นวายทางการเมือง และรัฐบาลยังประกาศสงครามกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงและนักเคลื่อนไหวจากการปฏิวัติเมื่อ 25 มกราคม มันจึงมีความเป็นไปได้สูงว่าจะไม่มีใครทำให้สถานการณ์ของผู้ลี้ภัยที่ถูกลืมนี้ดีขึ้นได้เลย
นักแปล, โต๊ะข่าวต่างประเทศ