รู้จักนักปรัชญามุสลิม: สำนักปรัชญาอิชรอกียะฮ์ Illuminationism หรือ Ishrāqi (ตอนที่ 1)

ตราไปรษณียากรที่ประเทศซีเรียออกเพื่อเป็นเกียรติแก่อัลกินดี (Al Kindi)
ตราไปรษณียากรที่ประเทศซีเรียออกเพื่อเป็นเกียรติแก่อัลกินดี (Al Kindi)

ก่อนอื่นขอปูพื้นสักเล็กน้อยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางปรัชญาอิสลามและย้อนดูบริบททางการเมืองและสังคมในยุคต่างๆก่อนที่จะปรากฏสำนักปรัชญาอิชรอรกียะฮ์ เพื่อให้ผู้อ่านผูกโยงได้เห็นว่านักปรัชญามุสลิมทุกคนได้ยืนหยัดต่อแนวทางปรัชญาและความเชื่อของตนอย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อทางศาสนากับปรัชญาที่จะต้องเดินไปด้วยกัน และพวกเขาได้นำเสนอสังคมให้เห็นว่าปรัชญากับศาสนาไม่ได้ขัดแย้งกันอย่างไร

ในตรงนี้คิดว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก จนสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมของมุสลิมที่ผ่านกระบวนทัศน์ทางปรัชญามาอย่างตกผลึก และได้จารึกว่าเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมอิสลาม ไม่ว่าในนครแบกแดด หรือ กูฟะฮ์ ในอิรัก และในคุรอซาน แห่งอิหร่าน หรืออิสฟาฮาน ทถือว่าเป็นดินแดนแห่งนักปราชญ์

ผู้ปกครองรัฐในยุคแรกๆ ของการปรากฏปรัชญาอิสลามถือว่า คอลีฟะฮ์จากบะนีอับบาสมีส่วนร่วมอย่างมาก และถือว่าอำนาจรัฐผลักดันอีกแรงหนึ่งทำให้ศาสตร์ปรัชญาเบ่งบาน โดยสนับสนุนให้นักวิชาการมุสลิมนำตำราต่างชาติ ไม่ว่าปรัชญากรีก ปรัชญาอินเดีย ปรัชญาเปอร์เซียมาแปลเป็นภาษาอะหรับ จนทำให้นักคิดนักค้นคว้าทั้งหลายได้เห็นคุณค่าของศาสตร์ปรัชญา และยังได้นำทฤษฎีบางอย่างทางปรัชญามาแก้ปัญหาหลักศรัทธา โดยใช้หลักตรรกศาสตร์มาใช้เป็นกลยุทธ์ในการโต้ตอบกับฝ่ายตรงกันข้าม ถือว่าบทบาทของนักเทววิทยาระดับแนวหน้ายุคนั้นมาจากสำนักคิดมุตะซีละฮ และสำนักคิดชีอะฮ และจากคุณค่าศาสตร์ทางปรัชญาที่ได้ถูกถ่ายทอดเป็นภาษาอะหรับนั้นทำให้มุสลิมหันมาสนใจต่อตำราปรัชญามากยิ่งขึ้น จนเกิดนักปรัชญาอาหรับขึ้นในนาม “อัลกินดี” หรือรู้จักในนาม ”ฟัยละซูฟอรับ”(นักปรัชญาอาหรับ)

บทบาทของอัลกินดีมีสูงมากโลกปรัชญาอิสลามในยุคก่อตัว เพราะเขานำตำราปรัชญากรีกและปรัชญาอินเดียแปลเป็นภาษาอะหรับและยังได้อรรถาธิบายเกี่ยวกับทฤษฎีทางปรัชญาให้เกิดความเข้าใจ จนทำให้การขยับตัวและการขยายตัวของปรัชญาอิสลามได้เริ่มต้นขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง ทำให้ปรัชญาอิสลามก่อตัวในรูปแบบของตำราและสร้างทฤษฎีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ไม่ใช่ปรัชญากรีก และไม่ใช่ทั้งปรัชญาอินเดีย หรือปรัชญาเปอร์เซียที่มีความโด่งดังในยุคนั้น

จึงทำให้อัลกินดีได้ถูกยอมรับในฐานะผู้บุกเบิกการค้นคว้าปรัชญาอิสลามและเป็นปฐมฤกษ์แห่งการนำศาสตร์ปรัชญาอิสลามไปสู่ความก้าวหน้า

และด้วยการสนับสนุนของคอลีฟะฮราชวงศ์อับบาสียะฮ์ กอรปกับคอลีฟะฮ์นั้นได้นิยมในสำนักคิดมุตะซีละฮ และไม่ต่อต้านสำนักคิดชีอะฮ์ในด้านการฟื้นฟูศาสตร์ปรัชญาและตรรกวิทยาเพราะสำนักคิดชีอะฮ์ได้นิยมหลักปรัชญามาก่อนหน้านี้เสียด้วยซ้ำ จะเห็นในบทบาทของอิมามยะฟัร ศอดิกและสานุศิษย์ของเขา ทำให้ปรัชญาอิสลามได้รับกระแสการตอบรับอย่างก้าวกระโดดเลยทีเดียว

แท้จริงแล้วแนวคิดทางปรัชญาอัลกินดีไม่เพียงแต่เป็นปฐมฤกษ์ของการขยายตัวและความก้าวหน้าปรัชญาอิสลามในยุคต่อมาแล้ว ยังแผ่ขยายไปสู่โลกตะวันตก เพราะได้ใหลบ่าสู่โลกตะวันตกโดยนำตำราปรัชญาของเขาแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาลาติน ภาษาฝรั่งเศส และแม้แต่ในปัจจุบันนักวิชาการตะวันตกได้นำตำราปรัชญาของอัลกินดีและบทความทางปรัชญาของเขาเกือบสามสิบเรื่อง เช่นบทความเรื่อง ฟัลซะฟะฮอูลา (อภิปรัชญา) บทความวิพากษ์ปรัชญาอริสโตเติลและทฤษฎีทางปรัชญาอิสลาม มาตีพิมพ์และยกให้เป็นทฤษฎีทางปรัชญาอิสลาม

แต่ทว่าหลังจากนั้นมีกระแสการโจมตีต่อปรัชญาเกิดขึ้น ทำให้นักปรัชญาต้องหลบๆซ่อนๆในการเผยแพร่ เราจะมาเล่ากันต่อนะครับในตอนต่อไปว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับโลกของปรัชญาอิสลาม จนกระทั้งทำให้ปรัชญาอิสลามต้องปรับตัวจากแนวนิยมเหตุผลจัด มาเป็นแบบอิชรอกียะฮ์…