รู้จักนักปรัชญามุสลิม: สำนักปรัชญาอิชรอกียะฮ์ Illuminationism หรือ Ishrāqi (ตอนที่ 2)

ตราไปรษณียากรที่ประเทศซีเรียออกเพื่อเป็นเกียรติแก่อัลกินดี (Al Kindi)
ตราไปรษณียากรที่ประเทศซีเรียออกเพื่อเป็นเกียรติแก่อัลกินดี (Al Kindi)

ประกายแสงทองแห่งปรัชญาอิสลามเริ่มต้นขึ้นด้วยอัลกินดี สร้างความคึกคักให้สังคมวิชาการและผู้รู้ในยุคนั้นอย่างมากทีเดียว  จนทำให้ความทะเยอทะยานและการค้นคว้าวิจัยเนื้อหาและปัญหาทางปรัชญาเพิ่มมากขึ้น และได้มีการเขียนตำราเกี่ยวกับปรัชญาอิสลามขึ้นอย่างไม่เคยเกิดมาก่อน

การะแสการตอบรับไปในทิศทางที่ดีมากในมุมหนึ่ง แต่ก็มีอีกมุมหนึ่งนักเทววิทยาแบบจารีตนิยมและนักนิติศาสตร์อิสลามแนวหัวโบราณได้ตั้งข้อสังเกตและพยายามหาจุดอ่อนต่อปรัชญา แต่กระแสก็ยังไม่กระเพื่อมสักเท่าไหร่ จนกระทั่งมาถึงยุค “มุฮัมมัด ซะการียา อัรรอซี” ผู้มีความโด่งดังในศาสตร์การแพทย์ และเป็นนายแพทย์ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งยุคนั้น และเขายังชำนาญทางศาสตร์ปรัชญาอิสลามอีกด้วย

เขาถือได้เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้บุกเบิกปรัชญาอิสลามหลังจากอัลกินดี แต่อัรรอซีมีความคิดเป็นอิสระมากกว่าอัลกินดี ดังนั้นปรัชญาของอัรรอซีค่อนข้างจะแตกต่างและดูไม่ค่อยเหมือนกับนักปรัชญาคนอื่นๆ มีทัศนะทางทฤษฎีอภิปรัชญาที่น่าสนใจ เราคงจะนำหัวข้อเฉพาะมากล่าวกันครับ

และต่อมาถึงยุคอัล ฟารอบี (Abu Al-Nasr Al-Farabi) หรือชาวตะวันตกเรียกกัน อัลฟาราเบียส (al-Pharabius)หรือ ฟาราบี (Farabi) หรือ อะบูนาเซอร์ (Abunaser) อะบู นัศร อัลฟารอบี เป็นนักปรัชญาอิสลามที่ยิ่งใหญ่และเป็นนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงมากชาวเปอร์เซียและเป็นผู้รอบรู้ในเรื่องจักรวาล ตรรกวิทยา ดนตรี สังคมวิทยาและจิตวิทยา

อัลฟารอบีได้เขียนแสดงความเห็นต่อผลงานของอริสโตเติลและวิพากษ์งานปรัชญาของอริสโตเติลอย่างน่าสนใจ และเขายังได้นำเสนอทฤษฎีการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในมุมปรัชญาที่ไม่เหมือนกับอริสโตเติลแต่คล้ายกับเพลโต้ในบางมิติ 

ความเชี่ยวชาญทางปรัชญาและตรรกวิทยาของอัลฟารอบีมีอิทธิพลมากต่อโลกปรัชญา จนได้รับการขนานนามว่า เป็นครูคนที่สอง (Second teacher)

อัลฟารอบี เป็นบุคคลริเริ่มการค้นพบความจริงและความคงอยู่ของช่องว่างในวิชาฟิสิกส์  อัลฟารอบีเป็นผู้เสนอแบบปรัชญาการเมือง หรือทฤษฎีนครอารยะ เป็นบุคคลแรกที่นำเสนอการใช้จิตวิทยาสังคม โดยกล่าวว่า “บุคคลที่อยู่อย่างโดดเดียวไม่สามารถที่จะบรรลุความสมบูรณ์ในตนเองได้ โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น”

และเขาได้กล่าวถึงอารยะแห่งนคร (มะดีนะฟาฎิละฮ์) ไว้น่าสนใจ ว่าตำแหน่งศาสดาและการสร้างเอกภพและมนุษย์  ได้ถูกผูกโยงกับหลักปรัชญาว่าด้วยเรื่องผู้นำทางจิตวิญญาณกับสันติสุขของสังคมอารยะ  โดยสังคมอารยะที่ว่านั้นเป็นสังคมที่ผ่านการชี้นำโดยปราชญ์ทรงธรรม  โดยปราชญ์เป็นผู้กำหนดหลักนิติรัฐที่สอดคล้องกับภาวะมนุษย์ แล้วทั้งสององค์ประกอบทั้งผู้นำและผู้นำจะขับเคลื่อนไปสู่ความเป็นอารยะแห่งนคร เป็นรัฐที่สมบูรณ์ รัฐที่เต็มไปด้วยความสงบสุขและสันติ 

ต่อมาในยุคของอบูอะลี อิบนุสีน่า ถือว่าเป็นจุดรุ่งเรืองสูงสุดของปรัชญาอิสลาม  อิบนุ สีน่า ได้นำทฤษฎีทางปรัชญามาพิสูจน์ให้เห็นว่าปรัชญากับศาสนาไม่ได้ขัดแย้งต่อกันและกระแสการขานรับปรัชญาอิสลามทวีคูณมากยิ่งขึ้น จนกระทั้งตำราปรัชญาอิสลามได้ถูกนำมาใช้เรียนในสถานศึกษาและถือว่าเป็นวิชาบังคับหนึ่งที่นักเรียนต้องเรียน

แต่ทว่าหลังจากที่กระแสการยอมรับต่อปรัชญามสูงนั้น ทำให้นักการศาสนาแบบจารีตนิยมได้เห็นว่าปรากฏการณ์การยอมรับปรัชญาในโลกอิสลามเป็นเรื่องใหม่และดูเนื้อหาและคำศัพท์ต่างๆที่ถูกนำมาใช้ในตำราปรัชญาอิสลาม จากหนังสือของ อบูอะลี อิบนุสีน่า  ค่อนข้างจะออกนอกรีตและเสี่ยงต่อความเชื่อความศรัทธาในเรื่องหลักเอกภาพของพระเจ้า

และจากที่มีนักการศาสนาระดับแนวหน้ามาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อปรัชญา อย่างอิมามฆอซซาลี และอิมามฟักรุรอซี และนักเทววิทยาคนอื่นๆทำให้กระแสการนิยมปรัชญาอิสลามเริ่มเบาบางลง  เพราะว่าไม่ใช่แค่การวิจารณ์เพียงอย่างเดียว แต่ได้ปั่นกระแสไปสูงกว่านั้น นั่นคือ ถือว่าผู้นิยมปรัชญาถือว่าเป็นคนรอกรีตและบางช่วงเวลาได้ออกคำฟัตวาว่าผู้นิยมปรัชญาเป็นบุคคลออกนอกจากศาสนาไปด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นกระแสการต่อต้านที่รุนแรงมาก 

เข้าสู่ยุคความเสื่อมถอยของปรัชญาอิสลามที่ถูกกระแสโหนโจมตีจากสำนักเทววิทยาและสำนักนิติศาสตร์อิสลามอย่างรุนแรงในแคว้นคุรอซาน ประเทศอิหร่าน ถือว่าเป็นศูนย์กลางของอำนาจรัฐที่นิยมแนวเทววิทยาแบบจารีตนิยมในขณะนั้น  และต่อมาอำนาจทางการเมืองและทางศาสนาอยู่ฟากฝั่งสำนักคิดอะชาอิเราะฮ์โดยที่ผู้ปกครองนครรัฐต่างๆ ในอาณาจักรอิสลามได้นิยมสำนักคิดอะชาอิเราะฮ์ และผู้ที่เป็นหัวหอกในการต่อต้านปรัชญาแบบเหตุผลนิยมจัดคือ “อิมามฆอซซาลี”

ซึ่งก่อนหน้านั้นอิมามฆอซซาลีเองได้ศึกษาปรัชญาของอัลกินดีและอัลฟารอบีมาก่อน แต่ทว่าด้วยกับเหตุผลบางหลายๆประการที่เขาเห็นว่าปรัชญาที่เข้ามาในโลกอิสลามค่อนข้างจะสุ่มเสี่ยงต่อหลักศรัทธา จนทำให้อิมามฆอซซาลีหันไปนิยมในด้านฌาณวิทยามากกว่าปรัชญาและผันตัวเป็นนักซูฟีในแนวอะชาอิเราะฮ์

ต่อมาอิมามฟักรุรอซี นักเทววิทยาชื่อดังสำนักคิดอะชาอิเราะฮ์ก็ได้ลุกขึ้นมาวิจารณ์และวิพากษ์หลักปรัชญาบางข้อของสำนักปรัชญาเหตุผลนิยมจัด(มัชชาอียะฮ์)ซึ่งนั่นเป็นจุดแตกต่างระหว่างสำนักปรัชญากับสำนักเทววิทยาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่กลับกันสำนักคิดชีอะฮ์ได้มีจุดยืนต่อปรัชญาอย่างมั่นคงว่าเป็นศาสตร์ของอิสลามเกิดในอุ้งตักอิสลาม และในอีกมุมหนึ่งสำนักคิดชีอะฮ์ไม่ต่อต้านแนวรหัสยะนัยนิยมหรือแนวซูฟีเสียทีเดียว แต่เชื่อว่า ระหว่างศาสนา ปรัชญาและรหัสยะนัย จะเกื้อกูลต่อกัน ไม่ได้ขัดแย้งกัน ทำให้เชคชะฮาบุดดีน ซุรอวัรดี หรือรู้จักในนาม”เชคอิชรอ็ก”( Sheikh Ishrāq) เขาได้นิยมในรหัสยะนัยมาก ถึงแม้ว่าเขาจะสังกัดในสำนักคิดชีอะฮ์ก็ตาม

และเขาเห็นว่าปรัชญาอิสลามแบบเหตุผลนิยมจัดได้ถูกโจมตีอย่างหนักจึงได้มาทบทวนวาทกรรมทางปรัชญานั้น และเห็นว่าบางทฤษฎีทางปรัชญานั้นมีข้อบกพร่องไม่สมบูรณ์จะต้องเติมเต็มและบางเนื้อหาจะต้องปฎิรูป เขาจึงได้นำหลักทางรหัสยวิทยาเข้ามาผสมผสานกับปรัชญาจนเกิดความลงตัวและเป็นทฤษฎีใหม่ทางปรัชญาอสิลามภายใต้ชื่อ”ปรัชญาอิชรอกียะฮ์หรือปรัชญาแห่งประจักษ์แจ้งชั่วคณะจิต”(  Illuminationism  หรือ  Ishrāqi  )

เป็นการเข้าถึงความจริงและความจริงสูงสุดจากการประจักษ์แจ้งทางจิต โดยนำความจริงและทฤษฎีญาณวิทยาและปรัชญาจากหนทางแห่งเหตุผลและหนทางแห่งฌาณเข้าด้วยกันและมาอธิบายด้วยหลักปรัชญา

จึงทำให้กระแสของการยึดแนวคิดแบบรหัสยะนัยกระแสดีมาก กอรปกับเขาได้นำทฤษฎีทางปรัชญามาอรรถาธิบายหลักรหัสยะนัยแบบซูฟีได้อย่างน่าสนใจที่เป็นเอกลักษณ์

 

(แล้วมาต่อ ปรัชญาอิชรอกียะฮ์กันในต่อหน้าครับ)