พช.ชุมพร มอบวุฒิบัตร แก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบโคก หนอง นา โมเดล รุ่นที่ 3 ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 14.30 น. นายธีระ อนันตเสรีวิทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร มอบหมายให้ นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธานพิธีปิดการอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบโคก หนอง นา โมเดล รุ่นที่ 3 ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเพลิน ตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ในระหว่างวันที่ 9-13 กุมภาพันธ์ 2564
โดยนางสาวประดับ ชูดำ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมฯรักษาการพัฒนาการจังหวัดชุมพร ได้กล่าวรายงานวัตถุประสงค์โครงการฯ จำนวนกลุ่มเป้าหมาย ภารกิจหลังการอบรม ดังนี้
ด้วยกรมการพัฒนาชุมชนดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” พื้นที่เป้าหมายดำเนินการ 73 จังหวัด 575 อำเภอ 3,246 ตำบล 25,179 ครัวเรือน เพื่อ
1. ส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล”
2. พัฒนาพื้นที่เรียนรู้ต้นแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับตำบลและระดับครัว เรือน
3. ฟื้นฟูศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนผ่านการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงาน บัณฑิตจบใหม่ และกลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยกรมการพัฒนาชุมชนกำหนดให้ทุกจังหวัดดำเนินการตามกรอบแนวทาง 7 ขั้นตอน คือ
1. ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้น การพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ
“โคก หนอง นา โมเดล”
2. สร้างพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน
3. สร้างงาน สร้างรายได้รายเดือนให้แก่เกษตรกร ผู้ว่างงาน บัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงาน
ที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน
4. กระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ผ่านกิจกรรมการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่
ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล
5. บูรณาการร่วมพัฒนาพื้นที่ระดับตำบล
6. พัฒนาการสร้างมาตรฐานผลผลิต การแปรรูปและการตลาดตามมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย
7. พัฒนาระบบ Digital รองรับ Local Economy ด้วยการสร้างระบบโปรแกรม
และฐานข้อมูล
ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมาย ทั้งสิ้น 62 คน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ จำนวน 7 คน ครัวเรือนพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตของจังหวัดชุมพร จำนวน 34 คน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.)โคก หนอง นา จำนวน 21 คน พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ อ.หลังสวน อ.ทุ่งตะโก อ.พะโต๊ะ อ.ละแม อ. ท่าแซะ อ.สวี
หลังจากการอบรม ผู้ผ่านการอบรมทุกครัวเรือนเป้าหมาย จะได้ลงมือปฎิบัติจริงในพื้นที่ของตนเอง ตามที่ได้ฝึกปฏิบัติมาตลอดระยะเวลา 5 วัน โดยเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนแต่ละอำเภอรวมถึงนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ(นพต.)โคก หนอง นา จะคอยให้การช่วยเหลือให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด และร่วมปฏิบัติในแปลงจริง เพื่อการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน
รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ได้กล่าวให้กำลังใจพร้อมมอบหมายภารกิจ ให้ผู้เข้าอบรมได้นำความรู้ความเข้าใจที่ได้รับจากทีมวิทยากรของศูนย์กสิกรรมธรรชาติเพลินและเครือข่าย นำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและสร้างพื้นที่ “โคก หนอง นา โมเดล”ตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งขอให้ท่านสามารถเป็นแกนนำขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ในพื้นที่ต่อไป