ไทยร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านยาเสพติด ครั้งที่ 4 ณ ประเทศมาเลเซีย ผลักดันแนวทางต่อเนื่องให้อาเซียนปลอดยาเสพติด พร้อมแสดงจุดยืนในเวทีสากล
วานนี้ (29 ต.ค. 58) เวลา 09.00 น. พลเอก นิวัตร มีนะโยธิน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วย นายณรงค์ รัตนานุกูล เลขาธิการ ป.ป.ส. นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นางสาวรัชนีกร สรสิริ ที่ปรึกษาสำนักงาน ป.ป.ส. พลตำรวจโท เรวัช กลิ่นเกษร ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด นายภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม รัฐมนตรีอาเซียนด้านยาเสพติด ครั้งที่ 4 (The 4th ASEAN Ministerial Meeting on Drug Matters : 4th AMMD) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 30 ตุลาคม 2558 ณ เกาะลังกาวี รัฐเคดะห์ ประเทศมาเลเซีย โดยมี นายอะหมัด ซาฮิด ฮามิดี (Ahmad Zahid Hamidi) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยประเทศมาเลเซีย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ
สำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านยาเสพติดครั้งที่ 4 ในปีนี้ ประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ณ เกาะลังกาวี รัฐเคดะห์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อติดตามผลการดำเนินงานด้านยาเสพติดของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยในวันแรกจะเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส เพื่อหารือและติดตามความคืบหน้าจากการประชุมครั้งที่แล้ว เพื่อเสนอให้ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีรับทราบและ/หรือให้ข้อเสนอแนะ ซึ่งรัฐมนตรีแต่ละประเทศอาเซียน มีการแสดงทัศนะต่อประเด็นยาเสพติด ภายใต้หัวข้อ “การลักลอบค้ายาเสพติด ห้วงหลังปี 2558 : ความท้าทายและแนวทางในอนาคต” การประชุมนี้จึงเป็นเวทีที่ประเทศไทยจะได้แสดงทัศนะที่แสดงถึงการมีบทบาทนำและผู้ริเริ่มโครงการด้านยาเสพติดต่างๆ ทั้งในภูมิภาคอาเซียนและในระดับสากล โดยเฉพาะการแสดงทัศนะการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมวางแนวทางอนาคตต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และดำเนินการด้านความร่วมมือกับประเทศอาเซียนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่อาจส่งผลกระทบขึ้นภายหลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2559 เนื่องจากอาเซียนจะมีการเชื่อมโยงในภูมิภาคในด้านต่างๆ ทั้งด้านการคมนาคมขนส่ง การเชื่อมโยงระหว่างประชาชน เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม หรือ ASEAN Connectivity ซึ่งการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในประเทศอาเซียนเท่านั้น แต่จะมีการเชื่อมโยงด้านอื่นๆ เช่น ด้านการคมนาคมและเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคอื่นโดยผ่านประเทศจีน และอินเดีย เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการแสดงทัศนะต่อประเด็นปัญหายาเสพติด ภายใต้หัวข้อ “การประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษด้านยาเสพติด ปี 2559 (UNGASS 2016) ต่อปัญหายาเสพติดโลก : ถ้อยแถลงจุดยืนอาเซียน” ซึ่งเป็นการแสดงทัศนะเพื่อสร้างแนวทางในการนำเสนอถ้อยแถลงอาเซียน (ASEAN Statement) ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษ (UNGASS 2016) ด้านยาเสพติด ซึ่งจะมีขึ้นที่สำนักงานใหญ่ องค์การสหประชาชาติ
ในช่วงเดือนเมษายน 2559 โดยมีประเด็นสำคัญในถ้อยแถลงของประเทศสมาชิกอาเซียน คือ 1. กลยุทธ์การจัดการกับปัญหายาเสพติด อาเซียนจะดำเนินการปราบปรามและถอนรากถอนโคนยาเสพติด เพื่อให้เกิดวิสัยทัศน์ร่วมกันในระดับภูมิภาคและตระหนักถึงความสำคัญของอาเซียนปลอดยาเสพติด และสร้างสังคมปลอดยาเสพติดให้กับพลเมืองในประเทศ 2. มาตรการเชิงสมดุลและครอบคลุมในการรับมือกับปัญหายาเสพติด เป็นแนวคิดของอาเซียนซึ่งมีวิธีแก้ปัญหายาเสพติดในทุกมิติ ทั้งด้านมาตรการลดอุปสงค์และอุปทาน มาตรการป้องกัน มาตรการบังคับใช้กฎหมาย มาตรการสกัดกั้น มาตรการบำบัดฟื้นฟู และมาตรการจัดการกับผู้ค้ายาเสพติด 3. ยืนหยัดอย่างแน่วแน่ในการต่อสู้กับยาเสพติด รวมทั้งการต่อต้านการเรียกร้องให้ใช้นโยบายลดโทษทางอาญา และ/หรือการทำให้ยาเสพติดถูกกฎหมาย ซึ่งอาเซียนได้สังเกตเห็นว่ามีบางประเทศพยายามดำเนินนโยบายลดโทษให้กับผู้ต้องหา และพยายามทำให้ยาเสพติดถูกกฎหมาย แต่อาเซียนมองว่าแนวทางนี้ไม่ควรมีผลบังคับใช้กับทุกประเทศ เนื่องจากไม่ได้เป็นแนวทางที่เหมาะสมกับทุกประเทศ เพราะแต่ละประเทศมีรูปแบบปัญหาที่แตกต่างกัน 4. อำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศ ทุกประเทศมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง รวมถึงแนวทางในการตัดสินใจเลือกแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหายาเสพติดภายในประเทศ ซึ่งอาเซียนมีหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในแห่งรัฐ รัฐและพลเมืองแห่งรัฐควรตัดสินใจเลือกแนวทางที่เหมาะสมด้วยตนเองเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด
พลเอก นิวัตร มีนะโยธิน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวว่า “ผมขอขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่ผลักดันให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นถึงความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และขอบคุณทุกประเทศสมาชิกอาเซียนที่ร่วมกันส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในระดับภูมิภาคอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง การประชุมฯ นี้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับเป็นปีที่ 4 และปีนี้รัฐบาลประเทศมาเลเซียให้เกียรติ ในการรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่สมาชิกอาเซียนได้ร่วมกันกำหนดแนวทางอนาคตในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายหลังจากการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี 2559 และเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ปัญหายาเสพติดในระดับภูมิภาคอาเซียนที่คาดว่าปัญหายาเสพติดอาจส่งผลกระทบและสร้างปัญหาอื่นๆ ให้เกิดขึ้นตามมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหาอาชญากรรม ปัญหาเศรษฐกิจ รวมไปถึงปัญหาสังคม หากประเทศสมาชิกอาเซียนไม่ร่วมมือกันหามาตรการ และแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง ผลตอบรับจากการเข้าร่วมประชุมฯ ในครั้งนี้ รัฐมนตรีและผู้แทนรัฐมนตรีของทุกประเทศมีความเห็นตรงกันว่าต้องดำเนินการตามมาตรการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งภูมิภาคอาเซียน โดยเพิ่มความเข้มข้นในการปราบปรามยาเสพติด การป้องกันยาเสพติด การเพิ่มช่องทางในการบำบัดรักษาให้เข้าถึงได้ง่าย การวิจัยและพัฒนาทางเลือกให้กับชุมชน รวมไปถึงการมุ่งความสำคัญไปที่การบังคับใช้กฎหมายจัดการกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ และยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดทั้งระบบ และต้องเพิ่มความร่วมมือกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจาและประเทศนอกภูมิภาคให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังยืนยันสนับสนุนอนุสัญญาการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศของสหประชาชาติ โดยให้ถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน เพื่อให้อาเซียนปลอดจากยาเสพติด สำหรับวาระสากลที่ประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความเห็นร่วมกันคือเรื่องการเตรียมความพร้อมของประชาคมอาเซียนในการเข้าร่วมในเวทีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษด้านยาเสพติด ปี 2559 (UNGASS 2016) โดยอาเซียนจะประกาศถ้อยแถลงจุดยืนอาเซียนร่วมกันอย่างหนักแน่นต่อที่ประชุมฯ ในการต่อต้านแนวคิดนโยบายลดโทษ/นิรโทษกรรมแก่โทษยาเสพติด หรือลดทอนความเป็นอาชญากรรม และการทำให้ยาเสพติดถูกกฎหมาย”
สำหรับผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านยาเสพติด ครั้งที่ 4 มีรายละเอียดดังนี้
1. อาเซียนยังคงวิสัยทัศน์อาเซียนปลอดยาเสพติด
2. อาเซียนจะจัดทำ ASOD Workplan ฉบับใหม่โดยอินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในปี 2016 ที่บาหลี
3. ที่ประชุมเห็นชอบกับอาเซียน position ซึ่งจะเป็นท่าทีร่วมกันในการประชุม UNGASS 2016 โดยขอให้แต่ละ ประเทศอาเซียนบรรจุไว้ในถ้อยแถลงของ รมว.ด้วย
4. อาเซียนยังคงมาตรการการทำงานร่วมกันทั้งลดอุปสงค์และลดอุปทาน ในด้านการปราบ ป้องกัน บำบัด พัฒนา ทางเลือก
5. ประเทศไทยแจ้งผลการดำเนินงานในโครงการสำคัญๆ คือ Safe Mekong AITF ASEAN-NARCO
6. เชิญชวนให้รัฐมนตรีประเทศอาเซียนมาเข้าร่วมประชุม ICAD2
7. ในช่วงพิธีเปิดการประชุมประธานคือรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซียได้ กล่าวชื่นชมประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ICAD2
8. ในที่ประชุมประเทศสมาขิกอาเซียนกล่าวถึงความริเริ่มที่ดีของไทยในโครงการต่างๆ คือ Safe Mekong ASEAN-NARCO AITF
9. ที่ประชุมเห็นขอบกับข้อเสนอของอินโดนีเซียในการจัดตั้ง Sea port Interdiction Task Force
10. ที่ประชุมเห็นชอบกับสัญญลักษณ์การรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดอาเซียนริบบิ้นสีเขียวที่เสนอโดยสิงคโปร์
11. มีการประชุม retreat หารืออย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรี เห็นชอบกับ Chairman’s Statement ซึ่งมีสาระสำคัญๆ ตามที่ได้หารือกันมาข้างบนแล้ว โดยสิงคโปร์จะไปยกร่างคำกล่าว ASEAN Position Statement
สำหรับเสนอใน UNGASS
12. สิงคโปร์รับเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีครั้งต่อไป ในปี 2016 เพื่อ kick off ASOD Workplan
ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มและเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษ ด้านยาเสพติด ครั้งที่ 1 ในปี 2555 ณ กรุงเทพมหานคร การประชุมฯ ครั้งที่ 2 ในปี 2556 ประเทศบรูไนเป็นเจ้าภาพ และการประชุมฯ ครั้งที่ 3 ในปี 2557 ประเทศอินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ สำหรับการประชุมครั้งนี้นับเป็นเวทีความร่วมมือด้านยาเสพติดในระดับสูง ซึ่งจะสร้างให้เป็นกลไกปกติระดับรัฐมนตรีที่จะจัดการประชุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านยาเสพติด ของอาเซียน กำกับดูแลและกำหนดนโยบาย รวมถึงให้ความสำคัญต่อการร่วมมือกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศอาเซียน เพื่อรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community – AC) และเพื่อปฏิบัติตามแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการเป็นเขตปลอดยาเสพติด ในภูมิภาคอาเซียน ในปี 2558 (Drug Free ASEAN 2015)