ข่าวดีคน กทม. ได้อ่านอีบุ๊กฟรี

ข่าวดีคน กทม. ได้อ่านอีบุ๊กฟรี กรุงเทพมหานคร จับมือ ไฮเท็คซ์ อินเตอร์แอคทีฟ เครือ เมพ คอร์ปอเรชั่น นำระบบห้องสมุดออนไลน์ ไฮบรารี่ ร่วมโครงการ “BKK X Hibrary อีบุ๊กฟรีอยู่เขตไหนอ่านได้ทุกที่” เป้าหมายปีแรก 1 แสนบัญชี ผู้สนใจสมัครได้แล้ววันนี้

กรุงเทพมหานคร เดินหน้าต่อยอดสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ให้แก่เมือง ล่าสุดจับมือภาคเอกชน ไฮเท็คซ์ อินเตอร์แอคทีฟ หนึ่งในกลุ่ม บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในเครือ เซ็นทรัล รีเทล ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม ไฮบรารี่ (Hibrary) ระบบห้องสมุดออนไลน์ (E-library) สำหรับองค์กรอันดับหนึ่งของไทย จัดทำโครงการ “BKK X Hibrary อีบุ๊กฟรีอยู่เขตไหนอ่านได้ทุกที่” เปิดให้คน กทม. อ่านอีบุ๊กฟรี วางเป้าปีแรกมีผู้ใช้งานอย่างน้อย 1 แสนบัญชี พร้อมเปิดให้เอกชนอื่นร่วมสนันสนุนอีบุ๊กแก่โครงการฯ ด้วย

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความสำคัญของการอ่านซึ่งเป็นการสร้างต้นทุนทางความคิดและการพัฒนาว่า การอ่านเป็นการสะสมแหล่งทรัพยากรความรู้ให้แก่ชีวิต โดยนำความรู้ที่ได้จากการอ่านมาใช้พัฒนาการเรียนรู้ ประกอบการตัดสินใจ ทั้งในด้านการดำเนินชีวิต การทำงาน การพัฒนาตนเองและสังคม ซึ่งกรุงเทพมหานครมีนโยบายส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศทางการเรียนรู้อย่างครบวงจร ทั้งรูปแบบ ระบบ และโครงสร้างที่สนับสนุนการอ่าน ง่ายต่อการเข้าถึงแหล่งข้อมูลด้วยเทคโนโลยี รวมถึงส่งเสริมพื้นที่การเรียนรู้และกิจกรรมของเมือง อาทิ กิจกรรมหนังสือในสวน บ้านหนังสือ ห้องสมุดเชิงรุกในรูปแบบรถ Mobile Unit และพัฒนาห้องสมุดที่อยู่ในความดูแลของ กทม. ให้เป็น Smart Library โดยใช้เทคโนโลยีและระบบอินเตอร์เน็ต

โครงการ BKK X Hibrary อีบุ๊กฟรีอยู่เขตไหนอ่านได้ทุกที่ เป็นโครงการที่ดีมากต่อแหล่งเรียนรู้อย่างห้องสมุดของ กทม. ช่วยให้พัฒนาไปได้เร็วยิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสการเข้าถึงอีบุ๊กได้สะดวก ช่วยขยายกลุ่มผู้ใช้งานเดิมที่ใช้งานห้องสมุดของ กทม. อยู่แล้ว โดยโครงการฯ นี้ ทำให้การเข้าถึงแหล่งความรู้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องเข้ามาที่ห้องสมุดอย่างเดียว ส่วนระบบห้องสมุดออนไลน์ ไฮบรารี่ ที่นำมาใช้ก็มีความเหมาะสมมาก เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมและได้รับความเชื่อถือจากหลายองค์กร มีอีบุ๊กและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างให้เลือกหลากหลาย ทันสมัย ครบทุกหมวด และถูกลิขสิทธิ์

ด้านนายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ห้องสมุดนอกจากจะเป็นแหล่งการเรียนรู้สำหรับทุกเพศทุกวัยแล้ว วันนี้ห้องสมุดของ กทม. ยังเป็นเหมือน Co-working Space ที่เปิดให้ใช้งานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นพื้นที่การเรียนรู้แก่เด็กและเยาวชน เป็นที่พบปะสังสรรค์และทำกิจกรรมของคนวัยต่างๆ มีสัญญาณอินเตอร์เน็ตให้ใช้ฟรี ปัจจุบันห้องสมุด กทม. มีทั้งหมด 40 แห่ง ประกอบด้วย หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร 1 แห่ง ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้กรุงเทพมหานคร 34 แห่ง รถห้องสมุดประชาชนเคลื่อนที่ 3 คัน และอีก 3 คันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อและพิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานครอีก 2 แห่ง

ส่วนจำนวนผู้ใช้บริการห้องสมุดของ กทม. นั้น ในปีงบประมาณ 2565 มีผู้ใช้บริการ 663,897 คน เนื่องจากสถานการณ์โควิด แต่ในปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่ตุลาคม 2565 – ปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการถึง 420,523 คน โดยห้องสมุดที่มีผู้เข้ามาใช้บริการมากที่สุด คือ ห้องสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร ในปีงบประมาณ 2566 มีผู้ใช้บริการถึง 105,239 คน เฉลี่ยเดือนละ 25,000 คน เป็นไปตามเป้าหมายในการให้บริการ ที่ต้องการให้ประชาชนทุกเขตเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้ โดยจะมีการพัฒนาบริการใหม่ๆ ให้แก่ประชาชนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป

ด้านนายรวิวร มะหะสิทธิ์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฮเท็คซ์ อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด กล่าวถึงการเติบโตของระบบห้องสมุดออนไลน์องค์กรว่า การใช้งานระบบห้องสมุดออนไลน์ในต่างประเทศมีความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการพัฒนาด้านเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้ใช้งาน และโควิด-19 โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยในปี 2022 อยู่ที่ประมาณ 10% อ้างอิงข้อมูลจาก Overdrive ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบห้องสมุดออนไลน์อันดับ 1 ของโลก ที่มีฐานลูกค้ามากกว่า 88,000 ห้องสมุดและโรงเรียนใน 109 ประเทศ โดยรายงานระบุว่ามีการยืม E-content จากเครือข่ายห้องสมุดและโรงเรียนที่ใช้บริการมากกว่า 555 ล้านครั้ง เป็น E-Book 331 ล้านครั้ง (+4%) Audi book 191 ล้านครั้ง (+17%) นิตยสาร 32 ล้านครั้ง (+38%) การ์ตูนและนิยายภาพประมาณ 33 ล้านครั้ง (+18%) และมี 129 ห้องสมุดใน 7 ประเทศมีการยืมมากกว่า 1 ล้านครั้ง สำหรับในประเทศไทยการใช้งานห้องสมุดออนไลน์เริ่มมาประมาณ 8 ปี ก่อนสถานการณ์โควิด-19 มีองค์กรใช้งานอยู่ไม่ถึง 200 แห่ง การเติบโตไม่มาก เนื่องจากคอนเทนต์ที่ให้บริการมีน้อยและไม่ตรงกับผู้ใช้งาน งบในการพัฒนาระบบสูง ใช้งานได้ยาก ฟีเจอร์ไม่ตอบโจทย์การใช้งาน แต่หลังสถานการณ์โควิด-19 ความต้องการใช้งานห้องสมุดออนไลน์องค์กรสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยในปี 2022 มีองค์กรในประเทศไทยใช้งานห้องสมุดออนไลน์แล้วประมาณ 400 องค์กร

ซึ่ง ไฮบรารี่ เป็นผู้นำในตลาดระบบห้องสมุดออนไลน์องค์กร โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่กลางปี 2020 ที่เป็นช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ห้องสมุดโรงเรียน มหาวิทยาลัย ห้องสมุดองค์กร และห้องสมุดประชาชนไม่สามารถให้บริการได้ ทำให้มีการปรับตัวสู่การให้บริการแบบดิจิทัลมากขึ้น ด้วยเหตุนี้  ไฮบรารี่ ซึ่งมีประสบการณ์ในการพัฒนาระบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว จึงศึกษาความต้องการขององค์กรและผู้ใช้งานจนได้ระบบบริการห้องสมุดออนไลน์ที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูง เหมาะกับงบประมาณต่อจำนวนผู้ใช้งาน มีคอนเทนต์คุณภาพให้บริการจากหลายสำนักพิมพ์และถูกลิขสิทธิ์ ใช้งานสะดวก มีฟีเจอร์การอ่านครบทั้งรูปแบบ PDF และ E-PUB และมีการเก็บสถิติการอ่าน รองรับได้หลายอุปกรณ์ รวมถึง E-reader ปัจจุบัน ไฮบรารี่ ให้บริการกลุ่มลูกค้าห้องสมุดประชาชนกว่า 41 แห่ง โรงเรียนและมหาวิทยาลัย 50  แห่ง หน่วยงานรัฐและเอกชน 22 แห่ง รวมมากกว่า 100 องค์กร พร้อมทั้งเป็นพันธมิตรกับศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยร่วมพัฒนาระบบห้องสมุดออนไลน์ CU-elibrary ที่เน้นตลาดการศึกษา โดยขยายฐานลูกค้าได้ถึง 100 องค์กร รวมแล้วมีลูกค้าใช้งานแพลตฟอร์มไฮบรารี่อยู่มากกว่า 200 องค์กร ทั้งหมดใช้เวลาเพียง 2 ปีครึ่งเท่านั้น

ส่วนที่มาของโครงการ “BKK X Hibrary อีบุ๊กฟรีอยู่เขตไหนอ่านได้ทุกที่” นั้น นายพัฒนา พิลึกฤาเดช ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไฮเท็คซ์ อินเตอร์แอคทีฟ จำกัด กล่าวว่า เกิดจากนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่สนับสนุนการอ่านและการพัฒนาห้องสมุดของ กทม. ให้เข้าสู่ระบบห้องสมุดออนไลน์ ทำให้บริษัทฯ อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยให้งานห้องสมุดออนไลน์ของ กทม. พัฒนาไปได้เร็วยิ่งขึ้น

ดังนั้นจึงได้ประสานกับสำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว (สวท.) กรุงเทพมหานคร จัดทำโครงการ  “BKK X Hibrary อีบุ๊กฟรีอยู่เขตไหนอ่านได้ทุกที่” ขึ้น มีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี เพื่อเป็นต้นแบบการให้บริการห้องสมุดออนไลน์ของ กทม. ซึ่งในการดำเนินโครงการฯ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีปัญหาด้านการอ่านเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมด้วย รวมถึงประชาชนสามารถร่วมคัดเลือกอีบุ๊กเข้าระบบบริการได้ และยังเป็นการสนับสนุนการใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ถูกลิขสิทธิ์อีกทางหนึ่งด้วย ส่วนเป้าหมายผู้ใช้บริการคาดว่าปีแรกจะมีผู้ใช้งานประมาณ 100,000 บัญชี และตลอดระยะเวลาโครงการฯ คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการมากกว่า 200,000 บัญชี โดยหลังจากเปิดให้บริการเมื่อ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา มีจำนวนการอ่านไปแล้วมากกว่า 121,000 นาที ซึ่งอีบุ๊กหมวดนวนิยายได้รับความนิยมมากถึง 40% หมวดพัฒนาตนเอง 20% หมวดบริหาร การจัดการ และ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม 6%  ส่วนอีบุ๊กที่มีการอ่านสูงสุด คืนมายา โดย ฮิงาชิโนะ เคโงะ

นอกจาก ไฮเท็คซ์ อินเตอร์แอคทีฟ จะสนับสนุนระบบห้องสมุดออนไลน์ผ่านระบบ ไฮบรารี่ แล้ว ยังสนับสนุนอีบุ๊กลิขสิทธิ์จากสำนักพิมพ์ต่างๆ ตลอดระยะเวลา 3 ปี ทั้งหมด 1,500 รายการ พร้อมระบบจัดการและเผยแพร่สื่ออิเล็กทรอนิกส์พื้นที่ใช้งาน 50 GB รวมถึงประสานภาคเอกชนและองค์กรที่สนใจร่วมสนับสนุนอีบุ๊กเพิ่มเติมในโครงการฯ ซึ่งผู้ร่วมสนับสนุนจะได้รับการแสดงโลโก้และรายละเอียดผู้สนับสนุนผ่านสื่อประชาสัมพันธ์และในแอปพลิเคชั่น ไฮบรารี่ สำหรับผู้สนใจสนับสนุนโครงการฯ สามารถติดต่อได้ที่ www.hibrary.me , contact@hytexts.com หรือ 0891347470

ส่วนผู้สนใจสมัครอ่านอีบุ๊กฟรีกับโครงการ “BKK X Hibrary อีบุ๊กฟรีอยู่เขตไหนอ่านได้ทุกที่” สามารถดาวน์โหลด แอปพลิเคชัน Hibary ทาง App store หรือ Play Store กดสมัครสมาชิก เลือกห้องสมุด BKK X Hibrary หรือที่เว็บไซต์  bkk.hibrary.me โดยหวังว่าโครงการฯ นี้จะเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานในระบบจังหวัด เทศบาล ห้องสมุดประชาชนมาช่วยกันส่งเสริมการอ่านให้กับประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดเลือกหนังสือที่ตนเองสนใจ แม้บางหน่วยงานมีงบประมาณจำกัดก็มีรูปแบบขอรับการสนับสนุนจากภาคเอกชนได้ โดยทาง ไฮเท็คซ์ อินเตอร์แอคทีฟ ยินดีให้คำปรึกษาทั้งเรื่องของระบบห้องหมุดออนไลน์และการจัดทำโครงการอีกด้วย