“เขาก็มีชีวิต” ผลงานศิลปิน 3 ชีวิต จากเมืองกรุง สู่เมืองนราธิวาส ศิลปะที่สะท้อนบริบท “ชายแดนใต้” ความเป็น“จังหวัดนราธิวาส”ให้ได้คุ้นมากขึ้น

วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 เดอลาแป อาร์ท สเปซ นราธิวาส เปิดนิทรรศการ (WITHIN) THE PLACE เขาก็มีชีวิต โดยศิลปิน คุณณัท เศรษฐ์ธนา คุณสิทธิกร ขาวสะอาด และคุณณัฐนันท์ ศรเฉลิม จัดโดย ดร.ปรัชญ์ พิมานแมน อาจารย์ประจำสาขาออกแบบประยุกต์ศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มอ.ปัตตานี ในฐานะผู้อำนวยการเดอลาแป อาร์ท สเปช จังหวัดนราธิวาส และผศ.คีต์ตา อิสรั่น หัวหน้าผู้ประสานงานหลักสูตรออกแบบประยุกต์ศิลป์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มอ.ปัตตานี โดยมี นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นประธานในการเปิด จัดแสดงระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2566 ที่ De’ Lapae Art Space Narathiwat อ.เมือง จ.นราธิวาส

ดร.ปรัชญ์ พิมานแมน อาจารย์ประจำสาขาออกแบบประยุกต์ศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มอ.ปัตตานี ในฐานะผู้อำนวยการเดอลาแป อาร์ท สเปช จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า การจัดแสดงผลงานศิลปะในวันเปิดนิทรรศการ (WITHIN) THE PLACE เขาก็มีชีวิต ที่เป็นการทำงานร่วมกันกับการลงพื้นที่ชุมชน ในจังหวัด นราธิวาส ของ 3 ศิลปิน คุณณัท เศรษฐ์ธนา จากภาคกลาง กรุงเทพมหานคร คุณสิทธิกร ขาวสะอาด จากภาคอีสาน จังหวัดร้อยเอ็ด และคุณณัฐนันท์ ศรเฉลิม จากภาคตะวันออกกลาง จังหวัดชลบุรี โดยศิลปินทั้ง 3 เข้าร่วมในโครงการ Part to Pass Artist Residency จังหวัดนราธิวาส

นิทรรศการ (WITHIN) THE PLACE เป็นการทำงานร่วมกันของ 3 ศิลปิน ที่มาจากกรุงเทพ ร้อยเอ็ด และ ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีวิธีการนำเสนอผลงานจากเรื่องราวในจังหวัดนราธิวาส ที่ถูกตีความต่างแง่มุม ในเทคนิควิธีการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไปตามความถนัด แต่สิ่งหนึ่งที่ ทุกคนอยากจะเล่า และถ่ายทอดออกมา คือการการพบเจอเรื่องราวของการมาพำนักในจังหวัดนราธิวาสทั้ง 26 วัน การพบเจอผู้คน สถานที่ ความรู้สึกเหล่านี้ ได้ถูกนำเสนอ และรอให้ทุกคนมาร่วมรับชม

“เป็นงานที่เราตั้งใจนำเสนอมากๆ หากเรามาเป็นศิลปินนราธิวาส 1 เดือน เรื่องที่เราสนใจจะนำเสนอเป็นผลงานจะออกมารูปร่างหน้าตาอย่างไร” ดร.ปรัชญ์ กล่าว

ดร.ปรัชญ์ กล่าวว่า ศิลปิน ทั้ง 3 ท่าน มีความน่าสนใจแตกต่างกันไป ทั้งวิธีคิดและการทำงาน อย่างศิลปินคนแรก “ณัท” คุณณัท เศรษฐ์ธนา เป็นศิลปินในพำนัก จากการคิดงานโดยการตั้งคำถามและชวนพูดถึงประเด็นในหลากหลายแง่มุม โดยการคิดย้อนกลับ และคิดเข้าไปถึงพื้นที่ ของนราธิวาส และพื้นที่ของสเปซ โดยใชเสียงที่มีอยู่ในพื้นที่ เสียงของสเปซ เป็นตัวเล่าและนำภาผู้คนไปสู่ การรับฟัง ที่สะท้อนไปสะท้อนมา ของเรื่องเล่าที่เขาสนใจนำมาสู่การรับฟัง

“ตุ้ย”คุณสิทธิกร ขาวสะอาด เป็นศิลปินอีสาน ที่เคยลงมานราธิวาส แล้วในปีก่อน เราไปร่อนทองด้วยกัน และมีความสนใจในการออกไปเป็นศิลปินพำนักในหลายๆ เมือง เช่นญี่ปุ่น (Artist in Residency) ในครัังนี้ที่นราธิวาส ตุ้ยสนใจในการทำอาหาร เพื่อเปิดการรับรสชาติ ที่แตกต่างออกไป ในเมนูซุป เพียงแต่การเปิดรับรสชาติในครั้งนี้ จะว่าด้วยรสชาติขม ที่ถูกปูพื้นจากเบื่องหลังของสี ที่ศิลปินมักจะใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน สีน้ำเงินในที่นี้เป็นดั่งตัวแทนของศิลปิน และ เป็นเรื่องการไขวขว้าของชนชั้น

“เซฟ”คุณณัฐนันท์ ศรเฉลิม ศิลปินอีกท่านที่เห็นการเจอผู้คนที่มีวัฒนธรรมของตัวเอง เลยนำมุมนี้มาเล่า และเกี่ยวกับการเลี้ยงนกกรงหัวจุก โดยศิลปินสนใจการจัดวางภาพประกอบ ทั้งการตัดกระดาษ การคอลราจ (ปะติด) รวมถึงการใช้สีในระนาบ 2 มิติ ที่เล่าเรื่องราวของนกเป็น 4 ผลงานที่แสดงถึงความเข้มข้นทางวัฒนธรรม

“การพาศิลปินจากที่อื่นๆมาพำนักอยู่ที่นี้ อย่างหนึ่งมันคือการแชร์ริ่ง ทำให้ได้เราเห็นว่า นราธิวาสจะขับเคลื่อนยังไงในแง่ของวัฒนธรรม” ดร.ปรัชญ์ กล่าว

ดร.ปรัชญ์ กล่าวต่อว่า นิทรรศการ (WITHIN) THE PLACE ศิลปินพยายามบอกว่า เขาก็มีชีวิต เขาในที่นี้ไม่ได้หมายถึง แค่คน แต่หมายถึง สิ่งมีชีวิตอื่นๆในพื้นที่ ศิลปินจึงเลือกใช้คำว่า “เขา” เพื่อเป็นตัวแทนของพื้นที่ที่มีชีวิตแห่งนี้

“เดอลาแป อาร์ตสเปซ” เปรียบเสมือนกระจกสะท้อนศิลปินในพื้นที่ มันไม่ได้สะท้อนแค่เราในฐานะศิลปินที่มีบ้านอยู่ที่นี้ แต่ยังเป็นกระจกสะท้อนศิลปินจากข้างนอกที่เข้ามายังพื้นที่แห่งนี้ด้วย

“เราเชื่อว่า อย่างน้อยศิลปินข้างนอกเข้ามาในนราธิวาส จะได้มีพื้นที่แลกเปลี่ยน ตัวศิลปินเองก็ได้เข้าใจในบริบทพื้นที่มากขึ้น ในแง่ของคนทำงานศิลปะจึงเปรียบเสมือนกระจกที่ช่วยกันสะท้อนไปมา” ดร.ปรัชญ์ กล่าว

คุณณัท เศรษฐ์ธนา ศิลปินจากกรุงเทพมหานครที่มาพำนักที่ นราธิวาส กล่าวว่า พอเป็นโครงการที่เราเริ่มมาจากการมาใช้ชีวิต ทำให้เราได้เห็นความเป็นภูมิทัศน์ของที่นี้ชัดเจนขึ้น

ผมจะเริ่มเล่างานศิลปะจากในบ้านของตัวเอง พอเราย้ายถิ่นมาเป็นแขก เราพาอย่างอื่นมากับเราด้วย ทั้งมุมมอง ลิ้น ทำให้เราเริ่มจากเปิดรับ และสำรวจรอบๆตัวก่อน นั้นจึงทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่า เราไม่สามารถตัดสินพื้นที่แห่งนี้ได้ในทันทีทันใด

“เราเดินในบ้านตัวเอง เราเดินไปกี่ก้าว เราสามารถรับรู้ได้ว่า เราเดินไปกี่ก้าวเราจะเจอกับอะไรบ้าง เราจะไปเปิดไฟ จะไปหยิบของตรงไหน แต่พอเราย้ายจากความเป็นเจ้าบ้านมาเป็นแขก ทำให้เราเปิดรับ สำรวจโลกของเขาอีกแบบหนึ่งโดยไม่ตัดสินบางอย่างในทันที” คุณณัท กล่าว

การที่เราได้มาสำรวจพื้นที่ทำให้เราได้ศึกษาความเป็นสาระจริงๆของตัวพื้นที่ ซึ่งเราใช้ความเป็นสถานที่มาเป็นโจทย์ว่า ในเมื่อเราเป็นแขกของที่นี้ สิ่งที่เราต้องทำ เราต้องดีลกับสถานที่ตลอดเวลา การดีลกับสถานที่ในที่นี้ มันอาจจะหมายถึง การชิมรสชาติใหม่ๆ การได้เห็นแลนด์สเคปใหม่ๆหรือวัฒนธรรมใหม่ๆ โดยงานของเราจึงหมายถึงการดีลกับสถานที่ทั้งภายในและภายนอก ซึ่งสถานที่ภายในที่เราพามาจะมาพร้อมกับความคุ้นชิน เราพาวิธีคิดวิธีมอง เพราะฉะนั้นแลนด์สเคปมันมีอยู่ทั้งภายในและภายนอก

“ผมเลือกทำงานศิลปะกับตัวพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว เหมือนเราฟังว่าสถานที่มันมีอะไร และเราก็จัดการกับภูมิทัศน์ที่เรามี” คุณณัท กล่าว

คุณสิทธิกร ขาวสะอาด กล่าวว่า ความรู้สึกแรกก่อนจะมาที่นราธิวาส ผมไม่มีไอเดียกับพื้นที่ ผมหยิบแค่เสื้อผ้ามาอย่างเดียวใส่กระเป๋า พอมาอยู่ที่นี้ อ.ปรัชญก็ให้ข้อมูลแนะนำเรื่องในมิติต่างๆ ทั้งมิติการเมือง ทรัพยากร และมิติทางวัฒนธรรมของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

จากที่ผมไม่มีไอเดีย ว่างเปล่า ผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ ผมพยายามทำตัวเป็นฟองน้ำ เริ่มซึมซับความเป็นที่นี้ ผมมองว่า อาหารที่นี้หวานมากนะ ไม่ได้เป็นเรื่องน่าเกลียดอะไร ผมจึงหยิบเรื่องความหวานกับความขมเล่าผ่านงานศิลปะ

“คนที่นี้ทานหวาน ผมจึงมาดูว่า ที่นี้มีอะไรบ้างที่ให้สัมผัสรสขม และทำอย่างไรให้อาหารเป็นสีฟ้า ผมจึงหยิบสองสิ่งนี้ ความขม และสีฟ้า”

เมื่อได้เมนูอาหารผมจึงใช้วิธีไปถามคนทั่วไป ทำไมคนที่นี้ไม่ทานขม ทำไมคนที่นี้ถึงทานหวานมาก เขาก็จะให้คำตอบและเล่าเรื่องราวต่างๆ

“ผมไม่ชินกับรสหวานของที่นี้ ผมย้อนกลับมาคิด เราชินกับตัวเองมากเกินไป สุดท้ายแล้วมันคือ บริบทของความปกติของพื้นที่นี้” คุณสิทธิกร กล่าว

คุณณัฐนันท์ ศรเฉลิม กล่าวว่า งานศิลปะของผมครั้งนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนกที่อยู่ในกรง ซึ่งมีวันหนึ่งที่ผมไปนั่งร้านน้ำชา เห็นคนที่นี้เอานกกรงหัวจุกมาแขวนอยู่ตามบ้านและมีแขวนอยู่ทุกบ้าน จึงเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งในการคิดงานของผม

“ผมรู้สึกว่าคนที่นี้เหมือนกับนกกรุงหัวจุกที่ต้องอยู่ในกรง กรงเปรียบเสมือนพื้นที่หนึ่ง พื้นที่ที่มีวัฒนธรรมที่สวยงาม ผมจึงตีความผลงานชิ้นนี้มาเป็นงานที่จัดแสดงในวันนี้”

ผลงานของผมมีอยู่ 4 ชิ้น เป็นการเล่าเรื่อง นกที่อยู่กรงทั้ง 4 แบบ ชิ้นแรก นกที่อยู่ในกรงสวยงามอยู่ในพื้นที่ที่เป็นวัฒธรรมของเขา พร้อมๆกับเป็นกรงที่สร้างบาดแผลให้เขา

ชิ้นที่2 นกที่พยายามจะหนีจากกรงของเขา หนีจากพื้นที่ของเขา เขาอยากเดินหน้าต่อ หรืออยู่ในพื้นที่นี้ของเขาต่อไป ชิ้นที่ 3 นกที่คิดว่า การออกไปนอกกรง เขาคิดว่ามีอิสระ และงานชิ้นที่4 เป็นงานเย็บผ้าม่าน เป็นการเล่าว่า พื้นที่นอกกรงและในกรง เรามีการเขียนในผ้าม่านเป็นภาษาอาหรับไว้ คือ คำว่า ไป และ กลับ

“ส่วนตัวชอบทุกอย่างที่นี้ คนน่ารัก อาหารอร่อย การมาที่นี้ทำให้เราชอบมาก” คุณสิทธิกร กล่าว