กรมการพัฒนาชุมชน จับมือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ลงนาม MOU การใช้และสวมใส่ผ้าไทย ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ OTOP

กรมการพัฒนาชุมชน จับมือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ลงนาม MOU การใช้และสวมใส่ผ้าไทย ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ OTOP เพิ่มเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง และมอบเกียรติบัตรศิลปิน OTOP ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

วันที่ 26 กันยายน 2566 เวลา 14.00 น. นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการดำเนินตามมาตรการ “ส่งเสริม และสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย” ระหว่าง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้ลงนาม โดยมีนายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วย นายชูชีพ พงษ์ไชย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน หัวหน้าส่วนราชการกรมการพัฒนาชุมชน และคณะผู้บริหารสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชน ร่วมในพิธีฯ

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า วันนี้ความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้มาลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยการดำเนินตามมาตรการ “ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย” กับกรมการพัฒนาชุมชน ในวันนี้ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการตามมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง พร้อมทั้ง ร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟู สนับสนุน ส่งเสริม สืบสานเอกลักษณ์ประจำชาติ เผยแพร่วัฒนธรรม การแต่งกายด้วยผ้าไทย และส่งเสริมบุคลากรในภาคราชการให้ตระหนักในคุณค่าของผ้าไทย และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการผ้าไทยที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ ในการสนองงานแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคง และยั่งยืน พระองค์ยังทรงตั้งพระทัยมั่นในการสืบสานพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ได้พระราชทานโครงการในพระราชดำริมากมาย ที่ยังประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนชาวไทยมากว่า 60 ปี และได้มีพระดำริพระราชทานแก่วงการผ้าไทย ว่า “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้ รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริม กระตุ้น ผ้าไทยให้เป็นที่นิยม สู่สากล สามารถใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่าง กระทรวงมหาดไทย กรมการพัฒนาชุมชน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยการดำเนินตามมาตรการ “ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย”ระหว่าง กรมการพัฒนาชุมชน และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ณ เวทีกลางงาน OTOP Midyear 2023 อาคารชาเลนเจอร์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ในครั้งนี้ มีระยะเวลาความร่วมมือเป็นระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามร่วมกัน ซึ่งวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการตามมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี ประจำวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เพื่อร่วมอนุรักษ์ ฟื้นฟู สนับสนุน ส่งเสริม สืบสานเอกลักษณ์ประจำชาติ รวมทั้งเผยแพร่วัฒนธรรมแต่งกายด้วยผ้าไทย ส่งเสริมบุคลากรในภาคราชการให้ตระหนักในคุณค่าและรักษ์วัฒนธรรมไทย โดยมีกิจกรรมความร่วมมือ ดังนี้

1. สำนักงานเศรษฐกิจการคลังรณรงค์การใช้และสวมใส่ผ้าไทยในการปฏิบัติงานของคณะผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้าง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สัปดาห์ละ 2 วัน

2. สำนักงานเศรษฐกิจการคลังจัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้และสวมใส่ผ้าไทย อาทิ การประกวดการแต่งกายด้วยผ้าไทยของบุคลากรสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

3. สำนักงานเศรษฐกิจการคลังส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ผ้าไทย และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผ้าไทยในการตกแต่งสถานที่ ตลอดจนการจัดทำหรือจัดหาของที่ระลึกสำหรับการประชุมต่าง ๆ ทั้งเวทีในประเทศและระหว่างประเทศ

4. สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ผ้าไทย วัตถุดิบ กระบวนการผลิต การแปรรูป ประโยชน์ใช้สอยต่าง ๆ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้แก่บุคลากรและผู้มาติดต่อราชการ เพื่อการตระหนักในคุณค่าและรักษ์วัฒนธรรมไทย

และ 5. กรมการพัฒนาชุมชน สนับสนุนการรณรงค์การใช้ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง

จากนั้น นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรศิลปิน OTOP ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย จำนวน 5 ราย ได้แก่ นายไสว เรืองดุก ผ้าบาติก จังหวัดตรัง , นายเอกฉันท์ จันอุไรรัตน์ กระเป๋าลงยาสี จังหวัดนนทบุรี นายไพโรจน์ สืบสาม เครื่องประดับไทยโบราณ จังหวัดนนทบุรี นายจารุเดช  เครือปัญญา ชุดผีเสื้อนพเก้า ชุดทับทรวงเก้ายอด  จังหวัดปทุมธานี และนางสาวคนึงนิตย์  ภัทรพงษ์นพกุล ผ้าบาติก จังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยนายชูชีพ พงษ์ไชย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล และนายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมพิธีฯ โดยมีนางสาวณัฐนิช อินทสระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กล่าวรายงานฯ

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (กอ.นตผ.) ให้รับผิดชอบดำเนินการโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) โดยส่งเสริมให้แต่ละชุมชนใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ผนวกกับองค์ความรู้สมัยใหม่และเทคโนโลยีที่เหมาะสมพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP และเพื่ออนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา จึงได้ดำเนินการคัดเลือกศิลปิน OTOP ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติในฐานะผู้อนุรักษ์  สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ OTOP โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นศิลปิน OTOP แต่ละปี จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกจัดแสดงประวัติและผลงานของศิลปิน OTOP ในงานที่กรมการพัฒนาชุมชนดำเนินการ เช่น งาน OTOP Midyear , งานศิลปาชีพประทีปไทยฯ , งาน OTOP City  เป็นต้น ซึ่งจากคำกล่าวรายงานของผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน ในครั้งนี้มีผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเป็นศิลปิน OTOP ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย จำนวน 5 ราย  จาก 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดตรัง , จังหวัดนนทบุรี, จังหวัดปทุมธานี และ จังหวัดปัตตานี ในนามของกรมการพัฒนาชุมชน ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับมอบเกียรติบัตรทุกท่าน และขอชื่นชมในความก้าวหน้าและความสำเร็จของศิลปิน OTOP ทุกท่านที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจ ในการผลิตชิ้นงานและการมีส่วนร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชนในการยกระดับสินค้า OTOP ให้ก้าวหน้าสู่ระดับสากล และกรมการพัฒนาชุมชน จะได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีความก้าวหน้าและความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในโอกาสข้างหน้าต่อไป

ด้านนางสาวณัฐนิช อินทสระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้ สำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน ได้ดำเนินการคัดเลือกศิลปิน OTOP เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติในฐานะเป็นผู้อนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ OTOP โดยเริ่มดำเนินการคัดเลือกศิลปิน OTOP ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 – 2565 มีผู้ได้รับคัดเลือกเป็นศิลปิน OTOP จำนวน 245 คน ซึ่งได้มีการจัดแสดงประวัติและผลงานของศิลปิน OTOP ในงานของกรมการพัฒนาชุมชน มาอย่างต่อเนื่อง การคัดเลือกศิลปิน OTOP มีหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังนี้ 1) เป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่ผ่านการคัดสรรระดับ 3 – 5 ดาว ที่มีการค้นคว้า อนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น 2) มีการสร้างสรรค์ผลงานที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น และมีเรื่องราวความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ 3) มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับเยาวชน และผู้ที่สนใจโดยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ 4) ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ หรือรางวัลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลงานที่นำเสนอขอรับการคัดเลือกเป็นศิลปิน OTOP ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีผู้เสนอผลงานเข้ารับการคัดเลือกเป็นศิลปิน OTOP ทั้งสิ้น 62 จังหวัด จำนวน 126 คน สำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน ได้ดำเนินการคัดกรองข้อมูลในเบื้องต้น โดยมีผู้มีคุณสมบัติผ่านการคัดเลือกเบื้องต้น จำนวน 27 จังหวัด  จำนวน 34 คน และคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกศิลปิน OTOP ได้พิจารณาคัดเลือกผู้ที่สมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปิน OTOP ในปี 2566 เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปิน OTOP ในฐานะเป็นผู้อนุรักษ์  สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ OTOP ในโอกาสต่อไป

“จากการดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตามมติ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 – กันยายน 2566 ทำให้มีรายได้จากการ จำหน่ายผ้าไทยและผ้าพื้นเมือง จำนวน 55,653,256,024 บาท (ห้าหมื่นห้าพันหกร้อยห้าสิบสามล้านสองแสนห้าหมื่นหกพันยี่สิบสี่บาทถ้วน) มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่ได้รับประโยชน์โดยตรง จำนวน 15,533 กลุ่ม/ราย และมีสมาชิกของกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง จากการจำหน่าย จำนวนทั้งสิ้น 122,883 คน  จึงขอบคุณสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่ได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการรณรงค์การใช้และสวมใส่ผ้าไทยในการปฏิบัติงานของคณะผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้าง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สัปดาห์ละ 2 วัน ตลอดทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้และสวมใส่ผ้าไทย อาทิ การประกวดการแต่งกายด้วยผ้าไทยของบุคลากรสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และอื่น ๆ จะเป็นการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง และอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน และเป็นไปตามแนวพระดำริ “ผ้าไทย ใส่ให้สนุก” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ตลอดจนการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้สู่ชุมชน พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้ประชาชนมีรายได้ พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ต่อไป” นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวทิ้งท้ายฯ

#ผ้าไทยใส่ให้สนุก
#กรมการพัฒนาชุมชน
#กระทรวงมหาดไทย