“เจ้าฝันถึงโลกสีใด” งานมอบรางวัลประกวดเรื่องสั้น-บทกวี 14 ตุลา

มูลนิธิ 14 ตุลา ร่วมกับ สมาคมนักเขียนฯ และ สมาคมภาษาและหนังสือฯ จัดงานมอบรางวัลประกวดเรื่องสั้น-บทกวี “เจ้าฝันถึงโลกสีใด” 50 ปี 14 ตุลา จิตวิญญาณประชาธิปไตย มิตรน้ำหมึกร่วมงานอบอุ่น

นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิ 14 ตุลา เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการประกวดเรื่องสั้นและบทกวี ในวาระ 50 ปี 14 ตุลา “14 ตุลา จิตวิญญาณประชาธิปไตย” โดยมี “จรัญ หอมเทียนทอง” กรรมการยุทธศาสตร์ ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ อดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ “นรีภพ จิรโพธิรัตน์” นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย “สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ “เจน สงสมพันธุ์” อดีตนายกสมาคมนักเขียนฯ และ “ประเดิม ดำรงเจริญ” ประธานฝ่ายวรรณกรรม 50 ปี 14 พร้อมด้วยนักเขียน กวี สมาชิกแวดวงวรรณกรรม สื่อมวลชน และประชาชนผู้สนใจ ร่วมงาน บริเวณลานนิทรรศการ 50 ปี 14 ตุลา “เจ้าฝันถึงโลกสีใด” ด้านหน้าของงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ 2566 ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 12-23 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิ 14 ตุลา

นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิ 14 ตุลา กล่าวว่า 14 ตุลา เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย เวลาผ่านไป 50 ปี คนรุ่นที่เกิดทัน 14 ตุลา ที่ได้ประสบเหตุการณ์ต่างๆ ปัจจุบันก็ล่วงเข้าสู่วัยชรา คนรุ่นใหม่จำนวนมากก็จะไม่มีโอกาสทราบเรื่องราวเหล่านั้น 50 ปี จึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะต้องจัดรำลึกเหตุการณ์ขึ้น เพื่อจะได้สืบทอดอุดมการณ์ให้กับคนรุ่นต่อไป เพราะประชาธิปไตยในประเทศไทยยังคงล้มลุกคลุกคลานอยู่ เหมือนกับหลาย ประเทศในโลกที่ต้องใช้เวลาและการต่อสู้เพื่อสร้างสรรค์สังคม จึงจำเป็นที่จะต้องจัดงานในวาระนี้เพื่อให้คนรุ่นปัจจุบันได้รับไม้ต่อจากคนรุ่นเก่า หากรอไปจัดตอน 60 ปี คนรุ่นเก่าก็อาจจะจากไปหรือหลงลืมไปแล้ว 50 ปี จึงนับเป็นเวลาที่เหมาะสม

นายแพทย์วิชัย กล่าวต่อว่า การเลือกวรรณกรรมมาเป็นหนึ่งในกิจกรรมของวาระ 50 ปี 14 ตุลา เพราะวรรณกรรมทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์ สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการหล่อหลอมอุดมการณ์ ปลุกเร้าการต่อสู้ และปลอบประโลมความเจ็บปวด รวมถึงสร้างพลังต่างๆ ได้มากมาย งานวรรณกรรมมีบทบาททุกยุคสมัย ทุกสังคม

แต่ในฐานะที่เป็นภาคเอกชนหน่วยเล็กๆ จึงไม่สามารถจัดการประกวดที่เป็นผลงานชิ้นใหญ่อย่างหนังสือเล่มหรือนวนิยายได้ จึงประกวด “เรื่องสั้น” และ “บทกวี” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย และสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมถึงศิลปินแห่งชาติ ศิลปาธร นักเขียน นักประพันธ์ มาร่วมเป็นกรรมการวางกติกา โดยมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดมากพอสมควร และดำเนินการตัดสินแล้วเสร็จเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา

“ปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ ก้าวหน้าขึ้น ทำให้สามารถจัดพิมพ์รวมผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งหมดไว้ในหนังสือที่จัดพิมพ์เป็นพิเศษในวาระนี้แล้วเสร็จทัน โดยความพิเศษของเล่มนี้ มีการนำวรรคหนึ่งจากบทเพลงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ยังคงร้องกันอยู่ คือเพลงนกสีเหลือง ซึ่งมีวรรคทอง “เจ้าฝันถึงโลกสีใด” และได้นำวรรคทองนี้มาเป็นชื่อนิทรรศการและเป็นชื่อหนังสือ มีการนำเหรียญที่ระลึกในวันพระราชทานเพลิงศพวีรชน 14 ตุลา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดการเผาศพสามัญชนคนไทยที่ท้องสนามหลวง เพราะปกติเป็นสถานที่เฉพาะสำหรับราชวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น มีการนำเหรียญที่ระลึกมาปรับปรุงใหม่ แบ่งเป็น 2 ส่วน หน้า-หลัง ส่วนหนึ่งอยู่ปกหน้าหนังสือ และอีกส่วนอยู่ปกหลังหนังสือ และจำหน่ายภายในงานครั้งนี้ โดยสามารถสอบถามได้ที่บูทนิทรรศการ 50 ปี 14 ตุลา” นายแพทย์วิชัยกล่าว

ทั้งนี้ ผลการประกวดเรื่องสั้นและบทกวี ในวาระ 50 ปี 14 ตุลา “14 ตุลา จิตวิญญาณประชาธิปไตย” มีผลงานได้รับรางวัลดังนี้

ศิริพงศ์ หนูแก้ว ผู้ประพันธ์ “ซ่อนกลิ่น” เรื่องสั้นชนะเลิศ ในวาระ 50 ปี 14 ตุลา

ประเภทเรื่องสั้น

เรื่องสั้นชนะเลิศ ได้แก่ “ซ่อนกลิ่น” โดย ศิริพงศ์ หนูแก้ว

รองชนะเลิศ 2 รางวัล ได้แก่ กาลครั้งหนึ่ง…ในประเทศไทย โดย สาคร พูลสุข และ ดวงจันทร์ในช่องเขาขาด โดย สาโรช แซ่ซึง

รางวัลชมเชย 10 รางวัล ดังนี้

1. จุณความว่างกลางเดือนตุลาคม โดย กิตติศักดิ์ คงคา
2. ศิลปกรรมคนเมือง โดย ชม นวนมุสิก
3. งูสวัด โดย พิณพิพัฒน ศรีทวี
4. รูปสัญญะล่องลอย โดย วินทกานท์
5. ประวัติศาสตร์ 66 ปี กับ 8 นาทีที่ความทรงจำเป็นใบ้ โดย ศิริ มะลิแย้ม
6. เธอ…อยู่ที่ใด โดย Rosaline
7. แค่ฉากอีโรติก โดย ฮีม พาราพิพัฒน์
8. ระหว่าง โดย แรมสองค่ำเดือนสราปีมะโรง
9. พี่สาวน้องชาย เรื่องบางเรื่องไม่เหมาะเป็นเรื่องสั้น โดย สันติสุข กาญจนประกร
10. อัตชีวประวัติของเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง โดย ชาคริต คำพิลานนท์

คีตา บารัตดายา (วิสุทธิ์ ขาวเนียม) ผู้ประพันธ์ “ห้าสิบปีต่อมา” บทกวีชนะเลิศ ในวาระ 50 ปี 14 ตุลา

ประเภทบทกวี

บทกวีชนะเลิศ ได้แก่ ห้าสิบปีต่อมา โดย คีตา บารัตดายา

รองชนะเลิศ 2 รางวัล ได้แก่ จนกว่าฟ้านี้จะสีทอง โดย อัษฎาวุธ ไชยวรรณ และ ตู้ไปรษณีย์หมายเลข 2516 โดย องอาจ สิงห์สุวรรณ

รางวัลชมเชย มี 10 รางวัล ดังนี้

1. 14 ตุลา โดย จามรี ตันไพฑูรย์ดิถี
2. รำลึกถึงนกตัวแรกที่แตกดับ (แด่จีระ บุญมาก) โดย อติรุจ ดือเระ
3. ประวัติศาสตร์ไม่เคยบอกเรา โดย จีรนันท์ สงเปีย
4. ห้าสิบปีสิบสี่ตุลา แตกพร่า..เป็นภาพเลือน โดย ขอบฟ้า เหตุการณ์
5. EXHIBITION นิทรรศการไม่เคยเปลี่ยน โดย เสฏฐ์ บุญวิริยะ
6. อนุสรณ์แห่งสุสาน โดย ภูวดล ภูโยฮาต
7. รากแห่งเดือนตุลาฯ โดย นายทิวา
8. วันนี้มือทุกมือคือมือไท โดย ปริญญ์ สระปัญญา
9. แรงกระเพื่อม (การเคลื่อนไหวใต้เงาเงื้อมประวัติศาสตร์) โดย เมธาวี ก้านแก้ว
10. ปีศาจ โดย ดิตถ์จรัส