ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดบ้านแนะแนวศึกษาต่อ สายวิทยาศาสตร์สุขภาพ พร้อมเปิดตัวหลักสูตรใหม่ ในงาน CRA Open House 2024

จัดเต็มสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ “ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์” เปิดบ้านแนะแนวศึกษาต่อสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ พร้อมเปิดตัวหลักสูตรใหม่ในงาน CRA Open House 2024 ได้รับความสนใจจากน้องๆ และผู้ปกครองอย่างล้นหลาม ภายในงานนอกจากทุกคนจะได้รับทราบข้อมูลของหลักสูตรในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ อาทิ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต, หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (นานาชาติ) หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต สำหรับผู้สำเร็จปริญญาตรีสาขาอื่น หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต ประกอบด้วย สาขาวิชารังสีเทคนิค สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ, สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ (4 ปี) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ และสาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2567) อย่างครบถ้วนแล้ว ทุกคนยังได้มีโอกาสเปิดประสบการณ์เรียนรู้ ทดลองและเห็นโอกาสทางสายวิชาชีพในอนาคตของการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของตนเองอย่างเต็มที่จากกิจกรรมสัมผัสห้องเรียนจำลอง การทดสอบความถนัดในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพหลากหลายรูปแบบตามสถานการณ์จำลอง เปิดโลกวิทยาศาสตร์การพยาบาล, พบปะกับคณาจารย์ประจำแต่ละหลักสูตรที่ให้คำแนะนำอย่างเข้มข้น ถามตอบในสารพันปัญหาเกี่ยวกับหลักสูตรในทุกแง่มุม รับทราบแนวทางโอกาสในการทำงานในอนาคต พร้อมทัวร์ห้องการเรียนการสอนทุกคณะวิชาภายในราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ พื้นที่กว้างขวางซึ่งเอื้อต่อสภาพแวดล้อมการเรียนรู้และอุปกรณ์ภายในห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยซึ่งอยู่ในระดับแนวหน้าของการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ฯลฯ เมื่อเร็วๆนี้ ณ เวทีกลาง CRA Hall ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

สำหรับไฮไลท์แต่ละหลักสูตรภายในงาน CRA Open House 2024 เปิดโลกหลักสูตรวิทยาศาสตร์สุขภาพกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คัดมาให้แล้วดังนี้ เริ่มต้นจากหลักสูตรใหม่ล่าสุดแห่งปี รองศาสตราจารย์ ดร.จตุพร กระจายศรี อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2567) จากโครงการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

“หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) ชื่อย่อ วท.บ. (นวัตกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์) เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรี 4 ปี จุดเด่นของหลักสูตรมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และสมรรถนะในการทำวิจัยด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนในภารกิจหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มีการจัดการเรียนการสอนคล้าย Pre-Medical School สามารถต่อยอดในการเข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตหรือวิชาชีพอื่นสายการแพทย์ได้ บูรณาการองค์ความรู้ด้วยศาสตร์ด้านการวิจัย นวัตกรรม วิทยาศาสตร์การแพทย์ การจัดการและการเป็นผู้ประกอบการ เปิดโอกาสให้บัณฑิตทำงานได้หลากหลาย เป็นสาขาที่ขาดแคลนและต้องการของประเทศเป็นอย่างยิ่ง อาชีพที่รองรับได้หลังสำเร็จการศึกษา เช่น บุคลากรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ในหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชน นวัตกรด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ บุคลากรทางด้านการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ในสถาบันการศึกษา เจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการด้านการแพทย์ เช่น บริษัทยา เวชภัณฑ์
และเครื่องมือทางการแพทย์ ห้องปฏิบัติการวินิจฉัยทางการแพทย์”

อาจารย์ ดร.ปัญจภรณ์ อู่รัตนมณี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการศึกษาและ อาจารย์กฤษดา ทองทับ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี

“หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (นานาชาติ) เป็นหลักสูตรแรกของวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี รับนักศึกษารุ่นแรกเมื่อปีการศึกษา 2566 เพื่อเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ของพยาบาลสู่ระดับสากล โดยบัณฑิตสาขาพยาบาลศาสตร์สามารถต่อยอดในวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพได้ ทั้งการเรียนต่อ หรือการทำงานต่างประเทศในอนาคต การเรียนการสอนภาคทฤษฎีมีการเรียนวิชาพื้นฐาน วิชาเฉพาะสาขาที่เป็นวิชาชีพ การศึกษาภาคปฏิบัติครอบคลุมในห้องปฏิบัติการเสมือนจริง และในหอผู้ป่วยของโรงพยาบาล รวมทั้งการปฏิบัติในชุมชนอีกด้วย คณาจารย์ผู้สอนเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา มีประสบการณ์และผลงานทางวิชาการ ทั้งงานวิจัยระดับชาติและนานาชาติ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.พีรุทย์ เชียรวิชัย ประธานหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน

“สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ พัฒนาการแพทย์ด้วย Data Science รองรับความต้องการนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เป็นสาขาใหม่และมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อตอบสนองต่อการขยายตัวอย่างรวดเร็วของข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นหลักสูตรที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ เหมาะสำหรับนักเรียนที่มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและมีความสามารถทางด้านการใช้คอมพิวเตอร์ เมื่อจบการศึกษาแล้วบัณฑิตของหลักสูตรจะมีส่วนช่วยในการบริหารจัดการ วิเคราะห์ฐานข้อมูลสุขภาพขนาดใหญ่ จากแหล่งต่างๆ และนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาทางการแพทย์และการสาธารณสุข เพื่อตอบโจทย์ของทั้งการรักษาและการวิจัยได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ตลอดการเรียนในหลักสูตร 4 ปี มีทั้งภาคทฤษฎี คือ การเรียนรู้พื้นฐานที่จำเป็นทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data science) เช่นการเขียนโปรแกรม สถิติ และระบบฐานข้อมูล ร่วมกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health science) เช่นระบบสุขภาพ การวินิจฉัยและอณูชีววิทยา และจะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำด้วยตัวเองในภาคปฏิบัติ รวมถึงฝึกงานกับสถานที่ประกอบการจริง นักศึกษาจะได้นำความรู้ทั้งสองด้านมาประยุกต์รวมกันให้เกิดเป็นความรู้ใหม่เพื่อนำไปประกอบวิชาชีพต่อไป ภายหลังจากจบหลักสูตรแล้วนักศึกษาสามารถศึกษาต่อได้ในสาขาวิศวกรรมข้อมูล วิทยาศาสตร์ข้อมูลและวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ ชีวสารสนเทศและชีววิทยาเชิงระบบระบาดวิทยา ซึ่งเป็นสาขาที่ได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สัมฤทธิ์ กิตติพยัคฆ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ

“ปัจจุบัน นักรังสีเทคนิค ถือเป็นบุคลากรการแพทย์สาขาที่ขาดแคลนระดับประเทศ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารังสีเทคนิค มีวัตถุประสงค์ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคที่ตอบสนองความต้องการของประเทศ ดำเนินการเรียนการสอนโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ทั้งรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ นักศึกษามีโอกาสได้เรียนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติกับเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โรงเรียนรังสีเทคนิคได้นำ Virtual Environment in Radiotherapy Training (VERT) มาใช้ในการเรียนการสอนรายวิชารังสีรักษาเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยจุดเด่นของเครื่องมือนี้คือ เป็นการจำลองห้องฉายรังสีรักษาเสมือนจริง โดยไม่ต้องเสี่ยงกับอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วย เครื่องมือ หรือผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งจะช่วยให้การเรียนการสอนภาคทฤษฎีเห็นภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มความน่าสนใจ กระตุ้นการเรียนรู้ในห้องเรียน และเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้เมื่อนักศึกษาได้ออกไปฝึกงานภาคปฏิบัติ ทั้งหมดนี้การเรียนการสอนจะมีอาจารย์ดูแลการเรียนการสอนอย่างใกล้ชิด”

อาจารย์ฉัตรพร เรืองทอง อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต  สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ

“หลักสูตรที่มีความพร้อมด้านการผลิตบุคลากร “ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ” ในการทำงานด้านบริการสุขภาพรองรับสังคมสูงวัย มุ่งสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพที่เป็นทั้งนักวิชาการที่มีความรู้ ความสามารถ และนักปฏิบัติการที่มีทักษะสามารถประยุกต์องค์ความรู้ด้านวิชาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพที่มีคุณภาพ ใช้เวลาศึกษา 4 ปี ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ในภาคทฤษฎีประกอบด้วยวิชาหลักที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว เช่น กายวิภาคศาสตร์ ชีวกลศาสตร์ สรีรวิทยาการออกกำลังกาย จิตวิทยา โภชนาการ นักศึกษาที่จบหลักสูตรฯ นี้ไปสามารถประกอบอาชีพในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โรงพยาบาล ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์สุขภาพ และสโมสรกีฬา และเพื่อตอบรับกับโจทย์แห่งอนาคตของประเทศไทย โรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพสอนให้วิเคราะห์การเคลื่อนไหวและออกแบบโปรแกรมการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้เหมาะสมได้สำหรับทุกช่วงอายุ”

นางสาวชัชชญา สุนทรอาคเนย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ (4 ปี) คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ

“คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพเปิดรับสมัครบุคคลเข้าศึกษา หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ (หลักสูตร 4 ปี) ประจำปีการศึกษา 2567 จำนวน 40 คน คุณสมบัติจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือ เทียบเท่า จากสาขาวิทยาศาสตร์ เป้าหมายเพื่อผลิต “นักฉุกเฉินการแพทย์ ความช่วยเหลือแรกก่อนถึงมือแพทย์” รองรับอาชีพสาขาขาดแคลน การเรียนการสอนเน้นความรู้เชิงทฤษฎีและข้อเท็จจริงเป็นหลัก เช่น ความรู้ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานฉุกเฉิน ระบบสุขภาพของประเทศไทย ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยและนานาชาติหลักการพื้นฐานด้านระบบคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย รวมทั้งมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉิน เป็นสาขาของการประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่กระทำต่อผู้ป่วยฉุกเฉินนอกสถานพยาบาลเป็นหลัก รวมทั้งสามารถดูแลเบื้องต้นในห้องฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นได้รับการช่วยชีวิตและป้องกันการเสียชีวิต ภายหลังจากจบการศึกษาแล้ว นักศึกษาจะมีความเชี่ยวชาญในการทำงานของนักฉุกเฉินการแพทย์ คือการบริบาลและดูแลรักษาผู้ป่วยนอกสถานพยาบาล และในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล เป็นการกู้ชีพชั้นสูง การทำหัตถการและการบริหารยาฉุกเฉิน การรักษาและส่งต่อไปยังสถานพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากภาวะวิกฤติ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทย เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย”

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก่อตั้งจากพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559 เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนและการวิจัย ที่จะสร้างบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ สาธารณสุข เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งมั่นทำประโยชน์ให้ผู้อื่นก่อนคิดถึงประโยชน์ตัวเอง มีคุณธรรมจริยธรรม จิตอาสา พร้อมบริการสังคมด้วยความรู้ความชำนาญและด้วยความเป็นเลิศในวิชาชีพ ภายใต้ปรัชญา “เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต”

กิจกรรม CRA Open House 2024 ที่จัดครั้งแรกในปีนี้ทำให้หลายๆ คน ค้นพบโลกแห่งวิทยาศาสตร์สุขภาพในหลากหลายสาขาและสาขาพยาบาลศาสตร์อย่างเต็มที่ นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับเยาวชนระดับมัธยมศึกษาในการเดินทางสู่การเรียนรู้ที่จะเติมเต็มสู่เส้นทางอาชีพที่มั่นคงในอนาคตต่อไป ข้อมูลเพิ่มเติม WWW.CRA.AC.TH และ https://www.facebook.com/CRAPCCMS